การเสียชีวิตอย่างไม่มีใครคาดคิดของอาจารย์เค็นทาโร มิอูระ (Kentarou Miura) ผู้เขียนมังงะเรื่อง Berserk ทำให้คนอ่านมังงะแทบจะทั่วโลกได้ตระหนักว่า นักวาดมังงะแต่ละท่านนั้นทุ่มเทพลังชีวิตลงไปในการทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้ตกผลึกออกมาเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะทำได้
ข่าวข้างต้นยังทำให้พวกเราระลึกขึ้นมาว่า มีนักเขียนมังงะอีกหลายที่ยังผลิตผลงานของตัวเองมาต่อเนื่องหลายปี แต่ยังไปไม่ถึงจุดไคลแมกซ์ และหลายเรื่องก็อาจจะทำให้นักอ่านหลายท่านกริ่งเกรงว่า การที่อาจารย์หยุดเขียนงานกันไปยาวๆ นั่นเกิดจากเหตุผลใดบ้าง เราขอหยิบยกเหตุผลเท่าที่เห็นได้ตามสื่อต่างๆ มาพูดคุยกันว่า อะไรทำให้ผลงานมังงะหลายเรื่องออกตอนใหม่ช้าจนชวนให้คนอ่านตกใจกัน
Chieko Hosokawa – Crest of the Royal Family
ผลงานการ์ตูนจากญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่ชาวไทยติดตามาอย่างยาวนาน และคาดหวังว่าเมื่อไหร่นางเอกของเราถึงจะกลับสู่ยุคปัจจุบันเสียทีกับ โอเคะ โนะ มอนโช หรือที่คนไทยคุ้นเคยกับชื่อ คำสาปฟาโรห์ ที่เริ่มเขียนมาตั้งแต่ตีปี ค.ศ.1976 แต่มาถึงปี ค.ศ.2020 นี้ก็ยังไม่ถึงตอนอวสานเสียที จนกระทั่งมีคนเริ่มเสวนาข่าวลือกันว่า แท้จริงแล้วอาจารย์ชิเอโกะ โฮโซกาวะ (Chieko Hosokawa) รวมถึงน้องสาว Fumin ที่ทำงานร่วมกันนั้น เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าไม่ลือว่าเสียชีวิตทั้งคู่ก็เป็นข่าวลือว่าเสียชีวิตไปคนหนึ่ง จึงทำให้งานเขียนล่าช้า นึกพล็อตไม่ออก ฯลฯ
แต่ความจริงแล้วทั้งตัวอาจารย์ชิเอโกะ โฮโซกาวะ และอาจารย์ Fumin ที่เป็นน้องสาวยังคงมีชีวิตอยู่ และออกสื่อให้เห็นหน้าค่าตากันบ้าง อย่างเช่น ในการจัดแสดงละครเวทีมิวสิคัลที่ดัดแปลงมาจากมังงะคำสาปฟาโรห์ ซึ่งในปี ค.ศ.2021 นี้ก็จะมีการจัดแสดงอยู่ ซึ่งเราน่าจะได้เห็นอาจารย์ทั้งสองท่านออกสื่อกันอีกครั้ง
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คำสาปฟาโรห์ออกแต่ละตอนช้าก็เพราะเป็นงานตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารรายเดือนเป็นทุนเดิม กอปรกับอาจารย์อาจารย์ชิเอโกะ โฮโซกาวะ ก็มีอายุอยู่ในหลัก 80 ปีแล้ว (ณ ปี ค.ศ.2021 อาจารย์มีอายุได้ 86 ปี แล้ว) และถ้าลองไปหยิบจับงานของอาจารย์ในช่วงหลายปีหลัง จะเห็นได้ว่าตัวอาจารย์เองก็พยายามรักษาคุณภาพของงานให้ไม่ตกลงกว่าสมัยที่เคยทำได้ในอดีต
ช่วง 5 ปีหลัง ทาง Akita Shoten ผู้ตีพิมพ์มังงะคำสาปฟาโรห์ในญี่ปุ่นก็ทำการตีพิมพ์มังงะเรื่องดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 1 เล่ม และเล่มล่าสุด ณ ขณะที่ตีพิมพ์บทความ ก็คือ ฉบับที่ 66 ซึ่งวางจำหน่ายไปในช่วงเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2020 (ยังไม่นับเล่ม 0 ที่วางขายช่วงปี ค.ศ.2020 อีกด้วยนะ) ก็ต้องถือว่ามังงะเรื่องนี้ยังคงออกมาให้ติดตามอย่างต่อเนื่องอยู่
ในฐานะผู้อ่านก็ขอให้อาจารย์รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และพาเราเดินทางไปจนถึงฉากจบของความสัมพันธ์ของแครอลกับเมมฟิสกันได้อย่างราบรื่น
Suzue Miuchi – Glass Mask
คิตาจิมะ มายะ เป็นเด็กสาวผู้มีพรสวรรค์ในการเข้าถึงบทบาทตัวละคร เธอได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง ทั้งยังพยายามเข้าถึงบทบาทการแสดงที่ถือว่าเป็นตำนานและยากที่สุดอย่าง ‘นางฟ้าสีแดง’ แต่เธอจะทำสำเร็จหรือไม่ และเรื่องราวของนางฟ้าสีแดงฉบับเต็มจะเป็นอย่างไร!
