“แนวคิดของหนูไม่ได้พาดพิงศาสนาให้ดูเสื่อมเสีย หนูเห็นพระพุทธรูปปกปักรักษาคุ้มครองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอเติบโตมาในยุคสมัยใหม่ หนูเห็นอุลตร้าแมนเป็นฮีโร่ได้ ก็เลยสร้างผลงานขึ้นมาให้มีแง่คิด”
นี่คำพูดของนักศึกษาเจ้าของภาพวาด ‘พระพุทธรูปอุลตร้าแมน’ ที่เดินทางไปกราบขอขมาต่อพระเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (โดยมีผู้ใหญ่อย่างทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดฯ เดินทางไปพร้อมกันด้วย)
นักศึกษาคนดังกล่าว กล่าวประโยคข้างต้นพร้อมกับน้ำตา และดูเหมือนว่าดราม่าที่เกิดขึ้นในตลอดหลายวันมานี้ ได้ลงเอยด้วยการ ‘ขอโทษ’ จากเจ้าของผลงาน
The MATTER สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับชวนกันคิดถึงประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกผ่านศิลปะ และความเกี่ยวพันกับแวดวงพระพุทธศาสนาในสังคมไทย
1.) เรื่องราวเริ่มต้นในโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อมีเพจหนึ่งได้แชร์รูปภาพงานศิลปะ 3 ชิ้น แต่ละชิ้นมีไอเดียที่ผสมผสานพระพุทธรูปเข้ากับอุลตร้าแมน ยอดมนุษย์ในหนังแปลงร่างที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี
2.) มีนักข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าของเพจที่แชร์งานศิลปะดังกล่าว แอดมินเพจนั้น ได้บอกว่า ผู้วาดเป็นนักศึกษาที่ทำงานส่งอาจารย์ โดยที่งานศิลปะทั้ง 3 ชิ้นเคยถูกโชว์ไว้ที่ห้างดังห้างหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกปลดออกไป
3.) มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นต่องานศิลปะนี้กันอย่างมากมาย ในฝั่งหนึ่งมองว่า นี่คือการแสดงออกทางศิลปะที่ไม่เหมาะสม บ้างก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะดูหมิ่นศาสนาพุทธ เพราะพระพุทธรูปคือสัญลักษณ์ที่สำคัญ
ขณะเดียวกัน ก็มีคนที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์อีกด้วย ว่าการเอาอุลตร้าแมนมาใช้ในรูปแบบนี้จะกลายเป็นปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในภายหลังหรือไม่
4.) อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับประเด็นการสื่อสารผ่านงานศิลปะชุดนี้ โดยมองว่า นี่คือการแสดงออกที่ทำได้ทั่วไป และอยากให้มองถึงแนวคิดที่ผู้วาดต้องการจะสื่อออกไปมากกว่า
5.) หนึ่งในบุคคลที่ออกมานำเสนอความเห็น คือ พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร วัดสร้อยทอง ซึ่งไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของการลบหลู่ศาสนา แล้วก็อยากให้ไปสนใจกันในสิ่งที่เจ้าของผลงานอยากสื่อสารมากกว่า
“มีคนส่งภาพวาดเหล่านี้มาให้อาตมาดู อาตมาเห็นแล้วก็ไม่ได้นึกสนใจประเด็นที่ว่า ภาพวาดพวกนี้ดูสวยเก๋แปลกใหม่ หรือเป็นเรื่องของการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอะไรนะ อาตมาสนใจสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อสารต่างหาก สนใจเรื่องเล่าที่อยู่เบื้องหลังภาพวาด” พระมหาไพรวัลย์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก
6.) แต่ดูเหมือนเรื่องราวจะบานปลายไปใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องมันไปถึงขั้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา วิเชียร จันทรโณทัย ต้องออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเองกันเลย
เดลินิวส์ ได้รายงานถึงความเห็นของผู้ว่าฯ วิเชียร เอาไว้ว่า ตัวเขาเองได้รับรู้ถึงภาพวาดเหล่านั้นแล้ว และโดยเบื้องต้นยอมรับว่า เป็นภาพที่ไม่เหมาะสม และเป็นการแสดงออกทางศิลปะที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน
7.) วิธีที่เหล่าผู้ใหญ่ในโคราชได้พยายามคลี่คลาย คือการหารือไปยังมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาเจ้าของผลงานสังกัดอยู่ รวมถึง สำนักงานพระพุทธศาสนา และเจ้าคณะจังหวัด คือกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้บริหารสำนักงาน และองค์กรต่างๆ ออกมารีบหารือกันอย่างเร่งด่วน
