ตอนนี้ก็ก้าวเข้าสู่ปี 2019 กันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว นอกจากนั้น ในปีนี้จะมีเรื่อง Alita: Battle Angel เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นภาพยนตร์แนวไซเบอร์พังค์อีกหนึ่งเรื่องที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น หลังจากที่ Ghost In The Shell เข้าฉายไปเมื่อปี 2017
ด้วยเหตุนี้เองก็เลยอยากพูดถึง ภาพยนตร์อนิเมะแนวไซเบอร์พังก์ที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2019 อย่างเรื่อง ‘Akira’ ในวันนี้ เพราะอนิเมะรุ่นพี่เรื่องนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นใบเบิกทางให้การ์ตูนเรื่องอื่นๆ จากญี่ปุ่นได้รับการจดจำมากขึ้น จนกลายมาเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดกันในทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของการระเบิดพลังจิต
ณ วันนี้ หลายคนอาจจะจดจำ Akira ได้แม่นในฐานะอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นที่ช่วยทำให้ตลาดทั่วโลกเห็นว่าการ์ตูนจากเกาะตะวันออกไกลก็มีภาพที่ลื่นไหลงดงาม ทั้งยังมีเรื่องราวที่ซีเรียสจริงจัง แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น Otomo Katsuhiro ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมะของเรื่องดังกล่าวก็เริ่มมาจากการทำงานเป็นนักวาดมังงะที่วาดงานขนาดสั้นมาก่อนหลายเรื่อง จนกระทั่งได้สไตล์การเขียนเส้นแบบจริงจังที่มักจะเล่าเรื่องเหนือจริงติดตัวมาด้วย นอกจากนี้เขายังมีประสบการณ์ในการทำงานอนิเมะมาบ้างเช่นกัน
หลังจากเขียนผลงานขนาดสั้นเรื่อง Domu: A Child’s Dream ที่มีการดวลพลังจิตมาแล้วครั้งหนึ่ง เขาได้เอาแนวคิดพลังจิตนั้นมาผสมปนเปกับเรื่องราวการขบถของกลุ่มวัยรุ่นและโลกในยุคหลังภัยพิบัติ รวมกับความชอบของตัวเขาเองที่มีต่อการ์ตูนคลาสสิคแบบ ‘หุ่นเหล็กหมายเลข 28’ กับผลงาน ‘Moebius’ ของ Jean Giraud นักเขียนการ์ตูนฝรั่งเศส ก่อนจะหลอมรวมไอเดียทั้งหมดมาสร้างเป็นเรื่องราวของมังงะเรื่อง Akira
ใช่แล้ว แรกเริ่มเดิมที Akira เป็นผลงานมังงะที่ Otomo Katsuhiro เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสาร Young Magazine ตั้งแต่ปีค.ศ. 1982 เนื้อหาของเรื่องนั้นเกิดขึ้นในปี 2019 ณ กรุงนีโอโตเกียว (Neo Tokyo) ที่สร้างขึ้นมาหลังจากโตเกียวเดิมล่มสลายไปในสงครามโลกครั้งที่ 3 แม้ว่าเมืองจะกลับมาพัฒนาแล้ว แถมกำลังจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2020 แต่ด้วยการปกครองแบบเข้มงวดของรัฐบาลกับกองทัพ ก็ทำให้ ‘ความรุนแรง’ กลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดาในเมืองนี้ เรื่องโฟกัสไปที่ คาเนดะ กับ เท็ตสึโอะ สองวัยรุ่นแก๊งมอเตอร์ไซค์ ที่เข้าไปเจอกับผู้ใช้พลังจิตคนหนึ่งโดยบังเอิญ และนั่นทำให้ เท็ตสึโอะ กลายเป็นผู้มีพลังจิตคนใหม่ ที่ไปเห็นภาพของ ‘อากิระ’ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เมืองโตเกียวเก่าล่มสลายไป ทำให้ทั้งกองทัพของรัฐบาลญี่ปุ่น กลุ่มต่อต้านรัฐบาล และ คาเนดะ ต้องมาเผชิญหน้ากันเพื่อป้องกันไม่โลกโดนทำลายล้าง
ด้วยเรื่องราวลักษณะนี้เลยมีคนวิเคราะห์ว่า ตัวการ์ตูนเรื่องนี้เป็นการตีความประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ให้ออกมาเป็นภาพลักษณะโพสต์โมเดิร์นปนไซไฟ และด้วยเรื่องราวที่ซับซ้อนน่าสนใจ มังงะเรื่องนี้เลยได้รับข้อเสนอในการดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์อนิเมะตามสมัยนิยม ซึ่งเจ้าของผลงานมังงะเรื่องนี้ก็ได้ยื่นข้อเสนอว่า เขาจะไปร่วมกำกับภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ด้วย รวมถึงว่าจะต้องได้รับอิสระในการปรับเปลี่ยนเรื่องราวของฉบับอนิเมะด้วย เพราะในตอนนั้นมังงะยังไม่ถึงจุดอวสาน แทนที่จะบ่นภายหลังว่าใครควรปรับแก้ตอนจบของเรื่อง Otomo Katsuhiro เลยใช้เครดิตของตัวเองที่มีจากการทำงานในอนิเมะเรื่องอื่นๆ มาใช้ยืนยันสถานะการทำงานของเขาได้อีกด้วย
ความอลังการของการสร้างภาพยนตร์
แค่พูดถึงงบการสร้างของ Akira ที่มียอดเงินกว่า 10,000 ล้านเยน ซึ่งถือว่าเป็นทุนสร้างอนิเมะที่มากที่สุดในยุคนั้น (ก่อนที่ต่อมาจะถูดโค่นลงด้วยผลงานของทาง Studio Ghibli) ก็น่าจะพอทำให้เห็นภาพพอสมควรแล้วว่า ทำไมภาพยนตร์อนิเมะที่ออกฉายถึงมีภาพที่ไหลลื่นอย่างมาก แล้วถ้าหากลงรายละเอียดไปสักนิด นอกจากงานออกแบบที่มีความละเอียดอย่างยิ่งแล้ว Akira ยังสร้างงานแบบจริงจังด้วยการวาดภาพอนิเมชั่นแบบ Shooting On Ones ซึ่งขอขยายความสักเล็กน้อยว่า ตามปกติแล้วในการสร้างอนิเมชั่นแบบวาดมือทั้งหมด ปกติดจะใช้ภาพวาด 12 ภาพ และใช้ 1 ภาพนิ่ง ในการทำฉากเคลื่อนไหว 2 เฟรม เพื่อให้เกิดงานที่ออกฉายบนจอแล้วได้ความเร็ว 24 FPS (Frame Per Second) เพื่อสร้างการจำลองฉากเคลื่อนไหว แต่ใน Akira จะใช้วิธีวาด 24 ภาพ ต่อ 1 เฟรม ต่อ 1 วินาทีจึงทำให้ภาพในอนิเมชั่นเรื่องนี้ไหลลื่นและละเอียดมากกว่าภาพยนตร์อนิเมชั่นจากทั่วโลกในยุคเดียวกันอยู่มาก
การทำงานแบบ Shooting On Ones ก็ตามมาด้วยการใช้เงินทุนและแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามมานั่นเอง และถ้าแตกเป็นช็อตๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีจำนวนช็อตมากถึง 2,212 ช็อต สีที่ใช้ในเรื่องก็มีการระบุว่าใช้มากกว่า 320 เฉดสี และมีกว่า 50 เฉดสี ที่ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างอนิเมชั่น
การพากย์เสียงในเรื่องนี้ก็จัดทำด้วยแนวคิดที่แตกต่างจากการสร้างอนิเมะทั่วไปในยุคนั้น เพราะเป็นการพากย์เสียงก่อนแล้วค่อยวาดภาพตามทีหลัง และตั้งใจทำภาพหน้าตาของตัวละครให้ขยับสอดคล้องกับเสียงพูดคุย แม้ว่าในปัจจุบันเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกมากนัก แต่สำหรับยุคนั้น Akira เป็นอนิเมะเรื่องแรกที่ทำงานในลักษณะนี้ และการสร้างดนตรีประกอบก็ใช้วิธีการแต่งเพลงก่อนหนังจะเสร็จ ทำให้ต้องมีการดัดแปลงเพลงอีกครั้งหลังการวาดภาพเสร็จสมบูรณ์
นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างฉากเล็กๆ ที่มีการวัดสเกลพลังจิตของตัวละครในเรื่อง ก็ใช้ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวเล็กๆ แม้ว่าจะปรากฎในเรื่องไม่กี่ครั้ง
นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่โชคดี คือในตอนนั้นเป็นช่วงปีค.ศ. 1980 ธุรกิจของญี่ปุ่นพุ่งทะยานแบบสุดขีด เลยมีหลายบริษัทที่กล้าทุ่มทุนทุ่มเงินในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และเป็นเหตุว่าทำไมงบการสร้างถึงทะยานไกลถึงหลักหมื่นล้านเยนนั่นเอง
พลังจิตที่ค่อยๆ พิชิตโลก
แม้ว่า Akira จะใช้ทุนสร้างมหาศาล และถือว่ามีกลุ่มแฟนมังงะที่เข้มแข็ง แต่ในด้านรายได้ของภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่าจะทำรายได้อยู่ในระดับที่ดี แต่ก็ยังไม่มากพอจะนับเป็นกำไรได้ และเมื่อนำออกฉายต่างประเทศ หนังก็ได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์ประเทศอื่น ทั้งจากงานภาพยิ่งใหญ่อลังการ พร้อมกับแนวคิดของเรื่องที่ไม่ธรรมดา แต่ ณ ช่วงเวลาที่หนังออกจัดจำหน่ายจริง กลับทำรายได้อยู่ในระดับพอประมาณ อาจจะเพราะตอนนั้น ‘อนิเมะ’ หรือการ์ตูนจากญี่ปุ่นยังไม่เป็นที่รู้จักพอในตลาดโลก
ถึงรายได้จะไม่ไปถึงจุดกำไร แต่ชื่อเสียงของ Akira ก็ค่อยๆ รุกคืบไปยังคนดูหลากหลายกลุ่ม ทั้งจากการเข้าฉายรอบย่อยๆ ตามโรงหนังอิสระหลายประเทศ และในฉบับวิดีโอเทป ทั้งแบบถูกลิขสิทธิ์และแบบเถื่อน และสุดท้ายภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ก็กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสนิยมงานอนิเมชั่นจากญี่ปุ่น หรือที่มีนักประวัติศาสตร์ด้านการ์ตูนเรียกว่า ‘Anime Boom’
ต้องขอย้อนพูดก่อนว่า ‘Anime Boom’ นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว Tsugata Nobuyuki เคยระบุไว้ในหนังสือ Animation-gaku Nyumon ของเขาว่า Anime Boom เกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกคือในช่วงปี 1960 ครั้งที่สองเกิดขึ้นในช่วง ปลายยุค 1970 ถึง ปลายยุค 1980 และ ครั้งที่สามเกิดขึ้นในช่วงปลายยุค 1990
ซึ่ง Akira นั้นถือว่าอยู่ในการบูมครั้งที่สองซึ่งแตกต่างไปจากการบูมครั้งแรกที่ทำให้ชาวโลกรู้จักคำว่า ‘อนิเมะ’ มาเป็นการบูมที่ทำให้ชาวโลกได้รับทราบว่า อนิเมะก็สามารถเล่าเรื่องราวที่จริงจัง มืดมน ทิ้งปริศนาแบบปรัชญา และสร้างงานภาพที่ลื่นไหลระดับที่หลายคนเคยเชื่อว่าจะมีเพียง Disney เท่านั้นที่ทำได้ การบูมครั้งที่สองนี้ยังทำให้เกิดการนำเข้าอนิเมะและมังงะไปขายในฝั่งตะวันตกอย่างเต็มตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เวลาการ์ตูนจากญี่ปุ่นจะเข้าไปฉายในฝั่งชาติตะวันตกนั้น มักจะถูกดัดแปลงเรื่องราวให้เข้ากับผู้ชมในแดนตะวันตก แต่หลังจาก Akira แล้ว การดัดแปลงผลงานก็ลดต่ำลงไปอย่างมาก
อีกสิ่งที่บูมตามมาด้วยก็คือ ‘การบูมในเชิงแนวคิด’ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สร้างสรรค์งานหลายคนในเวลาต่อมา ตัวอย่างที่พอจะเห็นได้ชัดๆ ก็เช่น การที่ศิลปินหลายคนออกมาพูดอย่างชัดเจนว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก Akira อย่าง Kanye West ที่จำลองเอาหลายฉากจากอนิเมะ มาทำเป็นมิวสิควิดีโอเพลง ‘Stronger’ หรือ อย่าง Rian Johnson ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Looper