ทุกวันนี้เราพยายามพูด และส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ไม่ได้หมายความแค่ว่าพอเราสร้างสังคมที่แต่ละเพศมีสถานะเท่าเทียมกันแล้วเราจะสบายใจเท่านั้น แต่ในระดับปฏิบัติ สังคมที่ไม่ได้แบ่งสถานะของชายหญิงโดยเฉพาะการรับภาระในบ้าน-นอกบ้าน งานศึกษาพบว่ายิ่งในสังคมมีความเท่าเทียมทางเพศสูงเท่าไหร่ ผู้คนยิ่งนอนหลับอย่างมีคุณภาพขึ้นเท่านั้น
จากเรื่องทางสังคมสู่คุณภาพชีวิตที่เป็นรูปธรรม แต่เดิมเรามักมีการแบ่งบทบาทหน้าที่โดยมีเพศเป็นตัวกำหนด ผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงทำงานบ้าน ดูแลลูก การแบ่งนี้ก็ถือกันว่าเป็นการสร้างช่องว่างระหว่างเพศ มีงานศึกษาพบว่าในสังคมที่ยังมีขนบที่แบ่งแยกชายหญิงแบบนี้จะมีคุณภาพการนอนหลับต่ำกว่าสังคมที่ชายหญิงมีความเสมอภาค
การแบ่งหน้าที่ด้วยเพศ แน่ล่ะว่า มักถูกวิพากษ์ว่าเป็นการกดขี่ฝ่ายหญิงด้วยการยกหน้าที่แม่และเมียให้ พอวางตำแหน่งดูแลบ้านให้ ทีนี้กลายเป็นว่าจากการดูแลบ้านกลางวัน การดูแลลูกน้อยในตอนกลางคืนก็ตกเป็นภาระของผู้หญิงด้วย (จริงๆ ถ้านับน่าจะเป็นงานล่วงเวลาเนอะ) ข้อมูลเลยสะท้อนออกมาว่าคุณภาพการนอนของผู้หญิงจะลดลงเพราะต้องดูแลลูกเล็กที่อายุน้อยกว่าห้าขวบ ในทำนองเดียวกันผู้ชายเองก็ถูกคาดหวังในการเลี้ยงดูและทำงานนอกบ้าน ผู้ชายมักจะมีปัญหาเรื่องการนอนเพราะความกังวลเรื่องงาน เรื่องการหาเลี้ยง
ทีนี้ในสังคมที่ชายหญิงเท่าเทียมกันมากขึ้น จากที่แบ่งแยกว่าผู้ชายต้องทำแบบนี้ ผู้หญิงต้องทำแบบนี้ เส้นแบ่งที่ชัดเจนก็เริ่มเลือนรางลงและกลายเป็นทำงานร่วมกันมากขึ้น ในสังคมที่ผู้หญิงมีสถานะและบทบาทที่ดี ผู้ชายจะเริ่มเข้ามาช่วยดูแลลูกและบ้านมากขึ้น
ผลการศึกษาพบในสังคมที่ชายหญิงมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทุกฝ่ายในครอบครัวจะมีคุณภาพในการนอนหลับ เรียกได้ว่าหลับสบายกันทุกคน คำอธิบายหนึ่งก็คือ พอผู้ชายมาช่วยดูแลลูกในตอนกลางคืน ผู้หญิงก็มีเวลาได้พักและหลับเต็มตามากขึ้น ในขณะที่สำหรับฝ่ายชายเองการอยู่ในสังคมที่ให้เกียรติและเท่าเทียมกันก็มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก