ตลอดเวลาที่ผ่านมาในยุครัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ต่างทรงมีความเลื่อมใส และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และทรงเกี่ยวข้องกับการบูรณะวัด และทรงรับวัดไว้ในพระอุปถัมภ์
หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘วัดประจำรัชกาล’ กันอยู่บ่อยๆ และคงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่า ที่มาที่ไปของการมีวัดประจำรัชกาลนั้นคืออะไรกันนะ?
บทความเรื่อง ‘วัดประจำรัชกาล สุดยอดวัดงามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’ ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ได้อ้างอิงถึงคำอธิบายจาก ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา เอาไว้ว่า
วัดซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น มักจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ท่านทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ และให้ความสนใจกับวัดนี้เป็นพิเศษ หรือมีความผูกพันกับวัดนี้มากๆ เมื่อพระองค์สวรรคต พระบรมอัฐิก็จะถูกนำไปบรรจุอยู่ที่ฐานของพระประธาน
แต่การประกาศว่าวัดไหนเป็นวัดประจำรัชกาลนี้ ไม่ได้มีการประกาศออกเป็นทางการ เพียงแต่เกิดจากการที่คนพูดกันว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลนี้ๆ และดูจากความผูกพันที่พระองค์ท่านทรงมีให้กับวัดนั้นๆ มากกว่า
ชวนรู้จักวัดประจำรัชกาลที่ 10 : วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต)
ประวัติที่เล่ากันต่อๆ มาคือว่า เดิมทีวัดนี้ชื่อว่า ‘วัดทุ่งสาธิต’ ได้รับการสร้างขึ้นมาเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2399 โดย ‘นายวันดี’ ไม่ทราบนามสกุล แต่รู้เพียงว่าเป็นคหบดีชาวลาว ที่หนีเข้ามาอยู่ในไทยหลังจากเกิดเหตุกรุงเวียงจันทร์แตก
เมื่อเวลาล่วงเลยไป นายวันดี ได้ถึงแก่กรรม รวมถึงเจ้าอาวาสได้มรณภาพ จึงทำให้วัดทุ่งสาธิตเริ่มไม่มีผู้อุปถัมภ์ ขาดการดูแล และกลายเป็นวัดที่ถูกทิ้งให้ร้างไปในที่สุด แถมที่ตั้งของวัดในช่วงเวลานั้นยังอยู่กลางทุ่งนา ซึ่งห่างไกลความเจริญอีกด้วย ซึ่งตามเรื่องเล่านั้น ว่ากันว่าวัดแห่งนี้ถูกทิ้งให้ร้างนานกว่า 50 ปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีวัดแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะ จากความตั้งใจของพระโสภณวชิรธรรม (สาธิต ฐานวโร) หรือที่หลายคนมักเรียกว่า หลวงพ่อศรีนวล จึงทำให้วัดนี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2506 หลังจากนั้นเป็นต้นมา วัดก็เริ่มมีชาวบ้านเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจากกรมการศาสนา อธิบายเอาไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงรับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ และได้พระราชทานนามว่า ‘วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร’ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2508
ซึ่งถ้าหากแยกคำออกมา จะได้ความหมาย ดังนี้
-วชิร หมายถึง วชิราลงกรณ์
-ธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
-สาธิต หมายถึง นามเดิมพระโสภณวชิรธรรม
-วรวิหาร หมายถึง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
ภายในวัดแห่งนี้ มีงานศิลปะที่น่าสนใจหลายต่อหลายอย่าง โดยเฉพาะ พระอุโบสถที่ และพระเจดีย์จุฬามณีศรีล้านนา ซึ่งจำลองมาจากพระธาตุหริภุญชัย อันเลื่องชื่อในจังหวัด ลำพูน ขณะที่ภายในพระอุโบสถ มีพระปรางค์ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระเจดีย์จุฬามณีศรีลานนา ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 25 องค์ พระธาตุอรหันตสาวก 289 องค์อีกด้วย
ทั้งนี้ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต) ตั้งอยู่ที่ซอย ๑๐๑/๑ สุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ถ้าหากใครจะใช้โอกาสนี้ไปเยี่ยมชม และทำบุญกันตามวาระสำคัญของประเทศไทยเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก
ขอบคุณรูปภาพจาก : เพจวัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร