หลังจากเทศกาลหนังสั้นไทยประจำปีผ่านพ้นไป พบว่ามีหนังสั้นไทยหลายๆ เรื่องนำเสนอประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น บางเรื่องเลือกสะท้อนประเด็นใหญ่ อย่างเช่น ระบบทุนนิยม ศาสนา หรือคน Gen Y ขณะเดียวกันก็มีบางเรื่องที่หยิบยกเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจดูธรรมดา เอามาทำให้ดูน่าสนใจ ซึ่งก็มีตั้งแต่เรื่องผู้หญิงคนหนึ่งที่เล่าชีวิตตัวเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ชีวิตของผู้คนในช่วงเหตุการณ์การเมือง ไปจนถึงการเฝ้าดูบาดแผล โดย ‘หนังสั้น’ คือภาพแทนของเรื่องราวเหล่านี้
The MATTER แนะนำ 10 หนังสั้นจากคนทำหนังรุ่นใหม่จากงานเทศกาลหนังสั้นไทย ชวนไปรู้จักคนทำหนังเหล่านี้ พวกเขาถ่ายทอดอะไรในชีวิตออกมาให้เราได้เห็นกันบ้าง ที่เป็นก้าวสำคัญสู่อุตสาหกรรมหนังไทยในอนาคต
1. Upside, Down / กำกับโดย ณัฐชนน วะนา, สุวรรณชาติ สุวรรณเจริญ
“Upside, Down เป็นช่วงเวลาหนึ่งปีของความสัมพันธ์ของคู่รักคู่หนึ่งที่ได้เปิดบาร์ด้วยกัน ซึ่งในหนึ่งปีนี้มันก็มีทั้งความสวยงามที่ก่อนตัวขึ้นมา เเละการล่มสลายของหลายอย่างเช่นกัน คอนเซ็ปต์แต่แรกเลยคือเราอยากจะเล่าถึงชนชั้นกลาง, gen-y, เเละกรุงเทพฯ โดยเราได้เล่าผ่านความสัมพันธ์ของคู่รักคู่หนึ่ง
“Upside, Down คงเป็นหนังรักเรื่องนี้ได้มองพีทเเละเจเป็นคู่รักคู่หนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ขยายเรื่องราว LGBTQ เพราะเราเล่าเรื่องนี้ในสิ่งที่เราเห็นในสังคมที่เราอยู่ว่าเกย์นั้นถูกยอมรับเเละก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชัดเจนของเหล่าชนชั้นกลาง gen-y รอบตัวของเราเอง ทีนี้ความเป็น Bangkok Middleclass Millennial นั้นตามมาด้วยคำถามมากมาย พวกเรานั้นเป็นตัวเเทนของคุณค่าอะไรรึเปล่า กรุงเทพฯ สำหรับพวกเรานั้นเป็นอย่างไร เเต่เรื่องที่มีอิทธิพลมากๆ กับ project นี้คือเรื่องความฉาบฉวย
“เรามักจะโดน generation อื่นตราหน้าด่าด้วยคำนี้ เเต่เรากำลังชื่นชมความฉาบฉวยนี้ ความฉาบฉวยของทั้งความสัมพันธ์ เเฟชั่น ศิลปะ เรื่องทุกเรื่องที่ผู้คนจะสนใจได้ ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วเพราะ gen-y ต่างมีอภิสิทธิ์ในการตามหาความสุข ซึ่งเรามองว่ามันมากกว่ายุคสมัยอื่น เราเลยหวังว่า Upside, Down จะเป็นหนังที่จะสามารถเล่าวัฒนธรรมของเราเเละผู้คนรอบตัวในยุคสมัยนี้ได้
“ทุกวันนี้ยังขาดทุนทรัพย์ในการทำ post สถานที่สำหรับการฉาย เเละเราเองก็อยากทำให้มันเป็นหนังยาวถ้าเป็นไปได้ ท่านใดมีคำเเนะนำ เรารอคอยท่านอยู่เสมอ ขอบคุณครับ”
2. ถ้า A ไม่เป็นสับเซตของ B / กำกับโดย ชุติมันต์ คงถิ่นฐาน
“หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับนนท์ เด็กชายม.4 คนหนึ่ง ที่จู่ๆ ก็เลือกที่จะไม่นับถือศาสนาขึ้นมา โดยที่เขาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง หลังจากที่เขาเลือกไม่นับถือศาสนาแล้ว
“ไอเดียเริ่มต้นที่คิดจะทำหนังเรื่องนี้คือ เราอยากจะทำหนังที่มีประเด็นเกี่ยวกับคนไม่มีศาสนา เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้นับถือศาสนา เรารู้สึกว่าประเด็นนี้มันน่าสนใจดีและคิดว่ายังไม่มีใครทำ เราเลยเลือกที่จะนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไม่มีศาสนาในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งการถูกคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรม หรือการถูกผู้ใหญ่บังคับให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางพุทธศาสนาโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
“แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็ต้องการที่จะสะท้อนถึงปัญหาของศาสนาพุทธในประเทศไทยเช่นกัน อย่างเช่น ปัญหาพระสงฆ์ที่ทำผิดวินัยหรือทำผิดศีลกันบ่อยๆ ปัญหาที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงแก่นของธรรมะอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความขัดแย้งต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการถูกบังคับให้นับถือศาสนาตามพ่อแม่ตั้งแต่เกิด โดยไม่มีสิทธิ์ได้เลือกว่าจะนับถือศาสนาหรือไม่
“อยากให้คนไทยที่ยังมีทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับคนไม่มีศาสนามาดูหนังเรื่องนี้ เพราะจริงๆ แล้วคนไม่มีศาสนาก็ไม่ได้เป็นคนเลวหรือเป็นคนไม่มีศีลธรรมเสมอไป พวกเขาเหล่านั้นเพียงแค่อาจจะไม่ต้องการมีศาสนาเป็นที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือพวกเขาอาจจะมีรูปแบบหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งศาสนาและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทั้งนี้ก็อยากจะฝากให้คนที่นับถือศาสนาหลายๆ คนได้เข้าใจว่า จริงๆ แล้วพวกเขาเป็นแค่คนไม่มีศาสนา พวกเขาไม่ใช่คนไม่มีศีลธรรม”
3. ยามน้ำฟ้า ตกมาสู่เฮา / กำกับโดย วัจน์กร หาญกุล
“เด็กสองคนได้ไปเห็นขบวนรถบั้งไฟยิ่งใหญ่ในตัวอำเภอ เลยอยากจะทำรถแห่บั้งไฟของตัวเองไปแห่ในคุ้มขบวนหมู่บ้าน ดูเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดาๆ เป็นหนังบรรยากาศกลิ่นอายชนบทที่มีพื้นหลังเป็นงานประเพณี แต่มันเป็นหนังเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟในแบบที่จะเข้าไปมองรายละเอียดยิบย่อยมากเป็นพิเศษ ผูกกับเรื่องราวของการก้าวพ้นวัยของเด็ก เรื่องสัญลักษณ์ของประเพณีและการขอฝน
“ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่หมู่บ้านจัดบุญบั้งไฟครั้งแรกเป็นงานเล็กๆ แต่พลังและความตื่นเต้นมีมากมาย ทำให้เราในตอนเด็กอยากทำรถบั้งไฟสวยๆ เหมือนขบวนแห่ในอำเภอ แต่บุญบั้งไฟมันก็ผ่านไปแล้ว เรากับเพื่อนๆ และญาติๆ ตอนเด็กเลยทำเป็นรถแห่เทียนพรรษาใส่รถเข็นเล็กๆ แทน แห่รอบหมู่บ้านเสียด้วย มันเป็นประสบการณ์ที่สนุกมากๆ การทำหนังเรื่องนี้ เลยเป็นเหมือนการกลับไปทำความฝันวัยเด็กให้สำเร็จ นั่นก็คือทำรถบั้งไฟสวยๆ ใส่รถเข็นแห่โชว์ชาวบ้าน (555)
“เรื่องนี้เหมือนสารคดีส่วนตัวนะ มันเป็นเหตุการณ์ความประทับใจเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตัวละครเกือบทั้งหมดยกเว้นตัวเอกทั้งสองเล่นเป็นตัวเองเมื่อ 10 ปีก่อนทั้งสิ้น ทั้งแม่(ตัวเอง) ครูถนอม ลุงปีนต้นไม้ หรือคนทั้งหมู่บ้าน เหมือนเป็นหนังบันทึกประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านว่า เราเป็นแบบนี้นะ มีประเพณีแบบนี้ มีความคิดแบบนี้ มีภาษาแบบนี้ มีความเป็นอยู่แบบนี้ เราอยากให้คนดูหนังได้เห็นคนไทยอีกโลกหนึ่งที่ยังไม่คุ้นชิน ไม่เคยเห็นมาก่อน เรารู้สึกว่าตอนไปถ่ายทำเราได้เห็นสปิริตของมวลชน พลังศรัทธาของมนุษย์ ซึ่งหวังว่ามันถูกถ่ายทอดผ่านหนังเรื่องนี้ไปให้แก่คนดูไม่น้อยเลยทีเดียว”
4. Bangkok Dystopia / กำกับโดย ปฏิพล ทีฆายุวัฒน์
“น็อตเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่มาติววาดรูปหลังเลิกเรียน เขามีปัญหากับพ่อจึงเลือกประท้วงด้วยการกลับบ้านช้า ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาเคอร์ฟิวพอดี ทำให้ไม่มีรถคันใดวิ่งบนถนนเลย เขาจึงเลือกรอรถอย่างมีความหวัง แต่สุดท้ายก็ไม่มีรถคันใดผ่านมา เขาจึงเลือกที่จะเดินหารถต่อไปด้วยตัวเขาเอง
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองของประเทศไทย มันส่งผลกระทบอย่างไรต่อเราบ้าง ความรู้สึกมันค่อนข้างสิ้นหวังเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันดูชะงัก ถูกควบคุมไปหมด เราเป็นเด็ก Gen ที่เติบโตมาพร้อมกับปัญหาการเมืองต่างๆ ทำให้เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ที่รู้ๆ คือเราแค่ไม่ยอมสิ้นหวังกับสิ่งที่เราไม่ได้เลือกเอง
“กรุงเทพฯ เวลามันเงียบผิดปกติเนี่ย มันดูพิลึกดีนะครับ”
5. ตลาดน้อย story / กำกับโดย จิราพร แซ่ลี้
“เด็กผู้หญิงเล่าถึงครอบครัวของตัวเอง ตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน
“เราต้องถามตัวเองตลอดเวลาที่ทำว่าเราทำอันนี้ทำไมทำเรื่องนี้ทำไม ถามจนเหนื่อย เอาจริงๆ ก็ต้องสาวตั้งแต่มาเรียนหนังทำไม ทำหนังทำไม ซึ่งทั้งหมดมันก็สาวเชือกมาถึง เพราะเราเกิดในครอบครัวนี้ โตมาแบบนี้ เราเลยกลายเป็นคนแบบนี้ มันเลยหนีไม่พ้นเหมือนเกิดมาเพื่อเล่าเรื่องนี้
“แต่ในขณะเดียวกันมันก็ปะทะกับความไม่อยากให้ใครที่ไม่รู้จักดู เพราะว่ามัน personal มาก เราทำเรื่องนี้เพื่อตัวเองแท้ๆ ไม่ใช่เพื่อใครเลย เพื่อกักเก็บความทรงจำของตัวเองเอาไว้ มันย้อนแย้งไปหมด ครึ่งหนึ่งมันเลยเป็นการอยากเล่า อีกครึ่งเป็นหนังที่คนในครอบครัวหรือเราดูอย่างมีความสุข
“การที่เห็นอาม่าเดินไปเดินมา เราไม่รู้ว่ามันมีคุณค่าสำหรับคนอื่นไหม แต่ว่ามันมีคุณค่ากับเรามากเลย อย่างน้อยน่าจะมีความรู้สึกบางอย่างถึงคนดูอะนะ”
