หรือจริงๆ ไม่ควรมี ‘ตู้ปันสุข’ มาแต่แรก ?
เพราะพอเกิดขึ้นมา ก็มีคนบางส่วนกรูไปขนข้าวของจนเกลี้ยง ไปยกไข่กลับบ้านทั้งแผง ไปกดดันเจ้าของตู้ว่าเมื่อไรจะเอาของมาเติม ฯลฯ จนต้องมีการนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาเปิดเผย เพื่อเตือนสติ เพื่อประณาม เพื่อกดดันว่าอย่าทำพฤติกรรมเช่นนี้กันอีก
ถ้าโครงการนี้ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยทั้ง 100% ก็อย่ามีตู้เช่นนี้เลยจะดีกว่า ?
หรือจริงๆ สังคมไทย ยังไม่พร้อมกับแนวคิดการช่วยเหลือกันแบบ ‘ตู้ปันสุข’
หรือจริงๆ สำหรับคนไทยบางส่วน ‘การให้’ มาพร้อมกับความคาดหวังบางอย่างเสมอ
กรณีดราม่าตู้ปันสุข ทำให้เกิดข้อถกเถียงจำนวนมากขึ้นมาในสังคมไทย ทั้งว่าด้วยความบกพร่องการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนของภาครัฐ ว่าด้วยคนจน-ความจน-ความเหลื่อมล้ำ ว่าด้วยทัศนคติเกี่ยวกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และ ‘การให้’ ไปจนถึงว่าด้วยการออกแบบวิธีการช่วยเหลือคนในยามลำบาก ที่แค่ความปรารถนาดีอาจจะยังไม่พอ ต้องมีการสร้างกลไกอะไรบางอย่างร่วมกัน
The MATTER ขอสรุปที่มาที่ไปของโครงการตู้ปันสุข ที่ได้ไอเดียจาก Little Free Pantry หรือ ‘ตู้กับข้าวฟรี’ ในต่างประเทศ ให้ได้อ่านกัน ด้วยหวังว่าจะเข้าใจโครงการช่วยเหลือลักษณะนี้มากยิ่งขึ้นว่า มันมีข้อจำกัดอย่างไร มันเหมาะสมกับบริบทใด เพราะแม้แต่โครงการต้นกำเนิดเองก็ยังมีปัญหาให้ถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้
1.) ‘ตู้ปันสุข (The Pantry of Sharing)’ เกิดจากไอเดียของ แบงค์-สุภกฤษ กุลชาติวิจิตร นักการตลาดและเจ้าของเพจ ‘รู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ’ พร้อมด้วยเพื่อนนักปฏิบัติธรรม ในนามกลุ่มอิฐน้อย
วิธีทำงานของมันก็คือ การนำตู้กับข้าวไปตั้งในชุมชน ใครมีอาหารหรือของใช้อยากแบ่งปันก็นำมาไว้ในตู้นี้ได้ ส่วนใครที่ขาดแคลนก็เดินไปหยิบไปได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ที่เขียนไว้บนกระดาษเอสี่แปะหน้าตู้ว่า “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมี ใส่ตู้แบ่งปัน”
ไม่มีการกำหนดโควต้า ไม่มีคนเฝ้า ไม่มีการตั้งกล้องวงจรปิด เป็นการกำหนดกติกาไว้อย่างหลวมๆ บนความเชื่อใจกัน ในภาวะวิกฤต
2.) หากไปอ่านบทสัมภาษณ์ของสุภกฤษในหลายๆ ที่จะพบจุดร่วมว่า เบื้องหลังแนวคิดตู้ปันสุข จะเน้นในมุมของ ‘ผู้ให้’ ที่อิงกับหลักคิดทางศาสนา และเป็นการให้ในระดับปัจเจก ถ้ามีเหลือ..หรือซื้อมาเผื่อไม่กี่ชิ้น..ก็นำมาให้ได้ – แตกต่างจากการให้แบบโรงทานที่ต้องซื้อของมาให้ทีละมากๆ
3.) นับแต่วันเกิดตัวโครงการ ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 พร้อมตู้เริ่มแรก 5 ตู้ ใน กทม.และ จ.ระยอง จนถึงวันนี้ มีคนนำไอเดียนี้ไปต่อยอดทั่วประเทศแล้ว โดยสุภกฤษรวบรวมข้อมูลมาว่ามีตู้ลักษณะเดียวกันอย่างน้อย 618 ตู้ ใน 77 จังหวัด
4.) แต่สิ่งที่ตามมาก็คือบรรดาข่าวเชิงลบ ทั้งคนแห่มาเหมาของยกตู้หรือตะโกนด่าเจ้าของตู้ว่าเมื่อไรจะนำของมาเติม กระทั่งบางตู้ต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด!
จนเกิดคำถามขึ้นว่า หรือโมเดลแบบตู้ปันสุขจะไม่เหมาะกับสังคมไทย? เพราะคนไทยบางส่วนเห็นแก่ตัว? เพราะความยากจนมันฝังรากลึกมากๆ ยากจะถอนออก?
หรือเพราะตัวไอเดียนี้มี ‘ข้อจำกัด’ ของมันในตัวเอง มาแต่ต้น
5.) ที่มาของไอเดียตู้ปันสุข มาจากโครงการ Little Free Pantry ในสหรัฐอเมริกา ที่ริเริ่มโดยเจสซิก้า แม็คคลาร์ด (Jessica McClard) ในเมืองฟาแยตต์วิลล์ รัฐอาร์คันซอ ในปี ค.ศ.2016 ซึ่งได้ไอเดียมาจากโครงการ Little Free Library ซึ่งเริ่มในปี ค.ศ.2009 อีกที เพียงแต่เปลี่ยนจากแบ่งปัน ‘หนังสือ’ มาเป็นแบ่งปัน ‘อาหาร-เครื่องใช้’ แทน
6.) บริบทที่ทำให้กำเนิด Little Free Pantry แท้ที่จริงมันเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่ออุด ‘ช่องโหว่’ โครงการช่วยเหลือด้านอาหารให้กับผู้ยากไร้ ซึ่งในสหรัฐฯ จะมีโครงการที่ชื่อว่าธนาคารอาหาร (Food Bank) ซึ่งดำเนินงานโดยองค์กรการกุศลอยู่แล้ว เพียงแต่หลายคนไม่ยอมรับความช่วยเหลือที่ว่า เพราะรู้สึก ‘อาย’ ที่จะต้องไปขอความข่วยเหลือ
โปรเจ็กต์นำอาหารวางมาทิ้งไว้ในตู้ ใครหิวก็เดินมาหยิบไปกินได้เลยอย่าง Little Free Pantry จึงเกิดขึ้น
7.) แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ต่อโครงการ Little Free Pantry ว่าต้องอาศัยความเชื่อใจ ระหว่างผู้ให้-ผู้รับที่เป็น ‘คนแปลกหน้า’ สูงมาก ทั้งการนำของมาให้สม่ำเสมอไม่ให้ตู้ว่างเปล่า และการรับของไปเท่าที่จำเป็น ไม่รวมถึงมีงานวิจัยที่บอกว่า โครงการลักษณะนี้ที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อยตั้งอยู่ในชุมชนผู้มีอันจะกินและมีการศึกษา
จึงเกิดโครงการคล้ายๆ กันที่ตั้งอยู่ในโบสถ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนขึ้นมาแทนที่ชื่อว่า The Blessing Box คือมีกลไกการทำงานคล้ายๆ กัน เพียงแต่ตั้งอยู่ใกล้โบสถ์ และบางที่มีโบสถ์มาช่วยสนับสนุนสิ่งของด้วย
8.) สุภกฤษในฐานะผู้ริเริ่มโครงการตู้ปันสุข ก็เหมือนจะรู้ถึงปัญหาของตู้นี้ที่ต้องอาศัยคน ‘ร้อยพ่อพันแม่’ ล่วงหน้า จึงออกมาย้ำเรื่องน้ำใจคนไทยอยู่บ่อยๆ และทั้งยกนิทาน ‘ห่านกับไข่ทองคำ’ มาเป็นอุทาหรณ์ แต่ความวุ่นวายในการมาหยิบของในตู้ก็ยังเป็นข่าวต่อเนื่อง
9.) เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่ไม่พอใจ ที่เห็นภาพคนมาโกยของจนหมดตู้ ไม่เหลือไว้ให้คนอื่นๆ หรือไปตะโกนด่าเจ้าของตู้
แต่ถึงขนาดวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นโครงการโลกสวย ไม่ควรมีตู้นี้มาแต่แรก หรือโละๆ ทิ้งไปให้หมด ก็อาจจะเกินกว่าเหตุไปหน่อย ถามว่ากว่า 600 ตู้ถูกตั้งขึ้นมาในตอนนี้ เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย ‘ทุกตู้’ หรือไม่
ไม่มีตู้ไหนเลยหรือที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ?