ด้านบนที่ว่าไปเป็นคำถามคาใจของผู้อ่านมังงะเรื่องหน้ากากแก้ว มาหลายปีดีดัก เพราะตัวมังงะรวมเล่มฉบับที่ 49 วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2012 และยังไม่มีการวางจำหน่ายรวมเล่มเพิ่มเติมหลังจากนั้นแต่อย่างใด
ด้วยเหตุข้างต้นจึงทำให้ชื่อของอาจารย์ซุสุเอะ มิอุจิ (Suzue Miuchi) ก็ตกอยู่ในห้วงข่าวลือว่าที่หยุดเขียนไปนั้นเพราะป่วยหรือเสียชีวิตไป แต่ถ้าเอาหลักฐานเท่าที่เห็นผ่านหน้าสื่ออาจารย์มิอุจิยังคงยังมีขีวิตอยู่ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น การไปเขียนบทละครเวทีนางฟ้าสีแดง หรืออย่างในช่วงปี ค.ศ.2019 อาจารย์ก็ได้เขียนหนังสือเรื่อง Mienia Chikara (พลังที่มองไม่เห็น) ที่เป็นหนังสือรวบรวมบทสัมภาษณ์ของตัวอาจารย์กับผู้ชำนาญการศิลปะด้านต่างๆ และมีการพูดถึงเรื่องเหนือธรรมชาติไว้ด้วย
ซึ่งในบทสัมภาษณ์โปรโมตหนังสือเล่มดังกล่าว อาจารย์มิอุจิก็ได้บอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวว่า ณ ช่วงเวลานี้ต้องทำการดูแลสามีที่เคยมีอาการหัวใจหยุดเต้นไปราว 23 นาที ทำให้ระบบประสาทและสมองได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ช่วงหนึ่งอาจารย์มิอุจิ ไม่สามารถเขียนต้นฉบับได้ และปัจจุบันก็ยังต้องดูแลสามีอยู่แม้ว่าจะอาการดีขึ้นมากแล้วก็ตามที
นอกจากนี้ยังมีการให้สัมภาษณ์อีกหลายที่ระบุว่า อาจารย์ตั้งใจจะวาดมังงะหน้ากากแก้วไปจนถึงตอนจบ แม้ว่าตัวนิตยสารที่เคยตีพิมพ์มังงะดังกล่าวจะปิดตัวไปแล้วก็ตาม นอกจากนั้นอาจารย์ยังมีเค้าโครงเรื่องตอนอวสานในใจไว้แล้ว แถมอาจารย์ยังมีความตั้งใจจะกลับไปเขียนภาคต่อของมังงะเรื่อง Amaterasu ที่เคยตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1986 – 2001 อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าอาจารย์มิอุจิยังคงมีความมุ่งมั่นอยู่ แม้ว่าอายุจะเข้าสู่หลัก 70 ปี ไปในปี ค.ศ.2021 และการเดินทางสู่บทของนางฟ้าสีแดงน่าจะถึงจุดอวสานได้ในเวลาไม่นานกว่าที่เราคาดไว้
Eiichiro Oda – One Piece
สำหรับกรณีของอาจารย์เออิจิโร โอดะ (Eiichiro Oda) แล้ว ถือว่าเป็นนักเขียนมังงะสายขยันที่หลายคนเห็นผลงานของอาจารย์อย่างต่อเนื่อง แต่เราคิดว่า แนวทางการปฏิบัติตัวของกองบรรณาธิการกับตัวอาจารย์โอดะมีอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ส่วนหนึ่งต้องย้อนไปก่อนว่า เมื่อครั้งที่มีการสร้างภาพยนตร์ One Piece Film Z อาจารย์โอดะเคยป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลกันมาแล้ว เพราะตอนนั้นอาจารย์ดูแลภาพรวมภาพยนตร์ และในขณะเดียวกันก็ยังคงเขียนงานมังงะรายสัปดาห์ต่อไปด้วย
จากเหตุการณ์ทางฝั่งกองบรรณาธิการของนิตยสาร Shonen Jump พบว่าอาจารย์โอดะทำงานหนัก แถมยังมีตารางชีวิตที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง อย่างการเป็นคอโคล่าคอกาแฟตัวยง ในช่วงวันเขียนต้นฉบับจะนอนแค่ 3 ชั่วโมง แถมยังไม่ค่อยออกกำลังกายแบบจริงจังเท่าใดนัก
แต่ในช่วงหลังนี้อาจารย์โอดะก็เริ่มปรับวิธีการใช้ชีวิตใหม่ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่ชื่นชอบลง นอนเป็นเวลามากขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นไฟเขียวจากทาง Shonen Jump ที่ให้อาจารย์หยุดเขียนได้มากขึ้น อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันว่า ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์อะไร One Piece จะทำการตีพิมพ์ 3 สัปดาห์ สลับกับการหยุด 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามในช่วงปี ค.ศ.2020 อาจารย์โอดะก็เคยขอหยุดพักเพิ่มเติมเพื่อรักษาสภาพร่างกาย แต่ถ้าอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์อื่นๆ อาจารย์โอดะก็บอกกล่าวอยู่เป็นระยะๆ ว่าตอนนี้ One Piece เดินหน้าเข้าสู่บทอวสานแล้ว และการพักผ่อนที่เพิ่มขึ้นของอาจารย์ย่อมส่งผลดีต่อการเดินหน้าต่อของเรื่องราวการเป็นจ้าวแห่งโจรสลัดของลูฟี่อย่างแน่นอน
Gosho Aoyama – Detective Conan
หากเทียบกับนักเขียนอีกหลายท่านแล้ว อาจารย์โกโช อาโอยามะ (Gosho Aoyama) อาจจะมีข่าวป่วยไข้หรือหยุดเขียนน้อยกว่านักเขียนท่านอื่น แต่ด้วยการเขียนยอดนักสืบจิ๋วโคนันมาอย่างยาวนาน และด้วยช่วงวัยของอาจารย์ที่กำลังจะมีอายุเข้าสู่วัย 58 ปี ในช่วงเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2021 นี้ ก็ทำให้เราคิดว่า น่าจะพูดถึงการปรับตัวของอาจารย์สักเล็กน้อย
ในการปรากฏตัวออกสื่อหลายๆ ครั้งของอาจารย์โกโช อาโอยามะทำให้มีข้อมูลโดยคร่าวว่า สมัยอายุน้อยกว่านี้ในช่วงวันทำงานอาจารย์จะใช้เวลานอนเพียงแค่สามชั่วโมงต่อวันเท่านั้น แต่เมื่ออายุมากขึ้นแล้ว อาจารย์ก็เป็นนักเขียนอีกท่านหนึ่งที่พยายามรักษาสุขภาพมากขึ้น เลยมีการปรับเวลาการนอนให้มากขึ้นเช่นกัน
แม้ว่าตัวกองบรรณาธิการอาจจะไม่ได้ส่งสัญญาณแรงๆ ให้อาจารย์ลาพักได้มากขึ้น แบบเดียวกับที่ทาง Shueisha ไฟเขียวให้กับอาจารย์เออิจิโร โอดะ แต่ก็เห็นได้ว่าอาจารย์ทำการหยุดเขียนได้มากขึ้น และเรื่องราวก็เดินเรื่องกระชับฉับไวขึ้น ดังนั้นคนอ่านแบบเราๆ น่าจะมีโอกาสได้เห็นตอนจบของเรื่องนี้เร็วกว่าที่คาดก็เป็นได้
Yoshihiro Togashi – Hunter X Hunter
อาจารย์โยชิฮิโระ โทงาชิ (Yoshihiro Togashi) ผู้เป็นเจ้าของผลงานเรื่อง Hunter X Hunter ที่แม้ว่าตัวงานจะเริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 แต่จนปี ค.ศ.2021 นี้ ยังมีฉบับรวมเล่มออกวางจำหน่ายเพียง 36 เล่มเท่านั้น และอาจารย์มีข่าวลือหลากหลายทิศทางมาก นับตั้งแต่ติดเกมออนไลน์หนักบ้าง หย่าร้างกับภรรยาบ้าง ฯลฯ แต่สุดท้ายข่าวลือเหล่านั้นก็จะลงเอยด้วยแนวคิดว่าที่ ‘เพราะแบบนี้ Hunter X Hunter เลยออกช้า’
