ข่าวการฆ่าตัวตายของ แอนโทนี บูร์เดน (Anthony Bourdain) หนึ่งในเชฟ/เซเลบริตี้/นักเขียน/นักสารคดีเดินทางชาวอเมริกันชื่อดังในปี ค.ศ.2018 ทำให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายวัย 61 ปีคนหนึ่งที่ภายนอก การงาน อาชีพ และทุกอย่างดูเพรียบพร้อมไปซะหมด นั้นคือสิ่งที่ มอร์แกน เนวิล (Morgan Neville) ผู้กำกับชาวอเมริกันที่นิวยอร์กพยามยามจะหาคำตอบและนำเสนอในภาพยนตร์สารคดี Roadrunner: A Film About Anthony Bourdain ที่ติดตามชีวิตและอาชีพของเชฟชื่อดังคนนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายในอเมริกาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2021 และเสียงตอบรับกลับมาค่อนข้างดี เว็บไซต์รีวิวอย่าง Rottentomatoes มีคะแนนเฉลี่ยประมาณ 8/10 จากทั้งหมด 134 รีวิว ซึ่งถือว่าไม่แย่เลย เหล่าแฟนคลับและผู้ที่ชื่อชอบผลงานของบูร์เดนต่างชื่นชอบสารคดีชิ้นนี้ ทว่าหลังจากบทสัมภาษณ์ของเนวิลเกี่ยวกับสารคดีเรื่องนี้ มีประเด็นน่าสนใจที่ผุดออกมาคือเนวิลบอกว่ามีบางส่วนของเสียงในสารดีที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ด้วย AI (artificial intelligence) เป็นประโยคที่บูร์เดนไม่เคยพูดเลยเพราะมันเป็นข้อความในอีเมลส่วนตัวที่บูร์เดนเขียนส่งให้เพื่อนสนิท บูร์เดนไม่เคยพูดประโยคนั้นออกมาในการสัมภาษณ์หรือคุยให้ใครฟัง มันเลยจุดประเด็นถกเถียงเชิงจริยธรรมว่าเรื่องแบบนี้สมควรเกิดขึ้นไหม? คนที่ตายไปแล้วเขาก็ไม่มีปากมีเสียง ซึ่งในกรณีแบบนี้มันคือการหาผลประโยชน์จากข้อมูลของคนที่ไม่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้รึเปล่า?
ถ้าไปตามอ่านคอมเมนต์เกี่ยวกับประเด็นนี้จะเห็นได้เลยว่าถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ส่วนที่เห็นด้วยบอกว่ามันเป็นการเพิ่มอรรถรสในการรับชม ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็แน่นอนบอกว่ามันเป็นการล่วงละเมิดข้อมูลของผู้ตายและนำมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์
ประโยคดังกล่าวที่บูร์เดนเขียนให้ เดวิด โช (David Choe) เพื่อนสนิทของเขาในอีเมลบอกว่า
“เพื่อน มีอะไรบ้าบออย่างจะถาม แต่อดสงสัยไม่ได้เลย … ชีวิต [ของผม] ตอนนี้มันเชี้ยมาก คุณประสบความสำเร็จในชีวิต ผมก็ประสบความสำเร็จ และผมก็มานั่งคิดว่า : ผมมีความสุขรึเปล่านะ?”