8.) จนมาถึงช่วงเย็นวันนี้ ก็ปรากฏข่าวที่นักศึกษาเจ้าของผลงาน ได้เดินทางพร้อมกับ ผู้ว่าฯ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนา เพื่อไป ‘ขอขมา’ ต่อ พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
9.) นักศึกษาคนนี้ได้อธิบายถึงผลงานที่เธอได้สร้างขึ้นมาว่า
“แนวคิดของหนูไม่ได้พาดพิงศาสนาให้ดูเสื่อมเสีย หนูเห็นพระพุทธรูปปกปักรักษาคุ้มครองมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอเติบโตมาในยุคสมัยใหม่ หนูเห็นอุลตร้าแมนเป็นฮีโร่ได้ ก็เลยสร้างผลงานขึ้นมาให้มีแง่คิด
“ต้องกราบประทานโทษทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งศาสนา คือหนูไม่ได้ตั้งใจที่จะหมิ่นประมาท ก็ต้องขอโทษในสิ่งนี้ด้วยนะคะ”
ส่วน พระเทพสีมาภรณ์ บอกกับนักศึกษาว่า เมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิดพลาดไปก็ต้องกล่าวขอขมาด้วยกาย วาจา และใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรทำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี และทุกฝ่ายก็ควรให้อภัยต่อกัน ทั้งนี้ ก็ได้ฝากข้อคิดว่า หากจะทำอะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็ควรคิดให้รอบคอบเพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
10.) ผู้ว่าฯ วิเชียร ได้ย้ำถึงเหตุการณ์นี้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้ฝากความเห็นมาถึงกรณีนี้ด้วยเหมือนกันว่า การแสดงออกทางศิลปะอาจจะต้องระวังถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วย
“บางครั้ง ความคิดอิสระในการสร้างสรรค์ มันอาจจะไปล่วงล้ำถึงวัฒนธรรมประเพณีหรือความเชื่อ ซึ่งมันอาจจะทำให้คนในสังคมไม่สบายใจ ก็ขอให้ทางจังหวัดได้ช่วยหามาตรการในการป้องกันด้วย ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมให้คำแนะนำมา” ผู้ว่าฯ โคราช กล่าว
11.) กรณีนี้ ถือเป็นอีกครั้งที่การแสดงออกทางศิลปะ ได้ปะทะกับความเชื่อและค่านิยมทางพุทธศาสนา และกลายเป็นคำวิจารณ์ถึงความเหมาะสม โดยฝั่งหนึ่งมองว่ามันละเอียดอ่อนและกระทบต่อศรัทธา
แต่อีกฝั่งเชื่อว่า งานศิลปะนี้มันสะท้อนได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ และไม่ได้ใส่ความว่าร้ายต่อพระพุทธศาสนา ตามที่เจ้าของผลงานได้อธิบายไป
12.) ก่อนหน้านี้ มีข้อถกเถียงถึงการใช้ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เพื่อถ่ายทอดประเด็นที่เกิดขึ้นกับแวดวงพุทธศาสนาในไทยอยู่หลายครั้ง เช่น เมื่อหลายปีที่แล้ว เคยมีงานศิลปะที่ใช้อีกาเป็นตัวแทนด้านมืดที่วิพากษ์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของภิกษุในไทยหลายองค์ แต่งานดังกล่าวก็ถูกวิจารณ์ไม่น้อย
นอกจากนั้น ยังเคยมีดราม่าเรื่อง ฉากต่อสู้ในเกม Fight of Gods เมื่อสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์วิจารณ์ว่า การนำพระพุทธเจ้า พระเยซู และศาสดาของศาสนาอื่นๆ มาต่อสู้กันในเกม
รวมถึงล่าสุด เพลง ‘นะโม’ ที่ตลกชื่อดังอย่าง นุ้ย เชิญยิ้ม ร้องก็ถูกองค์กรด้านพุทธศาสนาวิจารณ์ถึงความเหมาะสม และเรียกร้องให้ทบทวนการเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต
13.) กรณีเหล่านี้ สะท้อนให้เราเห็นถึงภาพการปะทะทางความคิดในสังคมเราไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับการแสดงออกทางศิลปะในไทยพยายามใช้ศิลปะและวัฒนธรรมป๊อปมาพูดถึงศาสนาพุทธ
เสรีภาพทางแสดงออก และศรัทธาในศาสนา น่าจะยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไปในสังคมไทย
อ้างอิงจาก
https://prachatai.com/journal/2019/09/84214
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2868990
https://www.dailynews.co.th/regional/730207
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1654803
https://thematter.co/brief/brief-1567850401/84590
https://thematter.co/quick-bite/religious-debate-in-media/65407
#Recap #TheMATTER