อย่างไรก็ตามหากอ้างอิงตามข้อมูลทั้งจาก Shueisha หรือคนทำงานที่เคยร่วมงานกับอาจารย์โทงาชินั้นค่อนข้างจะชัดเจนว่า ที่อาจารย์วาดงานช้าลงไม่ใช่เพราะเหตุผลจากข่าวลือข้างต้น แต่เป็นผลจากอาการปวดหลังที่เรื้อรังมาหลายปีเริ่มเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นระดับที่บางครั้งกระทบกระเทือนการใช้ชีวิตแบบปกติอีกด้วย
(ในกรณีข่าวลือของการหย่านั้น อาจารย์โยชิฮิโระ โทงาชิแต่งงานกับ อาจารย์นาโอโกะ ทาเกอูจิ (Naoko Takeuchi) เจ้าของผลงาน เซเลอร์มูน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 มีบุตรด้วยกันสองคน และเคยร่วมกันออกหนังสือเด็ก Oobo— Nu— Tochiibo— Nu— ในปี ค.ศ.2005 และไม่เคยมีการแจ้งข่าวออกสื่อว่าเคยมีการหย่าร้างกันแต่อย่างใด)
อีกส่วนที่เป็นการคาดการณ์ว่าทำไม Hunter X Hunter ตีพิมพ์อย่างล่าช้ากว่าปกติก็เชื่อว่า เป็นความตั้งใจที่จะทำงานให้ออกมาสมบูรณ์และหวือหวา ระดับคนคาดการณ์ทางได้ยากของตัวอาจารย์โทงาชิเอง เมื่อรวมกับยอดขายที่ค่อนข้างดีของตัว Hunter X Hunter ฉบับรวมเล่ม ร่วมแนวทางของกองบรรณาธิการของทาง Shueisha ที่ให้อิสระให้กับนักเขียนได้มากกว่าสมัยก่อน เราก็เชื่อว่าผลงานเรื่อง Hunter X Hunter จะยังออกเรื่องราวต่อจากที่ค้างคาไว้ในลักษณะรายไม่ปกติ แต่พร้อมจะทำให้คนอ่านต้องตะลึงแบบที่เคยทำมาก่อนแล้ว
Katsura Hoshino – D.Gray Man
แฟนการ์ตูนในยุค 2000 ต้นๆ น่าจะคุ้นเคยกับผลงานเรื่อง D. Gray Man ของอาจารย์คาสึระ โฮชิโนะ (Katsura Hoshino) ที่เล่าเรื่องของศาสนจักรมืด ส่วนหนึ่งของศาสนจักรที่ไม่เปิดเผยให้คนภายนอกรู้ และหน่วยงานดังกล่าวถูกก่อตั้งมาเพื่อทำลายล้างอาคุม่าและตระกูลโนอา ที่มุ่งร้ายต่อพระเจ้าและโลกใบนี้
D.Gray Man ถือว่าเป็นการ์ตูนที่มาแรงในช่วงที่เปิดตัวและเข้าเรื่องราวองก์สำคัญ แต่การตีพิมพ์ก็มีความล่าช้าลงไปก่อนจะโยกย้ายไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Jump Square ในช่วงปี ค.ศ.2009 จนถึงปี ค.ศ.2013 และหยุดเขียนไปสองปีครึ่ง ก่อนจะกลับมาตีพิมพ์ในนิตยสาร Jump SQ Crown และ Jump SQ Rise ที่เป็นนิตยสารรายไตรมาสในปัจจุบันนี้
เหตุผลที่อาจารย์คาสึระ โฮชิโนะเขียนงานล่าช้าลง เป็นผลพวงมาจากอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับคอและข้อมือของตัวอาจารย์ผู้เขียน ซึ่งเชื่อกันว่า มีผลกระทบมาจากในช่วงวัยรุ่นอาจารย์โหมทำงานพิเศษ จนทำให้ร่างกายอ่อนล้าเร็วกว่าที่ควรอีกด้วย อย่างไรก็ตามทาง Shueisha ได้เขยิบตารางการทำงานให้นักเขียนท่านนี้ตั้งแต่อาการป่วยเริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงาน จนกลายเป็นนักเขียนรายเดือน และในปัจจุบันที่กลายเป็นการเขียนงานแบบไตรมาสไปในที่สุด