6. หมูในเล้า / กำกับโดย ก้องภพ ชัยรัตนางค์กูล
“ผมอยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับระบบทุนนิยมของประเทศไทย ผ่านชีวิตสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภคในระบบเกษตรอุตสาหกรรม และชีวีตแรงงานภายใต้ระบบทุนนิยม ทุกชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยมนี้ใช้เวลาในแต่ละวันทำอะไรกันบ้าง
“การทำสารคดีเรื่องนี้รู้สึกสนุกกับการทำงานนี้มาก รู้สึกสนุกกับปัญหา อาจจะเพราะว่าได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้าใจในตัวเรา และคนในทีมที่พร้อมลุยขี้หมูอย่างตั้งใจ
“อยากให้คนดูได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ ที่เหมือนกับว่าคนดูกำลังเล่นเครื่องเล่นสักชิ้นอยู่”
7. ไฟเหลือง / กำกับโดย ปรีชญญ์ รัตนดิลกชัย
“คนคนหนึ่งที่มี passion มีความรักในสิ่งที่ตัวเองทำ และมีความทะเยอทะยานที่จะทำให้ตัวเองไปสู่ระดับประเทศให้ได้ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ ซ้อมไปเรื่อยๆ ความสนุกที่เคยมีก็เริ่มหายไป กลายเป็นความเครียด คิดถึงแต่เป้าหมาย เริ่มมีการตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรายังชอบมันอยู่จริงหรือเปล่า หรือว่าควรจะเลิกดี
“ตอนที่เขียนบทและทำหนังเรื่องนี้ก็แอบมีความรู้สึกแบบตัวละครในเรื่อง เป็นโปรเจ็กต์ที่เจอปัญหาเยอะมาก และเกือบจะล่มไปแล้วหลายครั้ง ก็เลยเอาอารมณ์ตอนที่ทำหนังมาทำเป็นหนัง จริงๆ แล้วตัวผมเองยังไม่กล้าดูหนังเต็มทั้งเรื่องเลยด้วยซ้ำ ค่อนข้างจะอายครับ (555)
“ชอบอะไรก็ทำ อาจมีเหนื่อยหรือท้อบ้าง แต่ถ้าสุดท้ายค้นพบแล้วว่าไม่ชอบจริงๆ ก็หยุดครับ”
8. Our Home Says All About Us / กำกับโดย พสิษฐ์ ตันเดชานุรัตน์
“หนังพูดถึงเรื่องการกลับไปยังบ้านของลูกชาย เอาจริงๆ เวลาต้องเขียนเรื่องย่อหรือใครถามถึงหนังก็คิดอะไรไม่ออกนอกเหนือจากประโยคเท่านี้ตลอด (555)
“ผมเป็นคนเขียนบทไม่เก่ง ปกติก็ไม่ก็ค่อยได้ทำกำกับอะไรเท่าไหร่ เพราะโดยปกติจะทำกำกับภาพมากกว่า ถ้ามีก็จะเป็นงานสารคดีที่จะทำกับจิรัด ทีนี้พอต้องทำทีสิส สิ่งเดียวที่นึกออกก็เป็นแค่เรื่องเกี่ยวกับที่บ้าน เพราะเป็นอะไรที่ใกล้ตัว เป็นสิ่งที่เราได้เห็นได้ซึมซับมาตลอด จนกระทั่งเข้ามหาลัยที่พอเรามาเรียนมาอยู่หอก็ห่างกับที่บ้านมากขึ้น นานๆ ครั้งที่ผมกลับบ้าน จะรู้สึกกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาสัมผัสมากกว่าเดิมจนเราแทบไม่ได้ต้องเอาตัวเราไปพยายามสังเกตเลย
“หลังจากได้ทำหนังเรื่องนี้ก็รู้สึกตัวเองได้ปลดล็อคอะไรหลายๆ อย่าง แต่พอหลังจากได้คุยกับคนที่ได้ดูหนัง ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ได้ฟังความรู้สึกจากเขา ทำให้ผมได้ทำความเข้าใจกับตัวเองเพิ่มเติมหลายๆ อย่างที่ตัวผมคนเดียวคงพาตัวเองมาทำความเข้าใจอะไรแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งรู้สึกว่าเป็นอะไรที่พิเศษมาก”
