เลือกตั้งวันจริงใกล้เข้ามาทุกที หลายพรรคการเมืองก็ต่างหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างเต็มที่ อย่างลงพื้นที่พบปะประชาชน ผลิตสื่อต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ หรือการร่วมเวทีดีเบตกับพรรคการเมืองอื่นๆ
แต่เมื่อวานนี้ (8 พฤษภาคม) แกนนำจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงภาพสะพานพระราม 8 ที่มีข้อความหาเสียงที่ส่องแสงอย่างเด่นชัดบริเวณเสาสะพาน ทำให้หลายคนต่างตั้งคำถามว่า ทำได้ด้วยหรอ?
เกิดอะไรขึ้นและผู้คนถกเถียงอะไรกันบ้าง? วันนี้ The MATTER จะมาสรุปประเด็นที่ยังดุเดือดนี้ให้อ่านกัน
1. ประเด็นดังกล่าวเริ่มขึ้น เมื่อวานนี้ เวลา 21.30 น. ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ทวีตภาพสะพานพระราม 8 พร้อมข้อความหาเสียงเรืองแสง คือ “กา 22 มั่นคง มั่งคั่ง” หรือ “รวมไทยสร้างชาติ 22 ❎” และ “โครงสร้างพื้นฐานดี กา 22” รวมถึง “กา 22 ลุงตู่ อยู่ต่อ” พร้อมมีโลโก้พรรคประกอบอยู่ในข้อความเหล่านี้ด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ ทุกภาพที่ทิพานันโพสต์จะมีแคปชั่นกำกับอยู่ อาทิ “โครงสร้างพื้นฐานดี…พรรครวมไทยสร้างชาติ #สร้างรากฐานความมั่งคั่งให้คนไทยทุกคนอย่างมั่งคงและยั่งยืน”
ทำให้ผู้คนต่างแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามต่อประเด็นดังกล่าวมากมาย เช่น พรรคอื่นๆ ทำได้ไหม หรือทำได้พรรคเดียว, ใครอนุญาตและใครคือผู้รับผิดชอบสะพานต่างๆ ในกรุงเทพฯ, ต้องมีคนออกมาชี้แจง, และผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
2. หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นนี้ตลอดทั้งคืน วันนี้ (9 พฤษภาคม) เวลาประมาณ 09.00 น. ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า
“ขอไปตรวจสอบก่อนว่าใครเป็นคนทำ เพราะการยิงเลเซอร์หรือโฆษณาหาเสียงต้องเป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง ตามระเบียบที่กกต. กำหนด ดังนั้น อะไรที่ไม่ถูกระเบียบพรรคไม่ทำอยู่แล้ว จึงขอไปตรวจสอบก่อน”
และเสริมว่า “แต่วันนี้มันโลกดิจิทัลแล้ว เข้าใจว่าระเบียบต่างๆ ต้องปรับให้ทันโลก ฉะนั้น การโฆษณาหาเสียงจึงทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งตนเชื่อว่า ถ้าผู้สมัครทำเองก็ต้องทำตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นแฟนคลับหรือประชาชนที่ชื่นชอบทำ ก็อาจต้องไปดู”
3. อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้น 2 ชั่วโมง (ประมาณ 07.25 น.) เพจ ‘การตลาดวันละตอน’ แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า
“ครั้งแรกในไทยที่สะพานพระราม 8 ถูกนำมาใช้โฆษณา ซึ่งมีเงินอย่างเดียวทำไม่ได้ (เพราะมีหลายเอเจนซี่เคยพยายาม) อยากทราบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสะพานนี้ หรือการฉายโปรเจคชั่นโฆษณาข้อความนี้ มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แสดงผลนานกี่นาที วันละกี่ครั้ง นานกี่วัน
เพื่อแสดงความบริสุทธิ์และโปร่งใส และเป็นแนวทางให้เอกชนได้ทำบ้าง ..สะพานจากภาษีประชาชนที่ขายโฆษณาเพื่อเชิงการค้า ถ้าเลือกปฏิบัติให้ใช้ได้แค่บางกลุ่มคน ระวังถูกประชาชนรวมตัวฟ้องเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง” โดยมีผู้คนเห็นด้วยกับโพสต์นี้เป็นจำนวนมาก
4. อย่างไรก็ดี ในเวลาคาบเกี่ยวกัน เพจ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ผู้เป็นประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการกระทำดังกล่าวว่า “เข้าข่ายผิดกติกาเลือกตั้ง” เพราะว่า
– ขนาดป้ายใหญ่เกินกว่าขนาดที่ กกต. กำหนด โดยขนาดป้ายหาเสียงใหญ่สุด คือ 1.30 x 2.45 เมตร
– สะพานพระราม 8 เป็นทรัพย์สินของราชการ มีหน่วยราชการดูแล หากมีคำขอที่ผิดกฎหมาย หน่วยราชการไม่สามารถอนุมัติได้ และอาจเข้าข่ายการวางตัวไม่เป็นกลาง และการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง
– หากเป็นการกระทำโดยพลการของเอกชน หน่วยราชการที่ดูแลต้องแจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุก
– หาก กกต. เห็นแล้วไม่จัดการใดๆ ถือว่า กกต. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
5. ถัดมาประมาณเที่ยง เพจนี้ก็มาโพสต์ต่อว่า “ยิงเลเซอร์เป็นข้อความหาเสียงบนอาคารหรือทรัพย์สินราชการผิดหรือไม่?”
