วิทยาศาสตร์มักเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจเสมอ The MATTER เฝ้าติดตามเรื่องราวนับร้อยพันจากเหล่านักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก ที่ทุ่มเทความสามารถเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาพยายามเผชิญหน้ากับโรคระบาด Climate Change ความปั่นป่วนของจักรวาล และสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว เพื่อกรุยไปสู่คำถามต่อไปว่า
“มนุษยชาติจะก้าวไปในอนาคตอย่างไร”
เราจึงขอจัดอันดับ 20 การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่เราชื่นชอบและสร้างความหวังให้เราเสมอ
1. ‘ปลาคิลลี่ฟิช’ กลายพันธุ์ตัวเอง เพื่อให้ทนสารเคมี 8,000 เท่า
นักวิจัยค้นพบปลาสายพันธุ์พิเศษที่หากินใกล้บริเวณริมชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา จากการปล่อยสารเคมีลงแหล่งน้ำ ทำให้พวกมันต้องวิวัฒนาการตัวเองให้ต้านทานสารเคมีกว่า 8,000 เท่า เมื่อเทียบกับปลาทั่วๆ ไป
ปลาตัวจิ๋วๆ แต่ทนทายาด ‘ปลาคิลลี่ฟิช’ (Killifish) ที่อาศัยในฝั่งมหาสมุทรแอทแลนติก ต้องอยู่ในน่านน้ำที่เต็มไปด้วยมลภาวะจากแหล่งอุตสาหกรรมของ ‘อ่าวนวร์ก’ (Newark Bay) แต่นักวิจัยพบว่า พวกมันกำลังมีกระบวนการ ‘กลายพันธุ์’ (Mutation) โดยทนต่อสารเคมีในน้ำได้สูงกว่าปลาสายพันธุ์อื่นๆ
จากการที่ต้องทนอยู่ในน่านน้ำที่เต็มไปด้วย ไดอ๊อกซิน โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (PCB) และสารโลหะหนักต่างๆ หากเป็นปลาสายพันธุ์อื่นๆ คงว่ายน้ำหงายท้องแล้ว แต่ปลาคิลลี่ฟิชสามารถทนต่อสารเคมีอันตรายได้มากกว่าปกติถึง 8,000 เท่า
การกลายพันธุ์ที่ว่า ทำให้ปลาพัฒนายีนพิเศษปิดกั้นเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากสารเคมี แม้พวกมันจะดิ้นรนอยู่ได้ แต่ในมุมมองนักพิษวิทยานั้น ‘มันไม่ใช่ข่าวดีเลย
ที่มา – science.sciencemag.org
2. พบหางไดโนเสาร์ขนดกๆ ในอำพัน เปิดพื้นที่ความรู้ใหม่ระหว่างไดโนเสาร์และนก
หางไดโนเสาร์ที่เต็มไปด้วยขนปกคลุม ถูกเก็บรักษาอย่างสวยงามในผลึกอำพัน อาจเป็นการค้นพบทางบรรพชีวินที่น่าตื่นตาที่สุดของปีนี้
ชิ้นส่วนอำพันถูกค้นพบในประเทศเมียนมา ซึ่งถูกขายแบบยกเข่งรวมๆ กับอำพันพืชโบราณ แต่ไม่พ้นสายตาของนักบรรพชีวินชาวจีน Lida Xing จากมหาวิทยาลัย China University of Geoscience ที่จำสัณฐานขนไดโนเสาร์โบราณที่ติดอยู่ในยางไม้ได้
ทีมนักวิจัยใช้เทคโนโลยี CT ในการวิเคราะห์โครงสร้างขนและกระดูก สามารถบ่งชี้ทางลักษณะได้ว่า เจ้าของเก่าคือไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก ที่มีรูปร่างเหมือนนก Coelurosaur มีชีวิตอยู่ราว 99 ล้านปีก่อน ในช่วงยุคครีเทเชียส ซึ่งเป็นช่วงยุคปลายของจักรวรรดิไดโนเสาร์ จากความซับซ้อนของขนที่วิวัฒนาการอยู่ใน Stage 5 คล้ายขนนกในปัจจุบัน
