มนุษย์กลายพันธุ์ AI โปรโตไทป์สิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัย หรือแม้แต่การใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ไม่ใช่แค่พล็อตหนังหรือเรื่องของอนาคตอันห่างไกล แต่มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้ในทุกวัน ทั่วทุกมุมโลกที่เราอาศัยอยู่
และนี่คือทอล์กที่พอจะบอกได้ว่าอนาคตของเราจะหน้าตาแบบไหน พร้อมกับสะกิดเตือนเราด้วยว่า อนาคตอาจจะกำลังเขยิบใกล้เข้ามาใกล้เราเร็วกว่าที่คิด
1) ‘คุณในอนาคต ก็คือคุณในวันนี้นั่นแหละ’ : Anab Jain ไม่ได้มา ‘ทำนาย’ อนาคตให้เรารู้ แต่เธอ ‘สร้าง’ อนาคตให้เราเห็น ด้วยการจำลองสิ่งต่างๆ ที่จินตนาการว่าน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อดูว่าถ้าเราเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น เราจะคิดและรู้สึกยังไงกับมัน อย่างเช่น อากาศอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง ถ้าเรายังมีพฤติกรรมกันแบบนี้ หรือจะเป็นยังไงถ้าเราต้องอยู่ร่วมกับ AI จริงๆ เธอก็เลยสร้าง AI ตั้งชื่อให้ ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะเธอเชื่อว่าเราในอนาคตเป็นผลจากเราในวันนี้ และเราทุกคนก็เป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเราเอง
ลิงก์ : https://www.ted.com/talks/anab_jain_why_we_need_to_imagine_different_futures
2) ‘ผมจะสร้างอนาคตที่จะไม่ทำให้ผมรู้สึกเสียใจ’ : ถ้าบอกว่ามีคนคุยกันเรื่องอุโมงค์วาร์ป รถยนต์บินได้ รถยนต์ไร้คนขับ และอาณาจักรบนดาวอังคาร อาจจะดูเหมือนเขากำลังคุยเกี่ยวกับหนังไซไฟสักเรื่อง แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องจริงได้ทันที ถ้านี่คือบทสนทนากับผู้ชายชื่อ Elon Musk เขามาเล่าถึงโปรเจค Boring Company, Tesla และ Space X ของเขา รวมถึงความฝันที่จะทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กระจายเผ่าพันธุ์ในหลายดวงดาว (Multi-planet species)
ลิงก์ : https://www.ted.com/talks/elon_musk_the_future_we_re_building_and_boring
3) ‘เราสร้างอนาคตขึ้นได้ด้วยการยืนหยัดด้วยกัน’ : สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงแสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสังคมโลกที่ดูจะไม่สดใส ไม่ว่าจะเป็นภาวะผู้อพยพ ความไม่เท่าเทียม การขัดแย้ง หรือความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น และทรงชี้ให้เห็นว่าความสามัคคีและการยืนหยัดร่วมกันคือหนทางที่จะพาให้เราไปสู่อนาคตได้ เป็นการยืนหยัดร่วมกันทั้งระหว่างคนกับคน และระหว่างเทคโนโลยีกับสังคม ดังที่ตรัสว่า “จะดีแค่ไหนเมื่อเราค้นพบดาวเคราะห์ห่างไกลออกไป แล้วย้อนกลับมาค้นพบความต้องการของพี่น้องชายหญิงที่โคจรอยู่รอบๆ พวกเราด้วย”
ลิงก์ : https://www.ted.com/talks/pope_francis_why_the_only_future_worth_building_includes_everyone
4) ‘คนกับจักรกลไม่ใช่อนาคต มันคือปัจจุบัน’ : Garry Kasparov แชมป์หมากรุกระดับโลกที่เคยต่อสู้และเอาชนะจักรกลได้ถึง 32 เครื่องในเกมเดียว กลับพ่ายแพ้ให้ Deep Blue ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของ IBM แต่เขากลับมองความพ่ายแพ้นั้นเป็นความสำเร็จ เพราะเขาเชื่อว่าความสำเร็จของเครื่องจักรกลก็คือความสำเร็จของมนุษย์ Kasparov เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการทดลองทำงานกับเครื่องจักรในการเล่นหมากรุก (ในเมื่อเอาชนะไม่ได้ ก็อยู่ข้างเดียวกันไปซะเลย) แล้วก็เรียนรู้ว่าสุดท้ายแล้วในขณะที่มนุษย์พัฒนาเครื่องจักร มันก็ทำให้มนุษย์พัฒนาตัวเองไปพร้อมกัน
ลิงก์ : https://www.ted.com/talks/garry_kasparov_don_t_fear_intelligent_machines_work_with_them
5) ‘นี่คือเรื่องของ CRISPR ที่ควรเล่าต่อ’ : เราควรจะนำแมมมอธให้กลับมามีชีวิตไหม? เราควรที่จะปรับแต่งตัวอ่อนของมนุษย์หรือเปล่า? แล้วเราควรจะกำจัดสายพันธุ์ที่เราคิดว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ให้หมดไปจากโลกเลยดีไหม? ทั้งหมดนี้เป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นเมื่อ CRISPR เทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ปรับแต่งจีโนมได้รับการแนะนำให้รู้จัก ประโยชน์มากมายมาพร้อมข้อโต้แย้งที่ไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับข่าวลือและเรื่องจริงเกี่ยวกับมัน Ellen Jorgense นักวิทยาศาสตร์ผู้พยายามสื่อสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ จึงมาชี้แจงเรื่องของ CRISPR ให้เราเข้าใจ (แบบง่ายๆ) กัน
ลิงก์ : https://www.ted.com/talks/ellen_jorgensen_what_you_need_to_know_about_crispr
6) ‘อนาคตของเราจะน่ากลัว ถ้ามันเป็นอนาคตของตัวเราคนเดียว’ : การเลือกตั้งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง สังคมที่มีการแบ่งแยก หรือแม้แต่การเติบโตของคตินิยมสุดโต่งทั้งหลาย ล้วนเป็นผลจากความกังวลและความไม่มั่นคงของมนุษย์ในโลกที่หมุนเร็วกว่าที่เราจะรับไหว และเมื่อเรากำลังก้าวไปสู่อนาคตอย่างรวดเร็ว จะทำยังไงให้เราเผชิญหน้ากับอนาคตอย่างไม่หวาดกลัว Jonathan Sacks สะกิดเตือนเราว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ คือการบูชาอัตตาและตัวเอง จนอาจจะลืมไปว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพราะฉะนั้นหากเราจะสร้างอนาคตที่แข็งแกร่ง เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมาร่วมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น และเขาก็แนะนำ 3 วิธีในการสร้างอนาคตที่ไม่น่ากลัวร่วมกัน ก็คือการสร้าง ความสัมพันธ์ ตัวตน และความรับผิดชอบร่วมกัน
ลิงก์ : https://www.ted.com/talks/rabbi_lord_jonathan_sacks_how_we_can_face_the_future_without_fear_together