ซึ่งเจ้าประโยคนี้แหละที่เป็นปัญหา เนวิลนำพวกวีดีโอที่มีเสียงของบูร์เดนไปให้บริษัทหนึ่งฝึก AI ให้พูดคำพูดเหล่านั้นให้ออกมามีสไตล์และน้ำเสียงที่เหมือนกับบูร์เดนจนแทบจะแยกไม่ออกเลยว่ามันเป็นแมชชีน (ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องจริยธรรมแล้วก็อย่าลืมว่าเวลาเราพิมพ์บางทีโทนเสียงหรือการตีความจากภาษานั้นอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ ในอีเมลที่เขียนอาจจะเป็นการคุยเล่นหรือเพียงส่วนหนึ่งของบริบทที่ใหญ่กว่านั้น พอหยิบยกมาแค่นี้และทำให้เสียงดูทึมๆ ก็เหมือนว่านี่คือสิ่งที่เขาอยากจะสื่อ แต่ความจริงแล้วความตั้งใจอาจจะซับซ้อนกว่านั้น)
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเห็นการเอาข้อมูลของคนที่ไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้วมาชุบชีวิตให้เหมือนกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง The Matter เคยกล่าวประเด็นนี้ไว้เมื่อช่วงต้นปีที่เว็บไซต์ MyHeritage เปิดตัวเทคโนโลยี ‘Deep Nostalgia’ สร้างภาพเคลื่อนไหวของคนที่เสียชีวิตไปแล้วจากรูปถ่ายเพียงใบเดียว โดยตอนนั้นกลายเป็นกระแสอย่างมาก มีการเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง แวน โก๊ะ, มาร์ติน ลูเธอร์คิง หรืออดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น สร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวโดยใช้เทคโนโลยี deep fake (AI เทคโนโลยีที่ดัดแปลงเปลี่ยนคำพูด หน้าตา ของคนในคลิปได้ด้วยซอฟต์แวร์ ใครสนใจฟังเรื่องนี้ลองตามพอดแคสนี้ไปครับ Deepfake AI กับการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยคำลวง)
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นข่าวดังเหมือนกันช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ.2020 ที่ คานเย เวสต์ (Kanye West) นักร้องชื่อดัง มอบของวัญวันเกิดให้ คิม คาร์แดเชียน (Kim Kardashian) ภรรยาและผู้มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ โดยการสร้างโฮโลแกรมของพ่อเธอที่จากไปแล้ว ซึ่งก็เหมือนกับคลิปเสียงของบูร์เดนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยคอมพิวเตอร์จากข้อมูลเก่า ๆ ที่เป็นคลิปเสียงของพ่อของเธอ (ข้อมูลที่ได้มาบอกว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างอะไรแบบนี้อยู่ที่ประมาณ 1-3 ล้านบาท)
สิ่งที่ทำให้คิดต่อก็คือว่าข้อมูลเหล่านี้ อย่างคลิปเสียง ภาพถ่าย งานเขียน อีเมล หรือแม้แต่สเตตัสเฟสบุ๊กเมื่อเราตายไปแล้วมันควรไปอยู่ไหนและควรมีใครเข้าถึงมันได้บ้าง เพราะตั้งแต่อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (ถ้าบอกว่าไม่ใช่คงไม่ได้แล้ว) มนุษย์ได้มีการสร้างและแชร์ข้อมูลออนไลน์กันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละนาทีมีคนเสิร์ชบนกูเกิลกว่า 3.8 ล้านครั้ง ส่งอีเมล 188 ล้านอีเมล และดูยูทูบวีดีโอ 4.5 ล้านครั้ง โดยพฤติกรรมหรือข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ถูกติดตามและเก็บเอาไว้บนออนไลน์ทั้งหมด นักปรัชญาบางคนถึงกับยกประเด็นขึ้นมาว่าตอนนี้ตัวตนของเราไม่ได้มีแค่ร่างกายกับความคิดเท่านั้น มันต้องรวมตัวตนออนไลน์ไปด้วย
คาร์ล โอมาน (Carl Ohman) นักจริยธรรมดิจิทัลอธิบายเอาไว้ว่าข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่เลยทีเดียว เหตุผลก็เพราะว่าในสมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตนั้น ข้อมูลที่ถูกบันทึกเอาไว้จะมาจากกลุ่มชนชั้นคนมั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น คนทั่วไปนั้นน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ หรือถ้ามีก็อาจจะเป็นมุมมองที่มาจากภายนอก ไม่ใช่คนที่อยู่ในชนชั้นนั้นจริงๆ โอมานยังคาดการณ์เอาไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดศตวรรษนี้แล้วบัญชีของเฟซบุ๊ค (ถ้าโซเชียลมีเดียนี้ยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ) ที่ผู้ใช้ได้ตายไปแล้วจะมีอยู่มากถึง 4,900 ล้านคน
มันจะไม่ใช่แค่คำถามที่ว่าลูกของผมควรทำยังไงกับบัญชีเฟสบุ๊กของผมเมื่อผมตายไปแล้ว? แต่มันเป็นคำถามที่กว้างกว่านั้นว่าคนรุ่นต่อไปจะทำยังไงกับข้อมูลของทั้งเจเนอเรชั่นก่อนหน้าที่ตายไปหมดแล้วดี? มันเป็นข้อมูลสะสมจำนวนมหาศาลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์ เป็นบันทึกเรื่องราวทุกเหตุการณ์จากทั่วทุกมุมโลกแบบลงรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งด้านมืด ด้านสว่าง และด้านสีเทา
โอมานเลยเสนอไอเดียว่าเราควรมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในฐานะของข้อมูลจากโบราณสถาน คล้ายกับข้อมูลมรดกโลกแบบดิจิทัล โดยจะถูกดูแลและจัดเก็บโดยเหล่าผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง และถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนอยากค้นหาข้อมูลการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหญ่ อย่าง ‘ม็อบในประเทศไทยปี พ.ศ.2564’ ‘ปรากฎการณ์ #MeToo’ หรือ ‘เหตุการณ์ 9/11’ ก็สามารถดึงข้อมูลจากคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้นกลับขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ดูแลก่อน
แต่ข้อมูลเหล่านี้ควรมีข้อจำกัดที่ว่าเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะเท่านั้น เหตุการณ์อย่างอีเมลส่วนตัวของบูร์เดนก็ยังไม่ควรมีการเปิดเผยจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากคนใกล้ชิดของเขาอยู่ดี ซึ่งในกรณีนี้ ออตตาเวีย บูเซีย (Ottavia Busia) อดีตภรรยาของบูร์เดนยังออกมาทวีตไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ไม่ใช่ฉันแน่นอนที่บอกว่าโทนี่จะโอเคกับเรื่องนี้” ซึ่งผู้ให้บริการออนไลน์เจ้าใหญ่มักมีกฎตรงนี้ไว้เสมอว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว ตราบใดที่ผู้เสียชีวิตไม่ได้ระบุเอาไว้ก่อนว่าจะให้ใครดูแลหรือถ้ามีผู้ใกล้ชิดมาขอเข้าก็ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนและผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดด้วย
ในกรณีของบุคคลสาธารณะ ดารา เซเลบริตี้ (อย่างเช่นบูร์เดน) แรงจูงใจทางการเงินในการสร้างภาพเหมือนหรือเสียงดิจิทัลด้วย AI นั้นค่อนข้างชัดเจน เป็นสาเหตุที่ภาพถ่ายของพวกเขาได้รับการคุ้มครองโดยสิทธิ์ในการประชาสัมพันธ์หลังมรณกรรมนานถึง 70 ปีหลังความตายในแคลิฟอร์เนีย และในนิวยอร์กเดือนธันวาคม ค.ศ.2020 เป็นเวลา 40 ปีหลังการชันสูตรศพ ถ้ามีความต้องการใช้ภาพของผู้เสียชีวิตก่อนหน้านั้นต้องได้รับความยินยอมจากคนใกล้ชิดก่อน (นักแสดงบางคนอย่าง Robin Williams เจาะจงระบุรายละเอียดเพิ่มเข้าไปด้วยว่าหลังจากที่เขาเสียชีวิตจะต้องรอเพิ่มไปอีก 25 ปี ถ้าจะใช้รูปของเขา เพิ่มเติมจากกฎหมายที่บังคับใช้ในแคลิฟอร์เนีย)
