วันๆ หนึ่งคุณใช้เวลาบนหน้าจอที่มีเน็ตนานแค่ไหน? ใช้ทำอะไร หรือใช้แอพฯ ไหนมากที่สุด? อินเทอร์เน็ตกลายเป็นโลกอีกใบของหลายคนมาสักพักแล้ว แถมยังเป็นโลกที่มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จนบางทีเราก็ตามแทบไม่ทัน
นักวิเคราะห์ระดับโลกอย่าง Mary Meeker จาก Bond Capital เลยขุดแคะทุกอย่างที่เกิดบนโลกของอินเทอร์เน็ต มาวิเคราะห์ให้เราดูกันทุกๆ ปีใน ‘Internet Trends Report’ (รายงานที่หลายคนพูดตรงกันว่าคนทั้ง Silicon Valley หรือนักการตลาดทั่วโลกต้องขอเปิดดู) และนี่คือเรื่องของชาวเน็ต โลกโซเชียล เกมเมอร์ digital data และมหาอำนาจอย่างจีน บนโลกของอินเทอร์เน็ตที่คุณควรรู้
- ชาวเน็ตโลกเติบโตลดลง : ในปี ค.ศ. 2018 โลกเรามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 3,800 ล้านคน หรือคิดเป็น 51% ของประชากรโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 3,600 ล้านคนในปี 2017 น่าจะเพราะคนส่วนใหญ่ออนไลน์กันอยู่แล้ว โดย 3 ประเทศแรกที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐฯ ส่วนสมาร์ทโฟนก็เป็นช่องทางที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด
- Youtube, Instagram, stories และ podcast เป็นที่นิยมมากขึ้น : จากการเก็บข้อมูลเวลาใช้งานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่าแพลตฟอร์มที่คนทั่วโลกใช้มากที่สุดก็ยังหนีไม่พ้น Facebook ที่โดยเฉลี่ยแล้ว เราใช้เวลากัน 30% ของวันอยู่ในนั้น ขณะที่ Youtube ก็มีอัตราการใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 22% เป็น 27% และ Instagram ก็เพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 19% นอกจากนี้ คลิปวิดีโอสั้นใน Facebook stories, Instagram stories และ WhatsApp status ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในรอบ 1 ปี ขณะที่ podcast ก็มีคนฟังเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในรอบ 4 ปีเช่นกัน
- ‘ภาพ’ ยังเป็นรูปแบบสื่อที่ฮอตที่สุด : หลายๆ แพลตฟอร์มจึงเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่เล่นกับภาพได้ เช่น การตกแต่งภาพด้วยลูกเล่นต่างๆ การแท็กเพื่อนไปยัง marketplace หรือแม้แต่ Google ก็ยังพัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์รูป เพื่อรองรับการค้นหาด้วยภาพ
- วงการ ‘เกม’ เฟื่องฟู : จำนวนเกมเมอร์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด 5 ปี โดยปีที่ผ่านมา ตอนนี้มีผู้เล่นอย่างเป็นทางการราว 2.4 พันล้านคน ซึ่งทำให้วงการเกมมีการพัฒนาในมิติของคอมมูนิตี้ ที่นอกจากจะเล่นด้วยกันได้แล้ว ยังเป็นเหมือน social platform ที่ใช้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกมเติบโตตามไปด้วย เช่น Discord ที่เติบโตราว 2 เท่าในรอบ 1 ปี หรือ Twitch ที่ก็เติบโตราว 2 เท่าในรอบ 2 ปี
- ‘Freemium’ เป็นโมเดลสุดฮิตสำหรับธุรกิจออนไลน์ : เป็นที่นิยมและใช้งานได้ดีกับธุรกิจที่ต่อสายตรงกับผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ให้บริการ cloud หรือ streaming อย่างเช่น Dropbox หรือ Spotify จากข้อมูลบอกว่า การเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานฟรีเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้งานยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการแบบพรีเมียมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในปีที่แล้ว รายได้ของ Amazon, Micorsoft และ Google ที่ใช้โมเดลนี้นั้น รวมกันสูงถึงเกือบ 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตจากปีก่อนถึง 58%
- ‘Data’ เป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจ : จริงๆ แล้วที่ผ่านมา ธุรกิจส่วนใหญ่ก็ต้องใช้ ‘ข้อมูล’ ในการตัดสินใจหรือการวางแผนทั้งนั้น แต่ในยุคนี้ ธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ ‘digital data’ มากขึ้น โดยเฉพาะ real-time data ซึ่งเกิดขึ้นอยู่บนโลกของอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองลูกค้าได้ในทันที เช่น บริการการจองสินค้า บริการต่างๆ ที่ทำให้สามารถยืนยันการให้บริการได้ในทันที หรือมีการดึงฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่มาใช้เพื่อนำบริการอื่นๆ ต่อ อีกหนึ่งความสำคัญของ ‘ข้อมูล’ คือหากธุรกิจมีข้อมูลในปริมาณมากพอ ก็จะสามารถนำไปสอนและพัฒนา AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลและให้บริการที่สมบูรณ์แบบให้กับลูกค้าได้ ในปีที่ผ่านมา มูลค่าของบริษัทในตลาดแสดงให้เห็นถึงเทรนด์ที่ชัดเจนว่า บริษัทเทคโนโลยีในกลุ่ม e-commerce และ delivery sevice นอกสหรัฐฯ นั้นเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน
- ชาวเน็ตกังวลเรื่องสุขภาพและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น : พวกเขารู้สึกถึงผลกระทบของการใช้โซเชียลมีเดียเป็นระยะเวลานานๆ โดยผลเสียที่เกิดขึ้นกับชาวเน็ตส่วนใหญ่คือการนอนไม่พอ เป็นโรค FOMO หรือถูกบูลลี่ รวมถึงกระทบต่อสรีระทางร่างกาย และกลายเป็นโรควิตกกังวล ส่งผลให้การใช้งานโซเชียลมีเดียเติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างมาก หลายแพลตฟอร์มจึงออกฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับติดตามดู (tracking) เวลาในการใช้งาน รวมถึงเตือนให้ดูแลสุขภาพส่วนเรื่องความเป็นส่วนตัว หลังจากมีข่าวข้อมูลรั่วไหลบ่อยครั้งขึ้น ผู้ใช้งานจึงเริ่มให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางกฎหมาย เช่น GDPR หรือการระบบเข้า-ถอดรหัสข้อมูล (encryption) ในการส่งข้อความมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง fake news หรือ hate speech มากขึ้นด้วย ผู้ให้บริการจึงต้องเพิ่มมาตรการในการตรวจจับและจัดการกับประเด็นเหล่านี้
- อินเทอร์เน็ต = พื้นที่แห่งโอกาส : ในด้านการทำงาน อินเทอร์เน็ตทำให้ on-demand platform เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับ on-demand consumer ส่งผลให้เกิดงานสำหรับ on-demand worker อย่าง Grab หรือ Fastwork สำหรับคนที่อยู่ใน Gig economyในด้านการศึกษา การเรียนการสอนออนไลน์ยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายและมากขึ้น เพราะมีหลายระดับและหลายรูปแบบ ข้อมูลจาก Coursera แพลตฟอร์มที่รวบรวมหลักสูตรจากหลายมหาวิทยาลัยชื่อดังระบุว่า เกือบ 80% ของรายได้ปี ค.ศ. 2018 มาจากหลักสูตรทางด้าน data science สูงสุดถึง 31% ตามมาด้วยหลักสูตรด้านเทคโนโลยี 25% และหลักสูตรทางด้านธุรกิจ 23% ขณะที่ข้อมูลจาก Youtube เผยว่า มีการรับชมวิดีโอประเภท ‘how to’ สูงถึงปีละ 4,500 ล้านชั่วโมง
- จีนในโลกอินเทอร์เน็ต : นอกจากจะครองอันดับประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดแล้ว ‘จีน’ ยังได้พื้นที่ในรายงานฉบับนี้ไปไม่น้อย โดยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘จีน’ ในโลกอินเทอร์เน็ตคือ
- วิดีโอสั้น (short-form VDO) เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้คนจีนหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มยอดนิยม ได้แก่ Douyin, Kuaishou และ Haokan
- นวัตกรรมหลายอย่างของจีนต่อยอดมาจากเกม อย่างเกม Tiao yi tiao (Jump Jump) ซึ่งเป็น mini-program ใน WeChat ที่มีคนเล่นกว่า 100 ล้านคนหลังปล่อยออกมาเพียงไม่กี่วัน ก็ต่อยอดหารายได้ด้วยการขายพื้นที่สำหรับโฆษณาแบรนด์ในเกม และกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้หลายธุรกิจ เชื่อมต่อกับ WeChat เพื่อทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มนั้น
- หลายแพลตฟอร์มของจีนได้กลายเป็น super app อย่าง Alipay ที่เริ่มจากการเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินเล็กๆ แต่วันนี้มีผู้ใช้งานรวมมากกว่า 1 พันล้านคน โดย 300 ล้านคนใช้งานแทบทุกวัน และ 70% ของผู้ใช้งาน ใช้บริการทางการเงินมากว่า 3 บริการ
- จีนกำลังพยายามเชื่อมต่อการช้อปปิ้งออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น live ขายของออนไลน์ เป็นกลายเทรนด์ที่นิยมในจีน ปีที่ผ่านมา Taobao Live มีมูลค่าการขายสินค้าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเหตุผลที่ live streaming ขายของเป็นที่นิยม นั่นก็เพราะความโปร่งใสในการค้าขาย ช่วยกระตุ้นปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม แถมรู้สึกมีส่วนร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ อันนำไปสู่การซื้อซ้ำ
- ร้านขายของชำออนไลน์ในจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้แม้แต่ Alibaba ที่เริ่มต้นจากการค้าขายออนไลน์ ก็ยังหันมาลุยร้านค้าออฟไลน์ และปรับปรุงให้รองรับกับโลกดิจิทัลมากขึ้น
- สื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์ และ live streaming เป็นกลไกที่สำคัญมากในการสร้างเสริมการศึกษาสำหรับเด็กในจีน (K-12) โดยเริ่มมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพิ่มหลายราย และมีให้เลือกทั้งรูปแบบการสอนออนไลน์ที่มีครูอยู่ในห้องเรียนกับเด็ก หรือใช้ live streaming เรียนหรือช่วยกันทำการบ้าน โดยภาษาอังกฤษและการเขียน coding เป็นทักษะที่รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริม
อ่าน Internet Trends Report 2019 ฉบับเต็มได้ที่ https://www.bondcap.com/report/itr19
อ้างอิงข้อมูลจาก