หากจะเรียกว่า ‘ขนนก’ ก็ไม่ถูกนัก เพราะ ไดโนเสาร์ต่างหาก คือต้นตำหรับวิวัฒนาการขนอย่างแท้จริง
ที่มา – www.cell.com/current-biology/fulltext
3. พบ ‘แบคทีเรีย’ เก่าแก่ที่สุดในโลก 5 พันล้านปี ก่อนที่โลกจะมีออกซิเจนซะอีก
นักวิจัยพบ ‘ฟอสซิลแบคทีเรีย’ ในแอฟริกาใต้ ที่สามารถสืบค้นอายุได้กว่า 2.52 พันล้านปี หรือก่อนที่โลกจะมีออกซิเจนในชั้นบรรยากาศเสียอีก แทนที่มันจะต้องการออกซิเจน (ซึ่งในยุคนั้นไม่มี) เหมือนสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์อื่นๆ แบคทีเรียรุ่นบุกเบิกกลับใช้กำมะถัน หรือ ‘ซัลเฟอร์’ ในการดำรงชีวิต ซึ่งตอกย้ำข้อสันนิฐานว่า สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่บนโลกได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ออกซิเจนเพียง 1 ใน 1000 หากเทียบกับปัจจุบัน
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย Cincinnati พบว่า เจ้าแบคทีเรียใช้ซัลเฟอร์ในการทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน มีขนาด ‘ใหญ่เบิ้ม’ พอสมควร แม้มันจะอยู่ในสภาวะไร้ออกซิเจนก็ตาม โครงสร้างคล้ายแบคทีเรียปัจจุบันที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Thiomargarita namibiensis ซึ่งมีขนาด 750 ไมครอน (0.75 มิลลิเมตร)
และสามารถยืนยันได้ว่า สิ่งมีชีวิตแรกๆ อย่างแบคทีเรียมีชีวิตอย่างน้อย 2.52 พันล้านปี ทำให้พวกเรามีความหวังที่จะพบ ‘สิ่งมีชีวิต’ บนดวงดาวอื่น แม้จะไม่มีออกซิเจนอยู่ก็ตาม
ที่มา- geology.gsapubs.org
4. แผ่นดินไหวนิวซีแลนด์ ยกก้นทะเลขึ้นถึง 2 เมตร ภายในไม่กี่วินาที
เหตุแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่นิวซีแลนด์ความรุนแรง 7.8 แมกนิจูดของวันจันทร์ที่ผ่านมา ยกพื้นทะเลขึ้นมาถึง 2 เมตร เผยให้เห็นพื้นผิวและชั้นดินที่น่าแปลกประหลาด ปกติการเปลี่ยนแปลงทางธรณีมักเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มันช่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แรงสั่นสะเทือนทำให้ชั้นดินใต้ท้องทะเลเหลื่อมซ้อนขึ้นมา ปรากฏเป็นรูปแบบระบบนิเวศใหม่ที่ไม่มีใครเคยเห็น และพบสิ่งมีชีวิตที่หากินใต้ชั้นดินเหล่านั้น อวดโฉมต่อสาธารณะครั้งแรก
ความรุนแรงของแผ่นดินไหวก่อให้เกิดรอยแยกในเกาะนิวซีแลนด์ทางใต้เพียงชั่วข้ามคืน พวกเขายังเฝ้าระวังเหตุแผ่นดินไหวซ้ำในจุดรอยแยกเดิมอีก 30 วัน เนื่องจากอาจจะมีการสะสมพลังใต้ทะเลอยู่ที่ยังปล่อยออกมาไม่หมด
พื้นที่ยกขึ้นจากท้องมหาสมุทรสูงถึง 2 เมตร น่าจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น!
