เมื่อต้นปีทีผ่านมามีการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เปิดพื้นที่ให้ภาพยนตร์ที่เข้าฉายมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อดึงคนดูหนังหน้าใหม่เข้ามาช่วยพยุงรายได้อุตสาหกรรมหนังไทยให้อยู่รอด
เพราะเพียงแค่รสชาติคุ้นลิ้นชินตาอย่างหนังแอคชั่น หนังโรแมนติกคอมเมดี้ หรือหนังผีตามสูตรที่สร้างขึ้นเพื่อเอาใจคนดู ไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับความต้องการของคนเราในยุคที่เราต้องการทางเลือกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งมีตัวเลือกที่หลากหลาย ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนคนดูหนังได้มากขึ้น เป็นการผลักดันโอกาสใหม่ๆ ในวงการหนังไปพร้อมกันด้วย
ดังคำกล่าวของ Robert Altman ผู้กำกับหนังรุ่นใหญ่ที่ทลายทุกกฎเกณฑ์ของฮอลลีวู้ด ที่เขาเคยพูดไว้ว่า “การทำหนังคือโอกาสในการเกิดใหม่ในอีกหลายชีวิต” หากเราต้องใช้ชีวิตกับหนังแบบใดแบบหนึ่งไปตลอดก็คงไม่ใช่ชีวิตที่สนุกนัก คนทำหนังจึงไม่เคยหยุดคิด หยุดสร้างประเภทของหนังใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ จากการทดลองจับนั่นผสมนี่ด้วยความตั้งใจ หรือในบางครั้งก็บังเอิญค้นพบแนวทางที่ไม่ซ้ำใครจากความพิลึกพิลั่นของมนุษย์เราด้วยกันนี่ล่ะ
Cult Film
ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำหนังคัลต์ได้! เพราะมันเป็นชื่อเรียกประเภทของหนังที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อันหลากหลาย ที่คนด่าก็ด่าแบบสาดเสียเทเสีย ส่วนที่ชอบก็ชมกันจนถึงขั้นคลั่งไคล้ จะเรียกหนังเรื่องไหนว่าคัลต์ได้จึงไม่ใช่คนทำเป็นคนกำหนด แต่คนดูเป็นคนจัดประเภทให้ต่างหาก หนังคัลต์มักไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่มักจะมีภาพจำว่าจะต้องเป็นหนังสยองขวัญ เต็มไปด้วยความรุนแรง ทุนต่ำ และคุณภาพแย่ แต่ในความเป็นจริงแล้วหนังคัลต์สามารถนำมาใช้เรียกหนังได้ทุกแนวได้ หรือทุนต่ำทุนสูงก็ได้ เป็นหนังที่ไม่ได้ตอบโจทย์คนดูวงกว้างแต่จะมีผู้ที่ชื่นชอบ อยู่จำนวนหนึ่ง เพราะมีความสุดขั้วบางอย่างจนมีการถกเถียงถึงคุณค่าที่แฝงอยู่ในหนัง เช่นหนังอวกาศสุดคลาสสิกอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) หนังเพลงที่มีตัวเอกเป็นนักวิทยาศาสตร์สุดเพี้ยนอย่าง The Rocky Horror Picture Show (1975) หรือหนังที่ว่าด้วยเรื่องมหัศจรรย์พันลึกอย่าง Big Fish (2003) เป็นต้น
Snuff Film
เราอาจเคยดูหนังฉากฆาตกรรมนองเลือดแล้วรู้สึกเหมือนภาพตรงหน้าเกิดขึ้นจริงๆ ด้วยเทคนิคพิเศษทางภาพและเสียงที่สมจริงสุดๆ แต่ Snuff Film นั้นไม่เพียงดูเหมือนจริง แต่เป็นหนังที่มีการฆาตกรรมเกิดขึ้นจริงๆ ! เน้นให้คนดูได้เห็นกระบวนการฆาตกรรมของจริงที่มีเจตนาในการฆ่ากันอย่างชัดเจน เพื่อความบันเทิงของคนกลุ่มหนึ่งล้วนๆ หนังแนวนี้จึงนิยมถ่ายแบบลองช็อตต่อเนื่อง ไม่มีเทค นักแสดงบางคนอาจถูกหลอกมาแสดง หรือถูกวางยาเพื่อพาตัวมาใช้ถ่ายทำ ทุกเรื่องจึงเป็นภาพบันทึกช่วงเวลาแห่งความตายอันน่าสยดสยอง หนังแนวนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างจาก Charles Manson ซึ่งอัดวิดีโอระหว่างฆาตกรรมดาราสาวคนหนึ่งไว้ กลายเป็นข่าวฮือฮาจนต่อมาในปีค.ศ.1976 มีการสร้างหนังสยองขวัญชื่อ Snuff ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์นี้อีกทอดหนึ่ง และกลายเป็นกระแสต่อเนื่องอย่างยาวนานในช่วงยุค 80s หนังแนวนี้ที่คนไทยหลายคนอาจจะเคยดูก็คือ Cannibal Holocaust (1980) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เปรตเดินดินกินเนื้อคน’ นั่นเอง
Mondo Film
นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังที่สร้างนิยามใหม่ของคำว่า ‘ความบันเทิง’ ในอีกมิติหนึ่งที่โลกยังไม่คุ้นเคยหรือยอมรับนัก Mondo Film ตั้งตามหนังแนวนี้เรื่องแรกของโลกซึ่งชื่อ Mondo Cane (1962) เป็นหนังที่ฮือฮามากในยุคนั้นจนถูกใช้เป็นชื่อหมวดหมู่ของหนังที่ทำเลียนแบบสารคดี (pseudo-documentary) เรียงร้อยฟุตเทจเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมักขับเน้นอารมณ์ ประสาทสัมผัสต่างๆ มากกว่าจะเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง เช่น คนป่า คนเปลือย เกมสู้วัวกระทิง สุนัขที่ถูกจับมาขังเพื่อทำเป็นอาหาร ฯลฯ ซึ่งบางเหตุการณ์ก็เป็นการถ่ายทำขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลายให้คนดูตื่นตะลึง ด้วยลักษณะการนำฟุตเทจทั้งจริงบ้างไม่จริงบ้างมา ‘ยำ’ กันนี่เองที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความลวงในหนังแนวนี้ออกจะพร่าเลือนจนคนดูไม่รู้ว่าตัวเองควรจะรู้สึกอย่างไร แต่ก็กลายเป็นเสน่ห์ของหนังแนวนี้ไปโดยปริยาย
Documentary Film
หนังสารคดี เป็นอีกหนึ่งประเภทที่กำลังมาแรงในบ้านเรา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวหนังเน้นไปที่การนำเสนอความจริงเพื่อศึกษา หรือเก็บรักษาเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แต่ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องมีแต่ฟุตเทจภาพจากเหตุการณ์จริงเสมอไป บางครั้งอาจมีการแสดงจากนักแสดงร่วมด้วย เพื่อให้คนดูเข้าใจสถานการณ์ที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หนังสารคดีเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความจริง ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ เข้าถึงง่าย ใช้ภาพ เสียง การตัดต่อเข้ามาช่วยทำให้คนในวงกว้างสามารถรับรู้ความจริงเหล่านั้น ตั้งคำถามกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น หนังสารคดีมักถูกนำมาใช้ในงานข่าว นำมาใช้เผยแพร่เพื่อสนับสนุนแนวคิดทางการเมือง หรืออาจจะเป็นเพียงการแสดงออกความรู้สึกส่วนตัวของคนทำหนังที่มีต่อเรื่องหนึ่งๆ ก็ได้ ความจริงที่ถูกถ่ายทอดบนจอจึงไม่ได้เป็นความจริงเพียงชุดเดียวเสมอไป เช่น The Act of Killing (2012) กับ The Look of Silence (2014) ที่ว่าด้วยเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียช่วงปี 1965-1966 ซึ่งเรื่องแรกเล่าผ่านมุมมองของผู้สังหารกับอีกเรื่องเล่าผ่านมุมของเหยื่อและญาติผู้สูญเสีย
Short Film
หนังสั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุคปัจจุบันที่มีอุปกรณ์เครื่องมือในการถ่ายทำที่เข้าถึงคนมากขึ้น หนังสั้นนั้นมีองค์ประกอบทุกอย่างเหมือนหนังทั่วไป เพียงแต่เล่าเรื่องประเด็นสั้นๆ หรือประเด็นใดประเด็นหนึ่งให้ได้ใจความ ภายในเวลาไม่เกิน 40 นาที ด้วยเวลาที่จำกัดจึงทำให้คนดูเข้าถึงตัวละครอย่างรวดเร็ว เเละผูกโครงเรื่องให้เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เทศกาลหนังสั้นต่างๆ ที่จัดขึ้นมาประกวด หรือฉายหนังเล็กๆ เหล่านี้จึงเป็นสนามที่น่าสนใจในการสร้างโอกาสสำหรับผู้กำกับรุ่นใหม่หรือคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนทำหนังมาโดยตรง ได้กล้าทดลองทำหนังในแบบที่ตัวเองชอบ เพราะนอกจากจะใช้ต้นทุนต่ำแล้ว พัฒนาการของกล้องถ่ายหนังก็เป็นตัวช่วยที่เบาแรงคนทำหนังได้ไม่น้อย
ช่างภาพวิดีโอสายแอคชั่นซึ่งผ่านผลงานละครเนตรนาคราช ขุนกระทิง และเล็บครุฑ อย่างคุณกฤษณัฎฐ์ สีมานะชัยสิทธิ์ เล่าถึงประสบการณ์ใหม่ในการทำหนังสั้นที่มีตัวช่วยเป็น Canon EOS 5D Mark IV ที่ขนาดกำลังพอดีจับถนัดมือจึงให้ความคล่องตัวสำหรับในการถ่ายทำหนังแอคชั่นที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เพราะมี Dual Pixel CMOS AF ที่ช่วยจับโฟกัสได้ตรงจุดยิ่งขึ้น รวมถึงการถ่ายวิดีโอ 4K แบบ DCI ที่มีสัดส่วนภาพ 4096×2160 ทำให้ภาพคมชัดเต็มประสิทธิภาพในรูปแบบของ 4K นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชัน Wi-Fi/NFC ที่ช่วยต่อกล้องเข้ากับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เพื่อช่วยปรับค่าของกล้องได้โดยตรง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องติดตั้งอุปกรณ์ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน การทำหนังสั้นในยุคนี้จึงเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น
ชมเบื้องหลังต่อได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Canon EOS 5D Mark IV ได้ที่ http://www.canon.co.th/EOS5DIVthelegend/action.html