น่าเสียดายที่อาจารย์โฮชิโนะต้องพักฟื้นตัวเองจากอาการป่วย ไม่เช่นนั้นเราอาจจะได้เห็นนักวาดมังงะสายโชเน็นที่ผู้หญิงออกมาโลดแล่นในฝั่งนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์กันมากกว่านี้
Daisuke Ashihara – World Trigger
ขอวกมาพูดถึงอาจารย์ไดสุเกะ อาชิฮาระ (Daisuke Ashihara) เจ้าของผลงาน World Trigger ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์มาก่อนที่จะมีการโยกย้ายไปตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มอื่นกัน
สำหรับอาจารย์อาชิฮาระน่าจะเป็นนักเขียนที่มีการประกาศผ่านสื่อชัดเจนมากที่สุดท่านหนึ่งว่า อาจารย์มีอาการของโรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) และอาการนั้นเริ่มรบกวนชีวิตส่วนตัวรวมถึงการทำงานเป็นอย่างมาก จนสุดท้ายทางกองบรรณาธิการของ Shueisha ก็โยกย้ายการตีพิมพ์จากนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ ไปยังนิตยสาร Jump SQ ที่เป็นนิตยสารรายเดือนแทน
แต่ถึงจะย้ายไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Jump SQ แล้วอาจารย์อาชิฮาระก็ยังมีการหยุดพักจากอาการป่วนอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น ในช่วงปี ค.ศ.2019 อาจารย์ได้หยุดพักการตีพิมพ์ เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนในลำไส้อันเป็นผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไปในช่วงก่อนหน้านั้น
โรคภัยกับผู้คนมักจะมาแบบไม่ให้ทันตั้งเนื้อตั้งตัว ก็ขอให้อาจารย์ทุกท่านยังมีสุขภาพดีกันต่อไป
Koji Inada – Beet The Vandel Buster
กลับมาที่นักเขียนรุ่นใหญ่กันบ้าง กับอาจารย์โคจิ อินาดะ (Koji Inada) นักวาดที่เป็นเจ้าของลายเส้นของมังงะเรื่อง ดราก้อนเควสท์ ได ตะลุยแดนเวทมนตร์ หลังจากที่อาจารย์รับหน้าที่วาดมังงะดราก้อนเควสท์ภาคไดจบไป อาจารย์ก็วกไปเขียนมังงะที่ตีความจากเกม Dragon Quest IV อยู่หนึ่งเล่ม และสุดท้ายก็เริ่มเขียนมังงะเรื่อง Beet The Vandel Buster ที่ตีพิมพ์ตอนแรกในช่วงปี ค.ศ.2002 ร่วมกับอาจารย์ริคุ ซันโจ (Riku Sanjo) อีกครั้งหนึ่ง
แต่ในช่วงที่ Beet The Vandel Buster เริ่มได้รับกระแสความนิยมและถูกสร้างเป็นอนิเมะออกฉาย จนน่าจะทำให้งานชิ้นนี้เป็นงานขายดีอีกงานหนึ่ง จู่ๆ ผลงานก็ประกาศหยุดตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.2006 โดยมีเหตุผลทางการออกมาเพียงแค่ว่า อาจารย์โคจิ อินาดะที่เป็นผู้วาดภาพมีอาการป่วยและไม่สามารถทำการเขียนงานต่อได้
