ประเทศไทยมีที่ทางสำหรับ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ แค่ไหนบ้าง?
ความหลากหลายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการแต่งตัว สิ่งปรุงแต่งภายนอก หรือข้าวของที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ ‘เพศ’ ยังแฝงไปด้วยความหมาย และอคติมากมายที่สังคมเป็นผู้กำหนด
แม้บ้านเราจะมีเสรีภาพในการแสดงออกของคนทุกเพศ แต่ลึกลงไปแล้วในแง่ตัวบทกฎหมาย หรือเฉดของความหลากหลายที่เลื่อนไหลไปไกลกว่าที่สังคมรับรู้ ทั้งผู้หญิงข้ามเพศ ความสัมพันธ์ระหว่างเกย์กับทอม หรือกลุ่มคนที่ไม่ต้องการระบุเพศ (non-binary) ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนของพวกเขาอยู่ดี
‘Spectrum’ คือ เพจที่นำเสนอเรื่องเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ด้วย true story จากประสบการณ์ของผู้ประสบปัญหาเอง ความน่าสนใจของ Spectrum คือ พวกเขาไปไกลกว่าการเล่าเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะยังทิ้งปมว่าด้วยเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ดูจะเป็นรากของปัญหานี้ด้วย
The MATTER เดินทางไปที่โปรดักชั่น เฮาส์ ย่านสวนหลวง พูดคุยกับ โอ๋-อภิสิทธิ์ อัศวะภูมิ ที่แม้จะมีงานประจำเป็นครีเอทีฟอยู่แล้ว แต่บทสัมภาษณ์-ตัดต่อในเพจ Spectrum ก็ยังมีการฟีดคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง
ทำไมถึงสนใจทำเพจที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศ
จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่อยากทำมีเดียออนไลน์นั่นแหละ เพราะจริงๆ เราเป็นโปรดักชั่นเฮาส์อยู่แล้ว ทางบอสเราเองก็คงจะเห็นว่า มีคนที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศในออฟฟิศเยอะ เวลาทุกคนมีเรื่องอะไรก็จะไปเล่าให้บอสฟัง เขาก็เห็นว่ามันน่าสนใจนะ ไม่ค่อยมีเพจลักษณะนี้ด้วย เลยคิดว่าอยากทำแต่จะทำยังไงให้ได้ดี เพราะเราก็มีงานหลักอย่างอื่นต้องทำด้วย เลยเสนอไปว่า งั้นทำเป็นแพลตฟอร์มให้คนอื่นๆ ส่งเรื่องที่อยากเล่าเข้ามามั้ย เหมือนเราเป็น space ให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศส่งเรื่องที่เขาอยากเล่าเข้ามา
ปรากฎว่า ทำไปสักพักหนึ่งก็มี engagement ที่ดี ได้รูปแบบตามที่เราอยากให้เป็น แล้วคอนเทนต์ที่ทำก็ไปถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจริงๆ เช่น กลุ่ม non-binary กลุ่ม queer เขาก็เขียนเรื่องของตัวเองเข้ามา เราก็รู้สึกว่ามันดีนะ ถ้าจะทำเพจที่พูดภาษาเดียวกันกับคนอ่าน ไม่ใช่ภาษานักวิชาการ จากนั้นเลยเริ่มหาคนมาช่วยเพิ่ม พี่คนนี้ว่างจากงานตัดโฆษณาก็มาช่วยกัน
มีวิธีการหาเคสที่น่าสนใจมาเล่ายังไงบ้าง
ส่วนมากเราจะทักไปหาเขาก่อน บางทีเห็นเขาโพสต์บ่นประมาณว่า โดนครอบครัวดุด่ายังไง ปฏิบัติกับเขายังไงด้วย เช่น ลงโพสต์นี้ในเพจไปก็อาจจะมีคนมาคอมเมนท์บ่นๆ เราก็ลองทักไปว่า คุณอยากจะแชร์เรื่องของคุณมั้ย เพราะเราสังเกตเห็นบางคนเขาไม่มีที่เล่าแล้วมาคอมเมนต์ยาวมาก ซีเรียสมาก อย่างตอนลงเรื่อง transgender ไปก็มีคอมเมนท์ว่า เขาโดนที่บ้านขโมยของไปเผา เราก็ลอง inbox ถามว่าอยากเล่ามั้ย ถ้าเขากล้าเล่า เราก็จะติดต่อแล้วโทรคุยกัน
