บนโลกออนไลน์ที่ทุกคนสร้างคอนเทนต์เองได้ คนที่มีอิทธิพลต่อการขายหรือผลักดันประเด็นสังคม จึงไม่ได้มีแค่คนที่เสียงดังอย่างดารา คนสามัญธรรมดาก็มีผู้ติดตามและมีสปอตไลต์เป็นของตัวเองได้
ยุคที่โซเชียลมีเดียคือโลกอีกใบของใครหลายคน อาชีพ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ถือกำเนิดขึ้น และถูกแบ่งย่อยออกเป็น KOL (key opinion leader) เป็นไมโคร-อินฟลูเอนเซอร์ พวกเขาอาจจะมีคอนเทนต์เลื่อนผ่านฟีดเราทุกวัน หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นคอนเทนต์ที่ออกแบบโดย ‘Tellscore’ เอเจนซีที่บอกว่า ตัวเองคือพื้นที่ ที่อินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ได้มาเจอกัน เพื่อส่งต่อเรื่องราวที่เข้าถึงผู้คนนับล้าน
“score คือดาต้า ที่เราต้องการ tell ดังนั้นก็คือ every tell has a score อะไรประมาณนี้”
‘ปู—สุวิตา จรัญวงศ์’ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore บอกเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังไอเดียสร้างสรรค์ เมื่อดาต้าคือเรื่องสำคัญสำหรับการทำงานบนโลกโซเชียลมีเดียที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และเทรนด์เปลี่ยนไปทุกวี่วัน
บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้ เป็นหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่สนุกและชวนอ่านอย่างยิ่ง เพราะสุวิตาจะพาเราเจาะลึกไปยังโลกของอินฟลูเอนเซอร์—อาชีพใหม่ของทศวรรษ พวกเขาทำงานกันยังไง อะไรทำให้คนหนึ่งดังได้และคนหนึ่งดับไป ในฐานะผู้บริหารและคนเจเนอเรชั่น X เธอตามติดโลกโซเชียลอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าถ้าพร้อมแล้ว เลื่อนฟีดไปพร้อมกับเราเลย
ก่อนหน้านี้เวลาทำการตลาดหรือโปรโมต แบรนด์มักเลือกใช้คนใหญ่คนดัง แต่เดี๋ยวนี้แบรนด์กลับเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กๆ คุณมองเห็นโอกาสของธุรกิจตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่
เราเห็นจากดาต้า มันอาจจะฟังดูคลิเช่ว่า data never lies แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือมันเริ่มจากน้องๆ AE เราแสกนอินเทอร์เน็ตแล้วก็ส่องว่าอินฟลูเอนเซอร์คนนี้ดีไหม คนนั้นดีไหม เราก็เริ่มมีดาต้าอัตราการเติบโตเขา บางคนขึ้นแรงมากช่วงหนึ่ง แสดงว่างานละครเข้าหรือเปล่า แล้วก็เลยยิ่งทำให้เราทำการบ้านได้ลึกซึ้งขึ้นว่า เออ ตอนนี้เค้ากำลังขาขึ้น ถ้าเกิดแบรนด์ไปร่วมงานกับเขาช่วงนี้ มันก็น่าจะเป็นช่วงช่วงทองของอินฟลูเอนเซอร์คนนั้น คือได้ราคาที่ดีที่สุดด้วย ก่อนที่เค้าจะโตไปกว่านี้
แต่หลังๆ เราก็จะเจอดาต้าที่บอกอีกว่า performance หรือว่า engagement ใครจะดีกว่าใคร เราก็จะทราบตั้งแต่ก่อนตั้งแคมเปญเลย บางคนก็ engagement ไม่สูง เราก็มองว่าเค้ามีเรื่องอื่นที่เด่น เราก็จับไปแมตช์กับเรื่องของงานสร้างการรับรู้
เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะแมตช์กับความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า จริงๆ ลูกค้าก็ต้องการแค่สองอย่าง ถ้าไม่สร้างการรับรู้ ก็ต้องการคลิก หรือถ้าไม่ใช่จำนวนมือคลิกก็เป็นจำนวนตาดู เราสามารถใช้ดาต้าจัดความต้องการลูกค้าได้
ก่อนหน้านี้คุณทำงานเอเจนซีโฆษณามา ซึ่งก็เป็นงานที่ใช้สัญชาติญาณค่อนข้างสูง แต่สำหรับ Tellscore ดูเหมือนว่าจะต่างออกไป?
