“เรื่องเหล่านั้นมีเลือดเนื้อ มีลมหายใจอยู่เสมอ” นี่คงเป็นคำอธิบายของ ‘กี่บาด’ หนังสือรางวัลซีไรต์เล่มล่าสุดได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่โดดเด่นสำหรับกี่บาด แม้จะเป็นหนังสือรางวัล แต่ด้วยเรื่องราวสมจริง เล่าการกดทับหลากหลายรูปแบบผ่านตัว ‘แม่ญิง’ หรือผู้หญิงล้านนา 3 รุ่น ในพื้นที่ห่างไกล อย่างแม่แจ่มสมัยสงครามโลก แม้ว่าฟังดูเผินๆ อาจรู้สึกว่าไกลจากตัวคนอ่าน แต่หากได้มีโอกาสลองอ่านแล้ว จะสัมผัสได้ว่าผู้เขียนทำให้เรารู้สึกว่าใกล้ตัว เข้าถึงเรื่องราวผ่านผืนผ้าซิ่น และความรู้สึกดิ้นรนเพื่อหาพื้นที่ของตัวเอง การยึดโยงเรื่องราวราวทั้งหมดไว้ด้วยกัน ทำให้เรื่องนี้มีความน่าสนใจในหลายแง่มุม แม้ไม่ใช่สายวรรณกรรมการอยากลองอ่านเรื่องนี้สักครั้ง
หากไม่ใช่นักเขียนหรือนักอ่านสายประกวดอาจไม่คุ้นหูกับชื่อ ‘ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด’ เท่าไหร่นัก การได้รางวัลครั้งนี้จึงสร้างเสียงฮือฮาไม่น้อย แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้แม้จะมีอาชีพหลักคือทันตแพทย์ แต่ประเสริฐศักดิ์ก็คลุกคลีอยู่กับแวดวงการเขียนอยู่ตลอด
ก่อนได้รางวัลใหญ่ เขาปูทางด้วยการส่งประกวดเรื่องสั้นทั้งแนวไซ-ไฟและเสียดสีสังคมมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘รุกขฆาตกร’ หรือ ‘เมื่อไหร่โซฟาจะหายเหม็น’ ฯลฯ แต่ใครจะรู้ว่างานที่ทำให้เขามั่นใจว่าสามารถเป็นนักเขียนได้จริงๆ เริ่มต้นมาจากการเขียน ‘นิยายวาย’ ด้วยยอดคนอ่านกว่าหมื่นคนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
คนที่เราคุยอยู่ตรงหน้าไม่ใช่นักเขียนเข้าถึงยากอย่างที่เราเข้าใจ ประเสริฐศักดิ์มีมุมมองที่ซับซ้อน และขัดแย้งในตัวเอง แบบที่เราเจอได้ในชีวิตประจำวัน เขาเปิดเผยทุกเรื่องอย่างจริงใจ หัวเราะทุกครั้งเมื่อพูดถึงอุปสรรคที่ผ่านมา รวมทั้งมุมอื่นๆ ในชีวิต ตั้งแต่ความชอบภูเขาแม้จะเกิดในจังหวัดที่มีทะเล ความหลงใหลในวัฒนธรรมท้องถิ่นและล้านนา จนถึงบาดแผลจากการใช้ชีวิตตามกรอบของสังคมในวัยเด็ก
สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้งานเขียนของประเสริฐศักดิ์ให้มีชีวิตได้อย่างไร คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไปแล้ว
พลังของเรื่องเล่าและพารากราฟที่ 4
ก่อนหน้านี้คิดว่าจะได้รางวัลซีไรต์ไหม
ถ้าในช่วงที่ไม่ได้เขียนก็คือเฉยๆ อ๋อ ซีไรต์เหรอ เคยได้ยินในข่าว ก็น่าสนใจดีนะ แต่ก็จะเป็นหนังสือที่จะซื้อมาอ่าน ด้วยความเป็นรางวัลนั่นเอง แต่ไม่ได้เป็นความฝันหรืออะไรเลย แค่รู้ว่ามันมีความหมายและคุณค่าของมันอยู่
