เราจะมีร้านอัพเกรดมนุษย์ เราจะเรียนมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ทั่วโลกผ่านทางออนไลน์ หรือเราจะถูกปกครองด้วยระบอบ Cyberocracy ที่มี AI มาช่วยตัดสินใจแทน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ชาวโลกจินตนาการถึงโลกในอนาคต
หันกลับมามองที่บ้านเมืองเรา ซึ่งกำลังมุ่งมั่นวางแผนยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า The MATTER เลยชวนผู้คนจากหลากหลายสาขา มาช่วยกันจินตนาการกันว่า ประเทศไทยในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า (ปี 2040) จะหน้าตาเป็นอย่างไร?
บางคนว่าเรายังมีความหวัง ยังถูกขัดเกลาให้ดีขึ้นได้ บางคนว่าเราอาจต้องลงสมรภูมิที่เหน็ดเหนื่อย แต่บางคนก็มองว่าประเทศไทยอาจกลายเป็นอาณานิคมในยุคดิจิทัล เป็นสังคมที่ก้มหน้าก้มตายอมชินกับปัญหา และกลายเป็นรังปลวกรังมดที่อยู่ภายใต้ผู้ปกครองอย่างสมบูรณ์แบบ
“เราอยากตามคนอื่นเขาทันบ้าง อยากเห็นประเทศเราที่เป็นผู้นำบ้าง เรื่องของการศึกษา เรื่องของเมือง เรื่องของข้อมูล เรื่องของสุขภาพ อยากเห็นและช่วยกันทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม ที่ผ่านมา เราไม่เคยเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้กับประชาคมโลก เราทำหน้าที่เป็นผู้ตามที่นอบน้อม และไม่เคยมองไกลเกิน 4-5 ปีเลย เราน่าจะมองให้ไกลมาขึ้น อันนี้คือ 2040 ที่อยากให้เป็น
ส่วนที่มันจะเป็น คงไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ นึกภาพว่าเป็น Aging Society ที่จน แก่งแย่งชิงดีกัน แต่อาจจะมีสิ่งปรนเปรอให้เรามีความสุขได้มากขึ้น มีสิ่งต่างๆ ที่ต่างประเทศเอามาให้ เราไม่มีแอนติบอดี้ด้านเทคโนโลยีเลย เรามีแต่สิ่งที่ให้คนอื่นเขาหยิบฉวย เหมือนเป็นอาณานิคมในยุคดิจิทัลเลย อันนี้โคตรลบเลยเนอะ แต่มันจริง”
โจ้ – ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ
ผู้ร่วมก่อตั้ง Boonmee Lab
“อาจจะต้องลองย้อนกลับไปดูว่า 20 ปีที่แล้วมันเป็นยังไง เมื่อ 20 ปีที่แล้วเนี่ย (พ.ศ. 2540) เป็นปีที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ มีต้มยำกุ้งเกิดขึ้นมา แต่ว่าแม้ว่าจะมีวิกฤต คนยังมีความหวังในทางการเมือง เพราะเป็นยุคหลังพฤษภาทมิฬ (2535) เป็นยุคที่คนรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์มีเสียงในความเป็นประชาชนค่อนข้างมาก มีการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้น มีองค์กรอิสระที่ยังมีอิสระจริงๆ สังคมยังมีความหวังว่าจะเดินหน้าต่อไปในทางที่ดีขึ้น คนยังเป็นเจ้าของประเทศได้จริงๆ ยังเป็น Active Citizen ได้จริงๆ
ผ่านมา 20 ปี ถึงตอนนี้ ถ้ามองในแง่ของอำนาจทางการเมือง ในแง่ของความเป็นประชาชนจริงๆ โดยส่วนตัวคิดว่ามันเสื่อม มันต่ำทรามลง มันแย่ลง เพราะความเป็น Active Citizen ของเรามันอยู่ในสถานภาพที่มันไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนกับตอนนั้น ไม่สามารถแม้แต่จะตั้งคำถามหรือกำหนดทิศทางของตัวเองได้ ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะเป็นยังไง คนที่กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปีให้เรา ก็คือคนที่อีก 20 ปีข้างหน้าอาจจะไม่มีชีวิตอยู่กับสิ่งที่ตัวเองกำหนด อาจจะไม่ได้มารับวิบากกรรมในสิ่งที่ตัวเองกำหนดเอาไว้
เพราะงั้นถ้าดูกราฟจาก 20 ปีที่แล้วมาถึงปัจจุบัน ในแง่ของความเป็น Active Citizen ของสังคมการเมือง กราฟมันต่ำลง เสื่อมถอยลง ทั้งที่สิ่งที่วางแผนใน 20 ปีที่แล้วถูกกำหนดมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เท่าที่ประเทศนี้เคยมีรัฐธรรมนูญมา มันยังไม่สามารถผลักดันให้กราฟมันขึ้นได้ คำถามคือ แล้วเราคิดว่าสิ่งที่มันถูกกำหนดโดยความไม่เป็นประชาธิปไตยมันจะพาเราขึ้นไปได้ไหม?
