เราต่างก็มีช่วงเวลาของความสัมพันธ์ และความรู้สึก ที่เราตกอยู่ในความรัก ความสุข โลกเป็นเหมือนสีชมพู มีแต่เรื่องราวให้อยากจดจำ แต่ทุกความสัมพันธ์ก็ไม่ได้มีตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่กลับสร้างความปวดร้าว ความเศร้า และทิ้งแผลไว้กลางใจ
ซึ่งบางครั้ง การฟื้นฟูหัวใจจากความสัมพันธ์ที่ปวดร้าวกลับไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะเรื่องของหัวใจต้องใช้เวลา ทั้งยังมีสิ่งของมากมายที่คอยเตือนความทรงจำ สะท้อนฉายภาพครั้งที่ยังมีความสุข
Museum of broken relationships เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งของที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่มีจุดจบอย่างปวดร้าวจากทั่วโลก มาจัดแสดงขึ้นภายในพิพิธภัณฑ์ชั้นเดียว ซึ่งเปิดขึ้นตั้งแต่ปี 2010 กลางกรุงซาเกร็บ เมืองหลวงของประเทศโครเอเชีย ก่อนที่ในปี 2016 จะเปิดอีกแห่งในรัฐลอสแองเจลิส ของสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากพิพิธภัณธ์แล้ว ยังมีงานจัดแสดง exhibition ระยะสั้นในทั่วโลก
แน่นอนว่า เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความสัมพันธ์ที่แตกร้าว ก็ต้องเริ่มจากการแตกร้าว จุดเริ่มต้นของมันก็เกิดจากการเลิกราของคู่รักชาวซาเกร็บ Olinka Vištica โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ และประติมากร Dražen Grubišić ซึ่งจบความสัมพันธ์ที่คบกันมา 4 ปี ซึ่งเคยคุยกันเล่นๆ ว่า จะจัดพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมสิ่งของที่พวกเขาทิ้งไว้ หลังจากนั้น 3 ปีทั้งคู่ได้ติดต่อกันอีกครั้งเพื่อเริ่มไอเดียนี้ และยังขอรับบริจาคสิ่งของที่มาจากความสัมพันธ์ที่เลิกราของเพื่อนๆ จนเกิดเป็นคอลเลคชั่นนี้ และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น
Vištica และ Grubišić อธิบายคอนเซ็ปต์ของพิพิธภัณฑ์ว่า เป็นแนวศิลปะที่มาจากการสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า วัตถุ จะมีส่วนต่อความทรงจำ และอารมณ์ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ในการรักษาความปลอดภัยให้กับหน่วยความจำ ฟื้นฟู และป้องกันการระลึกถึงความทรงจำจากความสัมพันธ์ที่แตกสลาย ทั้งโบรชัวร์ของพิพิธภัณฑ์ยังบอกว่า แตกต่างจากคำแนะนำในการช่วยตัวเองจากการฟื้นฟูความรู้สึกจากความรักที่ล้มเหลว สถานที่แห่งนี้เปิดโอกาสให้เอาชนะความรู้สึกสูญสลายทางอารมณ์ผ่านการสร้างชิ้นงานของตัวเอง ด้วยการมอบสิ่งของให้พิพิธภัณฑ์ด้วย
เมื่อได้มาโครเอเชีย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นเหมือนสถานที่ที่เราวางแผนไว้ ว่ายังไงก็ต้องไปให้ได้! หลังเดินตาม Google Map มาจนถึงจุดหมาย เราพบกับพิพิธภัณฑ์ที่ภายนอกดูไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์ แต่เหมือนร้านขายของที่ระลึกทั่วไป