โดยเจ้าของเพจระบุว่า หลังจากการตรวจสอบแล้ว ป้ายดังกล่าวเป็นการยิงเลเซอร์จากพื้นสาธารณะ ซึ่งก็คือ สวนหลวงพระราม 8 โดยพรรคขออนุญาตใช้สถานที่หาเสียง แต่ไม่ได้ขออนุญาตการใช้เลเซอร์ยิงข้อความไปที่เสาสะพานพระราม 8 ซึ่งหน่วยงานเจ้าของสถานที่ คือ สำนักการโยธา กทม. ก็ไม่ได้อนุญาตให้ยิงข้อความดังกล่าว
ไม่เพียงเท่านี้ เขายังย้ำคำถามว่า “ผิดไหม?” ซึ่งเขาเหตุผลทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่
– กฎหมายเลือกตั้งกำหนดขนาดป้ายเฉพาะป้ายที่คงทนถาวร การยิงเลเซอร์ จึงไม่น่าผิดระเบียบหาเสียงของกกต.
– การยิงเลเซอร์ในสถานที่ราชการ หน่วยราชการที่เป็นเจ้าของสถานที่ต้องอนุญาต มิเช่นนั้น ยิงกันเปรอะแน่
– กกต. อาจต้องออกมาให้ความเห็นว่า การใช้เลเซอร์ยิงโฆษณาหาเสียงบนพื้นที่สาธารณะ สามารถทำได้หรือไม่ได้
6. ก่อนหน้านี้ 1 ชั่วโมง (ราว 11.30 น) พรรครวมไทยสร้างชาติ ออกแถลงการณ์ว่า พรรคไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ แต่ ทิพานัน ศิริชนะ ได้ขออนุญาตปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการด้วยจดหมายส่วนตัว ไม่ได้หารือให้พรรคทราบหรือขออนุญาตผู้บริหารแต่อย่างใด โดยระบุว่า
“ตามที่ปรากฏข่าวว่ามียิงเลเซอร์ข้อความเชิญชวนให้เลือกหมายเลขของพรรครวมไทยสร้างชาติบนเสาสะพานพระราม 8 เมื่อคืนวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น พรรครวมไทยสร้างชาติขอชี้แจงว่า พรรคฯ ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว และได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน
เมื่อพรรคฯ ได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วก็ได้ตำหนิและทำหนังสือตักเตือนพร้อมทั้งสั่งการไปยังทิพานัน ให้หยุดดำเนินการดังกล่าวโดยทันที ทั้งนี้ พรรคฯ รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต้องขออภัยอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้”
อย่างไรก็ตาม หลังจากพรรคออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง ผู้คนในโลกอินเทอร์เน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์กับการกระทำดังกล่าวอย่าง “ถ้าเป็นพรรคฝ่ายตรงข้าม น่าจะโดนยุบและตัดสิทธิการทางเมืองไปแล้ว” บ้างก็ว่า
“แล้วแบบนี้ลงโทษยังไงดีคะ? กกต.” และ “อย่าให้เรื่องนี้เงียบไปง่ายๆ เพราะมีหลักฐานจากพีอาร์พรรค, ภาพหลักฐานเพียบ, กกต. ต้องออกมาชี้แจง, รทสช. ต้องถูกยุบพรรค”
7. นอกจากนี้ ในเวลาใกล้เคียงกัน (11.20 น.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสุพจน์ หล้าจำศีล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน ออกมาตั้งโต๊ะแถลงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพฯ (เสาชิงช้า)
โดยระบุว่า เพิ่งทราบเรื่องนี้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ทำหนังสือถึงปลัด กทม. เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ลานริมแม่น้ำสวนหลวง สะพานพระราม 8
โดยเธอได้แนบรูปรายละเอียดที่จะขอใช้งาน และมีการระบุว่า จะขอฉายภาพข้อความ แต่ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบไม่ถี่ถ้วนเอง เลยเข้าใจว่าเป็นการหาเสียงปกติ ไม่ได้คิดว่าจะมีการฉายภาพไปบนเสาสะพานด้วย แต่พอทราบเรื่องก็ให้หยุดการหาเสียงในลักษณะดังกล่าวทันที