พอมาเริ่มเขียนเอง เรารู้ว่ารางวัลนี้มันตั้งอยู่ที่ไหนสักที่ไกลๆ เราก็ตั้งเป้าหมายแบบคร่าวๆ ถ้าสมมุติว่าไปถึงซีไรต์ได้ แสดงว่าเราน่าจะได้พัฒนางานไปถึงคุณภาพระดับนั้นได้ มันก็น่าจะดีเหมือนกัน มันเป็นเป้าหมายให้เราพัฒนามากกว่า
แต่รางวัลนี้เป็นสิ่งที่ได้มายากมากที่สุด (เน้นเสียง) บรรยากาศในวงนักฝึกเขียนที่ไปตามคอร์สต่างๆ ทุกคนก็จะมีเป้าหมายลึกๆ ว่าถ้าไปถึงซีไรต์ได้ก็น่าจะดี ซึ่งมันยากมาก มีปัจจัยที่คุมไม่ได้เยอะ มันใช้แค่ความตั้งใจ หรือแค่เรื่องเล่าที่ทรงพลังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหลายๆ องค์ประกอบรวมกัน เราก็ไม่เคยมองว่าซีไรต์มันง่าย มันยาก (เสียงเหมือนจะร้องไห้)
พอเขียนหนังสือแล้วได้รางวัลที่ค่อนข้างใหญ่เลย มันทำให้รู้สึกกดดันในการเขียนมากขึ้นไหม
ก็มีผลเหมือนกัน (หัวเราะ) คือเกร็งขึ้นนั่นเอง
งานเขียนเป็นงานที่เริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง การได้รางวัล โดยเฉพาะรางวัลใหญ่ๆ เหมือนทุกคนจับตามองว่าเราจะเล่าเรื่องอะไรต่อไป มันทำให้เราระวังมากขึ้นว่าเราไม่ควรผิดพลาดเรื่องง่ายๆ เช่น การใช้มุมมองผิด หรือเรื่องที่เขียนมันต้องมีมาตรฐานประมาณหนึ่ง ต้องคิดหาประเด็นที่ทั้งเราอยากเล่าและมันมีคุณค่าพอที่ทุกคนจะฟังด้วย ไม่ใช่เขียนว่าจะเขียนอะไรได้ตามใจทุกอย่าง
แล้วทำให้การเขียนมันสนุกน้อยลงไหม
ไม่นะ ความเกร็งมันเกิดขึ้นแค่ตอนที่แบบเอามาตรวจทานแค่นั้นเอง แต่ว่ากระบวนการสร้างสรรค์หรือกระบวนการเขียนทุกอย่างมันยังอยู่เหมือนเดิม
จากทันตแพทย์ ผันตัวมาเริ่มต้นมาจับงานเขียนได้ยังไง
ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนเลย
แต่ว่าล็อคดาวโควิด มันบังคับให้อยู่ในห้อง เราก็ดูซีรีส์ อ่านกองดองวนไป ทำทุกอย่างแล้วมันก็ยังไม่หายเบื่อ ช่วงนั้นทุกคนเครียด มันก็ต้องหาทางระบายที่ออกมาสักวิถีทาง แล้วพอได้เขียนแล้วมันดีขึ้น มันได้จัดระเบียบความคิด เลยเขียนมาตั้งแต่นั้น จากเขียนระบายหรือสะท้อนความรู้สึกเป็นไดอารี่แต่ละวัน ก็เริ่มอยากลองหาอะไรที่มันยากขึ้น จริงจังขึ้น ก็เลยลองเขียนเรื่องสั้นดู
เคยเขียนนิยายวายลงในเว็บด้วยนะ ช่วงนั้นซีรีส์ ‘เพราะเราคู่กัน’ นิยายวายกำลังมาก็เลยเขียนลงในเว็บ แล้วก็ไม่น่าเชื่อลงแค่ 4 ตอน ภายใน 12 ชั่วโมงมีคนอ่าน 10,000 กว่าคน มันเป็นความรู้สึกว่า เอ๊ะ เราเขียนได้หรือเปล่า ความรู้สึกนั้นเราก็เลยลองเขียนอะไรที่มันยากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งๆ ที่เขียนเรื่องรัก กุ๊กกิ๊ก มันก็มีแววว่าจะไปได้ไกลเหมือนกัน ทำไมถึงเลือกที่จะเขียนเรื่องสั้นและวรรณกรรม
เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อินกับความรักกุ๊กกิ๊กอีกแล้ว