10.) ไม่รวมถึงว่านี่คือโครงการที่เน้น ‘การให้’ เป็นหลัก หากเห็นว่าถ้าให้ผ่านตู้ปันสุขอาจจะไม่ถึงมือผู้รับ ก็ยังมีช่องทางอื่นๆ ที่สามารถให้ได้อีกมาก เช่น บริจาคผ่านองค์กรการกุศลที่ตัวเองเชื่อใจ เช่น มูลนิธิกระจกเงา กลุ่มคลองเตยดีจัง ฯลฯ หรือจะนำไปสนับสนุนโครงการ #ปันกันอิ่ม #เลี้ยงข้าวเพื่อน ที่ได้ไอเดียจากวัฒนธรรม Caffe Sospeso ของอิตาลี คือให้เงินกับร้านค้าซื้ออาหารไว้ให้กับคนที่หิวโหย ซึ่งตอนนี้มีดำเนินการในหลายพื้นที่
11.) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางคนอาจจะเน้นการตำหนิเชิงปัจเจก เรื่องความเห็นแก่ตัว ไม่มีจิตสำนึก การฉ้อโกง ฉวยโอกาส ฯลฯ แต่ด้านหนึ่งมันสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เห็น ‘ความไม่มี’ ของคนจำนวนไม่น้อยได้เป็นอย่างดี ถามว่าถ้าที่บ้านมีอาหารเครื่องใช้สมบูรณ์พร้อม จะออกมายื้อแย่งสิ่งของในตู้ที่ตั้งไว้ในที่สาธารณะ (และบางแห่งก็มีกล้องวงจรปิด) หรือ
แต่ถ้าจะมองหาแง่งาม ตู้ปันสุข ก็คือภาพสะท้อนน้ำใจที่คนไทยมีให้แก่กันในยามที่ลำบากและความช่วยเหลือจากรัฐมาไม่ทั่วถึง เพียงแต่อาจจะต้องไปหาวิธีออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน
มีปัญหาตรงไหนก็แก้ไป การประเมินผล สรุปปัญหา หาทางแก้ไข เพื่อนำไปสู่วิธีที่ดีกว่า ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะอยู่แล้ว
12.) ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกมาสั่งการให้จัดคนเฝ้าและให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดตู้ปันสุข
อ้างอิงจาก
https://workpointnews.com/2020/05/08/tupunsuk/
https://www.posttoday.com/social/goodstory/623171
http://voicetv.co.th/read/esW57Qnis
https://www.citylab.com/equity/2017/07/little-free-pantry/534468/
http://www.littlefreepantry.org/frequently-asked-questions
https://thematter.co/social/meal-suspend-thailand-covid/110566
https://www.posttoday.com/politic/news/623303
#Recap ##ตู้ปันสุข #TheMATTER