นักวิจัยกำลังศึกษาว่า รอยแยกและพื้นมหาสมุทรที่ยกตัวขึ้น กำลังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศบนเกาะอย่างไร
แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้มันกำลังจะเป็นที่เที่ยวทางธรรมชาติสุดแปลกประหลาดของนิวซีแลนด์ โดยฝีมือธรรมชาติที่สร้างเพียงขึ้นเสี้ยววินาที จีนสร้างกำแพงเมืองจีน 2,000 ปี แต่ธรรมชาติสร้างกำแพงมหาสมุทรเพียง นาทีเดียว
ที่มา – www.smh.com.au
5. ‘ซูเปอร์มูน’ ใหญ่สุดในรอบ 60 ปี
วันเพ็ญเดือนสิบสอง วันลอยกระทงปีนี้เป็นปรากฏการณ์สุดพิเศษที่อาจจะเกิดให้เห็นเพียงแค่ครั้งเดียวในชั่วชีวิต เพราะพระจันทร์เต็มดวงจะดูใหญ่ที่สุดในรอบ 60 ปี เรียกว่า ‘ซูเปอร์มูน’ ส่วนภาษาทางเทคนิคเขาเรียกว่า ‘Perigee full moon’ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อพระจันทร์บังเอิญมาเต็มดวงเอาตอนที่มันอยู่ใกล้โลกที่สุดด้วย
สำหรับคราวนี้ พระจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดเวลา 20.09 นาฬิกา ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ซึ่งตรงกับตีสามเก้านาทีบ้านเรา โดยพระจันทร์จะอยู่ห่างโลกเป็นระยะทาง 356,511 กม. ใกล้โลกที่สุดนับแต่ปี 1948
ที่มา : www.theguardian.com
6. พบหลักฐานการก่อไฟครั้งแรกของมนุษย์
มนุษย์ยุคบุกเบิกมีชีวิตเมื่อ 800,000 ปีก่อน ควบคุมไฟครั้งแรกได้ในถ้ำของพวกเขาเอง การค้นพบล่าสุดของทีมนักบรรพชีวินจากมหาวิทยาลัย Murcia ในสเปน พบหลักฐานสำคัญที่ชี้ชัดว่ามนุษย์พยายามก่อไฟและมีทักษะการใช้ประโยชน์จากความร้อนซึ่งสามารถย้อนเวลากลับไปราว 1 ล้านปีที่แล้ว
ทีมสำรวจเริ่มงานขุดเจาะถ้ำในสเปนตั้งแต่ปี 2011 พวกเขาพบหินที่ถูกสกัดด้วยความร้อน 165 ชิ้น พร้อมกับซากกระดูกสัตว์จำนวนมากที่ปรากฏร่องรอยการเผา เมื่อวิเคราะห์ทางเคมีพบว่ากระดูกถูกเผาด้วยความร้อนที่ 400 – 600 องศาเซลเซียส จึงสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์ในยุคบรรพกาลใช้ไฟในการปรุงอาหารแบบหยาบๆเป็นแล้ว และทีมสำรวจยังพบเครื่องมือหินที่น่าจะเป็นตัวจุดประกายไฟขนาดเหมาะมือ พร้อมๆกับเชื้อจุดไฟจำนวนมาก
ที่มา : www.sciencenews.org
7. ทีมวิจัยจีนโชว์เทคนิคสร้าง ‘แกะลายจุด’ ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรม
เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงจากแวดวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ‘CRISPR/Cas9’ ทำให้พวกเราแก้ไขพันธุกรรมในระยะตัวอ่อนได้อย่างแม่นยำและสามารถตัดแต่งยีน ‘ได้ทุกตำแหน่ง’ ราวกับการ Copy/Paste ตัวอักษรทำรายงานส่งครู
ทีมนักวิทยาศาสตร์จีน Liu Mingjun จากสถาบัน Xinjiang Animal Husbandry Research โชว์ผลงานล่าสุดเพื่อตอกย้ำว่า ‘ดัดแปลงได้ทุกอย่าง’ แม้กระทั้งการเปลี่ยนสีขนแกะให้เป็นจุด! (ขณะนี้จีนเป็นผู้นำด้านพันธุวิศวกรรมรายต้นๆของโลก) และโครงการต่อไปคือการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้กับแกะรุ่นต่อๆไป ทีมวิจัยหวังผลการทดลองนี้จะเป็นการกรุยทางสู่ความก้าวหน้าทางพันธุวิศวกรรมและประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เราจะพัฒนาอวัยวะสัตว์ให้พร้อมเปลี่ยนถ่ายสู่ร่างกายมนุษย์ในเร็ววัน
ที่มา – www.mirror.co.uk
8. วิทยาศาสตร์เปลี่ยน CO2 ให้กลายเป็น ‘หิน’ ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน
กิจกรรมของมนุษย์ปล่อย ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ (CO2) ปริมาณมหาศาลจนธรรมชาติต้องขอบายไปซดน้ำใบบัวบก แม้เราสามารถพัฒนาวิทยาการเพื่อลดการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้แล้ว แต่ค่าใช้จ่ายยังโขอยู่ แล้วเรามีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม?
