หลังตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ไม่ทันภายใน 60 วัน ร่างกฎหมายค้างท่อทุกฉบับ รวมถึงร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ จึงตกไปโดยปริยาย
อ้าว ตกไปได้ไงเนี่ย หากอธิบายโดยคร่าว กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดวาระหรือเกิดการยุบสภาฯ ร่างกฎหมายที่ค้างท่อและยังพิจารณาไม่เสร็จจะตกไปทันที แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่นะ คือ ครม. ชุดใหม่สามารถขอให้รัฐสภามีมตินำร่างกฎหมายนั้นๆ มาพิจารณาต่อได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่เรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกได้ ซึ่งก็คือภายใน 1 กันยายนที่ผ่านมา
แต่กว่าจะเลือกนายกฯ สำเร็จก็ต้องโหวตกันตั้งหลายยก ส่งผลให้การแต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่ล่าช้าและไม่ทันภายใน 60 วันหลังการประชุมรัฐสภาครั้งแรก ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้ไปต่อ แม้จะเคยอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 2 และ 3 แล้วก็ตาม
พรรคก้าวไกลจึงเริ่มนับหนึ่งใหม่ ยื่นเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ฉบับ 2023) เข้าสภาอีกครั้ง ด้วยฝันถึงกฎหมายที่จะคุ้มครองและรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของคนทุกเพศอย่างเท่าเทียมโดยไม่จำกัดแค่ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ …ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับ 2023 มีเนื้อหาอะไรบ้าง เหมือนหรือต่างจากเดิมยังไง The MATTER สรุปให้อ่านกัน
ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับ 2023 มีชื่อทางการคือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ถูกเสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.ก้าวไกล และคณะ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลในการยื่นแก้ไขร่างกฎหมายว่า การแก้ไขกฎหมายนี้จะทำให้สิทธิของบุคคลทุกคนเท่าเทียมกัน ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักเสมอภาคทางกฎหมายและหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในเชิงเนื้อหามีสิทธิเทียบเท่ากับฉบับก่อนหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- เปลี่ยนคำในกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิ
เพื่อรับรองสิทธิของคนทุกเพศให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงใช้วิธีเปลี่ยนคำในกฎหมายให้เป็นกลางทางเพศขึ้น เช่น เปลี่ยนจากคำว่าสามี–ภริยา เป็นคำว่า “คู่สมรส” และเปลี่ยนจากคำว่าชาย–หญิง เป็น “ผู้หมั้น–ผู้รับหมั้น” หรือ “บุคคล” แทน ซึ่งการเปลี่ยนคำจะทำให้ประชาชนทุกคู่ ไม่จำกัดเพศ ได้มีสถานะเป็น ‘คู่สมรส’ อย่างเท่าเทียมกัน ต่างจากกฎหมายเดิมที่ระบุให้คู่สมรสต้องเกิดระหว่างชายและหญิงเท่านั้น
- ปรับอายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18+
เดิมกฎหมายระบุว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ร่างสมรสเท่าเทียมกำหนดให้การสมรสจะทำได้ต่อเมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์เท่านั้น เป็นการปรับให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อปกป้องเด็กในด้านการพิจารณาคดีและคุ้มครองทางกฎหมายต่างๆ
- รับรองสิทธิหมั้นและสมรสให้ทุกคู่โดยไม่จำกัดเพศ
เดิมกฎหมายระบุว่า การหมั้นและการสมรสจะเกิดขึ้นได้ระหว่าง ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เท่านั้น แต่ร่างสมรสเท่าเทียมยกเลิกใช้คำระบุเพศและเปลี่ยนมาใช้คำที่เป็นกลางทางเพศแทน คือ ให้การหมั้นและสมรสกระทำได้ระหว่าง ‘บุคคลทั้งสองฝ่าย’
- ไม่จำกัดว่าฝ่ายให้ของหมั้นและสินสอดต้องเป็นผู้ชาย
เดิมกฎหมายระบุว่า ของหมั้นและสินสอดจะต้องเป็นหน้าที่ฝ่ายชายส่งมอบให้ฝ่ายหญิง หรือพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนที่ฝ่ายหญิงสมรสด้วย แต่ร่างสมรสเท่าเทียมกำหนดให้ใช้คำว่า ‘ฝ่ายผู้หมั้น’ และ ‘ผู้รับหมั้น’ แทน นั่นหมายความว่า การให้ของหมั้นและสินสอดจะไม่จำกัดว่าเป็นของผู้ชาย หรือเพศใดเพศหนึ่งอีกต่อไป
- รับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายได้
เดิมกฎหมายรับรองสิทธิการตั้งครอบครัวเฉพาะชายและหญิง คู่ที่อยู่กินกันแต่ไม่ใช่ชายและหญิงจึงไม่ถือเป็นคู่สมรส ทำให้ไม่มีสิทธิรับมรดกของอีกฝ่าย ในกรณีที่คู่รักไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินไว้ให้ แต่ร่างสมรสเท่าเทียมไม่ได้จำกัดกรอบเพศของคู่สมรสไว้ ดังนั้น คู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็จะมีสิทธิรับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต และมีสถานะเป็นทายาทโดยธรรม
- มีสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส
เดิมกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินระหว่างสามีและภริยา แต่ร่างสมรสเท่าเทียมแก้ให้เปลี่ยนมาคุ้มครองทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสโดยไม่จำกัดเพศ และปกป้องทรัพย์สินทั้งระหว่างสมรสและหลังสิ้นสุดการสมรส โดยในรายละเอียดคือ ถ้าเป็นสินส่วนตัว ต่างฝ่ายต่ายใช้สอยได้โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมของอีกฝ่าย แต่ถ้าเป็นสินสมรส ในกรณีที่อาจทำให้เสียประโยชน์ในทรัพย์สินก็จะต้องจัดการร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น การให้กู้ยืมเงิน การขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
- รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้
เดิมกฎหมายกำหนดให้คู่สมรสรับบุตรบุญธรรมได้ ดังนั้น เมื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ คู่รักเพศใดก็ตามจะมีสิทธิสมรส และเมื่อเป็นคู่สมรสก็จะมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกันตามกฎหมายบุตรบุญธรรม
- มีสิทธิเป็นผู้อนุบาล–ผู้พิทักษ์ หากคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นคนไร้–เสมือนไร้ความสามารถ
เดิมกฎหมายระบุว่า ถ้าสามีหรือภริยาเป็นคนไร้–เสมือนไร้ความสามารถ ให้สามีหรือภริยาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ (ถ้ามีการร้องขอและถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจึงตั้งคนอื่นให้เป็นได้) แต่ร่างสมรสเท่าเทียมกำหนดให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ได้โดยไม่จำกัดเพศ
- หากแก้ไขตามร่างกฎหมายนี้ คู่สมรสทุกเพศจะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐที่เป็นของ ‘คู่สมรส’
การแก้ไขตามร่างสมรสเท่าเทียม จะทำให้คู่สมรสเพศใดก็ตามมีโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการของรัฐที่เป็นของคู่สมรสได้ เช่น รับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เป็นต้น โดยสิทธิเหล่านี้ย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตและสถานะทางเศรษฐกิจของทุกคู่สมรสดีขึ้นด้วย
ส่วนสิ่งที่ต่างจากร่าง ‘สมรสเท่าเทียม’ เดิม คือ
- ปรับถ้อยคำในกฎหมายให้สอดคล้องกับการตีความกฎหมายอื่น แต่สาระสำคัญยังคงเดิม
เช่น ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเดิมใช้คำว่า ‘ประพฤติชู้’ แต่ร่างฉบับ 2023 กลับมาใช้คำว่า ‘ร่วมประเวณี’ เพราะจำเป็นต้องใช้ชุดคำเพื่อให้สอดคล้องกับการตีความกฎหมายอื่นๆ และต้องการหลีกเลี่ยงการบัญญัติศัพท์ใหม่ในกฎหมาย ง่ายๆ ก็คือ สาระสำคัญไม่ได้เปลี่ยน แต่ปรับถ้อยคำเพื่อทำให้กฎหมายสมบูรณ์ขึ้นและบังคับใช้ได้จริง
- ไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าให้รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่ใส่กฎหมายรับรองให้คู่สมรสทุกเพศมีสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายอื่นๆ ที่ให้สิทธิแก่สามีภริยาและคู่สมรส
ในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเดิมระบุชัดเจนว่าให้คู่สมรสรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ แต่ร่างฉบับ 2023 ใส่กฎหมายรับรองสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายอื่นๆ ของคู่สมรสทุกเพศแทน ดังนั้น หากคู่สมรส (ไม่ว่าเพศใดก็ตาม) ต้องการมีบุตรบุญธรรม ก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายรับบุตรบุญธรรมร่วมกันในฐานะคู่สมรสได้เลย
