คุณอาจรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีอะไรบางอย่างจ้องมองอยู่ คุณรับรู้พลังงานลึกลับที่กำลังโอบล้อม ขนอ่อนๆ ทั่วร่างกายลุกซู่ไปหมด อากาศเย็นอย่างน่าแปลกประหลาด แสงสลัวๆ ตรงทางเดินเหมือนมีร่างเงาทะมึนจ้องมองอยู่ คุณไม่แน่ใจหรอกว่า ประสบการณ์นี้คือการ ‘เจอผี’ หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คุณรู้สึก ‘กลัว’ ซึ่งความกลัวนี่เองที่เป็นความรู้สึกสุดพิเศษที่ใครๆ ก็อยากพิสูจน์ (เหรอ) บางคนก็ชอบที่เจออะไรแบบนี้ แล้วเราจะสามารถสร้างประสบการณ์เจอผีได้ไหม?
ประสบการณ์เจอผีนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่แวดวงวิทยาศาสตร์เองสนใจมาอย่างช้านาน และเป็นประสบการณ์ที่ดึกดำบรรพ์เสียด้วย แต่นักวิทยาศาสตร์เองอาจไม่ได้สนใจที่อยากจะจับผีเป็นตัวๆ มาใส่ในไหเหมือนในหนังหรือนิยาย พวกเขาสนใจปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของมนุษย์ที่ก่อร่างสร้างความรู้สึกเมื่อ ‘เจอผี’ ที่ร่างกายของเราตอบสนองต่อสถานการณ์เร้าบางอย่าง จนคุณรู้สึกว่า ‘โดนหลอกแล้ว’ ทำไมเราถึงตีความไปว่าถูกผีหลอก แล้วเราสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดซ้ำๆ ได้อีกหรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็มีคนจำนวนมากชอบเผชิญหน้ากับความเร้นลับ อย่างเกม VR ที่สำรวจบ้างผีสิงก็ยังฮิตระเบิดอีกต่างหาก ถ้าเราสร้างปัจจัยต่างๆ ได้ ก็อาจทำให้เราดึงความกลัวมาใช้ประโยชน์ได้หลายๆ อย่าง
การพยายามทำความเข้าใจประสบการณ์เหนือธรรมชาติ (paranormal experiences) มีมานานแล้ว เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นยุค 1900 ที่นักประดิษฐ์วิทยุรุ่นบุกเบิกชาวอังกฤษ Oliver Lodge พบความเชื่อมโยงว่า การสั่นสะเทือน (vibration) ในย่านความถี่จำเพาะมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์พลังจิตโดยเฉพาะการสั่นที่เกิดจากเสียง ที่เรียกว่า Infrasound ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่ต่ำเกินกว่ามนุษย์จะได้ยิน และอีกปัจจัยคือ ปรากฏการณ์คลื่นสนามแม่เหล็ก
ไอเดียนี้อยู่มากว่าร้อยปีจนกระทั่งปีค.ศ. 1998 นักวิจัย Vic Tandy จากมหาวิทยาลัย Coventry University ในอังกฤษ พบหลักฐานที่ชี้ชัดลึกไปอีกว่า ความถี่เสียง Infrasound ที่อยู่ในย่านความถี่ 19 เฮิรตซ์ (Hz) มีอิทธิพลต่อร่างกายมนุษย์ ทำให้รู้สึกสั่นไหว เหมือนมีอะไรอยู่ใกล้ๆ หรือรู้สึกถึงพลังงานลึกลับห้อมล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครสามารถจำลองความรู้สึกนี้ได้
ความสนุกเร้นลับเริ่มขึ้น เมื่อมีการพยายามสร้าง ห้องจำลองประสบการณ์เจอผี (ghost room) ในปีค.ศ. 2009 โดยใช้องค์ความรู้ที่สะสมมาสร้างเป็นห้องที่ท้าทายผัสสะของมนุษย์ โดยตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย London University ซึ่งท้าทายให้อาสาสมัครใจแข็งเข้าร่วมทดลอง หน้าตาของห้องอาจไม่ต่างจากห้องเหลี่ยมๆ ปกติที่คุ้นเคย แต่ก็อุดมไปด้วยเครื่องมือที่สามารถควบคุมปัจจัยที่ทำให้ร่างกายมนุษย์รู้สึกถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติได้ อาสาสมัครที่เข้าทดสอบในห้องนี้รายงานว่า ให้ความรู้สึกขนลุก รู้สึกเหมือนถูกแตะ เขี่ย รู้สึกเศร้าฉับพลัน หวาดกลัว เหมือนเห็นอะไรบางอย่างเคลื่อนไหวในห้อง หรือแม้แต่ความรู้สึกถูกปลุกเร้าทางเพศก็มีเช่นกัน ปรากฏการณ์นี้เกิดจากห้องทดลองปล่อยคลื่น Infrasound และ สร้างสนามแม่เหล็กไปพร้อมๆ กัน ซึ่งคลื่นสนามแม่เหล็กเองมีรายงานว่า สามารถกระตุ้นให้สมองเกิดภาพลวงตาได้
ในสภาพแวดล้อมรอบตัวของเราเองก็ล้วนเต็มไปด้วยแหล่งกำเนิดเสียง Infrasound ทั้งจากท่อเครื่องปรับอากาศ ถนนที่มีการจราจรติดขัด เครื่องบิน ฟ้าแลบฟ้าร้อง แผ่นดินไหว Infrasound เป็นคลื่นเสียงที่เดินทางได้ระยะไกล สิ่งทำให้รู้สึกถึงพลังอำนาจลึกลับยังรวมไปถึง ‘บริบท’ (Context) ของสถานที่นั้นๆ ด้วย อาทิ ในโบสถ์มักมีเครื่องดนตรีออร์แกนขนาดใหญ่ที่เมื่อบรรเลง จะให้ความรู้สึกถึง ‘พระเจ้า’ หรือในวัดมีเสียงระฆังที่ทำให้รู้สึก ‘ขลัง’ โดยทั้งออร์แกนและระฆังก็สามารถสร้างเสียง Infrasound ได้เช่นกัน เป็นไปได้ว่า บ้านร้างหรือสถานที่เคยมีรายงานการปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ อาจมีแหล่งกำเนิดเสียงในรูปแบบ Infrasound ที่กระตุ้นให้มนุษย์รู้สึกพลังงานเร้นลับได้
ความรู้สึกเย็นจนขนลุก ทำให้เรารู้สึกเห็นผีไหม?
