และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอีกครั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เมื่อเหล่านิสิต-นักศึกษา ได้รวมตัวกันจัดเวทีปราศรัย และแสดงพลังส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ จากกรณีพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค
The MATTER สรุปการชุมนุมที่เกิดขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563) มาไว้ในโพสต์นี้ เพื่อร่วมกันสำรวจปรากฏการณ์พลังนักศึกษาที่กำลังเข้มข้น พร้อมกับสะท้อนภาพสังคมการเมืองไทยที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้
1. การรวมตัวกันแสดงพลังในมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นไม่นานนักหลังจากมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในเหตุการณ์แรกๆ ที่เกิดขึ้นคือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ได้มีการแสดงออกผ่านป้ายข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม”
ส่วนที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็มีความเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยนักศึกษาได้รวมตัวกันจุดเทียนด้วยที่อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี
เช่นเดียวกับที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กลุ่มนิสิตได้ทำป้ายผ้าข้อความว่า “No Privacy No Security No Democracy จบ สวัสดี” ขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน
2. นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มของนักศึกษา รวมถึงอาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมกันจุดเทียนเพื่อแสดงออกว่า ต้องการให้กำลังใจกับพรรคอนาคตใหม่หลังจากถูกยุบ โดยกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมชื่อว่า “ส่องแสงสว่างให้กับอนาคตประชาธิปไตยไทย”
เว็บไซต์ อีสานเรคคอร์ด รายงานถึงแกนนำกลุ่มนักศึกษาเอาไว้ว่า “เราเชื่อมั่นว่าถ้านักศึกษารวมตัวกัน ผนึกกำลังกันเป็นเครือข่ายในลักษณะองค์การนักศึกษาที่เป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจน จะสร้างแรงกระตุ้นและเขย่าขวัญรัฐบาลได้ เพียงแค่คนรุ่นใหม่อย่าหมดไฟ อย่าหวาดกลัว แล้วแปรเปลี่ยนความแค้นเป็นพลัง”
3. ความเคลื่อนของนักศึกษายังได้ปรากฏในอีกหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ได้จัดกิจกรรมชื่อว่า ‘แฟลช-มีต’ โดยตั้งเป้าเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมให้คนมาร่วมกันเขียนป้ายผ้าเป็นข้อความต่างๆ
4. ทางด้านมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้อ่านแถลงการณ์ที่ระบุว่าเนื้อหาแสดงความเสียใจต่อผู้คนที่ต้องการประชาธิปไตย แต่ก็ขอให้กำลังใจกับคนที่ต้องการประชาธิปไตยได้สู้ต่อไปเพื่อสังคมที่ดีขึ้น
5. มหาวิทยาลัยนเรศวรที่จังหวัดพิษณุโลก รวมตัวกันแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษา ที่พร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อสีดำ เพื่อไว้อาลัยกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ด้านกลุ่มเยาวชนภาคเหนือตอนล่าง ได้อ่านแถลงการณ์แสดงความเสียใจและให้กำลังใจกับพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบ
6. ด้านสำนักข่าวประชาไท รายงานว่า ความเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยยังได้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยนิสิตมหาลัยบูรพา สโมสรคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์พร้อมกับกลุ่มโกงกาง ได้ร่วมกันจุดเทียน และปราศรัยเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมไทย รวมถึง ประกาศขอให้ทุกคนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปโดยที่อย่าเพิ่งหมดความหวัง
7. ตัดภาพไปที่ภาคเหนือ—กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากคณะต่างๆ ได้รวมตัวกันที่เขื่อนอ่างแก้วภายในมหาวิทยาลัย พร้อมกับชูป้ายข้อความ เช่น “อย่าสิ้นหวัง” และ “ดอกไม้จะบาน” นอกจากนี้ ยังได้ทำท่าทางเป็นสัญลักษณ์มือหยุดขึ้นมา พร้อมกับข้อความที่เขียนว่า “หยุดความอยุติธรรม”
8. นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรมขึ้นที่บางเขน โดยใช้ชื่อว่างาน ‘มอกะเสดไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ’ ซึ่งนิสิตหลายคนได้แสดงออกทางการเมืองผ่านป้ายคำต่างๆ และการปราศรัย นอกจากนี้ ยังมีการเชิญชวนให้ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์ที่ประกาศจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย
9. ในช่วงเวลาใกล้ๆ กับกิจกรรมที่ ม.เกษตรฯ ได้มีกิจกรรมของนิสิตเกิดขึ้นภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า ‘จุฬารวมพล’ ที่เชิญชวนให้นิสิตและประชาชนร่วมกันติดแท็ก #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป เพื่อแสดงออกว่า ชาวจุฬาฯ พร้อมจะต่อสู้และหยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย
10. อีกความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยกลุ่มนักศึกษาสิงห์ภูพานรัฐศาสตร์ราษฎร ได้จัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยเช่นกัน ด้านสำนักข่าวประชาไท รายงานว่า กิจกรรมนี้มีชื่อว่า ‘รัฐศาสตร์ราษฎรไม่นอกนา สิงห์ภูพานสบตาบรรพชน’ พร้อมกับเผยแพร่แถลงการณ์ที่ในท่อนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า