แน่นอนว่าสำหรับหลายๆ คนที่ยังอยู่ข้างหลัง การได้เห็น ได้ยิน ได้รับรู้ (แม้จะรู้ว่ามันไม่จริง) ถึงคนที่เรารักจะสามารถเยียวยาและลดทอนความโศกเศร้าจากการสูญเสียพวกเขาไป แต่ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวังมันก็อาจจะกลายเป็นเป็นดาบสองคมที่ทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วและยึดติดกับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไปแล้ว
มีบริษัทอย่าง HereAfter ที่กลุ่มเป้าหมายคือครอบครัว พวกเขาจะสัมภาษณ์ลูกค้าถึงเรื่องเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้น อย่างเช่นตอนที่ลูกเกิด ตอนที่สร้างธุรกิจ ตอนที่แต่งงาน ต่างๆนานา แล้วเอาข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างเป็นบอตคล้ายกับ Siri พอรุ่นลูก รุ่นหลาน ที่อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ว่าพ่อกับแม่เจอกันได้ยังไง หรือทำไมต้องหย่าร้างกัน ฯลฯ ก็สามารถแชตถามกับตัวบอตเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้น … ในรูปแบบเสียงที่เป็นเสียงของคนที่ให้สัมภาษณ์ด้วย
แพทริก สโตกส์ (Patrick Stokes) อาจารย์อาวุโสด้านปรัชญาที่ Deakin University ผู้เขียนหนังสือ Digital Souls เขียนเอาไว้ว่า
“ถ้าเราเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ ความสัมพันธ์ของเรากับคนที่เรารักคืออะไรล่ะ? เรากำลังทำสิ่งเหล่านี้จากความรักด้วยการโต้ตอบพวกเขาที่ถูกทำให้คืนชีพมาแบบดิจิทัลเหรอ? เรากำลังปกป้องคนตายอยู่หรือเปล่า? หรือกำลังเอาเปรียบพวกเขากันแน่?”
ถ้าข้อมูลที่เราเปิดเป็นสาธารณะจะถูกเก็บรวบรวมเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกเหตุการณ์ของยุคสมัย สามารถสร้างคุณค่าในเชิงความรู้และข้อมูลเพื่อทำให้สังคมในอนาคตดีขึ้นเหมือนอย่างที่โอมานเสนอก็คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย แต่ว่าถ้ามันถูกนำไปสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์ ยกตัวอย่างเช่นถ้านักเขียนชื่อดังอย่าง สตีเฟน คิง เสียชีวิต แล้วมีใครสักคนหัวใสไปสร้างโฮโลแกรมของเขาขึ้นมา แล้วเอาเสียงที่เป็นบทสัมภาษณ์ต่างๆ ไปฝึก AI เพื่ออ่านหนังสือที่เขาเขียนให้ฟังแล้วหาเงิน ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้น
ตราบเมื่อยังมีชีวิตอยู่ตรงนี้ เรามักคิดถึงวันสุดท้ายของชีวิตว่ามันห่างออกไปเสมอ น้อยครั้งมากที่เราจะมานั่งคำนึงถึงว่าเมื่อเราจากไปแล้วทุกอย่างจะเป็นยังไงบ้าง การเตรียมเรื่องพวกนี้ไว้ไม่ใช่เป็นการวางแผนเพื่อจะตายในวันนี้พรุ่งนี้ แต่เป็นการจัดการเพื่อไม่ให้ทุกอย่างยุ่งยากในภายหลังมากกว่า (ผู้เขียนเคยสรุปเกี่ยวกับวิธีการส่งมอบข้อมูลให้คนใกล้ชิดเอาไว้ในบทความนี้ครับ เมื่อวันหนึ่งเราจากไป บัญชีโซเชียลมีเดียของเราจะเป็นยังไงในโลกออนไลน์?)
เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่การระลึกถึงใครสักคนไม่ใช่แค่การปัดฝุ่นเอารูปถ่ายเก่าๆ ออกมาจากกล่องและเล่าถึงความทรงจำที่เคยมีด้วยกัน แต่เป็นการสร้างเวอร์ชันดิจิทัลของบุคคลที่ไม่มีอยู่แล้วให้กลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งแล้ว … และนั้นก็เป็นสิ่งที่ทั้งน่าทึ่งและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Roadrunner: A Film About Anthony Bourdain – Rotten Tomatoes
What Should Happen to Our Data When We Die? | by The New York Times | The New York Times | Jul, 2021 | Medium
Every Minute Online Is a Battle for Consumer Attention | PCMag
The Ethics of a Deepfake Anthony Bourdain Voice in “Roadrunner” | The New Yorker
Illustration by