ถ้าอย่างนั้นก็ฝังให้กลายเป็น ‘หิน’ ซะเลยสิ! ทีมนักวิจัยนานาชาติพยายามศึกษาความเป็นไปได้ โดยการปั้ม CO2 ลงไปในชั้นใต้ดินและเปลี่ยนสารองค์ประกอบมันเสียหน่อย ซึ่ง CO2 จะกลายเป็นของแข็งโดยใช้เวลาไม่กี่เดือน ทำให้การจัดการกากของเสียจากโรงไฟฟ้าเป็นไปได้อย่างปลอดภัยและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด
โครงการนี้ใช้ชื่อรหัสว่า CarbFix ทดลองติดตั้งในโรงไฟฟ้า Hellisheidi โดยปั้มลงไปชั้นหินบะซอลภูเขาไฟใต้โรงงานนี้เอง เมื่อหินบะซอลทำปฏิกิริยากับ CO2 และน้ำ ตะกอนคาร์บอนจะเปลี่ยนเป็นสีขาวมีความแข็ง ไม่ซึมขึ้นมาบนผิวดิน ไม่ละลายน้ำ ตัดปัญหาการปนเปื้อนสภาพแวดล้อมแบบโล่งอกโล่งใจ
ที่มา : science.sciencemag.org
9. ครั้งแรกอาจจะ ‘ฟลุก’ แต่ครั้งที่สอง ‘ชัวร์แท้แน่นอน’
ทีมนักวิทยาศาสตร์พบ ‘คลื่นความโน้มถ่วง’ (Gravitational Wave) เป็นครั้งที่ 2 ห่างกันเพียงไม่กี่เดือน! เป็นที่ยืนยันแล้วว่า หอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง ‘LIGO’ สามารถตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงได้อีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อยืนยันว่า ปรากฏการณ์ ‘หลุมดำชนกัน’ ในเอกภพ อาจเกิดถี่กว่าที่คิด!
เช่นเดียวกันกับการค้นพบครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับ ‘หลุมดำ’ (Black hole) 2 ดวงหมุนรอบกันด้วยความเร็วสูง วนหลายรอบในหนึ่งวินาที ก่อนที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งกระบวนการนี้จะปล่อยคลื่นแรงโน้มถ่วงพลังมหึมาด้วยความเร็วแสง กางคลื่นออกเหมือนวงน้ำเมื่อ 1.4 พันล้านปีก่อนที่มนุษย์จะค้นพบปรากฏการณ์ที่ว่าเมื่อ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว
การตรวจจับครั้งที่ 2 ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์มั่นใจมากขึ้น และอาจทำให้เรารู้จักความหลากหลายของหลุมดำที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วจักรวาล
ที่มา : physics.aps.org
10. ทีมวิจัยพบนวัตกรรม ‘แท่งนาโน’ ดูดซับน้ำจากอากาศได้
ทีมวิจัยพัฒนา ‘Nanorods’ ได้อย่างบังเอิญในห้องทดลอง มันคือ ก้านคาร์บอนขนาดเล็กจิ๋ว ที่สามารถสกัดและคายน้ำจากอากาศได้ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งก็ตาม ซึ่งเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปปรับปรุงเป็น ‘เครื่องกรองน้ำจากอากาศ’ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ใช้พลังงานนิดเดียว หรือนำไปผลิตเป็นเส้นใยสำหรับสวมใส่ เพื่อการดูดซับเหงื่อจากร่างกายดีกว่าเส้นใยใดๆในโลก
David Lao จาก Pacific Northwest National Laboratory (PNNL) และทีมงานบังเอิญค้นพบ ‘Nanorods’ ในขณะกำลังพัฒนาเส้นใยแม่เหล็กนาโน (Magnetic Nanowires) แต่กลายเป็นว่าเส้นใยที่พวกเขาทำ กลับมีน้ำหนักมากขึ้นตามความชื้นในห้องอย่างมีนัยยะ จนตอนแรกพวกเขาคิดว่าสิ่งประดิษฐ์นั้น “เจ๊งบ๊ง” ไปแล้ว
แต่เมื่อส่องดูในกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่าเส้นใย Nanorods โอบอุ้มน้ำในห้องไว้ โดยน้ำจะยึดปลายเส้นใยไว้ด้วยกัน แต่เมื่อปลายเส้นใยห่างกันเกิน 1.5 นาโนเมตร น้ำก็คายออก!
ความฟลุคสุดกู่ ทำให้วงการเทคโนโลยีนาโนกลับมาคึกคัก และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต พวกเราจะสามารถผลิตน้ำไว้ใช้เองจากการควบแน่นหยดน้ำในอากาศ แม้จะอยู่กลางทะเลทรายอันร้อนระอุ พวกเราก็ไม่มีทางขาดน้ำตายอย่างแน่นอน
ที่มา – www.pnnl.gov
11. นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวัคซีน 2 ชนิดเพื่อเป็น ‘ผู้พิชิต’ Zika หลังได้ผลในหนูทดลอง!