“ในนามลูกหลานของบรรพชนนักสู้ภูพานผู้พลีชีพต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เราจะรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพและความก้าวหน้าของประชาธิปไตยต่อไป ขอไว้อาลัยต่อความไม่เป็นธรรม ขอคาราวะต่อประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรี”
11. ขณะที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแถลงการณ์จัดตั้ง ‘ภาคีนักศึกษาศาลายา’ ขึ้นเพื่อเดินหน้าสนับสนุนประชาธิปไตยในสังคมไทย พร้อมกับระบุว่า ต้องการสร้างความตระหนักถึงเรื่องความสำคัญองเสียงประชาชนกว่า 6 ล้านเสียงที่พวกเขาเชื่อว่า ได้ถูกทำลายลงไป
“นอกจากการริดรอนเสียงของประชาชนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่แล้ว พวกเรายังมองถึงสถานการณ์ความเป็นไปของสิทธินักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดลที่กำลังหายไปอย่างเห็นได้ชัด และด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดมีการรวมตัวขึ้นมา” แถลงการณ์ ระบุ
12. ข้างต้นนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกรายงานผ่านสื่อต่างๆ คู่ขนานไปกับกระแสในโลกออนไลน์ที่มีการติดแฮชแท็กขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจคือการแบ่งแท็กต่างๆ ไปตามมหาวิทยาลัยของตนเอง เช่น
ม.เกษตรฯ : #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ
ม.รังสิต : #บลูบานเย็นไม่ได้เป็นขนมหวาน
มศว : #มศวขอมีจุดยืน
ม.อ.หาดใหญ่ : #ฝุ่น6ล้านหรือจะสู้ท่าน9เสียง
ม.มหาสารคาม : #ถึงจะอยู่ไกลขอส่งใจที่ลานแปดเหลี่ยม
จุฬาฯ : #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป
ม.ศิลปากร : #ศิลปากรขอมีซีน
ม.นเรศวร : #มอนออยากออกจากกะลา
ม.มหิดล : #MUneedsDemocracy
ม.บางมด : #ศาลาวีรชนจะไม่ใช่ที่หลบฝนอีกต่อไป
ม.เชียงใหม่ : #ช้างเผือกจะไม่ทน
ม.พะเยา : #ฟ้ามุ่ยไม่คุยกับเผด็จการ
ม.เทคโนโลยีสุรนารี : #หลานย่าโมโนเผด็จการ #ถึงมออยู่ใกล้หลายค่ายก็ไม่ได้ชอบเผด็จการ
ม.อุบลราชธานี – #กันเกราไม่เอากะลา
ม.กรุงเทพ : #BUกูไม่ใช่สลิ่ม
ม.ธรรมศาสตร์ : #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น
ม.รามคำแหง : #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ
3 พระจอมเกล้าฯ : #สามพระจอมจะยอมได้
ม.ขอนแก่น – #เกิดจากสฤษดิ์แต่ไม่ขอเป็นสลิ่ม #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์
ม.บูรพา : #ทีมลูกระนาดอยากจะฟาดบ้างแม่
ม.สวนดุสิตและสวนสุนันทา : #อยู่ข้างบ้านเสียงดังไม่ได้
ม.วลัยลักษณ์ : #WUขอกู้คืนเกียรติ
13. นอกจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นไปแล้ว ในช่วงสัปดาห์นี้ยังมีกิจกรรมในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกเช่น
-มศว เตรียมจัดกิจกรรมในวันพุธ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 16.30 น. ที่ประสานมิตร
-นักศึกษารามคำแหง นัดรวมตัวกันที่วิทยาเขตหัวหมากในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 น.
-กิจกรรมปราศรัยและเขียนจดหมายต่อต้านความอยุติธรรม ที่ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 น.
-นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล นัดชุมนุมกันที่อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ในเวลา 18.15 น.
-นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร นัดชุมนุมกันที่ลานสระแก้ว ณ วิทยาเขตวังสนามจันทร์ นครปฐม ในเวลา 18.00 น.
14. การออกมารวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางการเมืองของนิสิต-นักศึกษาในช่วงเวลานี้ จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตากันต่อไป และปฏิเสธได้ยากว่า นี่คือการนัดหมายรวมตัวกันที่กระจายตัวไปมากที่สุด และสร้างกระแสทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีมานี้
15. และนี่อาจจะสะท้อนได้ถึงกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนแสดงให้เราเห็นถึงนัยยะที่ ‘มหาวิทยาลัย’ หลายแห่งได้เปิดพื้นที่ให้นิสิต-นักศึกษาได้แสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี
16. ไม่เพียงแค่การแสดงออกจากกลุ่มนิสิต-นักศึกษา แต่คนในแวดวงวิชาการก็มีความเคลื่อนไหวต่อเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการร่วมกันออกแถลงการณ์ของคณาจารย์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งข้อสังเกตต่อแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
17. ปรากฏการณ์รวมตัวกันของผู้คนในแวดวงการศึกษา ทั้งจากนิสิต-นักศึกษา ตลอดจนบุคลากร และคณาจารย์ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาดูกันต่อไป กับแนวทางการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ รวมถึงกระแสความไม่พอใจรัฐบาลที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปอีเว้นต์ใหญ่ทางการเมือง อย่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐสภา
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/politics/news_1998253
https://isaanrecord.com/2020/02/22/isaan-new-gen-future-forward-party/
https://www.springnews.co.th/thailand/621322
https://www.matichon.co.th/politics/news_1997365
https://siamrath.co.th/n/134740
https://news.thaipbs.or.th/content/289227
https://www.dailynews.co.th/politics/759053
https://www.mcot.net/view/5e53ddc7e3f8e40aef418bdc
https://prachatai.com/journal/2020/02/86502
#recap #TheMATTER