และข่าวของ Beet The Vandel Buster ก็หายไปราว 10 ปี (ในช่วงระหว่างนั้นอาจารย์ริคุ ซันโจก็ข้ามไปเป็นนักเขียนบทให้ผลงานเรื่องอื่นอีกด้วย) จนกระทั่งปี ค.ศ.2015 ทาง Shueisha ก็ได้แจ้งข่าวว่าอาจารย์อินาดะอาการดีขึ้นแล้ว และจะกลับมาวาดมังงะ Beet The Vandel Buster ต่อ ซึ่งสุดท้ายตัวมังงะก็เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสาร Jump SQ Crown ในช่วงปี ค.ศ.2016 ก่อนจะย้ายไปตีพิมพ์ต่อ Jump SQ Rise ที่เป็นนิตยสารรายไตรมาสในเวลาต่อมา
กรณีของอาจารย์โคจิ อินาดะถือว่าเป็นตัวอย่างของนักเขียนรุ่นเก่าสักหน่อยที่ไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้สาธารณะชนทราบ และไม่ได้เล่นสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้คนอ่านปลายน้ำได้แต่ลุ้นกันว่า นักเขียนเหล่านั้นยังมีชีวิตปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะได้เห็นข่าวดีแบบที่เราเห็นจากข่าวของอาจารย์โคจิ อินาดะ
Takaya Yoshiki – Bio Booster Armor Guyver
สำหรับนักเขียนรุ่นเก่าอีกท่านอย่าง อาจารย์ทาคายะ โยชิกิ (Takaya Yoshiki) เจ้าของผลงานมังงะ กายเวอร์ อมนุษย์เกราะชีวะ ที่เริ่มตีพิมพ์มาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1985 (หรือก่อน Berserk จะตีพิมพ์ตอนยาว ราว 3 ปี) และปัจจุบันก็ยังคงเดินเรื่องอยู่ แต่ก็กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่จะมีคนถามเป็นระยะๆ ว่า มังงะเรื่องนี้อวสานไปแล้วหรือยัง
เหตุผลของการที่กายเวอร์กลายเป็นมังงะที่ออกล่าช้านั้นมีเหตุผลที่หลากหลายอยู่นับตั้งแต่ การที่ตัวมังงะเองเป็นผลงานที่ตีพิมพ์แบบรายเดือนมาตั้งแต่ต้น ซึ่งนั่นก็ทำให้แต่ละตอนออกมาจำนวนไม่มากนัก อาจารย์ทาคายะ โยชิกิยังย้ายการตีพิมพ์อยู่หลายครั้ง ตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกกับทาง บริษัท Tokuma Shoten ในช่วงปี ค.ศ.1985 – 1997 แล้วตัวนิตยสารปิดตัวลง จากนั้นอาจารย์ก็หยุดเขียนงานไปราว 2 ปี ก่อนจะได้นำผลงานเรื่องกายเวอร์ไปตีพิมพ์กับทางบริษัท Kadokawa ในนิตยสาร Shonen Ace Next ในช่วงปี ค.ศ.1999
แล้วก็มีเหตุที่ตัวนิตยสาร Shonen Ace Next ต้องปิดตัวลงอีกในปี ค.ศ.2002 และกว่าตัวมังงะจะกลับมาตีพิมพ์ในนิตยาสารเล่มใหม่อย่าง Shonen Ace รายเดือน เวลาก็ล่วงเลยเข้าสู่ปี ค.ศ.2007 แต่หลังจากนั้นตัวมังงะกายเวอร์ก็ตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มดังกล่าวในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามเราก็ถ้ามองในแง่ดี เราก็ยังไม่ได้ยินข่าวร้ายด้านสุขภาพของอาจารย์ทาคายะ โยชิกิกัน แต่เนื่องจากอาจารย์ก็มีอายุเข้าสู่หลัก 60 ปี แล้ว จึงทำให้เราได้เห็นอาจารย์มีการหยุดพักจากการเขียนไปบ้างเป็นบางเดือน และคาดว่าอาจารย์จะยังทำหน้าที่นักเขียนที่ผลิตงานเขียนของตัวเองต่อเหมือนที่เคยมา
Kohske – Gangsta.
