ตอนเด็กๆ ไม่ชอบเวลาแม่คอยเจ้ากี้เจ้าการ แต่โตมากลับกลายเป็นพ่อแม่คนนั้นที่อยากให้ลูกเดินตามแผนที่เราวางไว้ทุกก้าว
หลายคนคงเคยได้ยินสำนวน ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ หรือ ‘เชื้อไม่ทิ้งแถว’ ทำนองนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเราสามารถทำนายนิสัยของลูกได้โดยดูจากพ่อแม่ ความจริงก็ถือว่าคนโบราณมองขาดอยู่เหมือนกัน เพราะสิ่งที่พ่อแม่ถ่ายทอดออกมาสู่ลูกอาจไม่ใช่แค่เพียงหน้าตา ผิวพรรณ เส้นผมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างนิสัยด้วย
ย้อนกลับมามองความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพ่อแม่ของตัวเอง อาจพบว่ามีอะไรคล้ายกันอยู่ไม่น้อย ไม่เฉพาะวิธีการพูด ท่าทาง หรือรสมือเท่านั้น แต่รวมไปถึงพฤติกรรมทั้งดีและไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นมารยาทบนโต๊ะอาหาร หรือความมีน้ำใจนึกถึงคนอื่นก่อนเสมอ นอกจากนี้ก็ยังพ่วงนิสัยแย่ๆ เข้ามาด้วย อย่างนิสัยขี้วีน เจ้าระเบียบ ช่างวิจารณ์ แม้เราจะเคยปฏิญาณตนว่า เราคงไม่เลี้ยงลูกของตัวเองในแบบที่พ่อแม่ทำมาเด็ดขาด แต่พอถึงวันที่กลายเป็นพ่อแม่เข้าจริงๆ ทำไมเรากลับเป็นคนนั้นซะเอง
คนจู้จี้ขี้บ่นให้ลูกทำตามสิ่งที่เราต้องการ คนที่ไม่พอใจเวลาลูกเถียงกลับ หรือคนที่โกหกเพื่อไม่ให้ลูกเสียใจ ทั้งๆ ที่ถ้าพูดคุยกันดีๆ ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้นได้เหมือนกัน แต่ทำไมเรากลับเลือกวิธีที่พ่อแม่เคยทำกับเราตอนเด็ก แม้ลึกๆ จะไม่ชอบใจก็ตาม?
เพราะไม่อยากให้ลูกของเราต้องมาเจอบาดแผลแบบเดียวกับเราในวัยเด็ก วันนี้ The MATTER เลยขอชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังว่า ทำไมเราถึงมีนิสัยบางอย่างเหมือนพ่อแม่? นิสัยนี้จะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตไหม? แล้วมีวิธีไหนบ้างจะทำให้เราไม่กลายเป็นพ่อแม่ในเวอร์ชั่นที่เราเคยไม่ชอบ?
หรือเราถูกกำหนดให้นิสัยเหมือนพ่อแม่
“แม่บอกแล้วไงว่าไม่ได้!” ทันทีที่พูดจบ เด็กตัวน้อยก็เดินกระฟัดกระเฟียดกลับไปห้องของตัวเอง แถมยังปิดประตูดังปั้ง ทันใดนั้น ภาพตัวเองเมื่อตอนเด็กก็ลอยซ้อนทับเข้ามาในหัวพอดี เหตุการณ์นี้เราเองก็เคยทำกับแม่นี่นา แถมประโยคที่เพิ่งพูดจบก็เป็นประโยคเดียวกับที่แม่เคยบอกกับเราเป๊ะๆ พอรู้สึกตัวก็ตระหนักได้ทันทีว่า นี่เรากำลังกลายเป็นเหมือนแม่ของตัวเองแล้ว
นิสัยของคนเรานอกจากจะถูกกำหนดด้วยลักษณะทางพันธุกรรมแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กอย่างไม่รู้ตัวด้วย เรื่องนี้มีคำอธิบายจากวิคตอเรีย ดอนนาฮิว (Victoria Donahue) นักจิตวิทยาด้านที่ปรึกษา เขาได้อธิบายเหตุผลที่เรามีนิสัยเหมือนพ่อแม่ว่า เพราะ 80-90% ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของคนเรามักจะทำสิ่งต่างๆ จากจิตใต้สำนึก หลายครั้งเราก็เลือกทำพฤติกรรมแบบเดียวกับพ่อแม่ เนื่องจากสมองเราถูกตั้งโปรแกรมมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่แบเบาะ ซึ่งนั่นเองที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม และมุมมองของเราที่มีต่อโลกใบนี้