ก็เป็นไปได้ที่ประเทศนี้จะคุ้นชินหรือว่าชอบการถูกปกครองแบบนี้ ก็เลยทำให้ประเทศดูร่มเย็นสงบสุข โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความเป็น Active Citizen ไม่ต้องตั้งคำถามอะไรอีกต่อไป แต่ว่าเป็นมดปลวกที่อยู่กันไปใต้ฟีโรโมนของนางพญาปลวก แล้วเราก็อาจจะบอกว่าเรามีความสุขกันมากก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องอนุโมทนาด้วยว่าเราจะกลายเป็นรังปลวกรังมดที่สมบูรณ์แบบ เราอาจจะมองว่าเป็นขาขึ้นก็ได้ แต่ก็ไม่รู้คนอื่นจะมองยังไง หรือมีคนที่มองแบบนั้น คำถามคือ เราเตรียมสังคมไว้รองรับคนที่ไม่ได้อยากเป็นมดหรือปลวกรึเปล่า”
โตมร ศุขปรีชา
นักเขียน นักคิด นักแปล คอลัมนิสต์ พิธีกร
“มันมองได้แง่ดีและไม่ดีนะ คือวันก่อนเพื่อนเราก็ไลน์มาว่า เธอมีเคล็ดลับยังไงในการใช้ชีวิตในประเทศนี้โดยไม่หดหู่ใจ เราก็บอกให้สมัครพวก streamimg อะไรงี้มาละกัน แต่ว่าเราก็บอกว่า มันก็คงมีความหวังมั้ง ก็เห็นมันก็มีโครงการสมมติรถไฟฟ้า ขนส่งสาธารณะมันก็ ส่วนมากจะเสร็จปี 63 66 มันก็นานเหมือนกันนะ แต่ว่าบางโครงการมันก็เห็นจริง อย่างสายสีม่วงมันก็มีแล้วยังไม่เคยไปขึ้นเลย เพราะมันเพิ่งเชื่อมใช่ไหม
แต่อีกด้านนึงที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากในประเทศเราคือ มันทำให้คนชิน อย่างเราเนี่ยทำไมเรายังทนอยู่ลาดพร้าวได้ เพราะมันชิน มันปลงหรือทำใจ ภาวะที่ประชาชนหรือคนในเมืองมันชิน เออมันก็คงเป็นแบบนี้แหละ รถมันติดก็ติดไป นี่คือจบแล้ว เมื่อคุณชินแล้วอะคุณก็จะ เออ อยากทำอะไรก็ทำ เสร็จช้าก็ทำไป นี่ประเทศเราก็ต้องอยู่ไป เพราะฉะนั้นก็อย่าชินครับ”
ต่อ – คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
นักเขียนและอาจารย์พิเศษ
“จากที่เรารีเสิร์ชเพื่อทำงานออกมาให้ลูกค้า เราก็เห็นเลยว่าสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนไปแน่ๆ คือแลนด์สเคปของสื่อจะเปลี่ยนไป ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยน ผมเห็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากการที่เราใช้เทคโนโลยีมากเกินไป อย่างผมเป็นหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทที่คอ เกิดจากการที่เราก้มดูมือถือมากเกินไป แล้วตอนนี้ทุกอย่างมันก็เอื้อให้เราไม่ขยับตัว ซื้อของเราก็ไม่ต้องออกไปซื้อ ฟังเพลงก็ไม่ต้องไปหา อัลกอริธึมมันคิดมาให้ ทุกอย่างมันทำให้เราอยู่เฉยๆ พอไม่ขยับตัว โรคมันก็เริ่มเข้ามา
อย่างผมถือว่าเริ่มใช้มือถือก็ไม่เด็กแล้ว แต่เด็กสมัยนี้ บางคนใช้กันตั้งแต่อนุบาล มีงานวิจัยว่าเด็กสมัยนี้เป็นโรคสมาธิสั้น 5 คนต่อห้อง ผมว่ามันโหดร้ายมาก และมันก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก คิดเลยว่าลูกเราจะเป็นหนึ่งในนั้นรึเปล่า แล้วเวลาผมไปกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล มีคนวัยยี่สิบกว่าๆ มารักษาโรคออฟฟิศซินโดรมกันเต็มเลย แล้วก็มีโรคอื่นๆ อย่างติดมือถือ ละเมอเแชต เซลฟี่ซินโดรม มีมาใหม่มากมาย อีกหน่อยน่าจะต้องมีสปาหรือคลินิกช่วยรักษาโรคที่เกิดขึ้นจากมือถือ
เทคโนโลยีมันมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ร่างกายเนื้อหนังเรายังเป็นมนุษย์อยู่ การใช้งานหนักๆ มันก็มีส่วนไปเร่งให้มันเสื่อมเร็ว”
คุณเบียร์ – พันธวิศ ลวเรืองโชค
ผู้ก่อตั้ง Apostrophy’s ดีไซน์สตูดิโอ
“พอให้จินตนาการถึงประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ผมนึกถึงคำพูดของคนสูงวัยที่เคยอยู่ในขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ต้องระหกระเหินเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเฝ้ามองความสูญเสียในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และ 2553 ว่าระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยที่เขาเคยเผชิญในอดีต แทบไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเลย มิหนำซ้ำยังถอยหลังกว่าเดิมในบางบริบทด้วยซ้ำ ดังนั้น หากจินตนาการให้สมจริง ด้วยนิสัยเป็นคนไม่ชอบความผิดหวัง ผมเลยไม่กล้าจินตนาการว่าประเทศไทยจะดีกว่าเดิม ขนาดคำว่าประชาธิปไตยที่หมายถึงทุกคนมีสิทธิเสียงเท่าๆ กัน ยังมีบางคนบอกว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง” แล้วปฏิเสธการเลือกตั้งมันซะเลย ปั๊ดโถ่!