ใช่ค่ะ [งานโฆษณายุคก่อน] มัน gut feeling ได้อย่างเดียว มันไม่มีอะไรที่มาอ้างอิงได้เลย แล้วพอโซเชียลมีเดียเข้ามา เราก็มองเห็นว่ามันเริ่มทำแพตเทิร์นให้เรา มันจะเริ่มเห็นว่าเฟซบุ๊กเก่งในการสร้างชุมชน สร้างฐานให้กับแบรนด์ สร้างฐานผู้ฟัง เราเริ่มเห็นว่าอินสตาแกรมสร้างสไตล์ สร้างทิศทางที่แบรนด์อยากจะให้คนเข้าใจว่าเป็นแบรนด์เก๋ๆ เป็นแบรนด์คูลๆ หรือเป็นแบรนด์สตรีท ซึ่งเฟซบุ๊กจะทำตรงนี้ได้ไม่ดีเท่า แต่มากไปกว่านั้นที่โซเชียลมีเดียให้คือ พอเค้าเริ่มปล่อย API ให้นักพัฒนาเริ่มเอาดาต้าซึ่งสาธารณะอยู่แล้วมาเขียนเพื่อทำแพตเทิร์นให้มันกลายเป็นดาต้าได้ มันก็เลยมีความหมายขึ้นมา
เพราะฉะนั้น gut feeling ตอนนี้มันก็ยังใช้อยู่นะ เพียงแต่ว่า gut feeling เป็นตัวช่วยตัดสินใจ [inform decision] มากกว่า
เล่าเรื่องรูปแบบงานของ Tellscore บ้างดีกว่า โมเดลธุรกิจเป็นยังไง
เหมือนทำอย่างเดียวเลยก็คือทำเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ ถือว่าเรานำเสนอคอนเทนต์อย่างเดียวเลยแหละ แต่ว่าอินฟลูเอนเซอร์เป็นงานที่มีความเป็นมนุษย์สูงมาก ซึ่งมนุษย์ความเป็นไปได้มันเยอะ เราก็เลยพยายามให้มันเป็นอัตโนมัติ ก็คือพยายามทำงานให้มันลดขั้นตอน ลดเวลา ลดเงินให้กับผู้ประกอบการที่อยากร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ ให้เขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ถูกลง แต่ว่าเร่ง performance ให้มากขึ้น โดยที่อินฟลูเอนเซอร์เหมือนทำงานแบบเดิมนี่แหละ แต่ระบบเราจะเป็นคนคอยแนะนำให้ว่า เวลาอินฟลูเอนเซอร์ทำอะไร แบบไหน ทำแบบนี้แล้วคนจะตามไปดาวน์โหลดกับน้องเขาเยอะมากเลยนะ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับว่าอินฟลูเอนเซอร์เขาโพสต์อย่างไร โพสต์เรื่องอะไร โพสต์ความถี่แค่ไหน
ปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์ก็มีหลายระดับให้แบรนด์เลือกใช้?