ทั้งนี้ ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีบอกว่า การมีนิสัยเหมือนกับพ่อแม่ หรือคนที่เราเลี้ยงดูตอนเด็กๆ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก โดยนิชิตา คันนา (Nishita Khanna) นักจิตวิทยา เรียกสิ่งนี้ว่า ‘family scripts’ ทฤษฎีที่อธิบายว่า ทำไมคนเราถึงทำพฤติกรรมแบบเดียวกับครอบครัว โดยเปรียบเทียบว่าเราเองเป็นเหมือนนักแสดงคนหนึ่งที่เล่นไปตามบท ซึ่งบทดังกล่าวจะกำหนดสิ่งที่ตามมาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากการกระทำนั้น และยังส่งผ่านไปยังรุ่นสู่รุ่นด้วย
นั่นเลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงทำพฤติกรรมแบบเดียวกับพ่อแม่ แม้เราจะเคยไม่ชอบใจก็ตาม เพราะเราทำไปตามบทบาทที่ได้รับ และบทที่ว่านี้ยังกำหนดทั้งวิธีการพูด การกระทำ หรือแม้แต่การคิด ซึ่งจะถูกส่งมาจากพ่อแม่ และลูกๆ ก็มักจะรับมันมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดจาประชดประชัน การยอมให้คนอื่นรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวหรือข้าวของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเราถูกทำให้คิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเหมาะสมและควรทำแล้วในบทบาทความเป็นพ่อแม่
อย่างไรก็ตาม บทบาทนี้ก็มีด้วยกันหลายแบบ นอกจากบทบาทที่เราทำตามพ่อแม่แล้ว ยังมีบทบาทอื่นๆ ที่เราใช้โดยไม่รู้ตัวด้วย เช่น สคริปต์แก้ไข (Corrective scripts) ใช้เมื่อเราต้องการทำสิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เจอในวัยเด็ก ตัวอย่างเช่น เมื่อเราไม่อยากเป็นคนเข้าสังคมเหมือนพ่อแม่ เราก็อาจทำสิ่งที่ตรงข้ามกันด้วยการกลายเป็นคนเก็บตัวมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีสคริปต์ที่กำหนดขึ้นเอง (Improvised scripts) ซึ่งเป็นสคริปต์ที่คนคนนั้นอยากทดลองบทบาทใหม่ๆ ด้วยการทำสิ่งที่พ่อแม่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การมีอาชีพหรือความสนใจตามยุคสมัยใหม่แบบที่คนรุ่นก่อนไม่เข้าใจ
แม้การมีสคริปต์จะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทตัวเอง และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น แต่บางครั้งสคริปต์เหล่านี้ก็อาจมาพร้อมกับนิสัยไม่ดีบางอย่าง หากเราไม่ทันระวังตัว นิสัยหรือพฤติกรรมเหล่านั้นก็อาจส่งไปถึงเด็กๆ ที่เฝ้ามองเราอยู่ จนทำให้นิสัยหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้น และวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาในครอบครัวของเราเองก็ได้
เลี่ยงได้ไหมถ้าไม่อยากเป็นแบบพ่อแม่
แม้ว่า ‘บท’ จะเป็นสิ่งที่เราใช้โดยไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ต่างไปจากพ่อแม่ไม่ได้ เพราะพฤติกรรมนี้จะหยุดลงก็ต่อเมื่อมีใครลุกขึ้นมาเปลี่ยนมันใหม่
วิคตอเรีย นักจิตวิทยาคนเดิมบอกว่า แม้เราจะรับนิสัยและการมองโลกมาจากพ่อแม่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องกลายเป็นเหมือนพ่อแม่ทั้งหมด ซึ่งวิธีที่ทำให้เราไม่กลายเป็นพ่อแม่แบบที่เราไม่ชอบและได้ผลที่สุด คือการ ‘รู้เท่าทันตัวเอง’ หรือการตระหนักให้ได้ว่าเรากำลังมีนิสัยแบบนี้อยู่
