เสียงลั่นปืนในห้องพิจารณาคดีของศาลจังหวัดยะลา และเรื่องราวเบื้องหลังที่ตามมา ชวนให้สังคมไทยตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม
มีหลายคนเปรียบเทียบกับกรณีของสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่ลั่นไกปลิดชีวิตตัวเอง เมื่อปี พ.ศ.2533 ที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจปัญหาการบุกรุกป่ามากขึ้น แต่ในกรณีนี้ ผู้ลั่นไก-คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ยังไม่เสียชีวิต เพียงบาดเจ็บสาหัส
เกิดอะไรขึ้นในแวดวงของผู้ที่มีหน้าที่ให้ความยุติธรรมกับสังคม? เหตุใดวลี “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” ถึงดังกระหึ่มในชั่วข้ามคืน?
1.) เรื่องนี้เป็นข่าวตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม แต่ข่าวที่ออกมาช่วงแรกๆ ยังขาดรายละเอียด บอกเพียงว่ามีผู้พิพากษาใช้ปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี โดยอ้างข้อมูลจากตำรวจในท้องที่
2.) ต่อมาเริ่มมีข้อมูลใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถ้อยคำที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก (แต่ภายหลังถูกลบ) คลิปการไลฟ์ของคณากร รวมถึงคำแถลงการณ์ยาว 25 หน้า (ซึ่งโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กของคณากรเช่นกัน แม้ถูกลบแล้ว แต่มีผู้เซฟเก็บไว้ได้ทัน) ซึ่งเนื้อหาทั้งหลายสอดคล้องไปในทางเดียวกัน
3.) สิ่งที่คณากรต้องการเผยแพร่ดังๆ ให้สาธารณชนรับรู้ คือคำถามของเขาต่อ ‘อิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาตัดสินคดี’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย
4.) แต่ก่อนจะไปว่าด้วยสิ่งที่คณากรใช้ชีวิตแลกมา (แม้เขาจะไม่เสียชีวิต) เพื่อให้สังคมได้รับรู้ อยากให้ทุกๆ คนจดจำถ้อยคำในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 188 วรรคสอง ที่เขียนไว้ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการ #ย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” เพราะเป็นข้อความที่คณากรอ้างถึงหลายครั้ง
5.) กฎหมายอีกข้อที่คณากรอ้างถึงบ่อยๆ ก็คือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1) ที่กำหนดไว้ว่า หากผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของผู้ใต้บังคับบัญชา “…เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้ว #มีอำนาจทำความเห็นแย้งได้…” (ในวงเล็บ ก็คือ ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งให้แก้ไขสำนวน)
6.) ในแถลงการณ์ซึ่งเขียนในเอกสารที่ใช้ฟอร์มของคำพิพากษา จำนวน 25 หน้ากระดาษ A4 ให้ข้อมูลในสิ่งที่คณากรอัดอั้นไว้ค่อนข้างละเอียด ทั้งคดีที่เขาออกนั่งบัลลังก์ตัดสินในวันเกิดเหตุ (จำเลย 5 คนก่อคดีฆาตกรรมใน จ.ยะลา) และคดีก่อนหน้านี้ (ทหาร 3 คนยิงชาวบ้านเสียชีวิต ใน จ.ปัตตานี) ที่ถูกผู้ใหญ่ข่มขู่ให้แก้ไขคำพิพากษา
7.) สำหรับคดีแรก เขาระบุว่า เดิมเขียนสำนวนไว้ว่าจะให้ ‘ยกฟ้อง’ จำเลยทั้ง 5 คน เนื้อจากพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนัก ทั้งปลอกกระสุนที่เก็บในที่เกิดเหตุโดยอาสาสมัครกู้ภัยไม่ใช่ตำรวจ ทั้งโทรศัพท์มือถือที่อ้างว่าใช้ในวันก่อเหตุแต่ไม่มี DNA ของผู้ก่อเหตุและไม่มีหลักฐานอื่นยืนยันการใช้งาน ทั้งบันทึกคำให้การที่จำเลยทั้ง 5 คนให้ไว้ระหว่างถูกควบคุมตัวด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคง
แต่ต่อมาถูกผู้ใหญ่สั่งให้แก้ไขเป็นประหารชีวิตจำเลยที่ 1, 3 และ 4 และจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และ 5
ทั้งๆ ที่หากย้อนไปดูบรรทัดข้างบน ธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1) คือหากผู้บังคับบัญชาไม่เห็นด้วยกับสำนวนให้ทำความเห็นแย้งได้ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งแก้ไขสำนวน
[ ดูเพิ่มเติม: คดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 คดีหมายเลขแดงที่ …/2562 ของศาลจังหวัดยะลา ]
8.) คณากรระบุว่า ไม่ใช่ว่าตนจะยืนยันว่าจำเลยทั้ง 5 คน ไม่ใช่คนร้าย แต่หลังตรวจสอบพยานหลักฐานร่วมกับองค์คณะแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานในคดีนี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยทั้ง 5 คน
9.) คดีที่สอง มีการขอให้ลดโทษให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุ จากเดิมในสำนวนจะให้จำคุกตลอดชีวิตทหารรายหนึ่ง และให้จำคุกทหารรายหนึ่ง 15 ปี (ส่วนอีกรายยกฟ้อง) แต่ถูกผู้ใหญ่ขอให้ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือนแทน
[ ดูเพิ่มเติม: คดีหมายเลขดำที่ 2863/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 321/2562 ของศาลจังหวัดปัตตานี ]
10.) สำหรับคดีก่อนหน้านี้ เขายอมรับว่าหวาดกลัวจึงยอมแก้ไขสำนวนตามคำขอของผู้ใหญ่ แต่คดีหลังเขาไม่ยอม นำมาสู่การลั่นไกในห้องพิจารณาคดี
11.) หากอ่านดีๆ คำแถลงการณ์ของคณากร ไม่เพียงอ้างถึงบทบาทของผู้ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม ที่จะทำให้ผู้พิพากษาชั้นผู้น้อยเป็นเพียง ‘เนติบริการ’ ยังทำให้เห็นภาพกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย – อย่างไรก็ตามต้องทดไว้ด้วยว่า ข้อมูลและความเห็นทั้งหมดมาจากคณากรเพียงคนเดียว แต่ด้วยการที่เขายอมเอาชีวิตเข้าแลก ก็ทำให้สังคมให้น้ำหนักกับถ้อยคำที่ปรากฎ
12.) หลังจากนี้คงเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่คณากรเขียนมาหรือไม่ เพราะมีการระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องไว้เป็นจำนวนมาก น่าจะตรวจหาข้อเท็จจริงได้ไม่ยากนัก และหากพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง จะปฏิรูปตัวเองอย่างไร เพื่อเรียกคืนความน่าเชื่อถือจากสังคม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้คนยังคาดหวังว่าศาลจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ ‘อำนวยความยุติธรรม’ ให้กับประชาชน หากศาลไม่ปฏิรูปตัวเอง คำถามเรื่องความยุติธรรม ก็จะยังมีอยู่ และจะยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ
13.) ในแถลงการณ์ของคณากร อาจเขียนถ้อยคำหนึ่งที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง ที่บอกว่า “..คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก..” เพราะคำแถลงของเขา สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคมภายในเวลาชั่วข้ามคืน
แต่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ยังต้องจับตากันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://mgronline.com/south/detail/9620000095741
https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/2421645868085799
https://futureforwardparty.org/8699
https://voicetv.co.th/read/0C1Iz4N-q
https://www.matichon.co.th/politics/news_1699414
#Recap #justice #คณากรเพียรชนะ #TheMATTER