การขายของได้เนี่ย มันจะต้องค่อยๆ ลดหลั่นไป คือ ใช้ทุกไซซ์ เบอร์ใหญ่เก่งเรื่องสร้างการรับรู้ เพราะว่าเบื้องหลังมันจะบีบอัตราการเข้าถึง ดังนั้นต่อให้ทำคอนเทนต์ดีแค่ไหน engagement ก็สู้ตัวเล็กไม่ได้ ซึ่งอันนี้โทษเขาไม่ได้เลยนะ เพราะอัลกอริทึมโซเชียลมีเดียเป็นแบบนั้น
คุณจัดกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ยังไงบ้าง
เบอร์ใหญ่ KOL [key opinion leader] ก็คือคนตามหลักล้านขึ้นไป ส่วนคนตามหลักแสนก็เป็น macro influencer แล้วก็ medium ที่เป็นหลักหมื่น แล้วถ้าเป็นหลักพันก็คือ micro เดี๋ยวนี้มีรุ่นใหม่รุ่น nano คนตามระดับหลักร้อยก็สามารถที่จะมาร่วมบทสนทนากับคนตามได้แล้วเหมือนกัน
ระยะหลังๆ ดูเหมือนแบรนด์จะสนใจเลือกใช้ระดับ micro และ nano ค่อนข้างมาก?
จุดเริ่มต้นเมื่อ 3–4 ปีก่อน เราก็แบบ เอ้ย มันมี micro ด้วยเหรอ ช่วงแรกๆ ก็มีความกระตือรือร้นในความอยากร่วมงานกับ micro เพราะว่าอยากจะลองว่ามันดีจริงไหม แต่ทำไปไม่นาน ตลาดก็เริ่มเข้าใจว่า มันไม่ใช่ว่า micro หรือ macro ดีกว่ากัน แต่ว่า ดีทั้งคู่ อยู่ที่ว่าต้องใช้ยังไง
ส่วนใหญ่ใช้ macro เริ่มก่อนสัปดาห์แรก สัปดาห์ที่สองก็ใช้ micro เพราะ micro เขาก็จะโหนกระแสอันหลังมาขยี้เป็นการพิสูจน์ว่าฉันใช้แล้วดีจริงไหม ฉันใช้แล้วมันสีมันตกนะเธอ บทสนทนามันจะเข้าถึงมากขึ้น
แล้วแบรนด์ในยุคถัดมา ก็เริ่มเข้าใจว่าพอใช้ด้วยกันแล้วจะต้องให้อิสระกับ micro มากขึ้น เพราะตอนแรกก็ตึงเปรี๊ยะเลย แบรนด์บอกเคยจ้าง KOL แบบนี้นี่ ต้องถือช็อตแบบนี้ ถ่าย 3 รูป พูด 3 บรรทัด แฮชแท็ก 7 อัน ก๊อปวางเลย ถ้าผิดจากนี้จะจ่ายตังไม่ได้ เอเจนซีก็หัวเสียเหมือนอยากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้
พอมี micro ไม่สามารถใช้กติกาเก่าได้เลย ซึ่งก็นักการตลาดก็เครียดเหมือนกัน ดังนั้นแปลว่า ตอนนี้การทำการตลาดของสินค้าหรือบริการ ก็เลยจำเป็นจะต้องเลือกใช้คนหลายระดับในการขาย
ทำไม micro ถึงทำตามกติกาเก่าไม่ได้
เขาทำได้ เพียงแต่ เขารู้ดีกว่าเราว่าเขาทำปั๊บ มันแป้กทันที เพราะว่าจะมีคนทำอย่างฉันเป็นพันคนเลยนะ ดาราดังทำครั้งเดียว มันอยู่ได้ทั้งเดือน ก็ไม่ได้มีใครทำข้อความแบบนั้นเหมือนกันเยอะนัก คนที่เห็นคือประชาชนอย่างเรา เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลกอะไร
แต่ถ้าเกิดเห็นซ้ำๆ ก๊อปวางเป็นพัน เราจะรู้สึกว่านี่คือหน้าม้า นี่คือการโกหกหลอกลวง แล้วจะโกรธแบรนด์ด้วยซ้ำ ทีนี้ micro-influencer เขาเห็นตรงนี้ก่อนแบรนด์ เขาก็เลยทักว่า ไม่ได้นะพี่ ถ้าพี่ใช้แบบนี้พี่ก็จะใช้อย่างนี้อีก 10 คน 20 คน 30 คน มันก็คือเพื่อนๆ ภายใต้โพสต์ผม เขารู้ตัวว่าผู้ติดตามเขารับสิ่งนี้ไม่ได้ ดังนั้นก็จะต้องพูดไม่เหมือนกัน แล้วแฮชแท็กต้องห้ามเยอะ เพราะมันจะต้องเป็นแบบธรรมชาติที่สุด พอเข้าใจแบรนด์ก็เลยถอยแล้ว performance มันขึ้น แบรนด์ก็เลยรับได้หมด
ยุคนี้ก็เป็นยุคที่แบรนด์รับตรงนี้ได้หมดแล้วว่าจะพูดยังไง แถมบางแบรนด์ไปถึงขั้นว่ารับได้ว่าจะติเบาๆ ได้ด้วย คืออาจจะติอะไรที่ส่วนตัวไม่ชอบ หรือว่า ‘ดีนะแต่หาซื้อยาก’ ‘ปกติไม่เคยกินรสพีช มันแปลกๆ แต่ก็ถ้าเผื่อคนอื่นชอบ’
แล้วก็พอมายุค COVID-19 เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยๆ เป็นมันล้มครืนลงทุกอย่าง มันกลายเป็นสิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ ที่มันควรจะเกิดขึ้นในอีกสักสองปี มันเกิดขึ้นแล้ว
เกิดอะไรกับเทรนด์อินฟลูเอนเซอร์ในยุค COVID-19
อินฟลูเอนเซอร์สาขาใหม่เยอะมาก แล้วแบรนด์ก็กำลังเรียนรู้กับสิ่งต่างๆ แล้วกำลังค่อยๆ ปรับตัวกันอยู่เลย แต่พอมาวันนี้ ต้องการคอนเทนต์ช่วยขายเท่านั้น เขาต้องการยอดขายอย่างเร็ว แต่ก่อนงานเราก็ช่วยเพิ่มยอดขายนะ ช่วยเพิ่มยอดขายล่วงหน้าประมาณ 3–4 เดือน แต่ตอนนี้ 3–4 เดือนรอไม่ไหว จะขายวันนี้เลย อินฟลูเอนเซอร์เราก็เลยต้องฝึกฝนฝีมือใหม่ ต้องเป็นสายพันธุ์ช่วยขาย ตั้งแต่ไลฟ์ขายของ บางคนบอกว่าเราไม่อยากเป็นผู้ช่วยขายเลย แต่ว่าเราก็พร่ำบอก พนมมือเลยนะว่า ‘ต้องเป็น’ เพราะว่าตลาดกำลังต้องการอย่างมาก แล้วถ้าผู้ประกอบการรอด อินฟลูเอนเซอร์ก็จะมีงาน ถ้าดื้อ ไม่ทำๆๆ จะคีพลุคอย่างเดียว เขาขายไม่ได้ เขาก็ไม่ใช้เรา มันกำลังเป็น dilemma ใหม่เลย ซึ่งเรื่องนี้มันควรจะเกิดอีกสองปี ตามท้องเรื่อง มันก็ถูกเร่งขึ้นมา
จริงๆ แล้วผู้บริโภคเองก็อยู่กับอินฟลูเอนเซอร์มานาน จนตอนนี้ก็ดูจะไม่รู้สึกแย่ถ้าในคอนเทนต์จะโดนสอดไส้ขายของ?