เพจได้วางคอนเซปต์ไว้มั้ยว่า ต้องเล่ามุมมองที่แตกต่างจากเพจอื่นๆ
อย่างตัวผมเองก็พอจะมีความรู้ด้านสังคมวิทยาอยู่บ้าง เราก็รู้ว่า เรื่องที่กำลังเล่าอยู่มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของชนชั้นกลาง คือ มันไม่ได้มาจากพวก upper class เพราะพวกนั้นเขาคงไม่ได้อยากมาพูดเรื่อง minority เท่าไหร่ แล้วภาษาของคนที่ทำเรื่องพวกนี้ในไทยก็เป็นภาษาของ activist ที่จะไม่เข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่ม เราก็เลยรู้สึกว่า สิ่งที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ คือ เราต้องเข้าใจคนๆ นั้นให้มากที่สุด ก็เลยคิดว่า เราจะเล่าด้วยภาษาของคนๆ นั้น
ฉะนั้นท่าทีของ Spectrum จะไม่ได้เป็นเพจที่ activist จ๋ามาก ไม่มีการพูดถึงแนวคิดวิชาการหรือศัพท์ยากๆ ขึ้นมา เราจะพยายามเลี่ยงตรงนั้นให้มากที่สุด หรือถ้ามีภาษาอังกฤษก็จะวงเล็บภาษาไทยไว้ คือ พยายามทำให้ human rights ไม่ได้ดูไกลตัว activist เขาอาจจะพูดเรื่อง PC (Political Correctness) เรื่อง victims blaming อะไรที่ดูวิชาการ เราเองก็พูด แต่จะเป็นการแสดงตัวอย่างของคนที่โดนเรื่องพวกนั้นมาเล่าให้ฟังแทน เราว่า human rights มันน่าจะเกิดจากการที่เราเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้เขาเข้าใจเรื่องพวกนี้เพื่อขยายความหมายจากนักวิชาการอีกที
อย่างคลิป LGBT ที่เป็นคนไร้บ้าน มีคนให้ความสนใจเยอะมากๆ ทำไมถึงสนใจทำประเด็นนี้
น้องในทีมทุกคนจะมีประเด็นที่อยากเล่าอยู่แล้ว เช่น อยากทำเรื่องคนไร้บ้าน อยากทำเรื่องนั้นนี้ เราจะคุยกับทีมตลอดว่า ถ้าคิดอะไรได้อย่าเพิ่งทิ้งไป ให้เขียนฟุ้งๆ มาก่อน แล้วค่อยไปหา subject ดูว่า จะได้มาจากที่ไหนบ้าง หาจาก internet sources ได้มั้ย หาจากคนรู้จักได้มั้ย คิดไว้ก่อนอย่าเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้ เพราะคอนเซ็ปต์เราเป็น ‘people stories’ เป็นเรื่องของคนรอบๆ ตัวที่คิดว่าน่าจะผลักดันเกี่ยวกับ human rights ได้
แสดงว่าในทีมก็น่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBT พอสมควร จากประเด็นที่นำเสนอก็ค่อนข้างหลากหลาย
เรามองเป็น gender issues มากกว่า อย่างตอนนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องเจาะแค่ LGBT แล้ว เราจะพูดเรื่องของผู้หญิงผู้ชายด้วย ให้มันเป็นเรื่องของทุกเพศจริงๆ เพราะถ้าเราพูดแต่ LGBT ซ้ำๆ มันเหมือนเราไป demonize เขา ทำให้เขาเป็นขั้วตรงข้าม ก็เลยให้เป็นพื้นที่ความคิดของทุกคนเพื่อความหลากหลายจริงๆ
ที่บอกจะเล่าเรื่องของ straight ด้วย วางคร่าวๆ ไว้ประมาณไหน
ตอนนี้เรากำลังพูดถึง gender issues กัน ล่าสุดในทีมพูดกันเรื่องรอยสัก คนไทยบางส่วนมองว่า รอยสักเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชาย เป็นความเถื่อนดิบ เป็น masculinity มากๆ พอมีผู้หญิงที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานทางสังคมไทย ไม่พับเพียบเรียบร้อยไปสวมรอยสักเข้ามา ก็จะถูกพูดถึงอีกแบบ ซึ่งจริงๆ เขาอาจจะชอบเพราะเป็นศิลปะ เป็นสไตล์ของเขา หรือบางส่วนก็ถูกมองว่าเป็นเลสเบี้ยน ถูกมองว่าไม่เหมาะ ก็พยายามจะทำเรื่องที่ครอบคลุม gender ให้มากขึ้น
ถ้ามองอย่างนี้ปัญหาว่าด้วย gender issues ก็มีดีเทลย่อยๆ อีกมากเหมือนกัน
รวมๆ ก็เป็นเรื่อง identity politics แหละ สิ่งที่เพจเราต่างจากเพจอื่น คือ เราเล่าทั้งสองมุม ต้องมีทั้งเรื่อง class politics (การเมืองเรื่องชนชั้น) และ identity politics (การเมืองเรื่องอัตลักษณ์) ควบคู่ไปด้วยกัน เพจ LGBT อื่นๆ เขาอาจจะนำเสนอ identity politics เป็นหลัก พูดถึงเรื่องเหยียดเพศ เรื่อง PC ซึ่งมันก็ได้แหละ แต่ถ้าคุณไม่พูดถึงเรื่อง class politics เลยมันก็ไม่ได้แตะปัญหาในเชิงโครงสร้างจริงๆ เช่น เวลาพูดถึงสิทธิของชาวเขา เราก็ไปเอาชุดเขามาใส่ บอกว่า แสดงออกถึงอัตลักษณ์นั่นนี่ แต่ไม่เคยพูดเลยว่า ชาวเขาอยู่ยังไงใน class แบบนี้ สังคมมันไปทำลายเขายังไงบ้าง
คือ Spectrum มองว่า ปัญหาหลักๆ ของประเด็นเรื่องเพศ คือความเหลื่อมล้ำใช่ไหม
ต้องบอกว่า สังคมไทยเนี่ย class politics สำคัญมาก เช่น ล่าสุดที่มีนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแต่งหญิงได้ เขาก็ดีใจกัน แต่ถามว่าสิ่งที่ควรจะพูดชั้นต่อไป คือ เครื่องแบบเนี่ยมันจำเป็นต้องมีมั้ย และเครื่องแบบมันเป็นอำนาจที่ไปกดทับการศึกษาอย่างไร
อย่างตอนทำเรื่อง LGBT ไร้บ้าน เราไม่ได้จบแค่ว่าคุณเป็นเพศอะไร แต่จบที่ว่า โครงสร้างของไทยมีปัญหานะ มันผลักให้เขาไปเป็นคนไร้บ้าน ก็มี class politics มาเกี่ยวข้องด้วย ในสังคมไทยคนที่เดือดร้อนจริงๆ จะไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในชนชั้นหรูๆ ต่อให้เป็น LGBT ก็ตาม เขาอาจจะเป็นกะเทยที่ไปเหยียดกะเทยด้วยกันก็ได้ว่า พวกคุณจะไปซีเรียสกับเรื่องสิทธินั่นนี่ทำไม ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังไม่มีสิทธิตรงนั้นนะ แต่เขาลอยตัวจากปัญหานั้น เพราะมีฐานะทางสังคมดีกว่า นี่ก็เป็นเรื่อง class politics อีก มันเข้มข้นมาก ความเหลื่อมล้ำสูงมาก
ถ้าไปดูกะเทยที่อยู่ชานเมืองมากๆ เขาอาจจะไม่ได้อยากพูดถึงเรื่อง PC อาจจะพูดว่า มาช่วยเรื่องที่ทำกินเถอะ เรื่อง identity politics เอาไว้ก่อนได้มั้ย ก็เลยรู้สึกว่า เราจะพยายามพูดทั้งสองเรื่องควบคู่ไปด้วยกัน
คิดยังไงที่มีหลายๆ คนบอกว่า สังคมตอนนี้ ‘over pc’ กลุ่มความหลากหลายทางเพศมากเกินไป
ปัญหามันเกิดเมื่อ PC ไปปะทะกับความคิดที่เรียกว่า free speech ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่พูดอาจจะเป็น fact ก็จริง แต่ถ้าไปมองในเรื่องอำนาจการเมืองของคนๆ นั้น คำว่า ‘กะเทย’ ก็ยังต่ำกว่าคำว่า ชายจริงหญิงแท้ หรือถ้าเราพูดว่า ‘นิโกร’ มันอาจจะเป็น fact แต่มันมีความหมายมากมายที่พ่วงมากับคำๆ นี้
เราอยู่ในโครงสร้างที่โฆษณาก็นิยามแบบหนึ่ง บรรทัดฐานของสังคมก็ว่าให้เป็นแบบหนึ่ง แล้วถ้าคนๆ นั้น เขายังไม่ได้สตรองพอที่จะหลุดพ้นจากตรงนั้นเขาจะรู้สึกยังไง บางที PC ก็จำเป็น