แต่เพื่อไม่ให้ชีวิตหดหู่เกินไป ลองจินตนาการแบบคนโลกสวยหน่อยก็ได้ ผมอยากเห็นและหวังว่าจะเกิดขึ้นจริง (ประนมมือไหว้…สาธุ!) ให้ชาวไทย-ที่ลงทะเบียนเป็นชาวเน็ต เรียนรู้และเติบโตในโลกเสมือน โดยมีสติในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ไม่รีบร้อนด่าใครว่าโง่เง่า กระจอก อ่อนหัด ประเด็นไหนไม่เข้าใจก็ค่อยๆ ศึกษา พิมพ์เท่าที่รู้ ไม่รู้ก็ไม่ต้องพิมพ์ ผิดพลาดก็ขอโทษ และสนทนากันอย่างให้เกียรติทุกๆ คนในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง (โอ้โห โลกสวยมาก) เวลาตั้งยี่สิบปีเลยนะ แค่นี้คงไม่อยากเกินไปหรอก”
ขวัญชาย ดํารงค์ขวัญ
เจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ
“โลกในอนาคต คิดว่าหลายอย่างน่าจะอัตโนมัติมากขึ้น อาจจะเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด จริงๆ คาดการณ์ยากว่าจะเปลี่ยนไปยังไง ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี มันจะลงมาที่เรื่องสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทุกวันนี้เรามีสังคมก้มหน้า มีอะไรหลายๆ อย่างที่มันค่อยๆ เปลี่ยนมาตลอดเวลา จริงๆ อันนี้เดายากว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน แต่เดาได้ว่าเปลี่ยน เปลี่ยนแน่นอน
ส่วนโอกาสของประเทศไทย ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ใหญ่มาก ผมมองว่ายุคก่อนๆ มันเป็นยุคเครื่องจักร ยุคเครื่องใช้ไฟฟ้า การจะทำงานวิจัย การจะมีเงินผลิตโปรโตไทป์ มันต้องใช้เงินเยอะ มันต้องใช้ความรู้ค่อนข้างสมัยใหม่ ทุกวันนี้โลก AI ใครอยากรู้ตอนนี้จริงๆ เรียนออนไลน์ก็มีเต็มไปหมดเลย แล้วก็ทุกอย่างทำได้ด้วยแล็บท็อปของคุณ คุณไม่มีเซิฟเวอร์ คุณก็ไปเช่าระบบคลาวด์ที่ไหนก็ได้ใช้ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้แพง เพราะฉะนั้น จริงๆ เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เรื่องข้อมูล เรื่อง AI เนี่ย ทุกคนเริ่มได้
จริงๆ ผมก็ยังมองว่า AI ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยีขึ้นพื้นฐาน มันมีคำกล่าวว่า AI เป็นเหมือนไฟฟ้าสมัยใหม่ ผมมองว่าทุกวันนี้ไม่มีใครรู้หรอกว่าไฟฟ้าทำงานยังไง เราเรียนสปช.มา ลืมไปหมดละ แต่ว่าในมุมที่สำคัญคือ มันเปิดโลกนวัตกรรมใหม่ มันยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ AI กำลังมาละ ทำยังไงให้เราเอาไปใช้งานมันได้มากที่สุด มันมีบริบทต่างๆ เต็มไปหมดเลย”
ดร. ต้า – วิโรจน์ จิรพัฒนกุล
Data Scientist และผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio
“ถ้ามองในแง่การศึกษา ในอนาคตอาจจะมีสองกลุ่มเลย กลุ่มหนึ่งจะยังเชื่อมั่นในระบบอยู่ และยังเข้าเรียนตามระบบ แล้วก็ศึกษาหาความรู้เพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่เขามีทางเลือกเองตั้งแต่แรกว่าจะทำอะไร โดยที่จะประกอบอาชีพในอนาคตแบบไม่ต้องพึ่งใบปริญญา คิดว่าการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น เด็กๆ จะพยายามหาตัวตนของตัวเองให้เร็วขึ้น คนจะแตกต่างกันมากขึ้น
ในแง่โซเชียล เราก็จะถูกขัดเกลาด้วยโซเชียลมากขึ้น เราโดนคอมเมนต์ด่าคอมเมนต์ เราบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้แล้ว มองในแง่ดีไปรึเปล่าไม่รู้ แต่สิ่งที่เราทำไม่ดีในวันนี้ เราก็จะเริ่มเห็นเริ่มเรียนรู้แล้ว ใน 20 ปีข้างหน้า ผลที่ทำในวันนี้มันน่าจะสะท้อนกลับ แล้วมันน่าจะดีขึ้นนะ หรือไม่แน่ก็เนียนไปเลย อะไรที่ก้ำกึ่งว่าดีหรือไม่ดี ก็อาจจะมีกระบวนการที่ชี้ชัดไปได้เลย”
ครูมะนาว ศุภวัจน์ พรมตัน
ครูพันธุ์ใหม่และเจ้าของเพจอะไรอะไรก็ครู
“ผมบอกเด็กเสมอว่า ยุคนี้กำลังเปลี่ยนเร็วมาก การแข่งขันจะรุนแรงมากในเรื่องของข้อมูล ผู้แพ้ผู้ชนะจะไม่ได้ถูกตัดสินด้วยขนาดอีกต่อไป แต่จะตัดสินด้วยความสามารถในการใช้ข้อมูล ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนการที่บริษัทหนึ่งจะล้มหายตายจากไปต้องใช้เวลานาน แต่พออินเทอร์เน็ตเข้ามา มีเรื่องของข้อมูลเข้ามายิ่งเห็นชัด Microsoft ที่เคยเป็นบริษัทอันดับหนึ่งก็มีอำนาจน้อยลง เพราะมีบริษัทอย่าง Google หรือเฟซบุ๊กที่ใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์มากกว่า ต่อให้คุณเป็นยักษ์ใหญ่แค่ไหน คุณก็เพลี่ยงพล้ำได้และล้มได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วยนะ เพราะงั้นสมรภูมิใหม่นี่เหนื่อย และการแข่งขันก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในด้านของผู้บริโภคก็จะเห็นอะไรใหม่ๆ เยอะ ส่วนหนึ่งคือต้องการสร้างสินค้าใหม่ๆ อีกส่วนก็คือต้องการข้อมูลจากผู้บริโภค เอาไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็น Data Service ที่เกิดขึ้นต่อไป ผมว่าเราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เราเห็นวงจรที่วิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ ของข้อมูล ที่สำคัญคือมันเป็นการเคลื่อนที่ไปพร้อมกันทั้งโลก ถึงคุณอยู่เฉยๆ คุณก็จะถูกผลักไปข้างหน้าอยู่ดี”
ผศ. ดร. ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์
อาจารย์ผู้สอนวิชา Data Science จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“คิดว่าเราน่าจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะครับ เพราะว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงค่อนข้างจะเป็นไปในทางก้าวกระโดด โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี มีการนำสิ่งเจริญ สิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาประเทศชาติและสังคม ซึ่งกว่าจะถึง 20 ปีข้างหน้า ก็คงมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาพัฒนาประเทศไทยอีกหลายๆ ด้าน คิดว่าด้านวัตถุ ประเทศไทยน่าจะพัฒนาอยู่ไม่น้อย แต่ด้านจิตใจของคน โอ้โห ตอบยากจังเลย ไม่รู้ว่ายังไง ก็หวังว่าจิตใจของคนจะพัฒนาตามวัตถุครับ”
ครูทอม คำไทย (จักรกฤต โยมพยอม)
ครูภาษาไทย แฟนพันธ์แท้สุนทรภู่
ทีนี้เราเลยอยากจะชวนคุณจินตนาการกันบ้าง ว่าสำหรับคุณล่ะ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะหน้าตาเป็นแบบไหน?
ดูจินตนาการเรื่องโลกในอนาคตแบบรวมๆ ได้ที่ THE FUTURE IS NOW เผยโฉมโลกอนาคตที่เราทุกคนกำหนดได้