จริงค่ะ จริง อันนี้ก็เป็นแบบความเชื่อใจที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองกลุ่ม คือบอกไปเลยว่า เราเคารพคนดูมาก แต่อยู่ไม่ได้นะถ้าไม่มีสปอนเซอร์เข้า คลิปนี้เกิดขึ้นได้เพราะสปอนเซอร์คนนี้ ขอบคุณมากเลย สปอนเซอร์คนอื่นได้ยินก็ชื่นใจ ถ้าฉันไปลงกับเขา เขาก็คงจะขอบคุณฉัน ไม่ได้มาแทรกๆ แอบๆ
ในยุคนี้ ในฐานะคนที่ทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์ คุณคิดว่าอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งจะดังจะปังได้ต้องมีอะไรเป็นหลัก
ถ้าจะดังได้ ต้องลงลึก อย่าไปเอาใจทุกคน แต่เอาใจเฉพาะบางคน ที่เราทำคอนเทนต์หาคนกลุ่มนั้นได้ แล้วก็รู้ว่าคนดูมองหาความแปลกใหม่ ความประหลาด มันก็จะมีอย่างนี้ใหม่ๆ ทุกๆ 6 เดือน เช่น เสียงกิน ASMR, คอนเทนต์ reaction, คอนเทนต์ study with me เปิดวีดีโอเรียนหนังสือไปด้วยกันเงียบๆ หรือว่าสายวาย สายรักษ์โลกสิ่งแวดล้อม แล้วก็สายสารคดี ซึ่งไม่เคยคิดว่าสารคดีจะเป็นที่ฮิตของเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาดูกัน 45 นาทีจนจบ
แล้วมีอะไรที่อินฟลูเอนเซอร์ไม่ควรทำบ้าง ดราม่าจากอินฟลูเอนเซอร์ก็เยอะ มาเป็นระลอกๆ ตลอดเวลา เวลาทำอะไรผิดใจกับสังคม
ส่วนตัวรู้สึกว่า อะไรที่ต้องไม่ทำ สำคัญกว่าอะไรที่ต้องทำ เราเองก็ยังไม่มีตำรานะคะ แต่ว่าก็พอมี แพตเทิร์นอยู่บ้าง คือ การไม่จริงใจกับคนดู อันนี้ห้ามทำเลย การพยายามจะไปเอาใจเขาเกินเหตุ เพื่อหวังเรตติ้ง คนดูรู้สึกได้นะ
ต่อมา ทำสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึกสังคม คือขัดได้นะ แต่ว่าต้องรับความเสี่ยง ถ้าคุณจะแสดงออกทางการเมือง ตอนนี้ประเด็นการเมืองมันมา คนดูครึ่งนึงหายไปแน่นอน ถ้าเราเลือกจะพูด เราก็ต้องรับได้ เราไม่เชิงบอกว่า freedom of speech ไม่มี หรือคุณอย่าพูดการเมืองนะ เราเป็นคนที่รู้สึกว่าต้องแสดงออกได้ แต่ว่าอยู่ที่ว่าถ้าแสดงออกแล้ว รับความเสี่ยงนั้นได้ไหม
และมีเรื่องของการเหยียดเพศ การเหยียดทุกอย่าง hate speech, บูลลี่เพื่อความเท่ เกาะกระแส black lives matter เพียงเพื่อแค่ที่จะทำเรตติ้ง แต่ว่าจริงๆ ตัวเองไม่ได้มีอะไรจะ contribute แต่อยากจะพาดหัว แล้วไปพาดพิด ซึ่งบางคนไม่รู้จริง เพราะส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ของน้องที่ทัวร์ลงหนักคือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กะว่าจะฉวยสถานการณ์ในโมเมนต์นั้น มันต้องคืนนี้แล้ว ไม่งั้นพรุ่งนี้เช้ากระแสมันไป ทำซะเลยดีกว่า
