Trigger Warning:
มีการพูดถึงอารมณ์และความคิดเกี่ยวกับความเศร้า การฆ่าตัวตาย ความตาย
หากรู้สึกอ่อนไหวต่อประเด็นเหล่านี้ โปรดหลีกเลี่ยงเนื้อหาเหล่านี้
“หากรถชนฉันตอนนี้ให้ตายไปได้ก็ดี”
“สูงขนาดนี้ หากกระโดดไปคงตายแน่ๆ”
“ถ้าวันพรุ่งนี้ไม่ต้องตื่นมาได้ก็ดี”
บางช่วงเวลาที่ใจเราเหนื่อยล้าเกินกว่าจะประคับประคองความรู้สึกตัวเองได้ไหว ช่วงเวลาที่เจอเรื่องหนักๆ เสียจนหาทางแก้ด้วยสองมือของเราได้ บางครั้งนั้น อาจเกิดความคิดชั่ววูบบางอย่าง ที่หวังให้เราไม่ต้องรับรู้ เจ็บปวดกับเรื่องราว ปัญหา ที่เผชิญอยู่เหล่านี้ อย่างการจากโลกใบนี้ไป
ความคิดเหล่านี้อาจโผล่มาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความคิดลอยเข้ามายามเดินข้ามถนน ยืนเล่นบนระเบียง ในวันหม่นหมองสักวัน แต่เชื่อไหมว่ามันไม่ได้เป็นเพียงความคิดไร้สาระ เมื่อมันเป็นสัญญาณที่พยายามจะบอกอะไรบางอย่างกับเรา
เราเรียกความคิดเหล่านี้ว่า ‘Passive Death Wish’ ความคาดหวังว่าจะมีอะไรสักอย่างมาพรากชีวิตเราไป โดยที่เราไม่ต้องลงมือพรากชีวิตตัวเอง โดยไม่ได้มีการวางแผนอะไรล่วงหน้า ไม่ได้ลงมือทำสิ่งที่อยู่ในหัวจริงๆ หรืออาจเป็นความคิดที่รู้สึกว่าเรานั้นช่างไม่มีค่า ไม่สมควรอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป หรืออะไรๆ จะดีกว่านี้หากไม่มีเราอยู่ตรงนี้ มักจะเกิดขึ้นกับคนที่หมดหวังในการใช้ชีวิต ไม่มีความกระตือรือร้นที่อยากจะมีชีวิตอยู่ในวันต่อไป
สิ่งนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบความคิดของการฆ่าตัวตาย ที่แบ่งเป็น 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
- ความคิดฆ่าตัวตายทางอ้อม (Passive suicidal ideation) ความคิดอยากจบชีวิตลง ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ไม่ได้วางแผนหรือลงมือกระทำ
- ความคิดฆ่าตัวตายทางตรง (Active suicidal ideation) ความคิดที่อยากจบชีวิตลง โดยมีการวางแผนและเจตนาจะลงมือทำจริง
Passive Death Wish จึงอยู่ในความคิดฆ่าตัวตายทางอ้อม อเล็กซ์ แบคเชิร์ต (Alex Bachert) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสุขภาพจิต ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างความคิดฆ่าตัวตายทั้งสองแบบนี้ว่า ในแบบทางอ้อม แม้พวกเขาจะสิ้นหวังกับชีวิตขนาดไหน แต่ก็ไม่เคยมีการวางแผนหรือกระทำการใดๆ เพื่อทำร้ายตัวเองจริงๆ ในทางกลับกัน แบบทางตรง พวกเขามักจะมีแผนและแรงจูงใจที่จะลงมือทำเสมอ
ความคิดที่เกิดขึ้นเหล่านี้มาจากไหน?
มันสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างมาก บ่อยครั้งความคิดเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกสิ้นหวังและควบคุมชีวิตไม่ได้ รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย จนรู้สึกว่าการประคับประคองให้ตัวเองต้องใช้ชีวิตต่อนั้นเป็นเรื่องยาก
อาจเกิดได้จากความเครียด ความกังวล ความกดดัน ในชีวิตประจำวันหรือความเจ็บปวดในอดีต ที่ยังส่งผลถึงจิตใจของเราในตอนนี้ อย่างวันที่ต้องเจอกับปัญหาที่ค้างคามานานไม่เคยถูกสะสาง อาจเป็นเรื่องงาน ความสัมพันธ์ ครอบครัว การเงิน จนรู้สึกว่าเราควบคุมอะไรไม่ได้ แก้ปัญหานี้ด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะมันมีแต่ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้เลย ความคิดชั่ววูบจึงนำเอาการจากไปเป็นทางแก้ปัญหา ทางออกที่เราไม่ต้องกลับมาเจอเรื่องราวเหล่านี้อีก
หากสิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อย เกิดขึ้นซ้ำๆ อาการเหล่านี้บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพจิต อย่างโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ อารมณ์แปรปรวน หรือแม้แต่การใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทางประสาท
เมื่อไหร่ถึงจะเริ่มเป็นปัญหา?
สิ่งเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นเพียงความคิดลอยฟุ้งในวันสิ้นหวัง ความฝันเฟื่องถึงความตายเพียงเพราะไม่ต้องการแก้ปัญหาใดๆ หากสิ่งนี้มันเกิดขึ้นบ่อยเสียจนเป็นความเคยชิน กลายเป็นความรู้สึกพร้อมที่จะจากโลกใบนี้ไปเสมอ แม้จะยังไม่ได้ลงมือ แต่นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าสุขภาพจิตใจต้องการความช่วยเหลือได้เช่นกัน
งั้นเราจะสังเกตตัวเองและคนรอบตัวได้อย่างไรบ้าง ว่ามีความเสี่ยงต่อความคิดจบชีวิตตัวเอง
- มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือประมาทเลินเล่อ
- แยกตัวออกไปใช้ชีวิตคนเดียวอยู่เสมอ
- แสดงความรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง โดดเดี่ยว หรือไม่แยแสต่อโลกใบนี้
- มีร่องรอย บาดแผล จากการทำร้ายตัวเอง
- มีการใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติดเกินขนาด
ลองสังเกตตัวเองและคนรอบข้างถึงสัญญาณเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ความคิดเหล่านี้พัฒนากลายเป็นการลงมือจริงเข้าในสักวัน
หากเป็นเพียงในระดับเริ่มต้น ความคิดที่โผล่มาแตะบ่ายามสิ้นหวัง สิ่งแรกที่เราควรทำคือการรู้เท่าทันอารมณ์ของเราเอง ในตอนนี้เรากำลังคิดแบบนี้เพราะอะไร เพราะเราอยากจากไปจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพราะชีวิตในช่วงนี้มันยากเสียเหลือเกิน หากผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ หรือไม่มีปัญหานี้เข้ามา จะทำให้เราอยากมีชีวิตมาก เห็นทางไปต่อของชีวิตได้หรือเปล่านะ
แต่ถ้าความคิดนั้นไม่เคยจางหายไป ยังคงวนเวียนจนส่งผลกับสภาพจิตใจ อย่าละเลยและมองข้ามปัญหาเหล่านี้ โปรดติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษาต่อไป อย่าง 1323 สายด่วนสุขภาพจิต โดยกรมสุขภาพจิต
อ้างอิงจาก