ต้นปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศภาวะฉุกเฉินจากโรคระบาดที่มียุงเป็นพาหะ Zika ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อมีความพิการทางโครงสร้างสมอง และภัยร้ายนี้ลุกลามอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ หนูทดลองที่ถูกฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง หลังจากนั้น 4 สัปดาห์พวกมันถูกทำให้ติดเชื้อไวรัส Zika แต่เมื่อผ่านไปราว 8 สัปดาห์กลับไม่มีหนูตัวใดติดเชื้อเลย แสดงว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อด้วย
ขั้นตอนต่อไป ทีมวิจัยหวังผลทดลองในกลุ่มไพรเมทที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ (ลิง) เพื่อยันยืนว่า วัคซีนปลอดภัยพอที่จะทดลองในมนุษย์ อย่างเร็วที่สุดต้นปีหน้า แม้จะยังไม่การยืนยันว่าวัคซีนจะโชว์เจ๋งในกรณีของมนุษย์แค่ไหน
แต่ทีมวิจัยตั้งเป้าว่า ‘มันต้องสำเร็จ’ นับเป็นชัยชนะก้าวแรกของวิทยาการการแพทย์ ต่อไปนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคงต้องเตรียมรับมือจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจคุกคามชีวิตของพวกเราอีก
ที่มา : www.nature.com
12. สหรัฐฯฝึก ‘ตั๊กแตน’ พิสูจน์ระเบิด
มนุษย์ใช้สัตว์ตรวจวัตถุระเบิดมานานแล้ว ในปัจจุบันเราใช้สุนัขดมกลิ่นซึ่งทำหน้าที่ไม่เลว นักวิจัยเขมรก็ฝึกหนูไว้กู้ระเบิด (และเราก็เคยทู่ซี้ใช้ไสยศาสตร์และ Pseudoscience ไปกับ GT200)
คราวนี้ไม่ยกหน้าที่ ให้แมลงดูบ้างล่ะ? ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ Baranidharan Raman จากมหาวิทยาลัย Washington ทดสอบความสามารถในการตามกลิ่นของตั๊กแตน ซึ่งพวกมันมีทักษะการดมกลิ่นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างเก่งกาจ ก็น่าจะเป็นไปได้ที่มันจะตามกลิ่นวัตถุหรือวงจรระเบิดได้ด้วย
ทีมวิจัยออกแบบรอยสักที่สามารถส่งผ่านความร้อนไปยังปีกของแมลง เพื่อควบคุมทิศทางการบินของมันได้ เมื่อตั๊กแตนพบวัตถุต้องสงสัย มันจะส่งสัญญาณประสาทไปยังคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ติดอยู่บนลำตัว เพื่อตีเป็นสัญญาณด้วยแสง LED ว่า ‘ใช่ (สีเขียว)’ หรือ ‘ไม่ใช่(สีแดง)’
ทีมงานของ Ramen วางแผนสร้างกองทัพตั๊กแตนพร้อมใช้งานในอีก 2 ปี หลังจาก สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือของสหรัฐฯ สนับสนุนทุนวิจัย 750,000 เหรียญ
ที่มา – www.telegraph.co.uk
13. JUNO ส่ง ‘ภาพแรก’ จากภารกิจสำรวจดาวพฤหัส
ขณะที่โคจรรอบดาวพฤหัสในระยะห่าง 3 ล้านไมล์ เผยให้เห็นดาวในด้านที่ถูกแสงอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ลิบๆ อีก 3 ดวง ไอโอ (Io) ยูโรป้า (Europa) และแกนีมีด (Ganymede) โดย Juno สัญญาว่าจะเข้าใกล้กว่านี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม
คำถามคือ ถึงตั้งนานแล้ว ทำไมพึ่งส่งภาพมา? เนื่องจากการเคลื่อนที่เข้าวงโคจรดาวพฤหัส ยาน Juno ต้องปะทะกับรังสีอย่างรุนแรง มันจึง ‘ปิดระบบ’ กล้องไว้เพื่อป้องกันความเสียหาย พอนักวิทยาศาสตร์เห็นภาพนี้แล้วก็โล่งใจ กล้อง JunoCam ยังทำงานได้ดีอยู่แม้ต้องเผชิญสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายก็ตาม
14. แพทย์จะใช้เครื่อง VR ส่องสมองคุณ
แว่น VR ที่ใกล้วางตลาดกรุยทางสู่โลกบันเทิงเสมือนจริง แต่มันจะไม่ใช่ของเล่นขำๆ เมื่อแพทย์เองก็สนใจอยากส่องสมองคุณด้วยเจ้าเครื่องนี้เช่นกัน ทีมแพทย์ของ Surgical Theater เริ่มโครงการใช้เทคโนโลยี VR ร่วมกับการศัลยกรรมสมองผู้ป่วย โดยแพทย์จะสวมแว่นตา VR ในการสำรวจสมองที่อยู่ภายใต้กะโหลกในรูปแบบ Full 3D และกำหนดเส้นทางที่จะทำการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงในการทำลายเซลล์สมองส่วนที่ดี ซึ่งระบบ VR จะทำให้แพทย์ผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและตรงจุดยิ่งขึ้น