ส่วนตัวคิดว่า ยุคนี้อินฟลูเอนเซอร์สร้างกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มเป้าหมายสร้างอินฟลูเอนเซอร์
กลุ่มเป้าหมายค่ะ กลุ่มเป้าหมาย แน่นอนเลย เพราะว่าจำนวนมากกว่า คนดูก็เลยจะเลือก คอนเทนต์ที่ตัวเองดูแน่นอน
อันดับแรกสัญญาณมันมาจากคนดูแหละ ว่าใช่ไม่ใช่ แล้วอินฟลูเอนเซอร์ก็ค่อยๆ ทำคอนเทนต์ตามตรงนั้นไป แต่ว่าสิ่งที่มาพร้อมกับมันก็คือ บางคนอยากจะทำคอนเทนต์อีกแบบหนึ่ง แต่พอคนดูมาแบบนี้ก็เลยทำเอาใจคนดู ทำไปจนกระทั่งเสียความเป็นตัวเองไปเลย อันนี้ก็น่ากลัวเหมือนกัน ทำเอารอดอะ เพราะว่าไม่งั้นเงินไม่เข้า สปอนเซอร์ไม่เข้า ซึ่งจะทำได้ไม่นานมากเพราะว่ามันเหมือนมันไม่ใช่ตัวเอง
แล้วอินฟลูเอนเซอร์ควรบาลานซ์ยังไง
มันเป็นคำถามที่ดีกว่าที่จะถามอินฟลูเอนเซอร์ แต่จะลองตอบนะ ลองตอบในฐานะที่เราเคยคุยกับ อินฟลูเอนเซอร์เบอร์ที่เก่งๆ ระดับใหญ่ แต่โตมาจากเล็ก แล้วเขาผ่านด่านมาเยอะ แล้วเขาอยู่ได้แม้กระทั่ง COVID-19 เป็นสายท่องเที่ยวที่เปลี่ยนเป็นสายอาหาร
คิดว่าเขายังทำต่อได้เพราะเขาซื่อสัตย์กับคนดูเขา เขาบอกเขาก็เสียคนดูไปเยอะนะ แต่ว่าไม่เป็นไร ก็ต้องหาคนดูใหม่ แล้วก็บอกคนดูเดิมว่าใจเย็นๆ ถ้าเมื่อไหร่มีท่องเที่ยวอีก เขาไปตั้งไลน์กรุ๊ปไว้ละ แล้วเค้าจะส่งข้อความไปหาว่าท่องเที่ยวกลับมาแล้ว คือมีความฉลาดในการเก็บคนดูเก่าไปกับคนดูใหม่ คนพวกนี้จิตวิทยาสูงด้วย และ empathy สูงมาก มันเป็นงานมนุษย์ล้วนๆ เลย
คิดว่าโลกอินฟลูเอนเซอร์เป็นโอกาสของคนทุกคนไหม
เป็นแน่นอนเลย แต่ว่าไม่เหมาะกับทุกคนนะ ภาษิตของ Tellscore ก็คือ everybody can be an influencer แต่ว่ามันอยู่ที่ว่ามันควรจะเป็นไหม มันเหมาะไหม เป้าหมายคืออะไร บางคนอยากจะหยุดแค่ระดับ micro-influencer ยังอยากรู้จักทุกคนเป็นเพื่อน
แล้วก็ต้องมีความสามารถที่เหมาะ คล้ายๆ กับทักษะของวิชาชีพอื่นๆ เลยนะ ต้องสามารถหาจุดร่วมกับคนที่อยากจะเปย์ได้ จริงๆ มันก็คือคุณภาพในการทำคอนเทนต์แหละ ทำให้กับคนดูที่อยากดู เพราะว่าน้องบางคนทำคอนเทนต์เก่งมาก แต่เขาคุยกับคนผิดประเภทตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เรตติ้งเขาเลยไม่ดี
จริงๆ โลกคอนเทนต์โซเชียลมีเดียดูเป็นโลกที่วุ่นวายมากเลย ในฐานะคนที่บริหารงานด้านนี้ คุณรู้สึกเหนื่อยกับความไวหรือดราม่าบ้างไหม
