เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เกิดการเตือนภัยถึงอันตรายในแคว้นแคชเมียร์ ให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบริเวณนั้น เพราะมีการชุมนุมประท้วง หลังอินเดียประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของดินแดนนี้ รวมถึงส่งกองกำลังทหารที่เข้ายึดพื้นที่ ตรึงกำลังอย่างเคร่งเครียด เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่อาจเกิดความไม่สงบได้
เกิดอะไรขึ้นในแคชเมียร์ ทำไมอินเดียถึงตัดสินใจยกเลิกสถานะพิเศษของดินแดนนี้ และหากยกเลิกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์กับปากีสถาน ที่มักเกิดข้อพิพาทแย่งชิงแคชเมียร์จะเป็นอย่างไร The MATTER สรุปเหตุการณ์ในครั้งนี้ พร้อมความคิดเห็นและบทวิเคราะห์จากนักวิชาการมาให้แล้ว
1. แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ เป็นแคว้นที่อยู่เหนือสุดของอินเดีย มีอาณาเขตติดกับประเทศปากีสถาน และมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ความขัดแย้งในดินแดนนี้ จึงมักมีตัวละครสำคัญอย่างอินเดียและปากีสถานมามีส่วน เพราะทั้งคู่ต่างก็เคยอ้างสิทธิในพื้นที่นี้ตั้งแต่ก่อนได้รับเอกราชกับอังกฤษแล้ว แต่เมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว จึงได้ให้สิทธิแก่แคชเมียร์ในการเลือกว่าจะอยู่กับประเทศไหน
2. ในตอนนั้นมีการคาดว่าแคชเมียร์จะเลือกปากีสถาน เพราะเป็นมุสลิมเหมือนกัน แต่มหาราชา ฮารี ซิงห์ ผู้ปกครองแคชเมียร์ ซึ่งเป็นชาวฮินดู ได้เลือกว่าจะให้ดินแดนรวมกับอินเดีย ทำให้ชาวมุสลิมที่เป็นจำนวนมากไม่พอใจ มีการปลุกระดม เรียกปากีสถานมาสนับสนุน ทำให้ดินแดนบางส่วนของแคชเมียร์ตกเป็นของปากีสถาน รวมถึงยังมีการเรียกร้องของชาวมุสลิม และกลุ่มติดอาวุธที่ดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอินเดียอยู่เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้
3. ต้นเดือนสิงหาคม เริ่มมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นในแคชเมียร์ ทั้งการยกเลิกการแสวงบุญของชาวฮินดูที่เกิดขึ้นทุกปี การเพิ่มกองกำลังอินเดียหลายหมื่นคน การปิดโรงเรียน และมหาวิทยาลัย มีนักท่องเที่ยวถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ รวมถึงการระงับสัญญาณโทรศัพท์ และบริการอินเทอร์เน็ต และกักตัวผู้นำทางการเมืองไว้ในบ้าน ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะดำเนินการบางอย่างกับรัฐแคชเมียร์
4. และสิ่งที่คาดการณ์ไว้ ก็กลายเป็นจริง เมื่อประธานาธิบดีอินเดีย ราม นาถ โกวินท์ ประกาศยกเลิกมาตรา 370 ยกเลิกสถานภาพพิเศษ และพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ผ่านกฎหมายปรับให้เป็นดินแดนสหภาพขึ้นตรงต่ออินเดีย และแยกบริเวณลาดักห์ออกจากแคชเมียร์
5. มาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญของอินเดียได้ให้อำนาจแก่แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ที่พิเศษกว่าที่อื่นๆ คือให้เป็นรัฐอิสระในระดับหนึ่ง มีอำนาจปกครองตนเอง มีธง มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายของตนเอง ทั้งยังให้ชาวแคชเมียร์เท่านั้นที่มีสิทธิในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือตั้งรกรากที่นั่น
6. ซึ่งเมื่อยกเลิก จัมมูและแคชเมียร์ก็ต้องกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายของอินเดีย รวมถึงคนอินเดียที่จะมีสิทธิเข้าไปซื้อขายที่ดินในแคชเมียร์ ที่รัฐบาลกล่าวว่าจะทำเพื่อการพัฒนาภูมิภาคนี้
.