9. พิราบ / กำกับโดย ภาษิต พร้อมนำพล
“พิราบเป็นหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เล่าเรื่องของนักศึกษาคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในการชุมนุมวันนั้น และเหตุการณ์ล้อมปราบในวันนั้นทำให้ชีวิตของเขาต้องผิดเพี้ยนไป
“เราเป็นเด็กที่โตมาในสังคมที่เพื่อนๆ พ่อส่วนใหญ่เป็นคนเดือนตุลาฯ เป็นนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมรวมไปถึงการเข้าป่า มันเลยเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราอย่างมาก เราเลยคิดจะทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาให้พ่อของเราครับ เราเลยไดัเอาหนังสือที่เขาเขียนเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนเข้าป่าไปจนถึงเข้าป่ามาดัดแปลงเป็นบทหนัง มีแต่งเติมเพิ่มเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง
“อีกอย่างเราอยากเล่าเรื่องของคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นบ้าง เช่น คนที่ไม่ได้เป็นแกนนำการชุมนุม เพราะส่วนมากเราก็จะรู้ว่ามีการยิงนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาฯ หรือไม่ก็รู้เหตุการณ์คร่าวๆ แต่ไม่เห็นมีหนังเรื่องไหนเล่าต่อเลยว่า เย็นวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาที่ไม่ตายบ้าง แล้วชีวิตเขาเป็นยังไงกันต่อ เราเลยคิดว่ารายละเอียดปลีกย่อยของเรื่องแบบนี้มันน่าสนใจมากๆ”
10. วิป (FFF) / กำกับโดย นนทจรรย์ ประกอบทรัพย์
“ช่วงเวลาของการอยู่กับแผลของตัวละคร หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ได้คาดคิด
“แผล วันแรกดูแค่ถลอกเล็กน้อย พื้นที่ไม่มาก คืนแรกน้ำเหลืองออก ทำตัวไม่ถูกต้องติดผ้าก๊อซไหม วันถัดมา แผลแห้ง แห้งผากจนอยากเอาลิปมันไปทาให้ วันถัดมา แผลแห้ง หนานุ่มหลังทายา แล้วก็หนาๆๆๆ วันถัดมาๆ แผลแข็งหนา เหมือนแผ่นดินอื่น วันถัดมาๆๆ คัน วันถัดมาๆๆ แผลลอก วันถัดมาๆๆๆ คัน วันถัดมาๆๆๆๆ สะเก็ดลอกติดกับผ้าก๊อซ แผลยังไม่หายดี แผลเป็น ตำหนิ จุดบ่งชี้ ร่องรอยว่าคุณเป็นใคร หวนระลึกว่าแผลเกิดได้อย่างไร ที่ไหน กับใคร ใครสร้างแผลให้คุณ แผลทางกาย และแผลทางใจ ฝังใจ มองแผลเป็นมันก็เป็นงั้น เป็นความทรงจำสีจางๆ ถ้าไม่ทาฮีรูดอย ก็เข้มหน่อย (ไม่ได้ค่าโฆษณา อ่อ เราไม่ได้ทาด้วย เราทายาที่หมอให้ จำชื่อไม่ได้ละ หมอบอกทาบางๆ พอเรารู้สึกผิวหนังชักจะบางเกิน ก็ไม่ทา สุดท้าย แผลเป็นยังอยู่ คนชอบทักเป็นไร ก็ปกตินะ ไม่ได้เป็นอะไร)
“รู้จักคนที่เป็นส่วนหนึ่งของหนังมากขึ้น อาจจะรู้จักเรามากขึ้น มีอยู่วันหนึ่งเราจะจุ๊บแมว แมวข่วนปาก เลือดออก แต่เป็นแผลที่ปากหายไวมาก วันเดียวหายเลย รอยแผลเป็นก็เนียนๆเป็นร่องร่มฝีปาก จุ๊บแมวกันเยอะๆ อยากเลือกตั้ง ฝากทุกคนด้วย”