พออยู่ในช่วงวัย 30 ขึ้นมันจะผ่านเหตุการณ์อะไรหลายหลายอย่าง ที่ไม่ได้มองโลกสดใสเหมือนวัยสิบ ยี่สิบต้นๆ แล้ว เช่นเหตุการณ์ที่วัย 30 ต้องเจอกันเกือบทุกคน คือต้องมีใครสักคนในบ้านเสีย หรือโควิดก็เห็นชัดเลยว่าชีวิตมันไม่แน่นอนว่ะ สมองเลยไม่ได้สนใจเรื่องความรักมาเป็นอันดับแรก
แล้วพอเขียนอะไรที่มันลึกซึ้งขึ้น ประเด็นที่ยากขึ้น มีความหม่น ดาร์ก ได้ขบคิด มันรู้สึกได้ปลดปล่อยมากกว่า ก็เลยลองเขียนวรรณกรรมดูเพราะมันจัดการความรู้สึกได้ดีกว่า
วิธีที่ใช้ฝึกเขียนมีอะไรบ้าง
วิธีแรกที่สุดที่ง่ายที่สุดนั้นคืออ่านงานของคนที่ทุกคนบอกว่างานนี้ดี ลองไปดูวิธีการเล่าเรื่องของเขาดู พอเราอ่านเองไปสักพักจนไม่เห็นประเด็นอะไรแล้ว ก็ลองไปเข้าคอร์สฝึกเขียนทั้งฟรี ทั้งไม่ฟรี จากนักเขียนหลายๆ แนวที่เราเคยเห็นผลงานของเขา ตั้งแต่พี่ปราปต์ (ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์) กิตติศักดิ์ คงคา คุณวีระพร (วีรพร นิติประภา) อาจารย์ชมัยพร (ชมัยภร แสงกระจ่าง) ไปดูวิธีการคิดของเขาและเทคนิคของเขา แต่เราไม่ได้ไปเลียนแบบเขานะ แต่ดูว่ามุมไหนที่จะเอามาปรับใช้ในการเล่าของเราได้บ้าง
และวิธีสุดท้ายที่จะฝึกได้ดีที่สุดคือ การเขียน เราจะได้เห็นว่างานตัวเองมันดีหรือไม่ดียังไง อีกอย่างหนึ่งก็คือส่งประกวด เพราะการส่งประกวดจะเห็นได้ชัดที่สุดว่างานของเราดีตามมาตรฐานหนึ่งๆ ไหม ถ้าสมมุติว่ามันดี มันจะได้เข้ารอบ ถ้ามันไม่ถึงมาตรฐานตรงนั้น เราก็ต้องเอางานกลับมาดูว่ามันไปไม่ได้เพราะอะไร การประกวดเป็นสิ่งที่ทำให้ฝีมือพัฒนาได้เร็วมากจริงๆ ดังนั้นการประกวดวรรณกรรมในประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการสร้างนักเขียนใหม่อย่างมาก
ความยากของการเขียนที่เจอบ่อยๆ คืออะไร
ความยากจะอยู่ที่พารากราฟที่ 4 ทุกครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นนิยายขนาดยาวหรือเรื่องสั้นไม่กี่หน้าก็ตาม พารากราฟที่ 4 จะเป็นจุดที่เราคิดว่า เอ๊ะ ทำไมมันแปลกๆ มันจะเล่าต่อได้ไหม หรือมันจะเล่าต่อด้วยอะไร ถ้าเราก้าวข้ามผ่านพารากราฟที่ 4 ไม่ได้ มันจะอยู่ในคอมพ์อย่างนั้น แต่ถ้าสมมติมีเรื่องไหนที่มีคุณค่ามากจนมีพลังที่พาเราก้าวข้ามผ่านพารากราฟที่ 4 ได้ เรื่องนั้นจะได้ถูกเผยแพร่ แล้วมันจะเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมเสมอ
การเขียนไม่จบ เฟล นี่คือแบบเรื่องปกติของงานเขียน มีสิ่งที่เขียนค้างไว้อยู่อย่างนั้นมากกว่าที่ได้เผยแพร่อีก (หัวเราะ)
แล้วพารากราฟที่ 4 ต้องหน้าตาเป็นยังไง ถึงจะรู้สึกว่าโอเคแล้ว
ส่วนใหญ่มันจะตั้งคำถามกับตัวนักเขียนว่าเรื่องนี้ควรค่าที่จะเล่าไหม ควรจะเสียเวลาที่จะเล่าไหม หรือเล่าไปเพื่ออะไร มันจะเป็นพารากราฟที่มีแต่คำถามมากมาย ซึ่งถ้าตอบได้เราก็จะไปต่อได้ แต่ถ้าตอบไม่ได้มันก็จะหยุดแค่นั้น
