ไทยจะตัดไฟเมียนมาได้สำเร็จไหม? เมื่อหน่วยงานต่างๆ โยนกันไปมา จนคนแซวว่าตัดไฟบ้านยังเร็วกว่า ทั้งที่ประเด็นการขายไฟฟ้าให้เมียนมาเกี่ยวพันกับความมั่นคง
ในช่วงนี้ ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ก็ถูกนำกลับมาพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง หลังเริ่มมีความคืบหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในประเด็นการตัดการส่งไฟให้กับเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา
กว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะจัดการแก๊งคอลเซนเตอร์สำเร็จหรือไม่ The MATTER ชวนทำความเข้าใจเรื่องนี้ พร้อมมองความคืบหน้าของความพยายามในการจัดการแก๊งคอลเซนเตอร์ไปด้วยกัน
- ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อคนจำนวนมาก โดยสถิติจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่า ในปี 2566 คนไทยถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกือบ 79 ล้านครั้ง ถือว่ามากที่สุดในเอเชีย
- นอกจากการถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์สิน ยังมีรายงานว่ามีคนไทยที่ถูกหลอกให้ไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์อีกไม่น้อย โดยกักขังหน่วงเหนี่ยวให้อยู่แต่ในอาคาร และถ้าหากไม่ยอมทำตาม หรือหลอกคนได้ไม่สำเร็จ ก็จะถูกทำร้าย
- และตั้งแต่ช่วงต้นปี 2568 เป็นต้นมา ‘ซิงซิง’ นักแสดงชาวจีนหายตัวไปหลังจากเดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิ และไปพบตัวอีกทีที่ชเวโก๊กโก ติดชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแก๊งคอลเซนเตอร์ ทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่าอาจถูกมิจฉาชีพลวง
- เรื่องของซิงซิง ทำให้ทั้งคนไทยและต่างประเทศมาสนใจปัญหานี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในชาวจีน ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย และเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการเดินทางเข้าประเทศไทย
- ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือ เมื่อปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่เพียงในไทย แต่เริ่มกระทบต่อคนต่างชาติ จนกระทบต่อความมั่นคงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย แล้วจะมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเมื่อไร
- หนึ่งในมาตราการที่ช่วยจัดการได้ คือการ ‘ตัดไฟ’ แก๊งคอลเซนเตอร์ เพื่อให้ไม่สามารถดำเนินงานใดๆ ได้ ซึ่งเป็นมติของรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เพื่อตัดตอนแก๊งคอลเซนเตอร์ เนื่องจากหน่วยงานที่ขายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
- ไฟฟ้าที่ถูกใช้ในพื้นที่เหล่านี้ในปัจจุบัน คือไฟฟ้าที่ถูกจำหน่ายออกจากประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2539 ที่มีมติอนุมัติให้ กฟภ. ขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น
- แต่เมื่อสถานการณ์ปัจจุบัน ไฟฟ้ากลายเป็นสารหล่อเลี้ยงหลักที่ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรม การขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านจึงอาจเป็นเรื่องที่ควรทบทวนกันอีกครั้ง แต่คำถามต่อมาก็คือ แล้วใครกันล่ะ มีหน้าที่ชี้ขาด ที่จะสั่งให้ กฟภ. ตัดไฟในพื้นที่ดังกล่าวได้ทันที
- ถึงอย่างนั้น การดำเนินงานก็เป็นไปอย่างล่าช้า จนคนตั้งข้อสงสัยว่าติดปัญหาที่ขั้นตอนไหน โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าเกิดจากไม่มีหน่วยงานไหนยอมเป็นผู้รับผิดชอบ
- ประเด็นนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าหากหน่วยงานความมั่นคงชี้ว่า การส่งไฟฟ้าเป็นภัยต่อความมั่นคง ก็พร้อมตัดไฟทันที เพราะการจำหน่ายไฟฟ้านต้องดำเนินการตามคำสั่งของหน่วยงานความมั่นคง
- จนในวันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2568) ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. เผยหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่าจะส่งข้อมูลให้ กฟภ. ไปเจรจากับบริษัทคู่สัญญาไฟฟ้า เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม โดยให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
- ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) และประธาน กฟภ. เผยถึงรายละเอียดการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- โดยระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งมายัง กฟภ. ให้ระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุด คือ ที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด – บ้านก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
- และเมื่อปี 2567 กฟภ. ยังได้ยกเลิกจำหน่ายไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน – เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก ดังนั้น ในขณะนี้ กฟภ. ได้ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านรวม 3 จุดแล้ว
- แต่สำหรับกระแสข่าวล่าสุดที่คนพูดถึงกันเป็นจำนวนมาก กฟภ. จะดำเนินงานทันทีหลังหน่วยงานด้านความมั่นคงยืนยันข้อมูลมาอย่างชัดเจน และหากประชาชนมีเบาะแสพื้นที่ ก็สามารถแจ้งได้เช่นกัน
- โดยขณะนี้ พื้นที่ที่รอการยืนยันอยู่ ได้แก่ บริเวณบ้านเจดีย์สามองค์ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ในเมืองท่าขี้เหล็ก บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ใน อ.เมียวดี และบริเวณบ้านห้วยม่วง
- จากการ ‘โยนกันไปมา’ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ นี้ ประชาชนบางส่วนจึงได้พูดติดตลกว่า เมื่อประชาชนไม่ได้จ่ายค่าไฟ ก็มีการตัดไฟได้อย่างรวดเร็ว แต่เรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน กลับยังไม่สามารถดำเนินการได้สักที
- หลังจากนี้ จึงยังต้องติดตามข้อสรุปจากการประชุมนัดต่อๆ ไป รวมถึงการออกมาพูดถึงประเด็นนี้จากตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ว่าการตัดไฟฟ้าอันเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการจัดการแก๊งคอลเซนเตอร์นี้จะสำเร็จได้เมื่อไร
- อย่างไรก็ดี ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วแก๊งคอลเซนเตอร์อาจไม่ได้ต้องการไฟฟ้าจากไทยอีกต่อไปแล้วอยู่แล้วก็ได้ เพราะเริ่มมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องปั่นไฟ เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ในตัวเอง
อ้างอิงจาก