เพิ่งสบโอกาสแวะไปเยี่ยมชมนิทรรศการ ‘แขวน’ 6 ตุลา On site Museum ณ โถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และจะจัดแสดงจนถึงวันที่ 11 ตุลาคม สำหรับปีนี้ยังสลักสำคัญเนื่องจากครบรอบวาระ 44 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา
คนหนุ่มที่เดินวนเวียนสะสมตารางนิ้วเสรีภาพในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาย่างปีที่ 13 เยี่ยงผม (เรียกว่าอยู่มาตั้งแต่อายุยังไม่ 20 จนอายุย่าง 31) ย่อมเคยพบเห็นและเคยเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาเสมอๆ อยู่บ่อยหน กระนั้น นิทรรศการ ‘แขวน’ครานี้กลับชวนให้รู้สึกตื่นเต้นตื่นตาไม่เบา นั่นเพราะมีการอาศัยเทคโนโลยี AR ที่นำเอาภาพอดีตเมื่อ 44 ปีก่อนมาทาบทับกับภาพปัจจุบัน
ตอนผมเข้าชมนิทรรศการเป็นช่วงเย็นย่ำค่ำคล้อย ทั้งๆ ที่จริงปรารถนาจะไปช่วงกลางวัน ทว่าฝนตกหนักอย่างไม่ยอมอนุญาตให้เราออกจากชายคาเลย พอก้าวขึ้นบันไดจนถึงบริเวณทางเข้าหอประชุมใหญ่ สายตาพลันประจักษ์ประตูแดง นครปฐม อันถือเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เสมือนจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา และเป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่นิทรรศการพยายามสื่อถึงการ ‘แขวน’
ประตูแดงนี้เป็นบานประตูจริงๆ ที่วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และชุมพร ทุมไมย สองเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครปฐมได้ถูกฆ่าแขวนคอเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2519 ภายหลังพวกเขาติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร
ผ่านประตูแดงเข้าไป ผมแลเห็นการนำชมและบรรยายนิทรรศการ ซึ่งเป็นการนำชมรอบ 18.00 น. ดูเหมือนในแต่ละวันการนำชมจะมีทั้งสิ้น 3 รอบ รอบแรกสุดผมจำเวลาไม่ได้ แต่รอบสองช่วงเวลา 14.00 น.
บังเอิญเจอพี่ที่รู้จัก 2 ท่าน ทักทายกัน พี่ผู้ชายท่านหนึ่งกระซิบว่าเมื่อปีก่อน (ตุลาคม พ.ศ. 2562) ซึ่งมีการนำประตูแดงมาจัดแสดงครั้งแรก (น่าเสียดายที่ช่วงนั้นผมมิได้มาชมนิทรรศการ) ประตูยังไม่เปิดแยกจากกัน แต่ในปีนี้ เปิดประตูจนกลายเป็นทางเข้าชมงาน
ทอดน่องเดินชมรายรอบทั้งโถงด้านล่างและขึ้นบันไดไปเยื้องกรายโถงด้านบน ก็ต้องชื่นชมว่านำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจทีเดียว ทำให้เราประหนึ่งหวนย้อนไปสู่เหตุการณ์เช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
นิทรรศการแสดงข้อมูลและภาพถ่ายที่ทางโครงการบันทึก 6 ตุลารวบรวมหลักฐานและความทรงจำของบุคคลเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มาดำเนินการบอกเล่า โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการ ‘แขวน’ ซึ่งสะท้อนเป็นภาพถ่ายคนถูกแขวนคอบนต้นไม้และถูกเก้าอี้ฟาดของนีล ยูเลวิช (Neal Ulevich) ช่างภาพสำนักข่าวเอพี มิหนำซ้ำ จากการเสาะค้นของโครงการบันทึก 6 ตุลา ยังเปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า แท้แล้ว ผู้ถูกแขวนคอกับต้นไม้มีจำนวนถึง 5 คน มิใช่แค่ 2 คนอย่างเคยเข้าใจกันมา
พื้นที่โถงด้านบนมีการนำเอาหลักฐานหลากหลายชิ้นมาจัดแสดงเพื่อส่งเสียงเล่าประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากภาพถ่ายและหนังสือพิมพ์เก่าๆ ก็ปรากฏสิ่งของต่างๆ ทั้งลำโพงของนักศึกษาพรุนรอยกระสุนปืน สมุดบันทึกของบิดาผู้เสียชีวิต และเสื้อผ้าของนักศึกษาผู้เสียชีวิตในเช้าวันนั้น
จุดที่ผมยืนนิ่งเพ่งมองอยู่นานคือตรงที่จัดแสดงเสื้อนักเรียนและชุดเสื้อกางเกงสีออกเขียวๆ เทาๆ ของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ แลเห็นตรงอกเสื้อนักเรียนปักตัวอักษรย่อและตัวเลข
“ส.ธ.