ผู้ว่าฯ ระบุต่อว่า “ครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนว่าจะต้องพิจารณาหนังสือขออนุญาตให้ละเอียดมากขึ้น” พร้อมทั้งย้ำว่า “ไม่มีการลำเอียง หรือเอื้อประโยชน์ให้ใคร หรือพรรคการเมืองใด เพราะเรามีนโยบายชัดเจนที่จะให้ใช้พื้นที่ในการปราศรัยหาเสียง”
“อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย เพราะอาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน เพราะถ้าเราทราบว่าจะใช้ยิงเลเซอร์ไปบนเสาสะพานก็คงไม่อนุญาต ส่วนผู้ที่ขอมา ก็คงเข้าใจว่าได้รับอนุญาตแล้ว ส่วนเรื่องจะผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการพิจารณา เพราะเราอนุญาตเพียงพื้นที่สวนหลวงและใต้สะพานสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งสะพานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เราอนุญาตให้ใช้หาเสียง ไม่เพียงเท่านี้ สะพานดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในการปกครองของเขตสวนหลวง แต่เกี่ยวข้องกับสำนักงานโยธาที่เป็นผู้รับผิดชอบ” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวปิดท้าย
8. หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงถัดมา (12.30 น.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่มีการยิงเลเซอร์หาเสียงบนสะพานพระราม 8 ว่า
“เขากำลังชี้แจงกันอยู่ ซึ่งต้องไปดูว่ากฎหมายเขาว่าอย่างไร พร้อมย้ำว่า มีการชี้แจงอยู่ตอนนี้ และทางพรรคเองก็ไม่ทราบในประเด็นดังกล่าวมาก่อน คงเป็นความหวังดีของคนทำ”
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ตนเพิ่งได้เห็นเมื่อช่วงเช้าที่มีคนส่งมาให้ดู ตอนแรกก็คิดว่าเป็นการตัดต่อ พร้อมมองว่า เป็นความหวังดีของคนบางคนซึ่งก็ต้องยอมรับ พร้อมถามกลับว่า หากมีคนทำดีกับเราแล้วจะทำอย่างไร แต่เราไม่ได้เป็นคนทำนี่ครับ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การที่พรรคออกแถลงการณ์ชี้แจงออกมาเช่นนั้น จะเป็นการโยนบาปให้ ทิพานันหรือไม่? เขาตอบว่า “จะพูดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร”
9. หลังจากนั้นไม่นาน เอกสารที่ ทิพานัน แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ยื่นขออนุญาตใช้สถานที่สวนหลวง ได้ถูกเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ โดยในเอกสารระบุว่า
เรียน ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เรื่อง ‘ขออนุญาตใช้สถานที่ลานริมแม่น้ำ สวนหลวงพระราม 8’ และสิ่งที่แนบมาด้วย คือ เอกสารจุดที่ขอใช้และรูปแบบการใช้งาน
โดยเธอกล่าวต่อว่า เนื่องจาก ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอใช้พื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 เพื่อแสดงถึงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบถึงเบอร์พรรค เป็นข้อมูลในการตัดสินใจใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
ในกรณีนี้เพื่อให้มีการเตรียมการจัดการสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอความอนุเคราะห์ใช้สถานที่บริเวณลานริมแม่น้ำฝั่งศาลาแปดเหลี่ยมและไฟฟ้า สวนหลวงพระรามแปด ตั้งแต่วันที่ 8-12 พฤษภาคม 2566 และตั้งแต่เวลา 20.00-02.00 น. ของทุกวัน (วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ขอเข้าติดตั้งระบบ 16.00 น.)