ระบบทำงานร่วมกับ VR มีชื่อว่า SNAP (Surgical Navigation Advanced Platform) ที่ใช้การทำงานของ MRI และโมเดลความละเอียดสูง 3 มิติทำให้การวินิจฉัยโรครวดเร็วกว่าในอดีต
ระบบ SNAP พิสูจน์ตัวเองเป็นเวลา 7 เดือน ผ่าสมองผู้ป่วยไปแล้วกว่า 900 ราย และทีมแพทย์ก็ดูชื่นชอบมันมาก จนเชื่อว่า VR จะมายกมาตรฐานวงการแพทย์ได้อย่างน่าตื่นเต้น
ที่มา – www.surgicaltheater.net
15. อาจารย์ม. นเรศวร และ ม. ราชภัฏเชียงรายค้นพบระบบดาวคู่ชนิดใหม่เป็นครั้งแรก
ผศ.ดร. อมรรัตน์ อังเวโรจน์วิทย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนางสาวศิรินภา อาจโยธา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นำโดย Prof. Tom Marsh แห่ง University of Warwick และทีมนักวิจัย ค้นพบระบบดาวคู่ชนิดใหม่ Radio Pulsing White Dwarf Binary เป็นครั้งแรก คือระบบดาวคู่ AR Scorpii ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 380 ปีแสง
ระบบดาวคู่นี้ประกอบด้วยดาวแคระขาวและดาวเย็นมวลต่ำ ซึ่งสนามแม่เหล็กและการหมนุรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว ทำให้อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากๆ อนุภาคพลังงานสูงแผดรังสีไปที่ดาวเย็นมวลต่ำ ทำให้ทั้งระบบสว่างวาบขึ้นสลับกับมืดลงทุก 1.97 นาที
ที่มา –www.nu.ac.th
16. ปริศนาการตาย ‘ป้าลูซี่’ กระจ่าง!
หลายคนคงมีโอกาสพบ ‘ป้าลูซี่’ หรือโฮมินิดสายพันธุ์ ออสตราโลพิเธคัส (Australopithecus) บรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกของพวกเราที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในตอนยังเป็นเด็กๆ แต่การตายของป้ายังเป็นปริศนาอยู่เสมอมา แม้จะมีการขุดค้นฟอสซิลมาตั้งแต่ปี 1974 นู้น
ล่าสุด John Kappelman นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Taxas ปัดฝุ่นกระดูกป้าลูซี่อีกครั้งและได้ร่วมมือกับนักศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์อีก 9 คน เพื่อคลายปมปริศนาการตาย ด้วยเทคนิค X-Ray รังสีส่วนตัดโดยอาศัยคอมพิวเตอร์หรือ CT ทำให้พวกเขาเห็นมวลกระดูกและส่วนแตกหักได้อย่างละเอียด
ป้าลูซี่ตกจากความสูงอย่างน้อย 12 เมตร ด้วยความเร็ว 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กระแทกพื้นดังแอ๊ก! ทำให้กระดูกไหล่และแขนส่วนบนอัดกระแทกจนกระดูกแตก แขนกางออกเพื่อพยายามยันตัวตามสัญชาตญาณ แต่กลับไม่สำเร็จ กระดูกหักและเกิดบาดแผลฉีกขาด ท้ายที่สุดหล่อนก็ตายใต้ต้นไม้นั้นเอง
แม้การพลาดพลั้งในอดีตทำให้นักมานุษยวิทยาต่อจิ๊กซอว์ชีวิตของออสตราโลพิเธคัส ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การอาศัยบนต้นไม้จะเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตเพื่อหลบหนีนักล่า ป้าลูซี่ของเราก็ยังเดินบนพื้นดินได้ดี และความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมชีวิต
17. นาซ่าเจออะไรใน ‘ยูโรป้า’ แต่สปอยก่อนว่า ‘ไม่ใช่เอเลี่ยน’
นาซ่าแถลงข่าวการค้นพบล่าสุดบนดวงจันทร์ ‘ยูโรป้า’ อันหนาวเหน็บของดาวพฤหัสบดี จากการเก็บภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล คราวนี้ผู้คนตื่นเต้นกันใหญ่ เพราะ ยูโรป้า เป็นดาวที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากดวงหนึ่ง หรือพวกเราจะพบเจ้าเพื่อนตัวน้อยแล้ว?
