เมื่อคนโสดเหงาใจโดนกักตัว ไม่ได้ออกไปเที่ยวเหล่เกี้ยวพาราสีใครต่อใครตามร้านรวงผับบาร์ แต่ยังอยากมีแฟน จึงมีการสร้าง platform มาให้หาคู่ตุนาหงันระหว่างช่วง quarantine แบ่งหมวดหมู่ชัดเจนเป็น ‘ชายจริง’ ‘หญิงแท้’ ‘หนุ่มส่องหนุ่ม’ ‘สาวส่องสาว’ ‘LGBTQ’ บลาๆๆ
และเมื่อมีการทักท้วงว่าการนิยาม ‘ชายจริง’ ‘หญิงแท้’ เพื่อแยกออกจาก ‘หนุ่มส่องหนุ่ม’ ‘สาวส่องสาว’ หรือ LGBTQ เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพราะคำมีอคติในตัวของมันเอง จึงนำไปสู่ดราม่า ที่ดราม่าไม่ได้บังเกิดจากผู้ทักท้วง หากแต่เกิดจากบรรดาผู้ที่สงวนคำและสงวนสถานภาพ ‘ชายจริง-หญิงแท้’ ต่างหากที่พยายามโจมตี ตีโพยตีพายว่าการทักท้วงนี้เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่รู้สึก offended ซึ่งคนพวกนี้ก็แสนจะ offended เก่ง offended ทุกเรื่องแม้แต่เรื่องแค่นี้ หยุมหยิมจุกจิกเรื่องมาก มองโลกในแง่ลบ อ่อนไหวง่ายเปราะบาง แล้วพาลให้คนอื่นต้องปรับตัวเพื่อคนกลุ่มเดียว สร้างความวุ่นวายให้กับคนหมู่มาก
บางคนหาเรื่องพาลไปตีความว่าการประกาศชอบผู้ชายไม่เอาทอม หรือหาแฟนเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นไม่เอาเกย์กะเทย เป็นการเลือกปฏิบัติ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่เคยโจมตีประกาศสมัครงานที่กำหนดเพศใดเป็นเพศหนึ่งเป็นคุณสมบัติในการทำงาน ที่ทั้งผิดกฎหมายและเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน
เนื่องจาก ‘ชายจริง-หญิงแท้’ เป็นวลีที่คล้องจองกัน คุ้นหูติดปากมาแต่อ้อนแต่ออกคุ้นชินมากกว่าจะมานั่งตระหนักได้ว่าคำนี้มีนัยยะแอบแฝง เหมือนกับคำว่า ‘สามี’ ที่ถูกนิยามว่าเป็นคำสุภาพกว่าคำว่า ‘ผัว’ หากแต่แปลว่าผู้เป็นนายหรือเจ้าของที่ให้เมียหรือภรรยาเป็นสมบัติสิ่งของชิ้นหนึ่งของผู้ชาย แต่ทว่า ชายจริง-หญิงแท้ ก็เป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อบอกว่าชายหญิงที่รักต่างเพศเป็นเพศที่แท้จริง และเพื่อแบ่งคู่ตรงข้ามกับรักเพศเดียวกันให้เป็นของเทียม ของก๊อป ของปลอม ของไม่จริง (ซึ่งบางครั้งของปลอมก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย) เป็นการสร้างความเป็นเพศที่เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมซึ่งอิงกับ biological sex ที่มีแค่ male กับ female และแกล้งละเลย intersex ออกไป ขณะเดียวกันก็ใช้เพศวิถีมานิยามคุณค่าของเพศสภาพ แบบปะปนกันเพียงเพื่อบอกว่า
คนรักต่างเพศดำรงสถานะสมบูรณ์กว่าคนรักเพศเดียวกัน
เป็น ‘เพศจริงแท้’ ไม่ใช่รักร่วมเพศเดียวกันที่เป็นพวกไม่แท้หรือจอมปลอม
‘ชายจริง-หญิงแท้’ จึงมีนัยยะของการจัดประเภทอย่างเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติ เช่นเดียวกับคำว่า ‘ปรกติ’ เพื่อแยกออกจากคนที่ ‘ไม่ปรกติ’ หรือคำว่า ‘สมบูรณ์’ ‘ครบ 32’ จะไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวก็ตาม เพื่อแยกตนเองให้อยู่ในระดับที่เหนือกว่ามีคุณค่าความเป็นคนมากกว่าคนอีกลุ่มหนึ่งที่มีคำนิยามว่า ‘ไม่สมประกอบ’ ‘พิกลพิการ’ ‘ปากแหว่งเพดานโหว่’
การจัดประเภทเพื่อทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พอจะอดทนยอมรับได้บ้างกับมายาคติบางประการ หากแต่การจัดประเภทที่เป็นระดับช่วงชั้นสถานะและตีตรา เป็นอคติที่น่ารังเกียจ
อย่างไรก็ตามความคุ้นชินมักเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่เคยมีประสบการณ์ถูกพรากสิทธิเสรีภาพคุณค่าความเป็นคน จนมองไม่เห็นหรือมองข้ามความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น ไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิพิเศษที่ตนเองได้จากการเลือกปฏิบัติของสังคมรักต่างเพศนิยม หรือว่ากำลังเหยียบย่ำอยู่โดยไม่รู้ตัว จนคิดว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้อง