นอกจากนี้ ยังมีรูปในหนังสือขออนุญาตการใช้พื้นที่ โดยในจุดนี้หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า เอกสารดังกล่าวได้ระบุลูกศรจุดยิงเลเซอร์แนวระนาบริมแม่น้ำไปถึงฐานตอม่อ ไม่ใช่เสาบนสะพานพระราม 8 ดังนั้น เท่ากับว่าข้อมูลนี้บิดเบือนหรือไม่?
10. ต่อมาศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ ก็ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้สถานที่บริเวณดังกล่าวสำหรับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์หาเสียงเลือกตั้งได้ในวันเดียวกัน
พร้อมแนบหลักเกณฑ์ในการขอใช้สถานที่สวนสาธารณะฯ จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งตรงนี้ผู้คนก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า ทำไมหนังสือขออนุญาตฯ ถูกเขียนในวันจันทร์ (8 พฤษภาคม) แต่ลงชื่อรับหนังสือในวันอาทิตย์ (7 พฤษภาคม) และยังมีการแสดงความเห็นส่วนนี้อีกว่า ตามจริงหนังสือราชการจะไม่รับเรื่องเร็วขนาดนี้หรือเปล่า?
11. ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีอีกเอกสารหนึ่งที่หลายคนตั้งขอสังเกตว่า ไม่ตรงกับที่พรรคออกมาแถลงว่า “เป็นการดำเนินการในนามส่วนตัว” เพราะหนังสือที่ส่งไปขออนุญาตกับผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมระบุเรื่องว่า ‘การขอใช้สถานที่ปราศรัยหาเสียงบริเวณสวนหลวงพระราม 8 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ’ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า การอ้างถึงพรรคก็เท่ากับขอในนามพรรค?
12. นอกจากนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงการยิงเลเซอร์บนสะพานพระราม 8 ของพรรครวมไทยสร้างชาติว่า
“ล่าสุดปลัด กทม. กำลังไปตรวจสอบ พร้อมชี้แจงว่า การติดป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ได้กำชับไปทุกพรรคการเมืองในหลายโอกาสว่าต้องติดตามระเบียบ กกต. และที่ผ่านมาทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อติดผิด มีการทักท้วงก็แก้ไขกัน”
เมื่อนักข่าวถามย้ำถึงกรณีของพรรครวมไทยสร้างชาติว่า สามารถทำได้หรือเหมาะสมหรือไม่? อิทธิพร ตอบกลับมาว่า
“ทุกอย่างหากไม่ขัดต่อกฎหมายก็สามารถทำได้ตามระเบียบที่กำหนดไว้ หากพรรคการเมืองไม่แน่ใจก็สามารถสอบถาม กกต. ส่วนกรณีสะพานพระราม 8 อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองดังกล่าวได้รับอนุญาตหรือไม่ หากได้รับอนุญาตก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ก็จะดำเนินคดี และถ้าหากอนุญาตพรรคใดพรรคหนึ่งก็ต้องอนุญาตทั้งหมด เพื่อรักษาความเป็นกลาง”
13. ทั้งนี้ เมื่อประมาณ 15.30 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า “ตอนแรกตนได้ฟังจากข่าวเท่านั้น ก็เข้าใจว่าเป็นป้ายหาเสียง แต่ดูแล้วเป็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์หรือกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายในการบังคับเลือกตั้ง เพียงแต่เจ้าของสถานที่ต้องอนุญาต”
อย่างไรก็ตาม ผู้คนจำนวนมากยังแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าประเด็นนี้ผิดกฎเกณฑ์ในการหาเสียงการเลือกตั้งอย่างชัดเจน แต่ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงไม่แสดงความรับผิดชอบ ดังนั้น เรายังต้องติดตามต่อไปว่า กรณีดังกล่าวจะถูกตัดสินว่าผิดจริงหรือว่าจะถูกปล่อยผ่านไป โดยไม่ดำเนินคดีใดๆ เลย
.
.
.
อ้างอิงจาก