นอกจากนี้ มาตราที่ใส่เพิ่มมา คือ การรับรองสิทธิของคู่สมรสทุกเพศในกฎหมายลูก จึงทำให้สิทธิและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้กว่า 80 ฉบับสามารถคุ้มครองสิทธิของคู่รักเพศหลากหลายได้ทันที
- มีบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานรัฐทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ครอบคลุมว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องจะรับรองสิทธิคู่สมรสโดยไม่จำกัดเพศ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคู่สมรสมีประมาณ 127 ฉบับ หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านก็อาจรับรองสิทธิในกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ราว 80 ฉบับ จึงบัญญัติบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานทบทวนและแก้ไขกฎหมายอีก 40 กว่าฉบับให้สอดคล้องกับร่างสมรสเท่าเทียม หรือก็คือ เป็นบทเฉพาะกาลที่คุ้มครองสิทธิของ LGBTQ+ อย่างครอบคลุม
นอกจากสมรสเท่าเทียม ธัญวัจน์และคณะยังยื่นร่าง ‘คำนำหน้าตามสมัครใจ’ เข้าสภาด้วย เป็นอีกหนึ่งกฎหมายเพื่อให้สิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศได้กำหนดเพศตัวเอง โดยในร่างกฎหมายมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้
- ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิขอให้รับรองเพศตามเจตจำนงค์
- ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิใช้คำนำหน้าชื่อตามใจ
- บุคคลข้ามเพศมีสิทธิขอรับรองว่าเป็นหญิงหรือชาย ตามอัตลักษณ์ทางเพศ
รายละเอียดบางส่วนที่อ่านข้างต้น คือข้อมูลที่ธัญวัจน์ สส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล บอกกับ The MATTER พ้นจากการซักถามเชิงข้อมูลแล้ว เราจึงถามแหย่ว่าสมรสเท่าเทียมจะได้ประกาศใช้กี่โมง เอ้ย เมื่อไหร่กันแน่
ธัญวัจน์ยืนยันว่าไม่ได้มีอำนาจเท่าไหร่นัก และทำได้เพียงกดดันและเรียกร้องให้ร่างกฎหมายผ่าน อย่างไรก็ดี เธอเชื่อว่ากฎหมายนี้จะเสร็จได้ภายใน 2 ปีแรกของสภาชุดนี้
“เราก็พร้อมเสนอกฎหมายอีกถ้ามันตก แต่ก็คาดหวังว่าสมัยนี้น่าจะผ่าน เพราะเพื่อไทยช่วงหาเสียงก็พูดเรื่องสมรสเท่าเทียม คิดว่าพรรคก็คงทำตามสัญญาบ้าง ถ้าเพื่อไทยไม่เอาก็คงไม่ไปงานไพรด์” ธัญวัจน์ ระบุ
นอกจากร่างสมรสเท่าเทียม ฉบับ 2023 ที่เสนอโดยก้าวไกลแล้ว ยังมีร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ภาคประชาชนกำลังผลักดันด้วยนะ เป็นร่างที่เกิดจากความร่วมมือของภาคีกฎหมายภาคประชาชนและเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเพิ่งเปิดตัวผ่านงาน ‘Three Miracle Laws สลัดทิ้งโลกขมขื่นที่ล้าหลัง’ เมื่อ 20 กันยายนที่ผ่านมา
รายละเอียดหลักๆ คือการยื่นร่างสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน พร้อมๆ กับร่างรับรองเพศสภาพ และร่างที่ทำให้พนักงานบริการหรือ sex worker ถูกกฎหมาย
ภาพรวมอาจดูมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เราจึงถาม สส.ก้าวไกลว่า ร่างสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชนและฉบับก้าวไกลแตกต่างกันอย่างไร ธัญวัจน์เล่าว่า ร่างสมรสเท่าเทียมก้าวไกลไม่ได้แก้คำว่าบิดา–มารดา เป็น ‘บุพการี’ เพราะอาจมีปัญหาระหว่างการบังคับใช้ในอนาคต และส่งผลกระทบกับกฎหมายอื่นได้
ท้ายที่สุด เราถามธัญวัจน์ว่าท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอย่างไร ได้ปรึกษาอะไรกันบ้างไหม เธอตอบว่าได้มีการทักทายเป็นการส่วนตัวกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมขณะพบหน้ากันในสภาบ้าง และดูเหมือนว่าทางกระทรวงยุติธรรมก็กำลังดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียม
ธัญวัจน์ กล่าวว่า “ในเชิงการเมือง เพื่อไทยหรือคณะรัฐมนตรีคงมีร่างที่มาจากกระทรวงยุติธรรมมาเสนอประกบกับร่างของก้าวไกล ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงว่าเขาจะเร่งดำเนินการยังไงให้ทัน เพราะถ้าของก้าวไกลบรรจุวาระก่อนโดยไม่มีร่างของ ครม. มาประกบ เขาก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องเสียเหลี่ยมทางการเมืองหรือไม่”
“แต่เรื่องนี้มันไม่มีใครเสียเหลี่ยมหรอก ช่วยทำให้สำเร็จทีเถอะนะ …เพราะกะเทยตัดชุดรอแล้วค่ะ”
อ้างอิงจาก