แม้ว่าเราจะเคยอยู่ในบ้านที่พ่อแม่พูดจารุนแรงเสมอ จนเราเองก็โตมากลายเป็นพ่อแม่คนนั้นโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าอยากหยุดนิสัยเหล่านี้ เราต้องรู้เท่าทันตัวเองให้ได้ว่า เมื่อไหร่ที่เรากำลังโกรธอยู่ และเมื่อนั้นเองที่เราไม่จำเป็นต้องพูดจารุนแรงใส่คนอื่นแบบที่พ่อแม่เคยทำเสมอไป เพราะยังมีต้นแบบหรือคนที่รับมือกับปัญหานี้ได้ดีอีกมากมาย ซึ่งเราคุณสามารถนำมาเป็นตัวอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นการขอคำแนะนำจากเพื่อนที่กำลังกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่เหมือนกัน หรือศึกษาการเลี้ยงลูกจากผู้เชี่ยวชาญด้วยตัวเอง
แค่ ‘รู้ให้เท่าทันตัวเอง’ หรือ ‘ตระหนักรู้’ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย และเป็นคำที่ได้ยินบ่อยจนแทบจะกลายเป็นคำสามัญ แต่ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญกลับบอกว่า มีหลายคนเลือกมองข้ามและเลือกจะไม่ทำตามวิธีนี้ เพราะไม่ต้องการนึกถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านมาอีก ดังนั้น เมื่อถึงสถานการณ์บีบบังคับให้เราต้องแสดงบทบาทพ่อแม่ เราจึงมักใช้วิธีคุ้นชินในการแก้ปัญหา แล้วลงเอยด้วยพฤติกรรมและนิสัยแย่ๆ ที่เราเคยเกลียดออกมา เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเองเคยได้รับ
ถึงจะเป็นเรื่องยากเมื่อต้องทบทวนเหตุการณ์ในอดีตว่า ตัวเรามีนิสัยไม่ดีอะไรที่ได้รับมาจากพ่อแม่บ้าง แต่เพื่อให้นิสัยนี้ไม่กลับมาทำร้ายตัวเองและลูกของเรา อัซเซล โรมาเนลลี (Assael Romanelli) นักจิตวิทยาด้านความสัมพันธ์ จึงได้แนะนำวิธีทบทวนตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราหลุดพ้นจากพฤติกรรมเดิมๆ ที่เราไม่ชอบไว้ มีขั้นตอนดังนี้
- เขียนพฤติกรรมของตัวเองลงบนกระดาษ แบ่งออกเป็น 3 คอลัมน์ คือ เขียนนิสัยที่เราทำซ้ำจากพ่อแม่ นิสัยที่ต่างไปจากพ่อแม่ และนิสัยที่เราปรับขึ้นมาเอง
- วงกลมและแบ่งเป็นนิสัยที่เราชอบและไม่ชอบจากพฤติกรรมเหล่านั้น
- ลองคิดเกี่ยวกับนิสัยที่ตัวเองไม่ชอบว่า เราสามารถใช้วิธีอื่นแทนได้ไหม เช่น หากคุณไม่อยากเป็นคนเจ้าอารมณ์เวลาเกิดปัญหา เราอาจบอกตัวเองว่าจะใจเย็น และใช้เหตุผลให้มากขึ้น
- เมื่อได้บทใหม่ที่เขียนขึ้นแล้ว ขอให้ยึดมั่นไว้และลองใช้เมื่อเกิดสถานการณ์นั้นๆ ขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าไม่ได้ผล หรือเจอวิธีใหม่ที่ดีกว่า เราสามารถทบทวนหรือแก้ไขมันได้ตลอด
การรู้เท่าทันเพื่อปรับเปลี่ยนนิสัยแย่ๆ ของเราเอง ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องจิตใจของเราจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษเท่านั้น แต่ยังช่วยหยุดวงจรการส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งความเกรี้ยวกราดนี้ไปยังเด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาด้วย
อ้างอิงจาก