กับ Josh Trank ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘Chronicle’ ต่างเคยให้สัมภาษณ์ว่า Akira เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจต่อการทำหนังของพวกเขา ฝั่งซีรีส์ของฝรั่งเองก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก Akira ด้วยเช่นกัน อย่างสองพี่น้องตระกูล Duffer ที่อยู่เบื้องหลังซีรีส์ ‘Stranger Things’ ก็ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากอนิเมะเรื่องดังกล่าวอยู่มาก
แม้แต่มอเตอร์ไซค์สีแดงในเรื่องที่หลายคนจดจำได้ ก็ยังถูกจำลองขึ้นมาใหม่หลายครั้ง จนมีคันที่พอจะใช้งานได้จริงปรากฎโฉมออกมาแล้วด้วย
หรือถ้าเอาแบบใกล้ตัวในประเทศญี่ปุ่นเอง Akira ก็ช่วยเปิดทางให้กับทั้งวงการมังงะและอนิเมะที่ออกมาตามหลัง อาทิ ไซเบอร์เพชฌฆาต Gunnm, Battle Angel Alita ก็มีโอกาสได้ตีพิมพ์เพราะจุดเริ่มต้นของเทรนด์มังงะแนวไซเบอร์พังค์นั้นฮิตมาจาก Akira ส่วนงานฝั่งอนิเมะเองก็ได้รับอิทธิพลเช่นกัน อย่าง Ghost In The Shell ก็มีการปรับเรื่องของต้นฉบับมังงะมาทำให้เป็นเรื่องที่จริงจังและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง ‘ตัวตน’ มากกว่าเดิม หรือ Neon Genesis Evangelion ก็มีผู้ออกแบบตัวละครที่ได้รับอิทธิพลจากฝั่ง Akira ด้วย ลักษณะการตัดต่อหลายประการก็ดูเป็นการตามรอยผลงานอนิเมะรุ่นพี่ และถ้าพูดติดตลก การตั้งชื่อเมืองให้เป็น Neo Tokyo เหมือนกันก็อาจจะเป็นความตั้งใจของทีมงานฝั่ง Evangelion ก็เป็นได้
อีกตัวอย่างที่ชัดเจนว่า Akira ส่งอิทธิพลต่อผู้สร้างการ์ตูนก็คือ ฉากสไลด์มอเตอร์ไซค์ของ คาเนดะ ที่ถูกสร้างเลียนแบบซ้ำๆ อีกหลายต่อหลายครั้ง จนในปัจจุบันนี้แปรสภาพไปเป็น Meme แล้วโดยปริยาย
เรื่องราวอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากภาพยนตร์ออกฉาย
ย้อนกลับไปคุยเกี่ยวกับมังงะเรื่องนี้กันอีกสักเล็กน้อย หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายแล้ว Otomo Katsuhiro ก็กลับไปเขียนมังงะเรื่อง Akira ต่ออีกครั้ง และกว่าจะเขียนตอนจบได้นั้นก็เป็นช่วงปี 1990 หรือ 2 ปีให้หลังจากตัวภาพยนตร์เข้าฉายแล้ว ซึ่งก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นอีกมากมาย อย่างแรกเลยก็คือตัวมังงะนั้นได้รับอิทธิพลจากฉบับภาพยนตร์ที่มีฉากจบไปแล้ว และมีตัวละครหลายตัวที่อาจจะปรากฎตัวมาในระยะเวลาไม่มากนักในอนิเมะ อย่างเช่นกลุ่มตัวละครผู้มีพลังจิต ก็มีการลงรายละเอียดมากขึ้นว่าที่มาที่ไปของพลังนั้นเกิดจากอะไร ตัวละครหญิงหลายตัวก็ได้รับการปรับให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น อากิระ ซึ่งเป็นตัวละครที่ถูกกล่าวถึงเป็นหลังในฉบับภาพยนตร์ก็มีตัวตนกับบทบาทสำคัญ และฉากจบของเรื่องในฉบับมังงะนั้นก็ได้มาระหว่างที่ตัว Otomo Katsuhiro มีโอกาสพูดคุยกับ Alejandro Jodorowsky นักเขียนการ์ตูนผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส-ชิลี ที่ได้เจอระหว่างโปรโมทภาพยนตร์อนิเมะ Akira
Akira ฉบับมังงะ ยังถือว่าเป็น มังงะเรื่องแรกๆ ที่ถูกแปลและนำเข้าไปตีพิมพ์ในอเมริกาแบบถูกต้องตามลิขสิทธิ์ โดยสำนักพิมพ์ Epic Comics ที่อยู่ในเครือของ Marvel Comics และอีกเรื่องที่น่าพูดถึงเกี่ยวกับ Akira ฉบับมังงะก็คือ Kon Satoshi ที่เป็นผู้ช่วยในการเขียนมังงะ ภายหลังก็ได้กลายเป็นผู้กำกับชื่อดังของอนิเมะ อาทิ Perfect Blue หรือ Paprika
และเมื่อ Akira กลายเป็นหนังสุดฮิต ที่กลายเป็นหมุดสำคัญอีกหมุดในวัฒนธรรมป๊อปไปแล้ว จึงมีการพยายามขอซื้อสิทธิ์เพื่อไปทำภาพยนตร์คนแสดงจากฝั่งฮอลลีวูด นับตั้งแต่ช่วงปี 1990 ที่ทาง Sony Pictures พยายามเข้าขอซื้อลิขสิทธิ์ ก่อนจะถอนตัวไปเพราะคาดว่างบการสร้างหนังจะทะยานไปไกลเกินควร จากนั้นก็มีข่าวลือออกมาเป็นระยะๆ แต่ที่มีข่าวออกมาชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างที่สุดก็เป็นช่วงปี 2002 ที่ทาง Warner Brothers ประกาศสิทธิ์ว่าได้ทำหนังเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ไปได้ไม่ถึงฝันจนต้องหยุด
ความพยายามในการสร้างภาพยนตร์คนแสดงกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งในช่วงปี 2008 ที่ Warner Brothers ร่วมกับ Appian Way บริษัทของ Leonardo DiCaprio นักแสดงชื่อดังมาร่วมดูแลการสร้างนี้ด้วย แต่การสร้างก็ไม่สำเร็จอีกครั้ง จนมาในช่วงปี 2015 ก็มีข่าวระบุว่ามีคนทำหนังหลายคนอยากจะเข้ามาสร้าง Akira รวมถึง Justin Lin (ผู้กำกับ Conjuring) กับ Jordan Peele (ผู้กำกับ Get Out) แต่ก็ยังคงไม่เป็นจริง ส่วนการอัพเดทที่มีคนดังมาให้ข่าวครั้งล่าสุดจะเป็น ช่วงปี 2018 ที่ Taika Waititi (ผู้กำกับ Thor: Ragnarok) ให้สัมภาษณ์ว่าอยากจะกำกับ Akira แต่อยากจะจับเอาฉบับมังงะมาดัดแปลง แทนที่จะเอามาจากฉบับภาพยนตร์อนิเมะ
ส่วนตัวของ Otomo Katsuhiro เองนั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาเองไม่ติดอะไรถ้าจะมีใครมาสร้างภาพยนตร์ รวมถึงมีการดัดแปลงเรื่องราวด้วย แต่เจ้าตัวก็ระบุว่าถ้าจะให้สิทธิ์ใคร เขาจะต้องสามารถออกความเห็นและยืนยันการเขียนบทของฉบับภาพยนตร์นั้น ส่วนงานอื่นๆ Otomo Katsuhiro ก็มีโอกาสกำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง อย่างเช่น Steamboy และ ภาพยนตร์ Mushishi ฉบับคนแสดง ส่วนฝั่งมังงะนั้น นอกจากจะเขียนมังงะใหม่ๆ ตามมาบ้าง เขาก็ยังแต่งเรื่องให้นักวาดคนอื่นวาดอย่าง The Legend Of Mother Sarah ที่ยังมีลายเซ็นของตัว Otomo ที่นิยมสร้างตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งอย่างชัดเจน และเจ้าตัวก็ให้สัมภาษณ์ในปี 2018 ว่าเขากำลังจะกลับไปเขียนมังงะเรื่องยาวเรื่องใหม่อีกเรื่องหนึ่งแล้ว
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นมังงะเฉพาะกลุ่ม จนเกือบจะกลายเป็นภาพยนตร์ก่อนใคร ถึงอย่างนั้นในปี 2020 ที่จะมาถึงนี้ ก็อาจจะยังไม่ได้เห็นภาพยนตร์ Akira แบบที่กำลังจะได้เห็นโอลิมปิกฤดูร้อน แต่ก็เชื่อว่าอิทธิพลจากผลงานเรื่องดังกล่าวจะแฝงตัวอยู่ในสื่อบันเทิงอื่นๆ กันอีกนานเลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Impact of Akira: The Film that Changed Everything – Youtube Channel: Super Eyepatch Wolf