13697”
ก็วาบหัวใจให้เศร้าสลด ตอนผมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในทศวรรษ 2540 ตรงอกเสื้อนักเรียนของผมก็ปักตัวอักษรย่อ ส.ธ. เพียงแต่สมัยผมไม่ปักตัวเลขรหัสประจำตัว หากปักเป็นชื่อ-นามสกุลแทน
จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เป็นรุ่นพี่โรงเรียนผม เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสุราษฎร์ธานี
มิค่อยแน่ใจนักว่าเริ่มรู้จักชื่อจารุพงษ์หนแรกสุดเมื่อไหร่ แต่ผมเห็นภาพคนถูกกลุ่มผู้ชายใช้ผ้าผูกคอลากไปในสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ตอนเพิ่งเข้า ม. 1 ซึ่งเริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองในหอสมุดโรงเรียน แล้วทำความรู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลา จำได้ว่าภาพเหล่านั้นช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน
ช่วงที่มาสนใจเรื่องราวของจารุพงษ์จริงจังก็ตอนผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปีแรกๆ ตอนนั้น ห้องหนึ่งบนตึกกิจกรรมนักศึกษาที่ท่าพระจันทร์ยังใช้ชื่อ ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’ ยิ่งเร่งเร้าให้มุ่งสืบค้นว่า จารุพงษ์คือใคร? และได้ทราบว่าเขาเคยเรียนคณะศิลปศาสตร์ คณะเดียวกันกับผม รวมถึงเป็นชาวสุราษฎร์ธานี เคยเรียนโรงเรียนสุราษฎร์ธานีเช่นเดียวกับผม ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อโรงเรียนวัดสุทธิวราราม
จารุพงษ์ หรือ เกี๊ยะ เป็นคนตำบลอิปัน อำเภอพระแสง ผมเองมีเพื่อนเป็นคนอิปันเช่นกัน เพื่อนเคยเล่าว่าบ้านเขาไม่ไกลจากบ้านจารุพงษ์ ครั้นล่วงรู้ว่าจารุพงษ์ เคยเรียนโรงเรียนมัธยมเดียวกัน ผมฉุกนึกถึงเมื่อคราวที่ทางโรงเรียนจะครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้ง (พ.ศ. 2550) ก่อนหน้าราวๆ 2-3 ปี (ปลายทศวรรษ 2540) ทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนห้องผมไปช่วยจัดเอกสารเก่าๆ พบข้อมูลรายละเอียดของศิษย์เก่าหลายๆ คน จำได้ว่าเพื่อนๆ ผมไปเจอคะแนนสอบของพ่อผมสมัยเป็นนักเรียน ม.ต้น ยังเอามาแซว ทีแรกผมเข้าใจว่าคงช่วยคุณครูจัดเอกสารปกติ ต่อมาทราบว่าการค้นเอกสารเก่าๆ นั้นนำไปสู่การจัดทำทำเนียบศิษย์เก่าโรงเรียนสุราษฎร์ธานีในวาระครบรอบ 100 ปีนั่นเอง พอผมระลึกเรื่องนี้ได้ จึงลองนำชื่อจารุพงษ์ไปค้นดูในทำเนียบศิษย์เก่า ก็พบข้อมูลจริงๆ
จารุพงษ์สำเร็จชั้นมัธยมต้นในปีการศึกษา 2515 เขาเรียนอยู่ห้อง 1 เลขที่ 31 รหัสประจำตัวนักเรียน 4901
ตรงจุดนี้น่าสะกิดใจ เหตุไฉนบนอกเสื้อนักเรียนของจารุพงษ์ที่จัดแสดงในนิทรรศการ จึงปักตัวเลขรหัสนักเรียน 13697 ซึ่งผมวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากเลขตอนเข้าเรียนที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานีปีแรกสุดเมื่อ พ.ศ. 2513 พอลองค้นภาพถ่ายของจารุพงษ์ที่แต่งชุดนักเรียนเพิ่มเติม พบว่ามีภาพหนึ่งบนอกเสื้อปักรหัสประจำตัว 4901
ไล่ดูรายชื่อเพื่อนร่วมห้องเรียนชั้นมัธยมต้นของจารุพงษ์ เจอะเจอรายชื่อใครหลายคนที่ผมคุ้นเคยอย่างดี บางคนเป็นหมอรักษาโรคที่เคยไปหายามป่วยไข้เสมอๆ ตอนยังเป็นนักเรียนที่สุราษฎร์ เพื่อนบางคนที่เลขที่และรหัสประจำตัวติดกันกับจารุพงษ์ เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
มีผู้เสียชีวิตในเช้าวันที่ 6 ตุลาคมอีกคนซึ่งเคยเรียนโรงเรียนสุราษฎร์ธานีเช่นกัน ได้แก่ สัมพันธ์ เจริญสุข เป็นรุ่นน้องจารุพงษ์หนึ่งปี เรียนห้องเดียวกัน แต่ในปีการศึกษา 2516