นาซ่าบอกปัดทันทีว่า ‘ไม่ใช่อย่างนั้น’ เราไม่สามารถส่องสิ่งมีชีวิตด้วยกล้องฮับเบิลได้ในตอนนี้ แต่ข่าวนาซ่าก็ไม่ได้จืดชืดเสียทีเดียว
พวกเขาไขปริศนา พื้นมหาสมุทรใต้พิภพบนดาวยูโรป้า ซึ่งอาจเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต
มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีมหาสมุทรขนาดมหึมาถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกน้ำแข็ง และมีการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทร ซึ่งแผ่นเปลือกน้ำแข็งดูดซึมสารเคมีจากเปลือกโลกลงสู่น้ำในมหาสมุทร เมื่อทำปฏิกิริยาเคมีกับบริเวณส่วนที่ร้อนและแก่นกลางดาวที่เป็นหิน อาจทำให้มันมีลักษณะเป็น ‘น้ำเค็ม’ ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ
ซึ่งน้ำเค็มนี้เอง คือจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิตมานักต่อนัก ดังนั้น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในดาวยูโรป้า อาจจะไม่ได้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว แต่อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนแล้ว อย่างแมงกะพรุน หรือ ฟองน้ำทะเล
ที่มา – www.space.com
18. อีลอน มัสก์ เผยแผนช่วยเหลือมนุษยชาติ โดยการไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร
อภิมหาเศรษฐี Tech พันล้าน ‘อีลอน มัสก์’ พยายามเชิญชวนพวกเราและอีก 1 ล้านคนไปตั้งรกรากใหม่บนดาวอังคาร หากพวกเราอยากจะรักษาเผ่าพันธุ์เอาไว้
บริษัท SpaceX ที่ก่อตั้งมา 14 ปี (และเกือบดับไปเหมือนกัน) กำลังพัฒนาจรวดระดับ Next Gen รุ่นล่าสุด เพื่อให้เราสามารถเดินทางไปยังดาวอังคาร เป็นแผนสำรอง หากมนุษยชาติบนโลกถึงทางตัน
ในงานแถลงข่าววันอังคารที่ผ่านมา เขาเผยภาพ ระบบขนส่งระหว่างดาว ‘Interplanetary Transport System’ (ITS) ซึ่งเริ่มทำการทดสอบเครื่องยนต์ Raptor ที่มีพละกำลังกว่าเทคโนโลยีเดิมที่ SpaceX เคยมี
โดยมัสก์โชว์ภาพเครื่องยนต์ Raptor จุดระเบิด ซึ่งเป้าหมายคือ ต้องให้ได้แรงส่ง 310 เมตริกตัน ภายในเวลา 382 วินาที ทำให้ Raptor มีกำลังมากกว่าเครื่องยนต์ Merlin เดิมๆ ที่เคยใช้ถึง 3 เท่า และเขาเชื่อว่า มันจะพร้อมส่งจรวด Red Dragon พร้อมมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคาร อย่างช้าที่สุดในปี 2018
นอกจากนั้นเขายังพูดถึงความท้าทายที่มนุษย์ตั้งอาณานิคมบนดาวแดง เพื่อที่จะเปลี่ยนมันเป็นบ้านหลังที่ 2 สำหรับการดำรงอยู่อาศัยอย่างถาวร โดยการออกแบบสถาปัตยกรรม โครงสร้างอุตสาหกรรม และรัฐบาลควรมีหน้าตาอย่างไร ซึ่งเชื้อเชิญเครือข่ายวิทยาศาสตร์มาช่วยกันขบคิด
ที่มา – www.businessinsider.com.au
19. ฮับเบิลพบ ‘ลูกบอลพลาสมา’ ยิงจากดวงดาวที่กำลังตาย
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ของรักของหวงองค์กรนาซ่า ตรวจจับ ‘ลูกบอลพลาสมา’ ขนาดดาวอังคารเรียกพี่ (ใหญ่กว่า 2 เท่า) ยิงตรงจากดาวที่กำลังจะตายในความเร็วสุดสปีด
แม้ปรากฏการณ์นี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสามารถตรวจพบได้ในทุกๆ 8.5 ปี มาตลอด 400 ปีที่ผ่านมา แต่นี้เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์รู้ว่ามันมาจากไหน!