เราเดินเข้าไปพร้อมกับเห็นป้ายที่เป็นเอกลักษณ์ของ ‘Museum of broken relationships’ โดยที่มีคุณลุงคุณป้าชาวเอเชียคู่หนึ่ง นั่งกับป้ายบนเก้าอี้ตัวเดียวกัน แต่หันหลังให้กัน กลายเป็นภาพประกอบที่เหมือนเซ็ทมาให้เข้ากับป้าย และธีมของพิพิธภัณฑ์นี้ไป ทั้งๆ ที่ทั้งคู่ก็เป็นเพียงนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาที่นี่เหมือนกัน
ภายในพิพิธภัณฑ์ชั้นเดียวแห่งนี้ ดูเหมือนจะเป็นสถานที่เล็กๆ ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 6 ห้องแต่บรรจุอัดแน่นไปด้วยมวลของความเศร้า และความรู้สึกของการจากลา ซึ่งแม้จะไม่ใช่สถานที่ใหญ่ แต่กลับเป็นที่ๆ ใช้สิ่งของเหล่านี้ เป็นตัวนำเรื่องเล่า พาเราอยู่กับมันไปได้จนจบ ซึ่งของเหล่านี้ ก็มีการสับเปลี่ยน ปรับการแสดงไปตามเวลา
เมื่อคิดถึง broken relationships เรานึกถึงแต่ความสัมพันธ์ของคู่รักที่ต้องจบด้วยการเลิกราอย่างปวดร้าว แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ กลับจัดแสดงเรื่องราวที่มากกว่าแค่ความสัมพันธ์ของคู่รัก แต่ยังมีความสัมพันธ์ของครอบครัว การจากลาด้วยความตาย ความรักที่ไม่สมหวัง การบอกลาสถานะหน้าที่ ไปจนถึงความรักกับอาหาร
การจัดเรียงสิ่งของแต่ละชิ้นในพิพิธภัณฑ์ต่างก็มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกของผู้เข้าชม ของชิ้นแรกที่เราเริ่มเห็นคือ ‘จักรยานคันเก่า’ ของคู่รักในเบลเยี่ยม ที่มีความสัมพันธ์กันมา 16 ปี ซึ่งฝ่ายชายเป็นผู้ทิ้งจักรยานนี้ไว้ ตอนที่เขาจากไป และไม่มีช่องว่างในชีวิตใหม่ให้กับจักรยานตัวนี้แล้ว ซึ่งเมื่อได้เจอกับของชิ้นแรก เราถึงกับคิดในใจว่า ‘โห มันเศร้าจริงๆ’
เราเดินต่อไป พร้อมอ่านเรื่องราวความสัมพันธ์อันแตกร้าวไปเรื่อยๆ บางเรื่องเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเพียงแค่ในเวลาไม่กี่เดือน ไปจนถึงความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ข้างเคียงกันมาเกือบทั้งชีวิต ของบางสิ่งเป็นเพียงกระดาษโน้ต และจดหมายที่เขียนความในใจ หรือเรื่องราว ซึ่งอีกฝ่ายยังไม่มีโอกาสได้อ่านมันเลยด้วยซ้ำ ความสัมพันธ์นั้นก็เป็นอันต้องจบลงก่อน
หรือเรื่องราวของรองเท้าบาส ที่เกิดจากรักที่ผิดหวัง แอบชอบเพื่อนที่เล่นบาสด้วยกัน แต่สุดท้ายก็ต้องจบลง เพราะเพื่อนคนนั้นมีแฟน และไม่ได้ชอบเพศเดียวกัน ไปจนถึงกระจกบานใหญ่ ที่ภรรยามักใช้ในการแต่งตัว ซึ่งรวมถึงการแต่งตัวออกไปหาชู้รัก โดยที่เขาไม่เคยรู้ด้วย หรือแม้สิ่งของที่คิดว่าแปลกที่สุดในการเก็บสะสม นั่นคือ ‘สะเก็ดแผลของรักแรก’ ซึ่งเธอเก็บไว้ในกรณีที่เธอสูญเสียเขา เธอจะสามารถเก็บสิ่งนี้ไว้โคลนนิ่งตัวแทนเขาได้
ไม่ใช่แค่ความรักของคู่รัก พิพิธภัณฑ์นี้ยังจะแสดงสิ่งของจากความสัมพันธ์ของครอบครัวที่จบด้วยการจากลาด้วยความตาย และการเลิกติดต่อกันไป เริ่มด้วยประตูบ้าน ที่ลูกหลาน และคนในครอบครัวมาร่วมเขียนข้อความถึงพ่อที่จากไป เรคคอร์ดเดอร์ที่อัดเสียงของพ่อในตอนที่ยังมีชีวิตไว้ เหรียญกล้าหาญของสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงของขวัญจากคุณย่า ก่อนที่เธอจะตัดสินใจออกจากครอบครัว ไปเริ่มชีวิตของตัวเองใหม่