เรื่องเล่าเชิงวัฒนธรรมที่จับต้องได้จริง
ตั้งใจเล่าประเด็นไหนในกี่บาด
แกนหลักของเรื่องเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศ ในบริบทของวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมาแต่โบราณ ค่อนข้างถูกแช่แข็ง เพศเหล่านั้นหาพื้นที่ในการแสดงออกของตนได้ยังไง
ยกตัวอย่างเช่นเพศหญิง ในเรื่องกี่บาด เพศหญิงจะหาพื้นที่แสดงความมีอำนาจได้ยังไงในสังคมชายเป็นใหญ่ หาพื้นที่แสดงตัวตนได้ยังไงในงานศิลปะที่เขาทำ หรือมีประเด็นไหนที่กำลังกดทับพวกเขาอยู่ โดยที่พวกเขาทั้งต่อต้านแล้วก็ยินยอม ไม่ว่าเพศหญิงหรือเพศ LGBTQ+ ในสังคม ในวัฒนธรรมจารีต มันก็แสวงหาพื้นที่ในการแสดงออกตัวตนเช่นกัน อาจจะไม่ได้มากเท่าสมัยนี้ แต่ว่าความน่าสนใจอยู่ที่ว่า การยอมรับและความเข้าใจมันอยู่ที่จุดไหน มันถึงทำให้เพศต่างๆ ที่อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมเหล่านั้น มีที่หยัดยืนได้
ทำไมเซตติ้งแบบล้านนาแม่แจ่ม หรือว่าช่วงสมัยสงครามโลกมันถึงพอดีกับเรื่องที่จะเล่า
ที่ต้องเป็นล้านนา เพราะว่าไอเดียแรกในการวางคอนเซปต์มาจากซิ่นแม่แจ่ม ซึ่งเป็นซิ่นที่งดงามที่สุดในล้านนา ฉะนั้นเซ็ตติ้งมันก็เลยอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อมาหา When ว่าเราจะเล่าช่วงเวลาไหนดี เราไม่อยากเล่าเรื่องการกดทับเรื่องเพศในยุคปัจจุบัน เพราะว่าประเด็นที่จะต้องพูดด้วยถึงนั่นก็คือการคัดง้างระหว่างวัฒนธรรมกับทุนนิยม แต่ว่าประเด็นนี้มันถูกพูดถึงมาบ่อยแล้ว ซึ่งมันจะทำให้งานของเราเหมือนกับคนอื่น
ฉะนั้นเราก็เลยอยากจะเข้าไปหาแม่แจ่มแบบบริสุทธิ์จริงๆ ในยุคสมัยที่อำนาจอื่น หรือความเป็นอื่น ยังเข้าไปไม่ถึงแม่แจ่ม เราเลยเลือกช่วงที่มันส่วนกลางส่งผู้ปกครองขึ้นไปพอดี เพราะเป็นช่วงที่ตั้งอำเภอแจ่มใหม่ๆ มันจะได้เห็นถึงการประทะกันระหว่างวัฒนธรรมจารีตที่แช่แข็งสู่ความเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
พอเราเลือกช่วงเวลาที่ส่วนกลางพึ่งไปตั้งที่ว่าการอำเภอที่แม่แจ่ม ถ้าเป็นช่วงเวลานั้นสงครามโลกมันจะพ่วงมาด้วย มันก็เลยทำให้เราต้องเอากรอบเวลานั้นมาพิจารณาดูในการเขียนเรื่องเล่าว่าตัวละครไหนจะเจอกับความเปลี่ยนแปลงในประเด็นไหนบ้าง เช่นแม่หม่อนเฮือนแก้ว ก็น่าจะเจอกับความเปลี่ยนแปลงระหว่างภูมิปัญญาเก่า แล้วก็การสืบทอดสู่รุ่นต่อไป แม่อุ้ยอาจจะเจอการเปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางสู่วัฒนธรรมดั้งเดิม ส่วนหงส์ซึ่งเป็นคนสุดท้ายก็อาจจะเจอความเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงนั้น ก็คือสงครามโลก เราก็เลยจับกรอบเวลาตรงนี้แล้วก็เวลานี้น่าสนใจ
