ความเดือดและการปะทุของสองประเทศเพื่อนบ้าน อินเดีย-ปากีสถานที่ขัดแย้งกันมายาวนานในบริเวณดินแดนแคชเมียร์ได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีการตอบโต้กันไปมาจนถึงขั้นที่ปากีสถานได้ยิงเครื่องบินรบของอินเดีย ที่บินอยู่เหนือน่านฟ้าปากีสถานตกลง ทั้งยังได้ควบคุมตัวนักบินอินเดียไว้ด้วย
แต่ความขัดแย้งนั้นยังกระทบหลายประเทศเป็นวงกว้าง มาถึงบ้านเราเองด้วย หลังปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้า ส่งผลต่อเที่ยวบินของสายการบินหลายๆ แห่ง ที่ต้องยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างอยู่ในสนามบินกันมากมาย
ปากีสถานกับอินเดีย ขัดแย้งกันเพราะอะไร? ทำไมความขัดแย้งนี้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง? และความหวาดกลัวที่ว่าจะเกิดเป็นสงครามจะเป็นไปได้หรือไม่ รวมทั้งประเทศอื่นๆ จะได้รับผลกระทบอย่างไร The MATTER สรุปเหตุการณ์ความขัดแย้ง พร้อมคำอธิบายจากนักวิชาการมาให้แล้ว
1. ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานในการแย่งครอบครองพื้นที่ดินแดนแคชเมียร์ เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานก่อนที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งภายหลังได้รับเอกราชแล้ว มหาราชา ฮารี ซิงห์ ผู้ปกครองแคชเมียร์ ซึ่งเป็นชาวฮินดู ได้เลือกว่าจะให้ดินแดนรวมกับอินเดีย ทำให้ชาวมุสลิมที่เป็นจำนวนมากไม่พอใจ มีการปลุกระดม รวมถึงเรียกปากีสถานมาสนับสนุน ทำให้ดินแดนบางส่วนของแคชเมียร์ตกเป็นของปากีสถาน
2. แม้ว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดนกันแล้ว แต่ความดุเดือดในแคชเมียร์ก็ยังไม่หายไป แต่มีเกิดขึ้นเป็นระยะ เนื่องด้วยพื้นที่นี้ มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และยังมีกลุ่มติดอาวุธที่ดำเนินการเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย ซึ่งแคชเมียร์ถือเป็นดินแดนที่เป็นฉนวนของสงครามระหว่าง 2 ประเทศนี้มาแล้ว ถึง 2 ครั้ง และการปะทะเล็กๆ น้อยๆ อีกนับไม่ถ้วน
3. ผศ.ดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายให้กับ The MATTER ถึงชนวนเหตุในครั้งนี้ว่า
“เกิดจากกลุ่มก่อการร้าย Jaish-e-Mohammed ก่อเหตุคาร์บอมโจมตีรถบัสตำรวจกึ่งทหารของอินเดีย ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 40 นาย ซึ่งอินเดียเชื่อว่าปากีสถานให้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนี้ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในแคชเมียร์ฝั่งของปากีสถาน อินเดียจึงได้ปฏิบัติการส่งเครื่องบินรบเข้าไปโจมตีบริเวณที่เชื่อว่าเป็นฐานฝึกของกลุ่มนี้ โดยที่ไม่ได้มีหลักฐานหรือปรึกษากับรัฐบาลปากีสถานก่อน จากนั้น ปากีสถานจึงตอบโต้ด้วยการยิงเครื่องบิน 2 ลำของอินเดียร่วง และจับนักบินของอินเดียได้ 1 คน”
4. นี่ถือเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของทั้งสองประเทศ โดยทางการปากีสถาน ได้ปล่อยคลิปวิดีโอการจับกุม นักบินอินเดียขณะที่เครื่องบินตกลง ซึ่งมีประชาชนเข้ามารุมทำร้าย รวมถึงยังถูกตรวจสอบจากทางปากีสถาน ซึ่งทางการอินเดียได้ประณามปากีสถานที่แสดงความหยาบคายต่อบุคลากรกองทัพอากาศอินเดียที่ได้รับบาดเจ็บ และถือเป็นการละเมิดบรรทัดฐานกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักบินให้เร็วที่สุด
5. อิมราน ข่าน นายกฯ ปากีสถานได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการเจรจา โดยกล่าวผ่านทางโทรทัศน์ว่า ถึงเวลาสำหรับการแก้ปัญหาทางการทูต เพราะด้วยอาวุธที่ปากีสถานและอินเดียมีอยู่ อาจเกิดให้สู่การคำนวณที่ผิดพลาด และควรคิดว่าจะนำไปสู่อะไร ซึ่งด้านนเรนทรา โมดี นายกฯ ของอินเดียเองก็เพิ่งออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนอินเดียว่า จะไม่ทำให้ประเทศตกต่ำ และ “ฉันต้องการรับรองว่าประเทศอยู่ในมือที่ปลอดภัย”
6. เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแค่ 2 ประเทศ แต่ยังส่งผลถึงโดยรวม รวมถึงประเทศไทยด้วย! เพราะหลังยิงเครื่องบินตก ปากีสถานได้ประกาศปิดน่านฟ้าประเทศ เพื่อป้องกันการยิงเครื่องบินพลเรือนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ทำให้กระทบต่อสายการบินต่างๆ ทั่วโลกในการเปลี่ยนเส้นทาง ทั้งบริติชแอร์เวย์ส, แอร์อินเดีย, เจ็ตแอร์เวย์ส, กาตาร์แอร์เวย์ส และสิงคโปร์แอร์ไลน์ส เกือบทุกสายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินไปยังปากีสถาน รวมถึงสายการบินการบินไทยเอง ที่ยกเลิกเที่ยวบินเส้นทางไป-กลับยุโรปในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งตอนนี้การบินไทยเปลี่ยนแปลงเส้นทาง และบินไปยุโรปได้ปกติแล้ว
