ก่อนหน้านี้ถ้าพูดถึงแก๊งในญี่ปุ่นเราต่างนึกถึง ‘ยากูซ่า’ (Yakuza) แก๊งอาชญากรใหญ่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ในปัจจุบันแก๊งดังกล่าวเริ่มลดจำนวนลง และมีแก๊งแบบใหม่ที่ชื่อ ‘โทคุริว’ (Tokuryū) กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับชื่อเสียงที่กำลังเติบโตในโลกออนไลน์
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 ที่ย่าน ‘กินซ่า’ อันหรูหราและพลุกพล่านของโตเกียว มีชายสวมหน้ากาก 3 คนบุกเข้าไปในร้านนาฬิกาสุดหรูในช่วงเวลากลางวันแสกๆ ทำให้ผู้คนที่ผ่านไป-มาเข้าใจว่านี่เป็นการถ่ายทำละครหรือภาพยนตร์สักเรื่องอยู่หรือเปล่า
แต่การปล้นในครั้งนั้นเป็นเรื่องจริง ซึ่งผู้ที่ทำการปล้นมีอายุระหว่าง 16 – 19 ปี และได้รับการพูดถึงบนโลกออนไลน์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งอาชญากรใหม่ที่ชื่อว่าโทคุริว
โทคุริว – Tokuryū คือใคร?
คำว่า Tokuryū สร้างขึ้นจากอักขระที่มีความหมายว่า ‘นิรนาม’ (tokumei) และ ‘ของเหลว, ของที่ไหลได้หรือสารที่เปลี่ยนรูปได้ง่าย’ (ryūdo) ซึ่งพอมารวมกันแล้วหมายถึงกลุ่มเฉพาะกิจที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อก่ออาชญากรรม ซึ่งสมาชิกมักจะไม่รู้จักกัน ซึ่งต่างจากแก๊งยากูซ่าและมีลำดับขั้นน้อยกว่า แต่ก็ก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบตั้งแต่การปล้น ฉ้อโกง ไปจนถึงทำร้ายร่างกายและฆาตกรรม
ขณะที่ผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุชิงทรัพย์นาฬิกาหรูทั้ง 3 คนนั้นขับรถหลบหนีและไม่มีประวัติกระทำผิด แม้จะนำนาฬิกาไปขาย 74 เรือน มูลค่ากว่า 300 ล้านเยน (ประมาณ 70 ล้านบาท) แต่สุดท้ายก็ถูกจับได้และสินค้าที่ขโมยไปก็เก็บคืนมาได้ จำเลยอายุ 19 ปี 2 คนถูกตัดสินจำคุก 4 ปีครึ่งในเดือนกันยายนปี 2023 ขณะที่เด็ก 16 ถูกส่งไปยังสถานสงเคราะห์เยาวชนเพื่อรับการประเมินและฝึกอบรม
แก๊งนี้เป็นปัญหาใหญ่แค่ไหนในญี่ปุ่น?
จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (NPA) ผู้คนมากกว่า 10,000 คนที่ถูกจับกุมระหว่างเดือนกันยายน 2021 ถึงกุมภาพันธ์ 2023 เป็นคนของแก๊งโทคุริว
ยาสุฮิโระ ทสึยูกิ (Yasuhiro Tsuyuki) หัวหน้า NPA เล่าว่า หลังจากเหตุขโมยนาฬิกาในปี 2023 การปล้นก็เกิดขึ้นอีกตามถนนในย่านช็อปปิ้งที่มีผู้คนพลุกพล่านใจกลางเมืองแบบกลางวันแสกๆ ซึ่งมันเป็นระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศต้องให้ความร่วมมือในการสืบสวนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ในฟุกุโอกะ บนเกาะคิวชูทางตอนใต้ เคยเป็นฐานที่มั่นเก่าของแก๊งยากูซ่า แต่ในเวลานี้เริ่มมีภัยคุกคามจากแก๊งโทคุริวมากขึ้นเรื่อยๆ จนตำรวจต้องจัดแผนกต่อสู้กับแก๊งดังกล่าวกว่า 100 นาย
นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการปล้นนอกประเทศด้วยการข่มขู่ทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกยากูซ่ารวมหัวกับโทคุริว พวกเขาสร้างพันธมิตรและมีส่วนเกี่ยวข้องกันในการแบ่งปันผลกำไรจากการปล้นด้วย ขณะที่พบว่าแก๊งเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยด้วย
แล้วยากูซ่าหายไปไหน?
หลังจากการปราบปรามแก๊งยากูซ่าอย่างต่อเนื่อง สมาชิกแก๊งยากูซ่าที่เคยแตะจุดสูงสุดมากกว่า 180,000 คนในช่วงทศวรรษ 1960 ลดลงเหลือแค่ 20,400 คนในปี 2023 เนื่องจากคนรุ่นเก่าๆ ในแก๊งเผชิญกับความยากและซับซ้อนมากขึ้นจากการหลอกวัยรุ่นว่างานดังกล่าวเป็นงานที่จะหาเงินได้ง่ายๆ
ด้วยกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับแก๊งที่ไม่เคยได้รับโทษทำให้ชีวิตอาชญากรในญี่ปุ่นดูไม่น่าดึงดูดอีกต่อไป พวกเขาถูกห้ามไม่ให้เปิดบัญชีธนาคารห้ามมีบัตรเครดิต ห้ามทำกรมธรรม์ประกันภัยด้วย
การปราบปรามทำให้อายุเฉลี่ยของคนในแก๊งยากูซ่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่วงการยากูซ่าไม่ใช่เรื่องที่น่าดึงดูดสำหรับวัยรุ่นชายอีกต่อไป เพราะพวกเขาต้องเสียสละมากเพื่อใช้ชีวิตแบบอันธพาล แต่กลับได้ผลตอบแทนที่น้อยลงเรื่อยๆ
อ้างอิงจาก