“ปฏิรูปประเทศ”
“โปร่งใสตรวจสอบได้”
“เซอร์ไพรส์นโยบาย”
ฯลฯ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้ผู้นำประเทศหน้าเดิม เราได้ยินคำใหญ่ๆ สวยๆ มากี่ครั้งแล้ว และมันเกิดผลตามนั้นจริงแค่ไหน?
ที่ต้องเกริ่นเช่นนี้ เพราะเราอยากเช็ต ‘ความคาดหวัง’ ต่อร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565 ให้ส่งรัฐสภาพิจารณาออกมาบังคับใช้ ที่ชื่อว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….’ หรือร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ
โดยอ้างอิงจากบทเรียนครั้งแล้ว-ครั้งเล่าในอดีต
เพราะหากจำกันได้ ในยุครัฐบาล คสช. เคยมีการผลักดันร่างกฎหมายที่ชื่อว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….’ หรือ พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อ โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ที่เนื้อหาไปคนละทางกับชื่อ เพราะกำหนดให้สื่อต้องไปขึ้นทะเบียนขอ ‘ใบอนุญาต’ กับองค์กรที่มีตัวแทนภาครัฐร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย จนคนวงการสื่อจำนวนมากพากันเปลี่ยนกรอบโปรไฟล์เฟซบุ๊กเป็นรูปที่มีข้อความ “หยุดตีทะเบียนสื่อ หยุดครอบงำประชาชน” เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน
มาวันนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช.อีกต่อ กลับมาผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่ออีกแล้ว และอย่างที่เราๆ รู้กันว่า ผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันก็มีทัศนคติไม่ดีกับสื่อเท่าไร
เช่นนั้นแล้ว สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อคืออะไร? สื่อมีจริยธรรมไม่ดีตรงไหน? เหตุใดถึงได้บอกว่ามีสิ่งที่น่ากังวล?
ขอชวนมาติดตามกัน The MATTER จะสรุปให้อ่านกัน
1.) การผลักดันร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อนี้ มีการอ้างว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 35 (ว่าด้วยสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ) และแผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ประเด็นการปฏิรูปที่ 2 เรื่องแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ
นอกจากนี้ยังอ้างว่า ปัจจุบันสภาวิชาชีพสื่อยัง ‘ไม่มีกฎหมายรองรับ’ เช่นเดียวกับสภาทนายความและสภาวิชาชีพนักบัญชี จึงจำเป็นต้องมีร่างกฎหมายเช่นนี้ออกมา
2.) สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ คือการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ซึ่งมีหนึ่งในหน้าที่สำคัญคือการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมสื่อ พร้อมกับตั้งกรรมการจริยธรรมขึ้นมาตรวจสอบว่า สื่อใดฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวหรือไม่
โดยจะมีบทลงโทษ 3 ประการ คือ 1.ตักเตือน 2.ภาคทัณฑ์ และ 3.ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณะสำหรับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะได้เงินทุนจากภาครัฐ (ทั้งเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินจากกองทุน กสทช.ปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ฯลฯ) รวมกันปีละหลายสิบล้านบาท ซึ่งทั้งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ รวมถึงกรรมการจริยธรรมจะมีค่าตอบแทนให้ โดยผู้ดำรงตำแหน่งทั้ง 2 นี้จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี เป็นติดต่อกันได้ 2 สมัย รวม 8 ปี แต่ถ้าเว้นวรรคก็กลับมาเป็นได้อีก
3.) หากยังจำกันได้ ในปี พ.ศ.2560 เคยมีการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ โดย สปท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ คสช.ตั้งมาทำภารกิจด้านการปฏิรูป ที่ชื่อว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….’ ซึ่งมีสาระสำคัญที่เป็นประเด็น จน 30 องค์กรวิชาชีพสื่อร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้าน ดังนี้
- จัดตั้ง ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ’ ที่จะมีตัวแทนของภาครัฐ คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงการคลัง มาร่วมเป็นกรรมการ
- กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต้องขอ ‘ใบอนุญาต’ ในการทำงาน โดยนิยามผู้ที่ต้องใบอนุญาตไว้อย่างกว้างขวางมาก ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ปรับสูงสุด 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แม้ต่อมาจะปรับสัดส่วนกรรมการจากภาครัฐ จาก 4 ปลัดเหลือเพียง 2 ปลัด คือปลัดสำนักนายกฯ และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมปรับแก้ถ้อยคำให้ไม่ต้องขอใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติแล้ว
แต่ร่างกฎหมายนี้ก็ถูกจับตาจากสื่อเขม็งว่าจะถูกผลักดันออกมาใช้เป็นกฎหมายเมื่อใด หลังที่ประชุม สปท. เห็นชอบด้วยมติ 141 ต่อ 13 เสียง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2560 โดยมีการบุกยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน
ทว่ามันก็ไม่เคยกลับมา แต่กลายมาเป็นร่างกฎหมายใหม่ที่มีชื่อว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน’ หรือร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ฉบับที่เรากำลังพูดถึงกัน ขึ้นมาแทน
4.) ก่อนจะผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565 ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อเคยถูกเสนอเข้าที่ประชุม ครม.มาก่อนหน้า 2 ครั้ง ได้แก่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2561 และเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2563 แต่ถูกส่งกลับไปให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุง
5.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของผู้จัดทำร่างกฎหมายนี้ เคยชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาตอนปลายปี พ.ศ.2564 ว่า เหตุที่ต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อต่อ ครม.ถึง 3 ครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ก็เพราะก่อนหน้านี้มีความเข้าใจไม่ตรงกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่มองว่าสื่อจะคุมกันเองไม่ได้ ขณะที่ฝั่งสื่อเองก็กังวลว่าหากมีเจ้าหน้าที่รัฐมาร่วมเป็นกรรมการจะขาดความเป็นอิสระ จึงต้องนำกลับไปพิจารณาให้รอบคอบแล้วค่อยเสนอกลับมา
6.) เนื่องจากสื่อเป็นอาชีพที่โดยธรรมชาติต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจ และประชาชนก็คาดหวังการทำหน้าที่ตรงนี้ แนวทางการกำกับดูแลที่ถูกใช้กันทั่วโลก จึงมักเป็นการ ‘กำกับดูแลกันเอง’ หรือเต็มที่ก็ ‘กำกับดูแลร่วม’ ไม่ใช่การให้ ‘รัฐมากำกับดูแล’ เพราะไม่เช่นนั้นก็ยากที่สื่อจะทำหน้าที่ได้
7.) ตัวอย่างของการให้รัฐมากำกับดูแลแล้วสร้างปัญหาในการทำงานของสื่อ คือกรณีที่ กสทช.ใช้ มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่มีเนื้อหาค่อนข้างกว้าง กล่าวคือ
“ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”
มาลงโทษสื่อทีวี ด้วยการสั่งปรับเงิน หรือสั่ง ‘จอดำ’ บางรายการหรือกระทั่งบางช่อง !
8.) ความจริงแล้ว องค์กรวิชาชีพสื่อก็เคยเขียนร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อของตัวเองและเดินสายนำเสนอขอให้ฝ่ายการเมืองต่างๆ ช่วยผลักดัน
9.) หากใครคิดว่าจะเห็นองค์กรวิชาชีพสื่อจะแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อที่เพิ่งผ่าน ครม.ไป เหมือนสมัยร่างกฎหมายของ สปท.ตอนปี พ.ศ.2560 อาจต้องผิดหวัง
ด้านหนึ่งเพราะเนื้อหาบางส่วนมันก็ดีขึ้นจริงๆ เช่น ไม่มีประเด็นเรื่องบังคับให้สื่อต้องขอใบอนุญาต และอีกด้านเป็นเพราะมีคนจากองค์กรวิชาชีพสื่อเข้าไปร่วมผลักดันด้วยในหลายขั้นตอน
บีบีซีไทยคุยกับมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฉบับล่าสุด ออกมาอุดช่องโหว่การกำกับดูแลกันเองของสื่อที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ส่วนชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในฐานะที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นหลายขั้นตอน ก็ระบุว่าร่างกฎหมายนี้ ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อ
“หลังจากนี้คงจะชี้แจงทำความเข้าใจกับเพื่อนฝูงว่า กฎหมายที่รัฐบาลเสนอหรือผ่าน ครม. ไม่จำเป็นต้องควบคุมสื่อเสมอไป กฎหมายที่ส่งเสริมการทำหน้าที่ของสื่อก็มี บางทีเรามีกรอบความคิดว่าถ้ากฎหมายเกี่ยวกับสื่อที่ออกมาจาก ครม. จะต้องเป็นการควบคุมสื่อ” ชวรงค์บอกกับบีบีซีไทย
อย่างไรก็ตาม ทั้งมงคลและชวรงค์ระบุว่า ต้องจับตาการผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อไปในชั้นของรัฐสภา เพราะเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะในชั้นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้งของสภาผู้แทนราษฎร และของวุฒิสภา