7. ย้อนกลับมาที่ปัญหาที่ยืดเยื้อของทั้งสองประเทศอย่างแคชเมียร์ อ.มาโนชญ์ เล่าเสริมถึงสิ่งที่น่าสนใจไว้ว่า ปกติแล้วจะมีตัวละครอย่างสหรัฐฯ ที่มักเข้ามามีบทบาทระหว่าง 2 ประเทศนี้
“หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ พยายามจะรักษาดุลระหว่างปากีสถานและอินเดีย และพยายามให้ทั้งคู่ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ สหรัฐฯ จะเข้ามาให้ทั้งคู่ร่วมมือกันจัดการปัญหา ทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ โดยในปี 2004 อินเดียและปากีสถานจึงสามารถฟื้นฟูกระบวนการเจรจาสันติภาพได้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ามักมีสหรัฐฯ เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย
“แต่ในปัจจุบัน สหรัฐฯ มีปัญหากับปากีสถานมาก ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ปธน. สหรัฐฯ ที่วิพากษ์ปากีสถานอย่างรุนแรงว่าให้การสนับสนุนก่อการร้าย ตัดงบประมาณช่วยเหลือปากีสถานลง ทำให้ปากีสถานตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถานเองก็มองว่าไม่ใช่มิตรกันอีกต่อไป ในเหตุการณ์นี้สหรัฐฯ ก็ออกมาเพียงเรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศใช้ความอดกลั้นในการแก้ไขปัญหา เรียกร้องให้ปากีสถานจัดการกับกลุ่มก่อการร้าย แต่จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ตำหนิอินเดียเลย ที่รุกล้ำเข้าไปในปากีสถาณ เพราะวิธีการนี้ เป็นวิธีเดียวกับที่สหรัฐฯ ใช้ในสงครามก่อการร้าย”
8. ทั้งยังมีความกังวลว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้ จะบานปลายจนเป็นสงคราม เพราะทั้งคู่ต่างเป็นประเทศที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอ.มาโนชญ์ได้มองว่า ท่าทีแข็งกร้าวของทั้ง 2 ประเทศนั้น มาจากปัจจัยภายในประเทศ
“อินเดียใช้มาตรการแข็งกร้าว เพราะว่าอินเดียหวังผลประโยชน์ทางการเมืองในประเทศ ที่กำลังมีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน และต้องการปลุกกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะกระแสชาตินิยมฮินดูขวาจัด ซึ่งพรรครัฐบาล เป็นพรรคชาตินิยมฮินดู
“ด้านปากีสถาน อิบราน ข่านก็ถูกกดดันจากกระแสชาตินิยมในประเทศ เพราะจากอดีตในการปะทะของ 2 ประเทศ ในปี 1999 รัฐบาลได้ตัดสินใจถอนทหาร แต่ทำให้เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นมองว่า รัฐบาลอ่อนข้อ และก่อการรัฐประหาร ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มูชาร์ราฟเองก็เพิ่งออกมาประกาศว่า คนกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐบาลก็เป็นคนของเขาด้วย ทำให้มีการตอบโต้ทันที และหนักหน่วง แต่ปากีสถานก็ย้ำชัดเจนว่าต้องการปกป้องอธิปไตยเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจจะทำสงคราม”
9. อ.มาโนชญ์สรุปว่า ปกติแล้วในการปะทะกัน ทั้ง 2 ฝ่ายมักจะไม่ลดราวาศอก จึงจำเป็นต้องมีประเทศที่ 3 เข้ามาไกล่เกลี่ย “ที่ผ่านมามักจะเป็นสหรัฐฯ แต่ในตอนนี้ บริบทเปลี่ยนไป อาจจะไม่ใช่สหรัฐฯ แล้ว แต่ก็มีจีนที่แสดงท่าทีห่วงใย และตุรกีเอง ก็เสนอตัวเป็นตัวกลางผสานแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นท่าทีจากสหประชาชาติในครั้งนี้”
อาจารย์ยังมองว่า เราต้องรอดูการเลือกตั้งในอินเดีย ซึ่งถ้าผ่านไปได้ คาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งนี้น่าจะดีขึ้น
สถานการณ์ระหว่างทั้งคู่จะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีการปล่อยตัวนักบินคืนให้อินเดียหรือไม่ ปากีสถานจะเปิดน่านฟ้าเมื่อไหร่ รวมไปถึงประเทศไหนจะเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้ในเหตุการณ์นี้ เราคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/international-47371098
https://www.theguardian.com/world/2019/feb/27/pakistan-pm-imran-khan-appeals-talks-india-war-kashmir
https://www.abc.net.au/news/2019-02-28/india-pakistan-brink-of-war/10856536
https://www.facebook.com/ThaiAirways.TH/
#recap #TheMATTER