ฉากพระร้องไห้หน้าโลงศพ กลายเป็นจุดที่ทำให้ ‘ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2’ ไม่ผ่านเซ็นเซอร์ จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ นี่ถือเป็นอีกครั้งที่แวดวงบันเทิงบ้านเรา เกิดข้อถกเถียงว่าด้วยประเด็นเรื่องศาสนาขึ้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็ไม่ใช่แค่ครั้งแรกที่สื่อบันเทิงตกเป็นเป้าวิจารณ์ขององค์กรทางศาสนา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ The MATTER หยิบกรณีข้อพิพาท (ส่วนหนึ่ง) มาให้ดูกัน ที่น่าช่วยให้ถึงประเด็นที่รัฐไทย และวงการศาสนานิยามว่า ‘เปราะบาง’ และ ‘อ่อนไหว’
แบนฉากพระเล่นกีต้าร์ใน ‘แสงศตวรรษ’
ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ หรือ Syndrome and a Century มีกำหนดฉายในเดือนเมษยายนปี 2550 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ดภาพยนตร์ เพราะเห็นว่ามีหลายฉากที่ไม่เหมาะสม โดยมีอย่างน้อย 2 ฉากที่เกี่ยวกับพระสงฆ์คือ ฉากพระเล่นกีต้าร์ และ ฉากพระเล่นเครื่องร่อน
เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นข้อพิพาทครั้งใหญ่ในวงการภาพยนตร์บ้านเรา ถึงกับที่ผู้กำกับเคยตัดสินใจว่าจะไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทยเลยทีเดียว (อย่างไรก็ตาม ผู้กำกับได้นำภาพยตร์เรื่องนี้มาให้บอร์ดฯ พิจารณาอีกครั้ง ปรากฏว่า ถูกสั่งให้ตัดเพิ่มเป็น 6 ฉาก แต่ผู้กำกับก็ยอมทำตาม โดยใส่เป็นภาพฟิลม์สีดำลงไปแทนเพื่อสื่อถือการถูกบังคับให้ตัดออก ก่อนที่จะสามารถนำออกมาฉายในโรงภาพยนตร์ได้ในที่สุด)
กลุ่มโจรปลอมเป็นพระใน ‘นาคปรก’
นาคปรก คือ ภาพยนตร์ว่าด้วยกลุ่มโจรที่หนีตำรวจด้วยการปลอมตัวเป็นพระ และหวังจะปล้นเงินที่แอบซ่อนอยู่ในวัด มีกำหนดฉายในปี 2553 ด้วยพล็อตที่เกี่ยวข้องกับวงการพระสงฆ์เช่นนี้ ทำให้สมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์ได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลแบนหนังเรื่องนี้ เพราะมองว่า มีภาพพระสงฆ์ก่อพฤติกรรมความรุนแรง ถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิง ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียให้กับพระสงฆ์และศาสนาพุทธโดยรวม
นอกจากนี้ยังเสนอว่า การเผยแพร่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ฟังความรู้สึกของชาวพุทธ เป็นการกระทำโดยพลการ ละเมิดสิทธิความเป็นพระ เพราะไม่ให้กรรมการมหาเถรสมาคมกลั่นกรองเสียก่อน
ตำหนินางแบบ Maxim ถ่ายรูปคู่พระพุทธรูป
กรณีนางแบบถ่ายรูปคู่กับพระพุทธรูปนั้นเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมาแล้วบ่อยครั้ง ยกตัวอย่างกรณีที่นางแบบ MAXIM ถ่ายรูปเซ็กซี่คู่กับพระพุทธรูปคล้ายศิลปะของเมียนมาร์เมื่อปี 2555 โดยองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ออกมาตำหนิว่า เป็นเรื่องที่น่าหดหู่และถือว่าดูถูกเหยียดหยามชาวพุทธ
นอกจากนี้ ยังกลายเป็นเรื่องใหญ่โตถึงกับที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องรีบประสานไปยังกระทรวงไอซีทีเพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพชุดนี้ไปทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้ง ยังส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังนิตยสาร MAXIM ให้รับทราบว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะสม และกระทบต่อความรู้สึกของชาวพุทธเป็นอย่างมาก
ปัญหาพระชู้สาวใน ‘อาบัติ’
ปี 2558 บอร์ดภาพยนตร์มีมติห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่อง ‘อาบัติ’ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เหตุผลที่ถูกหยิบขึ้นมาชี้แจงคือ นำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา มีเนื้อหาและภาพบางตอนแสดงพฤติกรรมทางลบของพระสงฆ์ในทางชู้สาว ตลอดจนนำความผิดของพระสงฆ์มาประจานจนเกิดความเสื่อมเสีย-เสื่อมศรัทธาต่อพระสงฆ์ และพระพุทธศาสนา
มติของบอร์ดภาพยนตร์ได้ส่งผลให้สหมงคงฟิลม์ต้องเลื่อนการฉายไปอย่างไม่มีกำหนด ก่อนที่จะตัดบางฉากที่เป็นปัญหาออกไป พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘อาปัติ’ รวมทั้งติดเรทภาพยนตร์เป็น 18+ เพื่อให้ฉายได้ตามปกติ
ฉากต่อสู้ในเกม Fight of Gods
เป็นกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์วิจารณ์ว่า การนำพระพุทธเจ้า พระเยซู และศาสดาของศาสนาอื่นๆ มาต่อสู้กัน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ มาทำเป็นเกมส์เพื่อหาผลประโยชน์เช่นนี้ ถือเป็นความเลวร้าย และความเห็นแก่ตัวของทั้งผู้ผลิต พร้อมอ้างอิงรัฐธรรมนูญมาตรา 206 ที่ระบุว่า การกระทำใดๆ ที่เหยียดหยามศาสนานั้น ต้องมีโทษจำคุก 1-7 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท
จากแถลงการณ์นี้ ทำให้บริษัท PQube ผู้จัดจำหน่ายเกม Fights of Gods ได้ตัดสินใจยกเลิกการขายเกมนี้ในประเทศไทยไปในที่สุด
อ้างอิงจาก