ดาวที่น่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยที่สุดคือ ‘V Hydrae’ ดาวแดงเถือกที่อยู่ห่างจากโลก 1,200 ปีแสง และมันกำลังจะตาย พินัยกรรมสุดท้ายคือการดีดมวลออกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของดาวในขณะที่ร้อนจัดๆ ด้วยพลังงานนิวเคลียร์ เพราะลูกพลังงานพลาสมา อาจทำให้เราเข้าใจ เนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebula) ของจักรภพที่ยังเป็นปริศนา
ส่วนที่เคยเป็นแก๊สและฝุ่นผงชั้นผิวนอกของดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อย เมื่อดาวฤกษ์ดวงนั้นได้เปลี่ยนสภาพเป็นดาวยักษ์แดง และเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้หมดลงแล้ว แกนกลางของดาวก็จะยุบลงกลายเป็นดาวแคระขาว
ลูกบอลพลาสมาจึงเป็นพลังงานเฮือกสุดท้าย ที่มีความร้อนถึง 9,400 องศาเซลเซียส (ร้อนกว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์ 2 เท่า) โดยยิงออกจากดาว V Hydrae จากด้านหน้าบ้าง ด้านหลังบ้าง ในระหว่าง 17 ปีที่นาซ่าเคยสังเกตการณ์ไว้
ที่มา – iopscience.iop.org
20. แกะโคลนนิ่ง สุขภาพยังดีอยู่หรือเปล่า?
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ‘ดอลลี่’ แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลกพิสูจน์ให้เห็นว่า DNA จากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เจริญวัยสามารถนำไปใส่ในไข่ที่ยังไม่ผสม เมื่อครบกำหนดออกมาดูโลก เจ้าแกะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับแกะเจ้าของเซลล์ทุกประการแบบทำสำเนามาไม่มีผิด
แม้ดอลลี่จะตายก่อนอายุขัยตามธรรมชาติเพียง 6ปีครึ่ง จากอาการโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) จนนักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ว่า ‘การโคลนนิ่งอาจทำให้สิ่งมีชีวิตอายุสั้นลง’
เพื่อพิสูจน์ว่า สัตว์โคลนนิ่งจะมีสุขภาพแย่กว่าสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติหรือไม่? Kevin Sinclair และทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Nottingham ติดตามชีวิตของแกะ 4 ตัว ‘เด็บบี้’ ‘เดนนิส’ ‘ไดอานา’ และ ‘เดซี่’ ซึ่งทั้งหมดใช้เซลล์แช่แข็งชุดเดียวกันกับดอลลี่ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นญาติกัน
ทีมวิจัยติดตามช่วงเวลาตั้งแต่เกิด จวบจนพวกมันเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งขณะนี้เหล่าแฟมิลี่แกะมีอายุ 9 ปีแล้ว (ถ้าเทียบกับมนุษย์ก็มีอายุกว่า 60 – 70 ปี) แต่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี เทียบเท่าแกะที่เกิดตามธรรมชาติ จากการตรวจมวลกระดูก ความดัน และน้ำตาลในเลือด ไม่มีร่องรอยความแก่ชราก่อนวัยตามที่ตั้งข้อสังเกตกัน
แล้วทำไมดอลลี่ถึงตายก่อนวัยอันควรล่ะ? ทีมนักวิทยาศาสตร์แสดงความเห็นว่า ดอลลี่น่าจะติดโรคมาจากสัตว์อื่นๆ ในฝูงมากกว่าปัญหาทางพันธุกรรม และแกะตัวอื่นๆ ที่เกิดตามธรรมชาติและถูกเลี้ยงในสถาบันก็มีปัญหาโรคข้อเช่นกัน
งานศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า หากสัตว์โคลนนิ่งสามารถเอาชีวิตรอดในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากลืมตาดูโลกได้ ก็มีแนวโน้มว่าพวกมันจะมีชีวิตปกติเหมือนสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติทั่วไป ปัจจุบันการโคลนนิ่งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดูดเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) เพื่อการวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์ในปศุสัตว์ให้แข็งแรงขึ้น
ที่มา- nottingham.ac.uk