ทุกครั้งที่มีรายงานการพบเห็นผี มักสอดคล้องกับอุณหภูมิร่างกายที่ลดลง ความรู้สึกเหมือนลมเย็นๆ พัดผ่านตัว ส่วนหนึ่งมาจากสมองส่วน amygdala ที่เมื่อเรารู้สึกถึงภัยคุกคาม ความไม่แน่ใจ รู้สึกเสี่ยงอันตราย ร่างกลายจะหลั่งอะดรีนาลีน ฮอร์โมนนี้จะลำเลียงเลือดจากผิวหนังไปสู่กล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีความพร้อมที่จะ ‘สู้หรือถอยหนี’ (Fight or Flight) อุณหภูมิในร่างกายจึงลดต่ำลงฉับพลัน ทำให้รู้สึกหนาวเย็น สอดคล้องกับอาการที่ผู้พบเห็นผีมักรู้สึกหนาวสั่น ประสบการณ์เจอผีนั้นส่วนใหญ่พบเจอตอนกลางคืน ซึ่งมนุษย์เป็นสัตว์กลางวัน ที่มีระบบร่างกายรับรู้วัฏจักรระหว่างกลางวัน/กลางคืน ที่เรียกว่าระบบ circadian rhythm เรามักรู้สึกอ่อนล้าและง่วงนอนในช่วงกลางคืน ทำให้สมองตัดสินใจผิดพลาดตีความภาพเป็นรูปแบบต่างๆ
หรือว่าบางคนสามารถรู้สึกถึงการถอดจิตออกจากกายหยาบได้ ส่วนหนึ่งมาจากสมองส่วน Temporoparietal Junction (TPJ) ที่เมื่อถูกกระตุ้นด้วยไฟฟ้า จะสร้างความรู้สึกเสียศูนย์ ร่างกายพลัดตกจากที่สูง เหมือนกำลังร่วงหล่น และเมื่อกระตุ้นไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก จะรู้สึกเหมือนจิตกำลังลอยออกจากร่าง ทำให้ร่างกายอยู่ในพะวงเมื่อเจอประสบการณ์เหนือธรรมชาติ
สิ่งที่เรียกว่า out-of-body experiences หรือ OBE ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยสมองส่วน Temporoparietal junction (TPJ) ซึ่งอยู่ ณ จุดที่กลีบสมองขมับ (Temporal lobe) และสมองกลีบข้าง (Parietal lobe) มาทำงานผสานกัน ควบคุมการรับรู้ความสัมพันธ์และตำแหน่งของร่างกาย (Body scheme) ของเรา มันจะคอยอัพเดทร่างกายมวลรวมของเราทั้งหมด ว่าเราอยู่ที่ไหนภายในพื้นที่นั้นๆ หากให้คุณลองปิดไฟอยู่ในห้องมืดเพียงคนเดียว คุณก็พอคลำได้เลาๆ ว่า กำลังยืนอยู่ตรงไหนท่ามกลางความมืดมิด
สมอง TPJ ไม่เพียงควบคุมการรับรู้ตำแหน่ง แต่ยังควบคุมการรับรู้บุคลิกภาพและรูปลักษณ์ภายนอกของตัวคุณอีกด้วย โดยไปดึงความทรงจำและก่อรูปร่างเป็นตัวคุณแบบที่คุณเห็น บางครั้งคุณอาจเห็นตัวเองหรือคนที่คุ้นเคย เพราะสมองของเรานั้นง่ายต่อการบิดเบือน
ใครจะได้ประโยชน์จากการที่เราจำลองประสบการณ์เจอผีรายแรกๆ? ก็คนทำเกมผีไง!
ความกลัวก็เป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้องค์ความรู้ด้านผัสสะและการตอบสนองของมนุษย์ที่ยิ่งแนบเนียนเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเข้าใกล้ประสบการณ์เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น เราอาจสร้างสภาพแวดล้อมที่ควบคุมปัจจัยต่างๆ ปล่อยคลื่นเสียง Infrasound สนามแม่เหล็กเพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกขนหัวลุก นอกเหนือไปจากความบันเทิงแล้ว เกมผีๆ ก็จะเป็นส่วนสำคัญให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ประสบการณ์ของมนุษย์ เราจะอยู่กับความกลัวได้อย่างไรโดยไม่ถูกครอบงำจนใช้ชีวิตลำบาก
‘ความกลัวผี’ ก็เป็นรสชาติที่ทำให้ชีวิตมีสีสัน หวังว่าคืนนี้ผู้อ่านคงเจออะไร ‘ดีๆ’ แล้วเก็บมาเล่าให้เพื่อนฟังนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Infrasound and low-frequency noise – does it affect human health?