7. ผศ.ดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เล่าถึงความท้าทาย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอินเดีย ปากีสถานและแคชเมียร์ หลังการประกาศยกเลิกมาตรา 370 กับ The MATTER ไว้ว่า
“การยกเลิกจะกระตุ้นให้ชาวแคชเมียร์ กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ และกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียใต้ ไม่พอใจ และก่อเหตุรุนแรงในแคชเมียร์ ซึ่งจะคล้ายกับกรณีการโจมตีเจ้าหน้าที่อินเดียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แนวนี้ อินเดียก็จะกล่าวหาปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ และอินเดียอาจจะตอบโต้ด้วยการโจมตีปากีสถาน และปากีสถานเองก็จะตอบโต้กลับเหมือนกัน ตรงนี้จะทำให้สถานการณ์ระหว่างสองประเทศค่อนข้างน่าเป็นห่วง”
8. อ.มาโนชญ์ มองว่า สถานการณ์ในแคชเมียร์ตอนนี้ ซึ่งมีการส่งทหารเข้าไปจำนวนมาก คล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ถึง ต้น 1990 ที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในแคชเมียร์ และคนส่วนใหญ่มองว่า อินเดียได้โกงการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคของตนเองได้เป็นรัฐบาล ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน มีกลุ่มติดอาวุธเกิดขึ้น จนอินเดียส่งทหารเข้ามา กลายเป็นพื้นที่ที่มีทหารหนาแน่นที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับประชากร มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทหารและกลุ่มติดอาวุธ จนทำให้ชาวฮินดูและมุสลิมกว่า 70,000 คน ต้องลี้ภัยออกมา
9. ถึงอินเดียจะประกาศยกเลิกมาตรการนี้ไปแล้ว แต่อ.มาโนชญ์ ก็มองว่า ยังมีความท้าทายอยู่ “การยกเลิกมาตรานี้ ยังมีข้อท้าทายในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งปากีสถานกำลังพยายามผลักดัน และโน้มน้าวในเวทีระหว่างประเทศ ให้นานาชาติกดดันอินเดีย ให้ยกเลิกความพยายามเปลี่ยนสถานะของจัมมูและแคชเมียร์ เพราะที่ผ่านมา ปากีสถานมีจุดยืนชัดเจนที่สนับสนุนให้แคชเมียร์ได้รับสิทธิในการปกครองตนเองเป็นไปตามมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ปี 1948 ที่เรียกร้องให้อินเดีย และปากีสถานจัดทำประชามติ ว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน
แต่อินเดียก็ได้ให้สถานะพิเศษของแคชเมียร์ไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 370 มากกว่ารัฐอื่นๆ เพื่อให้แคชเมียร์ยอมรับในรัฐธรรมนูญอินเดีย และมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำประชามติอีกแล้ว เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งโดยสมบูรณ์
นอกจากนี้ในมาตรา 370 ยังมีระบุไว้ว่า การตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลกลาง ที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะจัมมูและแคชเมียร์ จะกระทำได้เมื่อได้รับการยินยอมจากรัฐบาลแห่งรัฐเท่านั้น จึงกลายเป็นประเด็นการเมืองภายใน ที่ฝ่ายค้านก็ยกขึ้นมาว่า รัฐบาลได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ”
10. นอกจากการประกาศยกเลิกมาตรการ 370 แล้ว อินเดียยังประกาศแยกเลห์ ลาดักออกจากแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ไปเป็นดินแดนสหภาพด้วย ซึ่งแม้ว่าอ.มาโนชญ์ ก็มองว่า อาจจะเกิดประเด็นข้อพิพาทในอนาคตอีกได้ เพราะมีดินแดน ‘Aksai Chin’ เป็นแคชเมียร์ที่อยู่ในครอบครองของจีน และอยู่ติดกับลาดักห์ โดยตอนนี้ อินเดียก็ไม่ให้ลาดักมีสภาท้องถิ่น ไม่ให้มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกส่วนขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง เพราะอินเดียก็หวาดกลัวอิทธิพลของจีน แต่ถึงอย่างนั้นคนลาดัก และคนจัมมู ต่างก็รู้สึกยินดีกับการยกเลิกมาตรการนี้
