มนุษย์เรานี่เป็นพวกมืออยู่ไม่สุขหรือยังไง พอเขาไม่ให้จับ เราก็แสนอยากจะเอามือไปจับ ไปลูบไล้ข้าวของที่เขาตั้งโชว์ไว้ โดยเฉพาะพวกที่ล้ำๆ ค่าที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เราอาจไม่ได้เป็นพวกดื้อด้าน แต่การ ‘เรียนรู้’ สิ่งต่างๆ ของเรานั้น การ ‘ดูแต่ตามืออย่าต้อง’ อาจไม่เพียงพอสำหรับเรา
โอเค เราทุกคนเข้าใจฟังก์ชั่นของพิพิธภัณฑ์ เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้าวของต่างๆ มาจัดแสดง และเจ้าสิ่งที่เอามา ‘จัดแสดง’ ก็ย่อมไม่ใช่ของสามัญ เป็นของพิเศษ อาจจะพิเศษด้วยความหายากหรือความเก่าแก่ ง่ายๆ เลยคือ ของที่เราจะไปดูต้องเป็นของ ‘มีค่า’ มีราคา ในขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องการ ‘จัดแสดง’ คือแสดงให้ตาดูเป็นสำคัญ การสัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ จึงเป็น ‘การกระทำต้องห้าม’ ธรรมเนียมการเดินเตร่ๆ ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์คือการเดินทำตัวลีบๆ เก็บมืออันซุกซนของเราไว้ในกระเป๋า
ก็เข้าใจเนอะว่าข้าวของสำคัญๆ ที่จัดแสดงเป็นของเก่าแสนเปราะบาง เป็นของที่อุตส่าห์รอดพ้นผ่านกาลเวลาอันยาวนานมาได้ หน้าที่ของเราคือการช่วยกันรักษาและส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้เชยชมและเรียนรู้กันต่อไป โดยทั่วไปแล้วมือเราจะมีน้ำมันที่ทำปฏิกิริยาและทำร้ายพื้นผิวของทั้งรูปปั้น เครื่องเรือน และภาพเขียนทั้งหลาย ดังนั้นกฎทั่วไปของพิพิธภัณฑ์ในการรักษาบำรุงสิ่งของจัดแสดงคือการไม่ให้สัมผัส มีการวางระยะการเข้าถึงวัตถุจัดแสดงทั้งหลายเอาไว้
แต่ธรรมชาติของมนุษย์ เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรารถนาการสัมผัส เราชอบจับ ชอบแตะต้อง เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยการสัมผัส แค่มองดูอย่างเดียวมันจะไปเข้าใจได้อย่างไร
Fiona Candlin ศาสตราจารย์ด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาจาก Birkbeck College ในลอนดอน Fiona เป็นผู้ที่ทั้งศึกษาและทำงานในพิพิธภัณฑ์ เธอเองก็สงสัยและพยายามตอบคำถามว่าทำไมเราถึงได้ชอบสัมผัสของในพิพิธภัณฑ์กันนักนะ ยิ่งในช่วงต้นปี 2000 อังกฤษมีการออกกฎหมายว่า ด้วยผู้พิการมากขึ้น ทางพิพิธภัณฑ์เองก็เริ่มคิดว่า ข้อกำหนดเรื่องการรักษาข้าวของที่ให้ดูอย่างเดียวจะเป็นการกีดกันผู้พิการทางสายตาหรือไม่ เราอาจจะต้องมีการคิดถึงการเรียนรู้ที่ครอบคลุมมากขึ้น
ย้อนกลับไปที่ที่มาของพิพิธภัณฑ์ ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา ผู้คนที่ร่ำรวยและสนอกสนใจเรื่องความรู้ เรื่องวิทยาศาสตร์จะมีห้องที่เรียกว่า Curiosity cabinets เป็นห้องที่รวบรวมสิ่งของต่างๆ ไว้ – หลักๆ คือพวกสิ่งของที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เป็นเหมือนการสะสมความรู้จากสิ่งของหายากต่างๆ เช่น สัตว์สตัฟฟ์ แร่ธาตุ แผนที่ เอกสารโบราณ เรื่อยไปจนถึงวัตถุทางศิลปะ
ในยุคแรกคนที่ไป Curiosity cabinets คือไม่ได้เข้าไปแล้วดูอย่างเดียว แต่มีการหยิบจับและพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งของจัดแสดงเหล่านั้น ตรงนี้เองส่งผลต่อการจัดแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ยุคแรกๆ เช่น British Museum พิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าแห่งแรกของโลก ในยุคแรกๆของการเปิดทำการในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 คนที่ไปพิพิธภัณฑ์ก็สามารถหยิบจับสิ่งของจัดแสดงได้ หลังจากนั้นพิพิธภัณฑ์เริ่มกลายเป็นกิจกรรมของมวลชน มีคนเข้าไปดูจำนวนมากขึ้น หลังจากนั้นพิพิธภัณฑ์จึงไม่สามารถให้ผู้เยี่ยมชมจับต้องสิ่งของได้อีกต่อไป
จากการสังเกตการณ์ Candlin บอกว่า เธอเองก็เข้าใจว่าผู้คนมักรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถได้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่จนกว่าจะได้สัมผัสจับต้องหรือถือสิ่งต่างๆ ไว้ในมือของตัวเอง คนที่ไปดูวัตถุจัดแสดงบอกว่าพวกเขาอยากจะรู้สึกว่าไอ้เจ้าร่องรอยแกะสลักบนพื้นผิวมันลึกแค่ไหน อนุสาวรีย์ที่เห็นมีผิวสัมผัสที่เนียนลื่นหรือเยียบเย็นอย่างไร ความรู้สึกซาบซึ้งต่อวัตถุใดวัตถุหนึ่งมันต้องรวมความรู้สึกในการสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาด้วย (การได้หยิบจับ สัมผัส จึงเหมือนการที่ผู้ชมได้เข้าไปสัมผัสกระบวนการที่ผู้สร้างสร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้น) นอกจากนี้คนที่สารภาพว่าอยากแตะข้าวของบอกว่า การจับเป็นเหมือนการสร้างความรู้สึกร่วม ระหว่างตัวเรากับผู้สร้าง เป็นสัมผัสที่เราปรารถนาจะเข้าใกล้และสัมผัสกับอดีตผ่านการสัมผัสสิ่งของเก่าแก่หรือศิลปะวัตถุเหล่านั้น
ในประเด็นเรื่องการสัมผัสในฐานะส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และตัวพิพิธภัณฑ์เองที่เริ่มมองตัวเองในฐานะพื้นที่ของการเรียนรู้ – มากกว่าพื้นที่แห่งการเก็บรักษาเพียงอย่างเดียว พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เช่น The British Museum เองก็เริ่มมีโครงการพิเศษที่เปิดโอกาสให้คนเข้าชมได้สัมผัสจับต้องวัตถุจัดแสดงของเก่าแก่ทั้งหลาย – ไปจนถึงหลายๆ พิพิธภัณฑ์ที่เริ่มเปลี่ยนกิจกรรมภายในพื้นที่ให้พ้นไปจากการเดินชม ไปสู่การกระตุ้นให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์และมีกิจกรรมอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น
ตัว Fiona Candlin ผู้เป็นภัณฑารักษ์เองก็บอกว่า เธอก็มักจะอยากสัมผัสสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ และบางทีเธอก็ทำ
อ้างอิงข้อมูลจาก