โดยเฉพาะประเทศเราที่ชนชั้นมันต่างกันมาก ถ้าสมมติวันหนึ่งทุกคนเท่ากันจริงๆ ก็อาจจะเกิดคำถามว่า PC ยังจำเป็นอยู่ไหม ในวันที่เหยียดกันเหลือเกิน PC อาจจะมาช่วยได้หรือเปล่า
ฉะนั้นเราว่า PC ก็ยังจำเป็นในสังคมแหละตอนนี้ ถ้าเรายึดแกนประชาธิปไตย แกน human rights กลุ่มที่เขาเป็นคนส่วนน้อยเราจะไม่ PC เขาเหรอ มันก็ต้องมีอยู่ ถ้า PC มาช่วยในกระบวนการ normalize ประเด็น LGBT ให้เป็นเรื่องปกติ ถ้าวันหนึ่งมันปกติจริงๆ ค่อยมาว่ากันมั้ยว่าจะเอายังไงต่อกับการ PC
แล้วคิดว่าชาเลนจ์ของ LGBT ในยุคนี้คืออะไร
อันหนึ่งที่ดูจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากก็คือ การมอง LGBT ผ่านศาสนา บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ศาสนาพุทธอาจจะไม่ได้สอนให้เราไปฆ่าเกย์ แต่เราสอนให้สงสารเขา เป็นสิ่งที่น่าสมเพช เขาเกิดมาอย่างนี้เขาก็น่าสงสารพอแล้ว คือมันมี sense ของความเมตตาปรานีทับซ้อนกันอยู่ สุดท้ายก็ทำให้เขาดูเป็นอื่นอยู่ดี กลายเป็นคนที่เกิดมาเป็นเกย์ เพราะชาติที่แล้วไปผิดลูกผิดเมียคนอื่นมา
เรื่องที่ LGBT ยุคนี้ต้อง concern ที่สุดคืออะไร
เหมือนที่เราพูด คือ เรื่องประชาธิปไตย ทุกเรื่องที่เป็นการเคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประชาธิปไตยเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ยังไม่ต้องพูดนะว่า ตอนนี้ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยยังไงมันก็ยากขึ้นไปอีก คุณต้องการวิกฤตอะไรล่ะมันถึงจะทำได้ ผมเคยคุยกับ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา แกบอกว่า อาจจะต้องมี crisis บางอย่างมันถึงจะไปรัน modernity ได้ สุดท้ายคุณอยากได้ความเป็น modern แบบนี้ แต่วิกฤตนั้นคืออะไรใครจะรู้
แต่ก็มีนักวิชาการบางคนพูดว่า มันจำเป็นจะต้องให้เกิดวิกฤตหรอ เราบอบช้ำมาเยอะพอแล้วรึเปล่า
ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน แต่ประวัติศาสตร์ก็สอนให้เรารู้ว่า ประเทศอื่นๆ ต้องถูกกระตุ้นแบบนั้น หรือของเราต้องเป็นแบบไหน ถ้าบอกว่า มันไม่จำเป็นขนาดนั้น แล้วกับที่เป็นอยู่ตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงได้ไหมล่ะ
เพจ Spectrum อยากให้อะไรกับคนอ่านที่สุด
เรารู้สึกว่า สื่อสมัยนี้เข้าสู่แกนของ human rights มากขึ้น แตกต่างจากสมัยก่อนที่ยังไม่มีสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา สื่อก็เข้าไม่ถึงเหตุการณ์แบบเรียลไทม์ ส่วนเราเราดีใจว่า อาจจะเป็นผลพลอยได้ที่ตอนนี้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของ soft power ที่ได้ไปผลักดันอะไรให้กับสังคมไทย ก็หวังว่า จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ไปช่วยซัพพอร์ตกระบวนการประชาธิปไตย หรือทำให้ human rights มันเกิด แน่นอนว่า ประชาธิปไตยก็สำคัญในการที่จะผลักดันประเด็นพวกนี้
ถ้าคิดเหมือนประชาธิปไตยว่าคนเท่ากัน เราก็ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่า คนมันเท่ากันจริงๆ มั้ย ทั้งในแง่กฎหมายหรือสิ่งต่างๆ ซึ่งผมว่าเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น