เรื่องราวของความสัมพันธ์ที่แตกร้าวที่สะเทือนใจเรามากที่สุด คงเป็นเรื่องที่จบลงด้วยความตาย ไม่ว่าจะเป็นชุดแต่งงานของเจ้าสาว ที่ไม่มีโอกาสได้ใส่จริง เนื่องจากเจ้าบ่าวถูกกลุ่มก่อการร้ายฆ่า หรือ อุปกรณ์กระโดดร่ม ของคู่รักที่เจอกันในกิจกรรมนี้ ซึ่งฝ่ายหญิงมีฝ่ายชายคอยช่วยเหลือ แนะนำให้ฝ่ายหญิงมีความกล้าหาญในการโดด จนทำให้ทั้งคู่ได้เข้าร่วมกิจกรรมบนท้องฟ้านี้ด้วยกัน ก่อนที่ฝ่ายชายจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุโดดร่มนี้เอง
นอกจากความสัมพันธ์ของคนที่เลิกรา ที่แตกร้าวแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังมีการเล่าเรื่องของความสัมพันธ์ที่เราคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกรากับอาหารโปรด อย่างพิซซ่า อีกชิ้นที่เรานึกถึงคือ ถุงมือยาง ตัวแทนของการตัดสินใจเลิกเป็นแม่บ้านเกาหลี ที่ใช้ชีวิตเพียงปรนนิบัติเพียงแค่พ่อแม่ของสามี และย้ายออกมามีชีวิตคู่ที่เป็นชีวิตของตัวเอง
ซึมซับเรื่องราวของคู่รัก และความสัมพันธ์ที่แตกร้าวจากทั่วทุกมุมโลกแล้ว พิพิธภัณฑ์เองยังสมุดเปล่าวางไว้บริเวณหน้ากระจก ให้เราได้เล่าเรื่อง ประสบการณ์ของเราบ้าง ซึ่งก็เต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลายภาษาที่มาแบ่งปัน ทั้งในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ยังมีระบบ Interactive ที่ให้คนจากทั่วโลกมาเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่แตกร้าว บริจาคสิ่งของ อัพโหลดรูปภาพ คอลเลคชันออนไลน์ พร้อมมี breakup pins ทั่วโลกด้วย
หลังเดินออกมาจากส่วนแสดงของพิพิธภัณฑ์ ก็มีโซนขายสินค้าที่น่าสนใจ ทั้งยางลบลบความทรงจำที่เลวร้าย ช็อคโกแลตที่บอกให้ลืมความเศร้า กระเป๋าผ้า รวมไปถึงปลอกหมอน pillowship ที่มีซิปแยกหมอนออกจากกันได้ และยังมีโซนของคาเฟ่ ที่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ของความแตกร้าวไว้ลึกๆ ตอกย้ำด้วยรหัส Wi-fi ภาษาอังกฤษที่ว่าแปลได้ว่า ‘แค่ เพื่อน’ (มีเว้นวรรคขั้นกลางเหมือนอย่างที่มันควรจะเป็น) ด้วย
เราใช้เวลาอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไปเกือบ 2 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าคุ้มราคากับบัตรค่าเข้าที่มีราคาเพียงแค่ 40 คูนา (ประมาณ 180 บาท) กับการอ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ที่อัดแน่นกว่า 100 ชิ้น ซึ่งมีหลากหลายความรู้สึกตีกันระหว่างที่เราซึมซับแต่ละเรื่องราว โดยสิ่งหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์สอนเรา นอกจากได้รับรู้เรื่องราวที่หลากหลาย มันยังทำให้เรามองเรื่องของความสัมพันธ์เปลี่ยนไป จากที่เข้าใจว่า การแตกร้าวจะเกิดกับแค่ความสัมพันธ์ฉันคู่รัก
แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าความสัมพันธ์แบบไหน เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ หรือชั่วชีวิตก็ล้วนมีโอกาสที่จะแตกร้าว และจบลงทั้งสิ้น เหลือเพียงแต่สิ่งของที่บอกได้ว่า ความสัมพันธ์นั้นเคยเกิดขึ้นจริง
สนับสนุนการเดินทางโดย กระทรวงการต่างประเทศ
Photo by. Adidet Chaiwattanakul