หากเทียบกับนักเขียนท่านอื่นที่เราหยิบมาพูดคุยกันในบทความนี้ อาจารย์ Kohske (อ่านว่า โคสุเกะ) อาจจะเป็นนักเขียนที่มีวัยวุฒิน้อยกว่าท่านอื่นๆ แต่ผลงานของอาจารย์อย่าง Gangsta. ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ผลงานของนักเขียนรุ่นพี่ อย่างที่เห็นได้จากการที่มังงะโดนดัดแปลงเป็นอนิเมะมาแล้วนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตัวมังงะ Gangsta. ก็ทำการตีพิมพ์แบบรายไม่ปกติมาระยะหนึ่ง แม้ว่าอาจารย์โคสุเกะจะทำการวาดภาพลงในช่องทาง Pixiv และ Fanbox ส่วนตัวอยู่บ่อยครั้ง จนมีบางคนบอกว่า อาจารย์แค่ขี้เกียจทำงานเขียนมังงะและอยากหาเงินเข้ากระเป๋าโดยตรงด้วยการเปิด Fanbox ที่ผู้สนใจรับชมภาพจะต้องจ่ายเงินค่าบริการเสียก่อน
เป็นทั้งโชคดีและโชคไม่ดีที่อาจารย์โคสุเกะอ่าน-เขียนภาษาอังกฤษได้ประมาณหนึ่ง (แต่เจ้าตัวบอกว่าได้ Google Translate ช่วยเหลืออยู่) จึงทำให้อาจารย์เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเพื่ออธิบายว่า ตัวของเธอนั้นเป็นผู้ป่วยโรคลูปัส อีริทีมาโตซัส ทั่วร่าง (Systemic Lupus Erythematosus) หรือ โรงแพ้ภูมิตัวเองที่ทำเธอสูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง มีความผิดปกติที่หลอดเลือดกับอวัยวะภายใน รวมถึงมีอาการอัมพาตที่นิ้วของเธอ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอเขียนมังงะได้ช้ากว่านักเขียนทั่วไปที่อายุใกล้เคียงกัน ส่วนภาพวาดที่เห็นวาดออกมาบ้างนั้นเธอระบุว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนการบำบัดอาการป่วยของเธอ
อาจารย์โคสุเกะทำการอธิบายเกี่ยวกับอาการป่วยของตัวเธอต่อสาธารณะชนได้อย่างชัดเจน แต่ในทางกลับกันก็ชวนให้คิดว่า อาจารย์ไปพบข้อความใดมา จึงจำเป็นต้องบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองมากถึงเพียงนี้
นอกจากนักเขียนที่เราหยิบมาบอกเล่ากันแล้ว ยังมีนักเขียนอีกหลายท่านที่เขียนงานมายาวนานและมีเหตุผลส่วนตัวหลายประการที่อาจจะทำให้งานของอาจารย์ท่านนั้นๆ ต้องออกช้าลง หรืออาจจะหยุดการทำงานไปเลย (อาทิ อาจารย์ Hiruta Tatsuya ผู้เขียนมังงะ ข้าชื่อโคทาโร่ เคยกลับมาวาดภาพลงในหนังสือสนับสนุนแมวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ในปี ค.ศ.2011 / อาจารย์ Kazushi Hagiwara ผู้เขียนมังงะ Bastard!! ที่หยุดเขียนผลงานตัวเองในนิตยสาร Ultra Jump แต่ยังเขียนภาพประกอบและงานอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับ Bastard!! หรืองานอื่นๆ ขายในบูธโดจินตัวเองอยู่) ที่ได้รับด้วยความหนักหน่วงทั้งด้านการคิดเรื่องราวให้ผลงานที่แต่ง การเร่งเขียนให้ทันตามกำหนดการวางจำหน่าย และยังไม่นับว่าต้องแข่งขันกกันว่าจะโดนตัดจบหรือเปล่า ถือว่าเป็นงานที่กินพลังชีวิตไม่แพ้สายงานใดๆ
แต่บุคคลที่อยู่ในสายงานนี้โดยตรง มักจะแยกชีวิตส่วนตัวออกจากการงานอย่างชัดเจน ทำให้หลายท่านไม่ได้มีโอกาสมาบอกเล่าความหนักหนาเหล่านั้น หรือต่อให้นักเขียนมังงะหลายท่านรักษาสุขภาพอย่างดีแล้ว ก็อาจจะล้มป่วยไปเงียบๆ โดยที่คนอื่นอาจจะไม่ทราบเรื่องราว จนเกิดข่าวลือแบบผิดๆ ขึ้นมาได้ ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นผู้ชื่นชอบติดตามการ์ตูนมาหลายปี ก็ขอสนับสนุนผลงานของพวกเขาเท่าที่จะทำได้ และเห็นใจเหล่าผู้สร้างทั้งหลายให้รักษาสุขภาพเพื่อส่งต่อความสุขให้ผู้อ่านกันต่อไปตามความตั้งใจของแต่ละท่านครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Facebook Fanpage – Working Along