10.) เท่าที่สอบถามมา พบว่าคนในวงการสื่อจำนวนมากไม่เคยรู้เลยว่าองค์กรวิชาชีพสื่อเข้าไปร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่ออยู่ด้วย ไม่แปลกอะไรที่หลายคนจะยังระแวงกันว่า ที่สุดแล้วเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้อาจถูกปรับเปลี่ยนจนกลายเป็น ‘ควบคุมสื่อ’ หรือไม่ จากประสบการณ์ในอดีต ที่รัฐพยายามเข้ามาควบคุมการทำงานของสื่อและเบี้ยวข้อตกลงที่เคยพูดคุยไว้กับองค์กรวิชาชีพสื่อ อาทิ
- ปี พ.ศ.2564 องค์กรวิชาชีพสื่อเคยไปทำความเข้าใจกับ ผบช.น.เรื่องความปลอดภัยในการทำข่าวการชุมนุม แต่สุดท้ายก็ถูกละเมิดบางข้อตกลง จนทำให้มีสื่อภาคสนามถูกกัดกันไม่ให้ทำข่าวในบางพื้นที่ ไปจนถึงถูกยิงกระสุนยางใส่ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขน press แสดงตนว่าเป็นสื่อ จนกลายเป็นคดีในศาลแพ่ง
- ในช่วงวิกฤต COVID-19 พล.อ.ประยุทธ์ยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกข้อกำหนดหลายๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว โดยอ้างเรื่องปัญหาเฟกนิวส์ แต่ข้อกำหนดที่ร้ายแรงที่สุด คือฉบับที่ 29 ที่กำหนดโทษของการนำเสนอข่าวที่ทำให้หวาดกลัวว่าสามารถถูกตัดอินเทอร์เน็ตได้ทันที จนสื่อออนไลน์รวมกลุ่มกันยื่นฟ้องและศาลแพ่งสั่งห้ามใช้ กระทั่งเจ้าตัวยอมยกเลิกข้อกำหนดนี้ในเวลาต่อมา
- ปลายปี พ.ศ.2563 ท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เข้มข้น กระทรวงดิจิทัลฯ และตำรวจ เคยขอสั่งให้ปิด 4 สื่อออนไลน์ ทั้งประชาไท, The Reporters, The STANDARD และ Voice TV ดีที่ศาลอาญายกคำร้องนั้น เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 ว่าด้วยเสรีภาพของสื่อมวลชน
- การใช้อำนาจของ กสทช. เพื่อสั่งจอดำทีวีบางรายการ/บางช่อง ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
เป็นต้น
11.) คำถามที่คนจากองค์กรวิชาชีพสื่อต้องตอบมีอยู่หลายข้อ เช่น เหตุผลที่ต้องมีกฎหมายนี้คืออะไร ทั้งๆ ที่กลไกกำกับดูแลกันเองก็มีอยู่แล้ว, รู้ได้อย่างไรว่าเข้าไปผลักดันร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อแล้วจะไม่ถูกผู้มีอำนาจเบี้ยว, เหตุใดการเข้าไปร่วมผลักดันจึงแทบไม่มีคนในวงการสื่อรู้เลย, การกำหนดให้รับเงินจากภาครัฐก้อนโต ปีละหลายสิบล้านบาท จะเป็นอิสระได้แค่ไหน, ผลประโยชน์ทับซ้อนของคนที่มีส่วนร่วมกับร่างกฎหมาย กับตำแหน่งที่จะได้อยู่ยาวสมัยละ 4 ปี ฯลฯ
12.) สื่อที่ทำงานตาม ‘จริยธรรม’ หรือ ‘จรรยาบรรณ’ นั้นดีต่อสังคมส่วนรวมแน่ๆ และปัจจุบันมีหลายกลไกที่คอยกำกับให้สื่อทำตามมาตรฐานจริยธรรม-จรรยาบรรณ อาทิ
- กลไกทางสังคม อย่างการรวมตัวกันแบน แซงก์ชั่น ทัวร์ลง เมื่อสื่อใดนำเสนอข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง เห็นได้จากที่ผ่านมามีหลายๆ สื่อยอมแก้ไขข่าวตามที่มีผู้ทักท้วงหรือกระทั่งออกแถลงการณ์ขออภัย-ขอโทษเมื่อนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด
- กลไกทางกฎหมาย ผู้ที่รู้สึกว่าถูกสื่อละเมิดสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้
- กลไกการกำกับดูแลกันเอง โดยปัจจุบันมีองค์กรวิชาชีพที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า สภาการ- หรือสภาวิชาชีพ- อยู่หลายองค์กร ที่ผู้รู้สึกว่าถูกละเมิดสามารถร้องเรียนให้เข้ามาตรวจสอบสื่อที่คิดว่าไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม-จรรยาบรรณได้
13.) เมื่อร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อถูกส่งไปให้รัฐสภาพิจารณาตามกระบวนการแล้ว สิ่งที่ทำได้หลังจากนี้ ก็คือต้องจับตา ติดตาม ตรวจสอบ และตั้งคำถามกันต่อไป เพราะหากเปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสื่อได้ ผลดีไม่น่าจะตกอยู่กับประชาชนเป็นอันดับแรกแน่ๆ
ไม่รวมถึงว่า องค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ตามร่างกฎหมายนี้ จะใช้เงินของรัฐปีละหลายสิบล้านบาท โดยเงินบางส่วนจะมาจากภาษีของประชาชนด้วย
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/50437
https://prachatai.com/journal/2017/01/69832
https://www.bbc.com/thai/thailand-39715273
https://www.nationtv.tv/news/378545156
https://themomentum.co/media-censorship/
https://www.bangkokbiznews.com/news/974606
https://www.bbc.com/thai/thailand-59967468
https://www.isranews.org/article/isranews-news/92914-isranefws-518.html
#Recap #พรบจริยธรรมสื่อ #TheMATTER