และเมื่อมีการกดทับลดทอนผู้อื่นที่ต่างจากตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสามัญสำนึก ทันทีที่มีผู้ทักท้วงทวงคืนสถานะความเท่าเทียม ออกมาอธิบายว่าบางวลีบางคำที่คุ้นชินมีอคติอแอบแฝงเป็นการกดทับโดยที่ไม่รู้ตัว ก็กลับกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้ก่อความไม่สงบสร้างความรำคาญใจ เป็นพวกคลั่งประสาทแดก เรียกร้องมากเกินกว่าเหตุ ทำเป็นพวกตำรวจศีลธรรมน่ารำคาญ เป็น social justice warrior ที่ทุกเรื่องเป็นเหยียดไปเสียหมด อีกหน่อยพูดอะไรไม่ได้แล้วผิดไปหมด เหยียดทุกสรรพสิ่ง
เชื่อเหอะคนพวกนี้ที่ออกมาปกป้อง ชายจริง-หญิงแท้ ก็มักจะบอกว่าตัวเองยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่ถ้าถามว่าเพราะอะไร ก็จะบอกอย่างหน้าซื่อตาใสว่าเพราะคนพวกนี้เป็นเพศที่มีความคิดสร้างสรรค์ สีสัน ตลก น่ารัก มีพรสวรรค์ ความสามารถพิเศษ มากกว่าจะบอกว่าเป็นคนเหมือนกัน หรือจะเข้าใจได้ว่าแต่ละปัจเจกบุคคลมีสิทธิที่จะเลือกประกอบสร้างเพศสภาพเพศวิถีของตนเอง กลายเป็นเพียงหลับหูหลับตาปากพูดปาวๆ ว่า สังคมเท่าเทียมทางเพศ ยอมรับความหลากหลายทางเพศแล้ว แต่ก็ยังต้องการรักษาสถานภาพทางเพศ ‘จริงแท้’ ที่เหนือกว่า และต้องการแสดงตนเป็นคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับ LGBTIQ ทั้งหลายที่มัดรวมกันว่าเป็น ‘ชายไม่จริง-หญิงไม่แท้’ แล้วก็จะไปยกตัวอย่างสถานภาพLGBTในอดีตมาเปรียบเทียบเพียงเพื่อให้ LGBT พึงพอใจกับสถานะเท่าที่มีในวันนี้อย่างพอเพียงก็เพียงพอ เพราะแค่นี้ก็ถือว่าสังคม overprotective กับคนกลุ่มนี้แล้ว
ด้วยทัศนคติแบบนี้แหละ วันดีคืนดีจึงมีผู้ที่เรียกตัวเองเป็นไลฟ์โค้ชพยายามชี้นำชาวบ้าน ลุกขึ้นมาแต่งคอสเพลย์ชุดข้าราชการตำรวจเพื่อให้ดู macho สอดรับกับรัฐราชการปิตาธิปไตย แล้วร้องแรกแหกกระเชอว่าไม่ได้เป็นตุ๊ดนะเว้ยยยย…กูชายแท้ แค่เกือบเป็นกะเทย เกือบติดมาเท่านั้น ดีที่ไหวตัวทัน หนีออกมาก่อน ไม่งั้นกูได้เป็นอีนั่นอีนี่แน่
ราวกับเพศสภาพเพศวิถีนี้เป็นไวรัส
หรือไวรัล แฟชั่นตามกระแส
หรือไม่ก็ทำท่างอแขนงอข้อมือ เป็นนางกวักสะบัดไปมาเพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นอากัปไม่ปรกติ เป็น over acting เพื่อแสดงจุดยืนตรงกันข้าม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ไม่มีใครเค้าทำกันแม้แต่ LGBTQ
แต่ที่น่าเวทนาไปกว่านั้น LGBTQ บางผู้บางนางคุ้นชินกับการติดกับดักนี้ ไม่ตระหนักกับสถานะอันต่ำต้อยของตนเองผ่านภาษา ซ้ำยังมองว่าการเรียกร้องทางภาษาเป็นความดัดจริตเปราะบางคิดลบของ LGBTQ บางคนเท่านั้น การต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องเป็นการสร้างความแตกแยกวุ่นวายในสังคมที่เขาอนุญาตเจียดพื้นที่ให้ LGBTQ มีที่ยืนได้บ้าง
เพราะการดิ้นรนเอาตัวรอดจากการถูกเลือกปฏิบัติเหยียดหยามอย่างง่ายที่สุดของ LGBTQ บางคนก็คือการเคลื่อนย้ายสถานะทางสังคมในระดับปัจเจก ที่การดูแลปรับปรุงเรือนร่างหน้าตา เรียนสูงๆ มีหน้าที่การงานดี รายได้สูงเป็นกระบวนการหนึ่ง ซึ่งลำพังแค่ถีบตัวเองให้สูงขึ้นเพื่อไม่ให้โดนเหยียดก็เหนื่อยมากพอแล้ว จะให้ไปนึกถึงการต่อสู้เคลื่อนไหวภาคสังคม แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรอีก ไม่เพียงรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัวเกินตัวไป ยังมองว่าเป็นการถกเถียงเชิงวิชาการมากกว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ภายใต้การยอมรับสถานะชายไม่จริงหญิงไม่แท้ของตนเอง เค้าล้อเค้าเหยียดก็อดทนไป แกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ มีที่ยืนในสังคมเกิดมาในประเทศไม่ปาหินใส่ก็บุญจะแย่แล้ว จะไปเรียกร้องอะไรให้สังคมวุ่นวาย ให้คนอื่นเค้าเกลียดกว่าเดิม
การดำรงอยู่ได้ของ ‘ชายจริง-หญิงแท้’ และการมีอาสาสมัครองครักษ์พิทักษ์วลีเหล่านี้ มันจึงเข้ากันได้ดีกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศแบบปลอมๆ เปลือกๆ ที่จะต้องจัดประเภทวาง LGBTQ ไว้ให้อยู่ห่างๆ อย่างเงียบๆ เป็น ‘พวกอื่น’ ที่เป็นความไม่สมบูรณ์หรือของปลอม