แน่นอน ผมรับรู้เรื่องราวของจารุพงษ์ตอนผมเรียนปริญญาตรีในธรรมศาสตร์ แต่กว่าจะได้มารับรู้เรื่องราวของสัมพันธ์ ผมก็จบปริญญาตรีและกำลังจะเรียนปริญญาโท
สัมพันธ์ หรือ เขียว เป็นชาวอำเภอพุนพิน ปีสุดท้ายของชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี เขาอยู่ห้อง 1 เลขที่ 22 รหัสประจำตัวนักเรียน 5124 จากนั้น เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ เขามิได้มาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เฉกเช่นจารุพงษ์ หากเรียนต่อคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2519
วันที่ 5 ตุลาคม สัมพันธ์ปฏิเสธการสอบวิชาฟิสิกส์ ยินดีได้เกรด F และตัดสินใจมาร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยรักษาความปลอดภัย เช้าวันที่ 6 ตุลาคม เขาได้ถูกยิงเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 19 ปี สุกานดา ลูอิสเล่าถึงสัมพันธ์ไว้ในหนังสือ รำลึกเพื่อนมหิดลเดือนตุลา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 ตอนหนึ่งว่า
“ส่วนเขียวถูกยิงที่ศีรษะ เพื่อนๆคงจำไม่ได้หากไม่เห็นเสื้อลายตัวที่เขียวใส่วันนั้น จากบาดแผลที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ คาดว่าเขียวคงเสียชีวิตในทันที…”
อีกเรื่องเล่าที่มักแว่วยินกล่าวขานเนืองๆ คือเบอร์นาร์ด คนขายถั่วแห่งธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ก็เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา ผมพยายามชวนเบอร์นาร์ดคุย (พร้อมอุดหนุนถั่ว) เพื่อสอบถามเรื่องนี้หลายหนช่วงหลายปีผ่านมา แต่ดูเหมือนเบอร์นาร์ดให้คำตอบไม่ค่อยกระจ่างชัดเจนว่าอยู่หรือไม่อยู่กันแน่ อย่างไรก็ดี ข้อมูลหนึ่งเกี่ยวกับเบอร์นาร์ด ซึ่งผมได้รับทราบด้วยความกรุณาเล่าให้ฟังโดยพี่วิไล ตระกูลสิน ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์คือ ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาสงบลง มีอาจารย์ใหม่จะเข้าไปเก็บข้าวของที่ลืมไว้ในมหาวิทยาลัย แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ยอมให้เข้า เพราะยังเป็นอาจารย์ใหม่ ยามจำไม่ได้ เบอร์นาร์ดจึงมาช่วยยืนยันว่านี่เป็นอาจารย์จริงๆ และยามก็เชื่อเบอร์นาร์ด
แทบมิน่าเชื่อ แค่การหยุดยืนนิ่งพินิจพิจารณาสิ่งของที่นำมาจัดแสดงและการเดินชมนิทรรศการ ‘แขวน’ 6 ตุลา On site Museum บริเวณโถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ในห้วงเวลาขณะหนึ่ง จะบันดาลให้ผมร่วมพรั่งพรูความทรงจำที่มีต่อเรื่องราวเหล่านี้ออกมาไม่น้อย
นิทรรศการยังคงมีอีกหลายวัน สบโอกาสคงจะแวะเวียนไปอีก และถ้าจะปิดท้ายเรื่องราวการมาเยี่ยมชมในท่วงทำนองเดียวกับที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) เปิดฉากนวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) อันเป็นหนังสือที่บางใครได้อ่านระหว่างแตกกระสานซ่านเซ็นภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็คงประมาณว่า
“หลายปีต่อมา เมื่อยืนอยู่หน้าสิ่งของที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘แขวน’ 6 ตุลา On site Museum ผมหวนรำลึกไปถึงวันหนึ่งเมื่อนานมาแล้วที่ได้ทำความรู้จักเรื่องราวและบุคคลในเหตุการณ์ 6 ตุลาครั้งแรกๆ ตอนนั้น….”
เอกสารอ้างอิง
สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (บรรณาธิการ).ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาคที่ 2: ประสาน
ประชาชน อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์ (14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519). กรุงเทพฯ: บริษัท อัลฟ่า
มิเล็นเนียม จำกัด, 2547