เราพูดในภาษายุคเจเนอเรชั่น Xแล้วกันนะ คือเถ้าแก่มันไม่เหนื่อย พี่ไม่เหนื่อย สนุกตลอดเวลา ถามว่านอนน้อย น็อก ปวดหัวอะไรก็มีบ้าง แต่ว่าตื่นขึ้นมาก็อยากจะทำนู่นทำนี่อีกแล้ว เพราะฉะนั้นพอเราเป็นคนสายดิจิทัล ทำสตาร์ทอัพ มันมีหลายอย่างที่ช่วยเราด้วยนะ คือ automation 5 ปีหรือ 8 ปีก่อนหน้านั้น พี่กับทีมต้องทำอะไรเองเยอะกว่านี้ เยอะมากเลยในตาราง Excel เดี๋ยวนี้มันคือการดึงข้อมูลออกมา เรามีเครื่องมือมาช่วย แต่สิ่งที่เหนื่อยก็มี เพราะกลายเป็นว่าต้องตามให้ทันกับเทรนด์ เช่น คลับเฮาส์มาแล้ว แล้วจะเป็นยังไง พ็อดแคสต์ที่เราขายลูกค้าไปจะโดนคลับเฮ้าส์เบียดไหม
แล้วในฐานะหัวหน้าทีม คุณคิดว่าตัวเองผู้นำแบบไหน มีวิธีสื่อสารกับทีมที่เป็นคนรุ่นใหม่ยังไงบ้าง
ถ้าให้ตอบสักห้าปีที่แล้ว พี่จะทำเป็นเก่งนะ เล่าเป็นฉากๆ เลย แต่ปีนี้พี่อายุ 46 แล้ว อยากจะตอบว่าพี่ไม่รู้ (หัวเราะ) เหมือนหาสูตรที่มันพอดีไม่เจอ พอเจอ COVID-19 อะไรๆ มันเร็ว ยังหาสูตรสำเร็จใหม่ไม่เจอ ก็พูดตามตรง
ปีนี้ ถ้าเกิดคุยกับใคร ก็จะยอมรับว่าบางเรื่องก็ไม่ค่อยเก่งแล้ว แต่ว่าถ้าถามว่าทำงานยังไง ก็คือเราจะผายมือให้น้องๆ ก่อน ผายมือให้น้องคิดก่อน ผายมือให้น้องทำก่อน ผายมือให้น้องนำก่อน ซึ่งตรงนี้ต้องมีความใจเย็นประมาณนึงเลย ซึ่งจริงๆ แล้ว โดยนิสัยแท้ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นเถ้าแก่ปุ๊บมันก็จะเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนั้น จะทำเอง เราจะใจร้อน เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ปรามตัวเองมาเรื่อยๆ เลยว่าต้องใจเย็นๆ เพราะว่าคนรุ่นใหม่เขาต้องการโอกาสมากเลย
เด็กรุ่นใหม่เขามีความกดดันมากกว่ารุ่นก่อนๆ เปิดมาห้าขวบโซเชียลมีเดียก็วุ่นวายกับเขาแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องใช้เวลากับคนรุ่นใหม่ในการนำ แล้วก็เชื่อเสมอว่าน้องต้องเก่งกว่าพี่ อันนี้เหมือนตั้งธงไว้เลย ว่าทำยังไงให้น้องเก่งกว่าพี่ ซึ่งเวลาวัดผลกัน พี่มันก็เก่งกว่าน้องในเชิงปฏิบัติอยู่แล้วแหละ แต่มันเป็นธงที่เราจะตั้งเอาไว้ แล้วน้องเขาจะรู้สึกว่าเชื่อใจเขา น้องเขาจะรู้สึกว่า เฮ้ย จริงเหรอ หนูต้องเก่งกว่าพี่หรอ ซึ่งใช่ แกต้องเขียนเก่งกว่าฉัน แกต้องสัมภาษณ์เก่งกว่าฉัน แกต้องปรับโปรแกรมมิ่งเก่งกว่าฉัน เขาจะรู้สึกว่าเราดันเขา เพราะว่าในวงการทำงานโดยเฉพาะสายเทคโนโลยีมันเร็วมาก แล้วน้องก็จะกังวลเรื่องเด่นกว่าพี่ โดยเฉพาะในเอเชีย ค่อนข้างมากเลยเพราะว่าเรามีระบบอาวุโส
ของเราเลยจะค่อนข้างไปในทางที่ให้ขอให้น้องเขากล้าเหอะ แกก้าวร้าว แกจะข้ามหัวฉันไปเลย แกเหยียบบ่า แกปีนเกลียวฉันไปก่อน เดี๋ยวถ้ามารยาทแกทรามเกินไป ฉันปรามแกอีกทีหนึ่ง ประมาณนี้ ก็จะเป็นแบบเป็นเรื่องที่เราพยายามเชื่อมั่นกันไปค่ะ