อะไรที่ทำให้อินกับเรื่องวัฒนธรรม จากที่ก่อนหน้านี้เขียนแนวอื่นๆ ทั้งไซ-ไฟ หรือเสียดสีสังคมมาก่อน
เราเป็นเหมือนนักฝึกเขียน พอเขียนไซ-ไฟได้ชนะเลิศแล้วก็อยากลองเขียนแนวอื่นดูสิ ว่าเราจะจัดการได้ไหม เขียนส่งไปก็ได้รางวัลเหมือนกัน แล้วก็เขียนในหลายแนวมาเรื่อยๆ
เรื่อง ‘ข่วงผีฟ้า’ เป็นจุดเริ่มต้นในการเขียนในวัฒนธรรม เราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมนั้นหรอก แต่มันทำให้เราสืบค้นข้อมูลจากงานวิจัย ปรากฏว่านี่มันเป็นวิธีการทำงานที่เลิศ แล้วมันทำให้เรารู้สึกอินกับวัฒนธรรมที่เราไม่ได้คุ้นเคย เราเลยสนใจเรื่องการเขียนวัฒนธรรมตั้งแต่ตอนนั้นมา เวลาทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม ที่มีประวัติศาสตร์ดันเข้ามือเรามาก
ได้ยินว่าการเป็นหมอทำให้ได้ย้ายไปอยู่ในหลายๆ จังหวัดด้วย มีส่วนทำให้ชอบเรื่องวัฒนธรรมเป็นพิเศษไหม
ถูกต้อง เราได้เจอกับผู้คนทุกแบบ ทุกระดับ แต่ละคนก็จะมีเรื่องราว ความสุข ความทุกข์ที่ต่างกันไป ด้วยอาชีพเราจะหันความมุมของความเข้าใจเข้าหาคนเหล่านั้นเสมอ พอเราเข้าใจปุ๊บ เราจะได้พบว่าบางทีชีวิตของเขาก็กำลังต้องมีอะไรต้องเผชิญอยู่ที่แตกต่างจากเรา
บางทีชีวิตเขาก็อาจจะมีสุขทุกข์เกินกว่าจินตนาการว่ามันจะเกิดขึ้นในโลกใบนี้ด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านั้นมันมีเลือดเนื้อ มีลมหายใจอยู่เสมอ ต่อให้เป็นเรื่องที่ทุกข์มากๆ หรือมีความสุขล้นยังไง มันก็ยังมีชีวิตอยู่ในนั้นนะ แล้วมันควรค่าเกี่ยวกับการเล่า
ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ถ้าเราสามารถเล่าเรื่องของเขาได้ มันก็อาจจะทำให้มีคนเข้าใจเขามากขึ้น ลดความขัดแย้งกันเพราะความไม่เข้าใจก็ได้
ทั้งที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ แล้วเรื่องกี่บาดหาข้อมูลมาได้ยังไง
เนื่องจากเราเป็นคนต่างถิ่น แล้วแม่แจ่มก็เป็นอำเภอที่เดินทางยากลำบากมาก เราใช้วิธีอ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะอยู่ในท้ายเล่มด้วย โชคดีที่งานวิจัยนั้นเผยสภาพสังคมวัฒนธรรมอย่างละเอียดมากในช่วงสงครามโลก แล้วก็มีเกร็ดอะไรต่างๆ มากมาย
นอกจากงานวิจัยก็ดูข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิธีทอผ้าใช้วิธีดูคลิป สังคมวัฒนธรรมก็ดูคลิป สงครามโลกเราก็ไปหางานวิจัย แล้วก็ข่าวต่างๆ มีฉากนึงที่แบบระเบิดลงที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เราก็ดูไปข่าวว่ามีกี่โมง ลงกี่ลูก คนตายกี่คน ทุกอย่างเป็นการสืบค้นข้อมูลหมด
แผนที่ในแม่แจ่มเราใช้วิธีการดู Google Earth แล้วก็เทียบกับแผนที่ในงานวิจัยว่า บ้านนี้อยู่ตรงไหน น้ำตรงนี้ไหลไปทางไหน ถ้าตัวละครจะเดินจากบ้านไปวัด แล้วกลับจากวัดมาใช้เวลาเท่าไหร่ ตะวันจะตกดินหรือยัง หรือถ้าจะเดินข้ามอำเภอ เขาจะใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ ผ่านอะไรบ้าง
ทั้งหมดหาข้อมูลยากมาก (เน้นเสียง) มันก็ทำให้เราต้องค้นคว้าหาข้อมูลเยอะมากเพื่อที่จะสามารถเล่าเรื่องตัวละครหลัก 3 ตัวได้ อย่าง คนแรกเป็นแม่หม่อนเฮือนแก้ว ซึ่งเราบรรยายเขาว่าเป็นคนที่ทอผ้าเก่งที่สุดในแม่แจ่ม ฉะนั้นถ้าเราจะเล่าเรื่องคนที่ทอผ้า เราก็ต้องรู้เรื่องเราเกี่ยวกับการทอผ้าให้เท่ากับตัวละคร
คนที่สองเป็นแม่อุ้ย เราบรรยายว่าเนี่ยชอบไปสังคม ไปชุมชน มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนตลอด ฉะนั้นถ้าเราจะเล่าเรื่องแม่อุ๊ย เราต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี คติชนวิทยาสภาพสังคมของแม่แจ่มในสมัยนั้นให้เท่ากับแม่อุ้ย หรือเรื่องของหงส์ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับทหารญี่ปุ่น เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับบรรยากาศของสงครามโลกในพื้นที่แม่แจ่มในสมัยนั้นด้วย
ทำไมการอิงอยู่บนฐานความจริงถึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรื่องนี้
งานเขียนเชิงวัฒนธรรม สิ่งที่ผิดพลาดไม่ได้เลยคือวัฒนธรรม
มันเป็นสิ่งทุกคนนับถือมาเป็นรุ่นต่อรุ่น ซึ่งมันคือความถูกต้องที่สุดของเขาแล้ว เราจะผิดพลาดไม่ได้ ประเด็นอื่นๆ ในเรื่องเราต้องมีความสมจริง มีข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่อง ภาษา วัฒนธรรมประเพณี ทำอะไรได้บ้าง เดินไปตรงไหน กินตรงไหน ทำอะไร คุยกันยังไง จริงหมด แล้วก็เช็คทีละพารากราฟที่เขียนเลยด้วยซ้ำว่า ประโยคนี้เขียนได้ไหม เพราะว่าถ้าเรื่องหนึ่งมันจริงแล้ว แล้วเรื่องอื่นมันไม่จริง งานจะไม่มีความบาลานซ์กัน
โอบกอดตัวเองเพื่อเยียวยาบาดแผลในวัยเด็ก
ในเมื่อโตที่จันทบุรี ไม่อยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับทะเลมากกว่าภูเขาบ้างเหรอ
(ส่ายหน้าแรงๆ) ใกล้เกลือกินด่าง ไม่งั้นคงไม่เห็นเรื่องแม่แจ่ม
เคยไปปีนเขาคิลิมันจาโรมาด้วยนะ ชอบเทร็กกิ้ง ปีนเขา เนปาลเป็นประเทศที่ไปบ่อยที่สุด เพราะชอบที่มันเป็นภูมิประเทศที่เราไม่เจออยู่ที่ไทย ภูเขาในประเทศไทยกลายเป็นเนินที่เนปาลเลย แล้วก็สังคมวัฒนธรรมอีกนั่นแหละที่น่าสนใจ
ชีวิตวัยเด็ก คุณเป็นเด็กนั่งแถวหน้าหรือหลังห้อง
เราเป็นเด็กดื้อที่บ้าน แต่เป็นเด็กดีที่โรงเรียน เพราะเนื่องด้วยเพศสภาพของเรา
โอกาสในการคัมเอาต์ในช่วงยุคปี 2000 มันไม่ง่ายเลย ตอนอยู่บ้านเรามักจะเป็นเด็กที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาตลอด ไม่รู้สิ ผู้ใหญ่เขาก็ไม่ไว้ใจว่าเราจะไปได้ดี ฉะนั้นวิธีเดียวที่เราจะให้เขามองข้ามไปได้ นั่นคือเราต้องเป็นเด็กที่เพอร์เฟกต์ ผลการเรียนดี
เด็กป.4 คนนั้นรู้ว่าการไหว้ที่ถูกต้องเป็นยังไง เดินผ่านผู้ใหญ่ก็ก้ม ไปหาครูก็คลานเข่าเข้าไป ถามว่านั่งหน้าห้องไหม นั่งตลอดนั่งใกล้ครูด้วย จดชื่อให้ครูด้วย เป็นผู้คุ้มกฎในโรงเรียนด้วย เห็นเศษขยะที่คนทิ้งไม่ลงถัง เป็นคนเดินจากโต๊ะแล้วไปเก็บลงถังให้ รางวัลนักเรียนดีเด่นได้ตลอด
แต่ถามว่าเป็นเด็กที่อึดอัดไหม อึดอัดมาก แต่มันเป็นสิ่งที่เด็กคนนั้นคิดว่ามันต้องทำ เพราะว่าเราต้องซ่อนเพศที่จริงของเราไว้ข้างใน เรากลัวว่าถ้าไม่เป็นเด็กดี แล้วทุกคนจะมองเห็นตัวตนจริงๆ ซึ่งมันคือเพศและตัวตนจริงๆ ของเรา
การได้เป็นหมอคือสิ่งที่เลือกเองไหม
เราไม่รู้สึกอยากเป็นอะไรเลย เพราะมันเหนื่อยมากนะ ในการที่จะเพอร์เฟ็กต์ตลอด แล้วบังเอิญว่าคะแนนของเรามันก็เป็นที่น่าพอใจ เราก็เลือกคณะไหนก็ได้ แม้แต่ครูแนะแนว ก็มายืนข้างหลังตอนเลือกคณะ ว่าเลือกอันนี้สิ คะแนนเธอถึง จะเลือกอันอย่างอื่นทำไม
เด็กม.6 คนนั้นไม่มีความคิดเลยว่าอยากเลือกคณะอะไร เพราะว่าแค่เรียนก็เหนื่อยแล้ว ก็เลือกตามกระแสสังคม ตามที่บ้านบอกว่า อันนี้มันดีนะ เราก็เชื่ออย่างนั้นเลย ถ้าย้อนที่เวลากลับไปได้อาจจะเลือกอักษรหรือนิเทศด้วยซ้ำ
ถ้าเลือกคณะอื่นต้องตอบคำถามมากมาย ต้องตอบคำถามตั้งแต่ครูแนะแนว ซึ่งมันก็ยากแล้ว แล้วก็ต้องกลับไปตอบที่บ้านอีกว่า ทำไมเธอเลือกอันนี้ ทำไมไม่เลือกอันนั้น ซึ่งเด็กคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้เรื่องเพศด้วย แล้วก็ต้องมาต่อสู้กับที่บ้านเป็นประเด็นที่เพิ่มขึ้นมาอีก มันก็ยากอะ มันต้องใช้พลังงานอีกระดับนึง ก็เลยเลือกที่จะจบปัญหา เลยเลือกทุกอย่างที่ทุกคนพอใจ
แล้วการเป็นนักเขียนละ คือทางที่เลือกเองไหม
การเขียนเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำ เพราะว่าไม่ได้สนใจ ไม่ได้ฝันถึง แต่ที่ยังเขียนอยู่เพราะ It’s art. art for art’s sake เรารู้สึกอยากสร้างสรรค์ศิลปะอะไรทิ้งไว้ให้โลกใบนี้ รู้สึกว่ายังมีเรื่องราวที่เราอยากเล่าในน้ำเสียงของเรา ก็เลยเลือกที่จะทำงานเขียนอยู่
ถ้าเกิดว่าสังคมเราเลือกทำอาชีพอะไรก็ได้จริงๆ จะเลิกเป็นหมอแล้วมาเขียนหนังสือไหม
ไม่ทำทั้ง 2 อย่าง แต่นอนอยู่เฉยๆ กินอาหารดีๆ ออกกำลังกาย ดูซีรีส์ ล้างตูดด้วยสบู่เหลวกลิ่นลาเวนเดอร์ แล้วก็มีความสุขกับตัวเอง เข้าใจคนอื่น แล้วก็มีความสุขกับโลกใบนี้เท่านั้นเอง
ถ้าย้อนกลับไปหาเด็กคนนั้นในอดีตจะบอกอะไรกับเขา