11. การยกเลิกมาตรการ 370 เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหาเสียงของนายกฯ นเรนทรา โมดี ของพรรคฮินดูชาตินิยม BJP ที่แสงจุดยืนต่อต้านมาตรการนี้มาโดยตลอด ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าการยกเลิกมาตรการ เป็นความพยายามกลืนแคชเมียร์ หนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ
12. ในขณะที่ อ.มาโนชญ์เอง ก็มองว่า การที่อินเดีย เร่งยกเลิกมาตรการนี้ในตอนนี้ เป็นเพราะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อิมรอน ข่าน นายกฯ ของปากีสถาน เพิ่งเดินทางไปพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ปธน.สหรัฐฯ และได้ยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯ ช่วยเข้ามาเจรจาเป็นตัวกลางระหว่างปัญหาแคชเมียร์ แลกกับการที่ปากีสถานไปเจรจากับตาลีบัน น่าสนใจว่า ปัจจัยด้านความสำคัญ และข้อต่อรองของสหรัฐฯ และปากีสถาน ทำให้อินเดียไม่พอใจ จึงเร่งการยกเลิกมาตรการ 370
13. ปัญหาในแคชเมียร์ ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ และอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากทั้งการประท้วงของประชาชน กลุ่มติดอาวุธ และกลุ่มก่อการร้าย รวมถึงกองทัพของอินเดียที่มีแนวโน้มว่าจะตรึงกำลังอยู่ในแคชเมียร์อีกนาน ขนาดที่อ.มาโนชญ์ เล่าว่า มีนักวิเคราะห์กังวลว่า การยกเลิกจะทำให้เกิดคลื่นการต่อสู้รุ่นใหม่ในแคชเมียร์อีกครั้ง และจะกลายเป็นปัญหาในอินเดียระยะยาว หรือบางคนพูดว่าจะกลายเป็นปาเลสไตน์ที่ 2 ในเอเชียใต้เลยด้วย
14. ตัวละครภายนอกประเทศอย่าง ปากีสถานเอง ก็พร้อมที่จะวอร์กับอินเดียได้ทุกเมื่อ ในกรณีนี้ โดยอ.มาโนช์ สรุปว่า ตอนนี้ปากีสถานเรียกร้องนานาประเทศเข้ามาแทรกแซง ถ้าไม่อย่างนั้นจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค หรือเป็นการขู่ว่าพร้อมเผชิญหน้ากับอินเดีย ทั้งจะพยายามจับมือกับพันธมิตร ที่ใกล้ชิดอย่างตุรกี และเรียกร้องให้ OIC องค์กรความร่วมมืออิสลามโลก เข้ามาช่วยด้วย
“เพราะฉะนั้นปัญหานี้เป็นปัญหาในเชิงพื้นที่ การเมืองภายในอินเดียของอินเดีย พ่วงไปถึงการเมืองภายในปากีสถาน การเมืองระหว่างประเทศของสองประเทศนี้ และการเมืองโลกที่จะดึงจีน สหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงโลกมุสลิมด้วย” อ.มาโนชญ์กล่าว
15. เหตุการณ์นี้ ได้ส่งผลกระทบถึงไทยแล้ว เมื่อสถานทูตไทย ในอินเดีย และปากีสถานเอง ก็ได้ออกจดหมายเตือนให้ประชาชนไทย หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะการชุมนุมประท้วง และความรุนแรงที่อาจจะเกิดในพื้นที่ รวมถึงถ้าสถานการณ์รุงแรงขึ้น เหมือนอย่างเหตุการณ์การยิงเครื่องบินของทั้งสองประเทศในพื้นที่แคชเมียร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็อาจตามมาด้วยการปิดน่านฟ้า ที่จะกระทบต่อการบินไปปากีสถาน หรือผ่านไปยังยุโรปด้วย
หากไม่มีมาตรา 370 แล้ว แคชเมียร์จะเป็นอย่างไร ความตึงเครียดจะเกิดขึ้นรุนแรงแค่ไหน ปากีสถานจะมีการตอบโต้อะไรออกมา สหรัฐฯ จะเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหานี้หรือไม่ และแคชเมียร์จะกลายเป็นปาเลสไตน์ 2 อย่างที่มีการวิเคราะห์ไว้หรือไม่ เราคงต้องติดตามเหตุการณ์นี้กันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/brief/recap/recap-1551340800/71768
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-49234708
https://thediplomat.com/2019/08/the-end-of-article-370-how-pakistan-surrendered-kashmir/
#แคชเมียร์ #อินเดีย #Recap #TheMATTER