ล่าสุด ใน Monster Hunter: World เราก็ต้องไปทำมาหาเงินหลายเซนนี (Zenny) เพื่อเอามาใช้สร้างเกราะ ตีอาวุธ เล่นๆ ไป ความทรงจำก็ย้อนคืนว่า ไอ้เจ้าเงินสกุลเซนนี นี่เราเคยเจอกันบ่อยๆ นะ สมัยเล่น Ragnarok เราก็เคยเจอกันมาบ้างแล้ว ทำไมเจ้าเงินเซนนีนี่ถึงฮิตจัง ค่าเงินนี้ใครเริ่มใช้ ใช้กันเยอะในค่ายเกมไหน และมีที่มายังไง
ค่าเงินเซนนี (สะกดว่า Zenny) เป็นค่าเงินหลักที่ค่าย Capcom ใช้ พวกเกมดังๆ ของค่ายนี้นับตั้งแต่ Breath of Fire, เกมตระกูล MegaMan ที่เรารู้จักกันในนามร็อคแมน ไปจนถึง Street Fighter เกมต่อสู้ระดับตำนาน และล่าสุดเกมล่าแย้ตระกูล Monster Hunter ต่างก็ใช้ค่าเงินที่ชื่อ Zenny ทั้งนั้น ต่างค่ายกันก็จะเป็นเกม Ragnarok ของเกาหลีที่ใช้เงินเซนนีเหมือนกัน แต่ของแร็คฯ จะสะกดว่า Zeny และก็ไม่พบความเชื่อมโยงกับ Capcom แต่อย่างใด
เงินเซนนีที่วัยรุ่นอย่างเรารู้จักกันดีถูกปล่อยออกมาครั้งแรกตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วโน่น ในปี 1987 ค่าย Capcom ปล่อยเกมชื่อว่า Black Tiger เกมสองมิติที่เราได้เล่นเป็นนักสู้คนเถื่อน เดินบู๊ล้างผลาญผ่านศัตรูสีสันสดใส เมื่อกำจัดศัตรูหรือผ่านด่านสำเร็จเราก็จะได้เหรียญเซนนีมาใช้ซื้อเกราะและอาวุธ ซึ่งเกมนี้ถือว่าเป็นเกมของ Capcom เกมแรกที่ปล่อยเงินสกุลดังกล่าวมาให้เกมเมอร์ได้รู้จัก – ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะคุ้นเคยกับเจ้าเงินเซนนีนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอย่างที่เราเติบโตขึ้นมาพร้อมกัน
ในระดับของภาษา คำว่า เซนนี ก็ดูจะเป็นคำที่เกี่ยวกับเรื่องของเงินพอสมควร เซนนีชวนให้เราคิดถึงคำว่า money ไปจนถึงเหรียญเพนนีของอังกฤษ ส่วนในมิติทางประวัติศาสตร์ เงินเซนนีเกี่ยวข้องกับคำว่า Zeni ที่ใช้หมายความถึง ‘เงิน’ ในภาษาญี่ปุ่น และคำว่า Zeni ที่ว่ายังเชื่อมโยงกับระบบเหรียญและค่าเงินโบราณในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นด้วย
Zeni คือเหรียญทองแดงในระบบเงินโบราณของญี่ปุ่น ถ้าเราเคยดูหนังอิงประวัติศาสตร์ทั้งจีนและญี่ปุ่น เราคงเคยเห็นเหรียญทรงกลมที่มีรูทรงสี่เหลี่ยมตรงกลาง และมักจะเห็นคุ้นตาแบบเป็นพวงๆ ร้อยด้วยเชือก มีบันทึกบอกว่าชาวญี่ปุ่นโบราณจะพกเงินทองแดงเหล่านี้เป็นพวงเพื่อใช้จับจ่ายเล็กๆ น้อยๆ ค่าเงินโบราณนี้เป็นค่าเงินที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากจีน ตรงนี้ก็ดูจะเป็นจุดเชื่อมโยงบางๆ ระหว่างเงินเซนนีของ Capcom และเงินเซนนีของเกาหลี เพราะในสมัยโบราณทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีต่างมีช่วงเวลาที่ใช้ระบบเงินตราจากจีน
นอกจากเงินเซนนีแล้ว ค่าเงินในเกมที่เรารู้จักกันดีก็ยังมี Gill จากไฟนอลแฟนตาซี หรือในหลายเกม – รวมถึงพวกงานเขียนแนวไซไฟก็ใช้ค่าเงินที่เป็น credit ตรงๆ ไปเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก