หเลื่อนผ่านสตอรี่ไอจีเขาทีไรก็อยากกดรีพลายไปคุยดู แต่มันจะดูแปลกๆ ไปหน่อยไหม ถ้าเราเป็นฝ่ายทักไปหาเขาก่อน?
เวลาเจอคนที่ใช่หรือใครที่ชอบ ไอ้เรามันก็อยากทักไปคุยหรือเริ่มต้นก่อนแหละ แต่ใจเจ้ากรรมดัน ‘ไม่กล้า’ เพราะกลัวว่าเขาจะต้องไม่ตอบแน่เลย แถมอาจดูสะเหล่อในสายตาเขาอีก
เหล่าคนโสดจำนวนไม่น้อยคงอยากสละโสดและมีคู่ให้ทันเทศกาลนู้นวันสำคัญนี้ ทว่าเมื่อถึงเวลาจริง เรากลับไม่กล้าเริ่มเข้าหาใครก่อน เพราะความกังวลมากมายที่เริ่มก่อตัวขึ้นในความคิดเราว่า ทำไมกันนะ การจีบใครก่อนถึงได้ยากขนาดนี้?
คุณกำลังกลัวการถูกปฏิเสธอยู่หรือเปล่า?
“ขอโทษด้วยนะครับ แต่พอดีน้องไม่ใช่คนที่พี่ชอบน่ะครับ”
ขณะกำลังชั่งใจอยู่นานว่า จะกดส่งอีโมจิทักไปหารุ่นพี่ที่แอบชอบดีไหม เมื่อเริ่มจะคิดไปไกล สถานการณ์จำลองก็ถูกสร้างเสร็จสรรพเรียบร้อยภายในหัวของเรา งั้นเอาเป็นว่าไม่ทักไปแล้วกัน
หลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในเหตุที่ทำให้เราไม่กล้าทักใครก่อน อาจมาจากการกลัวหรือกังวลต่อการถูกปฏิเสธจากอีกฝ่าย เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครชอบเท่าไหร่นักเมื่อต้องถูกคนอื่นปฏิเสธ ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถสัมผัสได้ถึงการจะถูกปฏิเสธไวกว่าคนอื่นๆ โดยเอมี่ โมริน (Amy Morin) นักจิตบำบัด ได้บอกไว้ว่า บางคนอาจมีความรู้สึกไวต่อการถูกปฏิเสธ (Rejection Sensitivity) มากกว่าคนอื่น โดยพวกเขาเหล่านั้นจะแสดงความเป็นกังวลหรือเริ่มคิดมาก เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์อันแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่พวกเขาอาจถูกปฏิเสธ
ในแง่หนึ่ง การแสดงความกังวลของเราอาจช่วยให้เราระมัดระวังมากขึ้นก่อนจะเริ่มทำอะไร แต่ถ้ามันมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำของเรา รวมไปถึงการเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครสักคนด้วย เพราะความกังวลมากเกินไปจะทำให้เราไม่กล้าเข้าหา หรือสานสัมพันธ์กับอีกฝ่ายต่อได้
สาเหตุหลักของความรู้สึกไวต่อการถูกปฏิเสธนั้น มาจากประสบการณ์ช่วงชีวิตในวัยเด็กอันแตกต่างกันของแต่ละคน ซึ่งประเด็นดังกล่าวถูกนำเสนอเอาไว้ในงานศึกษาเกี่ยวกับความรู้สึกไวต่อการถูกปฏิเสธและผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ของ Society for Research in Child Development (SRCD) ว่า บางคนอาจเคยเผชิญกับสถาณการณ์การถูกปฏิเสธมาในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการถูกเพื่อนปฏิเสธไม่ยอมให้เล่นด้วย หรือการถูกพ่อแม่ยอมรับอย่างมีเงื่อนไข เช่น การถูกชมเมื่อทำตามคำสั่ง ประสบการณ์เหล่านี้ล้วนนำไปสู่ปัญหาการเข้าสังคม ตลอดจนปัญหาด้านความสัมพันธ์ในระยะยาว
นั่นจึงไม่แปลกเลย หากบางคนผู้เคยประสบกับสถานการณ์การถูกปฏิเสธในช่วงวัยเด็กจะมีบาดแผลหรือปมในใจ จนทำให้พวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะเริ่มเข้าไปทักหรือคุยกับใครสักคนก่อน เพราะกำลังกลัวการถูกปฏิเสธดังที่เคยเจอมาในอดีต
เมื่อเริ่มไม่มั่นใจ อะไรๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น
เมื่อถูกปฏิเสธมาบ่อยครั้งเข้า ก็ยิ่งเป็นการบั่นทอนความมั่นใจของเราทีละเล็กทีละน้อย ส่งผลให้เมื่อคิดอยากจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับใครสักคน เรามักรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง จนอาจเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับอีกฝ่าย และยิ่งทำให้ความมั่นใจในตัวเองนั้นลดลงไปอีก
บ่อยครั้งเมื่อเราขาดความมั่นใจ อาจพาลไปสู่การด้อยค่าตัวเอง ตลอดจนเปรียบเทียบบางมุมของตัวเองกับอีกฝ่าย เช่น เราอาจไม่เหมาะกับเขา หรือไม่คู่ควรกับเขาเท่าไหร่ ซึ่งเคนดรา เชอร์รี่ (Kendra Cherry) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูจิตสังคม กล่าวว่า เมื่อเราขาดความมั่นใจในตัวเองมากๆ มันสามารถนำไปสู่การคิดลบเกี่ยวกับตัวเอง การตัดสินตัวเองในแง่ลบ รวมถึงการขาดความมั่นใจในความสามารถของตัวเองได้
ในแง่ความสัมพันธ์ เมื่อเราไม่มีความมั่นใจในตัวเองมากพอ นั่นจึงทำให้เราไม่กล้าทักหรือเข้าไปคุยกับคนที่เราชอบ พร้อมกับหาเหตุผลมาสนับสนุนความไม่มั่นใจนั้น ซึ่งมักเป็นเหตุผลเชิงลบบวกกับการเปรียบเทียบตัวเองกับอีกฝ่าย จนทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม งานศึกษาทางจิตวิทยาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปรียบเทียบตัวเองกับสังคมต่อความมั่นใจในตัวเอง ก็นำเสนอเอาไว้ว่า การเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison) ซึ่งเป็นกระบวนการที่คนเรามักใช้เพื่อประเมินความสามารถและคุณค่าของตัวเอง อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความมั่นใจในตัวเอง ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพจิตในระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น ในงานศึกษาดังกล่าวยังชี้ให้เห็นเพิ่มเติมอีกว่า ในแพลตฟอร์มออนไลน์ มีแนวโน้มก่อให้เกิดการด้อยค่าตัวเองมากขึ้น เพราะเป็นธรรมดาในโลกออนไลน์ที่ผู้คนก็มักนำเสนอแต่ด้านดี หรือภาพลักษณ์ที่ดีของตัวเอง จึงเกิด ‘การเปรียบเทียบแบบขั้นกว่า’ (upward social comparison) ซึ่งทำให้ผู้เปรียบเทียบรู้สึกต่ำต้อยยิ่งขึ้น
ดังนั้น เมื่อเราเกิดความคิดเชิงลบต่อตัวเองบ่อยๆ ก็ยิ่งเป็นการลดทอนความมั่นใจให้ลดลง จนอาจทำให้เรามองไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเอง เมื่อความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า ก็อาจทำให้เราพลาดการได้ทำความรู้จักกับผู้อื่นต่อไปด้วยเช่นกัน
หรือเราคือผู้ถูกเลือกให้ผิดหวังกันนะ?
สำหรับหลายคน ‘ความหวัง’ เป็นสิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เราทำบางสิ่งเพื่อเติมเต็มมัน แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่กลัวมัน เพราะเมื่อเราเริ่มคาดหวังแล้ว ก็ย่อมมีโอกาส ‘ผิดหวัง’
บางทีการไม่กล้าจะเริ่มต้นเข้าหาใครสักคนก่อน อาจเป็นเพราะเรากำลังกังวลและกลัวจะผิดหวังอยู่ก็เป็นได้เช่นกัน เพราะถ้าเราเข้าหาใคร หรือกดทักแชตคนที่ชอบไปนั้น ตัวเราเองก็ย่อมคาดหวังให้เขาตอบกลับและได้รับความรู้สึกดีๆ กลับมาเป็นธรรมดา
เรื่องนี้ ดร.เจนนิส วิลเฮาเออร์ (Jennice Vilhauer) นักจิตวิทยาและผู้พัฒนา Future Directed Therapy (FDT) แพลตฟอร์มออนไลน์เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพทางอารมณ์ มองว่า สาเหตุของการกลัวความผิดหวังของมนุษย์เราอาจเกิดจากมุมมอง และการตีความต่อความผิดหวังอันแตกต่างกันของมนุษย์แต่ละคน เพราะเราจะรู้สึกไม่พึงพอใจเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แต่บางคนอาจผูกตัวเองไว้กับความผิดหวังมากเกิน จนทำให้พวกเขาไม่กล้าทำตามความฝันหรือความต้องการไปเลย
เพราะฉะนั้นแล้ว เราอาจเคยประสบกับความผิดหวังในเรื่องความรักอย่างรุนแรงมา จนทำให้ไม่กล้าจะเริ่มต้นจีบใครก่อนอีกครั้ง เนื่องจากอยากเซฟใจตัวเอง และไม่อยากรู้สึกผิดหวังในเรื่องเดิมซ้ำอีก
อย่างไรก็ตาม ความผิดหวังนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อมนุษย์เพียงด้านเดียว เมื่อมีงานวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์และการรับมือต่อความผิดหวัง พบว่า ความผิดหวังไม่ได้เป็นแค่การไม่บรรลุเป้าหมาย หรือไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แต่เป็นกระบวนการแสนซับซ้อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของการสูญเสีย การคาดหวังที่ไม่สมหวัง ตลอดจนการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในชีวิต อันจะนำไปสู่การต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ พร้อมทั้งทำให้เราต้องเรียนรู้วิธีรับมือ และยอมรับความรู้สึกดังกล่าว เพื่อเดินหน้าต่อไป
อีกทั้งงานวิจัยนั้นยังชี้ให้เห็นอีกว่า ความผิดหวังสามารถเป็นประสบการณ์ที่กระตุ้นการเติบโตและการเรียนรู้ได้ เพราะหลายคนล้วนค้นพบสิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเองและโลกภายนอก หลังจากต้องเผชิญกับความผิดหวัง ดังนั้น แม้ความผิดหวังจะเป็นประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดสำหรับใครหลายคน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า มันยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตัวเอง และการเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมากขึ้นด้วย
แล้วมันพอจะมีวิธีช่วยเสริมความกล้าบ้างไหมนะ?
ถ้าอยากเริ่มเข้าหาใครสักคนในเชิงความสัมพันธ์อย่างจริงจัง อาจต้องยึดคำว่า ‘ด้านได้อายอด’ เอาไว้ เพราะในแง่หนึ่ง ถ้ามัวแต่รอก็อาจยังไม่ได้ใช้คำว่าแฟนในเร็ววันนี้แน่นอน แต่จะเริ่มต้นอย่างไรดีนะ?
ก้าวสำคัญนั่นคือการเสริมความกล้าในตัวเองกันก่อน เพราะมันคือสิ่งที่ช่วยเราให้เข้าหาอีกฝ่ายได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยดร.ฟรีดแมน ชอวบ์ (Friedemann Schaub) แพทย์และโค้ชด้านการพัฒนาตัวเอง ได้นำเสนอคำถาม 3 ข้อ สำหรับเพิ่มความกล้าและความมั่นใจในตัวเอง เพื่อเตรียมตัวให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ โดยเราได้จำลองสถานการณ์ประกอบว่า เรากำลังแอบชอบรุ่นพี่คนหนึ่งอยู่ และลังเลว่าควรจะกดทักแชตเขาไปดีหรือไม่? เพื่อช่วยให้ทุกคนได้เห็นภาพของวิธีการนี้กันชัดเจนมากขึ้น ดังนี้
- ทำไมการตัดสินใจครั้งนี้ถึงสำคัญ?
ก่อนจะทำสิ่งใด ฟรีดแมนอยากให้เราได้ลองทบทวนกับตัวเองดูสักนิดว่า ทำไมถึงควรตัดสินใจทำในสิ่งนี้ เหตุผลอันแท้จริงของเราคืออะไร แล้วเรากำลังต้องการสิ่งใดอยู่กันแน่
เหมือนกับตอนกำลังอยากทักแชตไปหารุ่นพี่คนนั้น แต่ใจดันไม่กล้าแม้แต่จะกดเข้าหน้าแชตของเขาด้วยซ้ำ ถ้างั้นเราอาจลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่า ทำไมถึงอยากทักหารุ่นพี่คนนี้ คำตอบก็อาจเป็นเพราะเราชอบเขาอยู่เลยอยากทักไปทำความรู้จัก เพื่อหวังว่าจะได้พัฒนาความสัมพันธ์กันต่อในอนาคตนั่นเอง
- เราจะได้อะไรจากการตัดสินใจในครั้งนี้?
สำหรับคำถามนี้ ฟรีดแมนอยากให้เราได้ลองมองผลลัพธ์เชิงบวกทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะได้รับหลังจากการตัดสินใจในครั้งนี้ดู เพราะจะช่วยทำให้เรามองเห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของการตัดสินใจในครั้งนี้มากยิ่งขึ้น
เอาล่ะ พอได้คำตอบว่า เราชอบเขาแล้ว แต่ใจเจ้ากรรมก็ยังไม่กล้าอยู่ดี งั้นลองปรับมุมมองดูกันหน่อยสิว่า มีผลลัพธ์เชิงบวกอะไรบ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากทักไปหาเขา แน่นอนว่ากรณีที่ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นได้สานสัมพันธ์ต่อไป จนอาจเลื่อนขั้นจากรุ่นน้องไปเป็นแฟนได้ หรืออย่างน้อยก็ได้ทักและได้มิตรภาพใหม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
- จุดเด่นของเราที่ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นคืออะไร?
พอมาถึงคำถามสุดท้าย ฟรีดแมนแนะนำให้ลองตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อดี หรือคุณสมบัติบางประการของเรา ซึ่งช่วยให้สามารถไปถึงเป้าหมายในครั้งก่อนๆ ได้ดู เพื่อให้ตัวเราได้เห็นว่า เราเองก็มีข้อดีไม่แพ้คนอื่นเช่นกัน แถมคำถามข้อนี้ยังช่วยเสริมความมั่นใจให้กับตัวเองมากขึ้นด้วย
พอลองมานั่งนึกดูดีๆ เพื่อนหลายคน ต่างก็บอกเราเป็นคนอัธยาศัยดี ชวนคุยเก่ง เข้ากับคนได้ง่าย ถ้าเราได้ลองทักไปคุยกับพี่เขาดูละก็จะต้องมีเรื่องคุยกันสนุกสนาน ไม่ทำให้แชตน่าเบื่อแน่นอน งั้นลองทักไปดูเลยแล้วกัน อย่างน้อยที่สุดโอกาสก็ยังมีอยู่
ทว่า สำหรับใครที่อยากลองเริ่มก่อน แต่ไม่ใช่คนชวนคุยเก่งเท่าไหร่ นอกจากจะนำคำถามเหล่านี้ไปลองปรับใช้กันดูแล้ว ก็อาจลองด้วยวิธีอื่นๆ ด้วยสักเล็กน้อยก็ได้ เช่น แทนที่จะทักไปคุยตรงๆ อาจลองกดไลก์ หรือส่งอีโมจิรีพลายสตอรี่ไอจีไปดูก็ไม่เสียหาย แม้จะไม่ได้การันตีว่าเราจะได้คบกับเขา แต่คำถามเหล่านี้ก็เพิ่มความมั่นใจให้เราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว และสำหรับใครที่อยากเริ่มต้นลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เชิงความสัมพันธ์ วิธีการนี้ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าการเข้าหาใครก่อน หรือเป็นฝ่ายเริ่มทักก่อน ไม่ใช่พฤติกรรมที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจเท่าไหร่นัก ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเองมากเกินไป เพราะยิ่งเราพยายามฝืน ยิ่งทำให้ตัวเราหรือกระทั่งบทสนทนาดูไม่เป็นธรรมชาติ เพราะงั้นแล้วอย่าลืมยึดมั่นต่อความสบายใจของตัวเองเป็นหลักไว้ก่อนจะดีกว่า
แม้เราจะไม่ได้เริ่มต้นก่อน แต่การตัดสินใจจะยืนหยัดต่อความสบายใจของตัวเอง ก็ถือเป็นความกล้าอย่างหนึ่งแล้วเช่นกัน!
อ้างอิงจาก