ถ้ามองในมุมตอนนี้ เราก็บอกให้ออกไปเล่นกับเพื่อนให้มากขึ้น ผิดพลาดบ้างก็ได้ ไม่ต้องทำทุกอย่างให้คนอื่นพอใจ เพราะว่าเด็กคนนั้นมัวแต่แคร์คนอื่นว่าเขาจะคิดกับเรายังไง เขาจะโกรธเราไหม เขาจะแบบเกลียดเราไหม แต่ถ้าเป็นตัวเองในวัยนี้แล้วย้อนกลับไป โอ้โห ฉ่ำ
เราจะซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองจริงๆ ถ้าโกรธก็คือโกรธ ถ้าใครมาเอาเปรียบเราจะสู้ ถ้าใครที่ทำให้เราเสียใจ เราก็จะบอกให้เขารู้ ว่าเขาทำให้เราเสียใจเพราะอะไร แล้วอย่าทำกับเราอีก เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้งก็น่าจะสบายขึ้นเยอะมาก
แล้วจุดไหนที่เปลี่ยนจากเด็กคนนั้นกลายมาเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นนี้
วัยมหาวิทยาลัย พอเรามาได้เจออะไรที่มันไม่ใช่มีแค่การเรียน ชีวิตมหาลัยมันมีกิจกรรมเยอะมาก แล้วเราก็ได้เจอกับผู้คนหลายคนที่ไม่ต้องเรียนอย่างเดียว ได้ไปค่ายอาสา ไปทำกิจกรรมร่วมกับคณะ มีเพื่อนต่างคณะ อยู่ในแคมปัสใหญ่ มันทำให้เห็นโลกมากขึ้น เราได้ฟังเสียงจากภายในของตัวเองมากขึ้น ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยน แล้วก็ซื่อสัตย์กับตัวเองตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย
ถ้ามองย้อนกลับไป การเป็นเด็กดีมาตลอดช่วยให้การคัมเอาต์ง่ายขึ้นไหม
ไม่เลย เราคิดว่าสิ่งที่ทำช่วยเราในสมัยนั้น มาจากการเปิดพื้นที่ในสื่อมากกว่า
มันเริ่มมีภาพยนตร์อย่างสตรีเหล็ก ซึ่งตัวเอกเป็นเพศที่ไม่ใช่ชายหญิงเรื่องแรกแล้วมันดังมาก มันเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่เขาก็มีตัวตนได้นะ เป็นที่ยอมรับด้วย แล้วมันพอมีพลังของสตรีเหล็ก มันเปลี่ยนหลายๆ อย่าง มีหนังที่พูดถึงเพศอื่นๆ มากขึ้น แม้ประเด็นจะแบบไม่ได้แหลมคมเท่ากับสมัยนี้ มันอาจจะยังเป็นตัวตลกอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็มีตัวตน การเมคฟันกับเรื่องเพศก็ยังมีอยู่ แต่พื้นที่สื่อเขามีมากขึ้น คนในคอมมูนิตี้ช่วยกันออกมาพูด มีการคัมเอาต์จากนายกรัฐมนตรี นักกีฬา ฯลฯ
เราเริ่มเห็นคนเหล่านั้นคัมเอาต์ออกมาเรื่อยๆ บรรยากาศช่วงนั้นมันทำให้สังคมยอมรับได้ง่ายขึ้นด้วยจากสื่อ พอวันที่เราคัมเอาต์จริงๆ มันก็เลยไม่ได้ยาก แล้วก็มันไม่ได้เกิดจากเรา มันเกิดจากสังคมองค์รวม เพราะว่าที่บ้านของเราก็ดูสื่อต่างๆ ด้วยกัน เขาก็เลยแบบมีจุดอ้างอิงว่า อ้อ คัมเอาต์แล้วมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรนะ ต้องขอบคุณสื่อต่างๆ มากที่ผลักสังคมเราให้มาไกลขึ้น
สุดท้ายอะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวัย 30
เราพบว่าวัย 30 อยู่คนเดียวเลิศแล้ว ไม่คิดจะมีแฟน ไม่อยากปวดหัวกับเรื่องของคนอื่น นี่เขาเรียกว่า aromantic ไม่อยากมีความรักเชิงโรแมนติก