พูดถึงสามจังหวัด คุณคิดถึงอะไร? กว่า 18 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ก่อหมอกหนาของความกลัว ทำให้คนภายนอกต่างเห็นภาพวิถีชีวิตได้รางเลือนเต็มที หนังจึงไม่ต่างกับไฟฉายกระบอกเล็กที่ส่อง และบอกใบ้ว่าสามารถไปสู่เส้นทางใดได้บ้าง อย่างที่เกิดขึ้นผ่านหนังสั้นโครงการ Deep South Young Filmmaker รุ่น 2
ทำความรู้จักโครงการนี้กันก่อน Deep South Young Filmmaker เป็นโครงการที่เปิดรับเยาวชนอายุ 15-25 ปีในพื้นที่สามจังหวัดที่สนใจ มาร่วมเวิร์กช็อปทำภาพยนตร์สั้น โดยมีผู้คร่ำหวอดในแต่ละด้านทั้งพัฒนาบท ถ่ายทำ ตัดต่อ แอนิเมชั่น รวมถึงการแสดง และอื่นๆ มาคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เคี่ยวจนงวดออกมาเป็นผลงาน 11 เรื่องที่ปรากฏบนจอกว้างให้ได้ชมกัน
The MATTER ได้มีโอกาสร่วมชมหนังสั้นทั้ง 11 เรื่องในการฉายครั้งแรก จึงอยากชวนไปดูว่าเยาวชนหยิบยกประเด็นอะไรมาบอกเล่ากันบ้าง โดยเฉพาะในวันที่ปัญหา ไม่ได้ถูกเล่าผ่านความรุนแรงที่มาพร้อมนักรบอาวุธครบมือ
(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหา หรือรายละเอียดย่อยบางส่วนของหนังสั้นในโครงการ)
ตลอดหลายปีที่เหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ลุกลาม จนปรากฏข่าวตามหน้าสื่อใหญ่ ฟากของภาพยนตร์ก็สร้างภาพจำเช่นนั้นไปควบคู่ อย่างโอเคเบตง ที่บอกเล่าชีวิตของพระที่ต้องสึกมาดูแลครอบครัวหลังพี่สาวเสียชีวิตด้วยระเบิด หรือหนังที่คนไทยไม่ได้ดู เรื่องปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก ที่อธิบายมุมมองจากฟากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งหมดล้วนตอกย้ำภาพจำการเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง ที่ใช้สายตาคนภายนอกบอกเล่าเรื่องราว
นั่นทำให้หนังสั้น Deep South Young Filmmaker ยิ่งน่าสนใจ เพราะถ่ายทอดด้วยเลนส์สายตาของเยาวชนในสามจังหวัด และยิ่งพิเศษเมื่อพวกเขาไม่ได้เลือกหยิบเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นตัวชูโรง คงต้องออกตัวก่อนว่า เนื้อหาในบทความนี้มาจากความคิดเห็น และความรู้สึกของผู้เขียนในฐานะหนึ่งในผู้ชมเท่านั้น
วัยรุ่นเล่าเรื่องวัยรุ่น
เสียงปรบมือดังพร้อมไฟที่ค่อยๆ สว่างขึ้น หลังถึงตอนจบของภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ถูกฉาย ‘เรื่องทั่วไปที่เด็กหลายคนต้องเจอ’ กลายเป็นบทสรุปแรกๆ ที่ขึ้นมาในใจ ด้วยเป็นจุดร่วมของหนังสั้นหลายเรื่อง
เดอะโรตี (ทีมวันไนท์จะเสร็จ) เป็นเรื่องแรกที่ฉายและเปิดบทสนทนานี้ ในประเด็นมิตรภาพของกลุ่มเพื่อน ซึ่งมีร้านโรตีเป็นทั้งฉากและเส้นเล่าของหนัง เพื่อเล่าความท้าทายของการรักษาสัมพันธ์ระหว่างที่ได้ร่วมกันทำหนังสั้นส่งเข้าประกวดตามเนื้อเรื่อง
คงต้องชื่นชมการทำการบ้านของคนเบื้องหลัง ที่ส่งผ่านให้เหล่านักแสดงถ่ายทอดอย่างไม่เคาะเขิน เราถึงได้เห็นจังหวะการเล่าที่เนียนตาตั้งแต่ต้นจนจบ จนแอบสงสัยเหมือนกันนะเนี่ย ว่าจะใช่เรื่องจริงคนทำเองไหม (ยิ้ม)
เช่นเดียวกับ สิ่งสำคัญ (ทีมเอ็มดีไอ63) หนังสั้นที่เล่าการตัดสินใจครั้งใหญ่ในช่วงชีวิตเด็กมัธยมฯ ผ่านตัวละครเด็กกหนุ่มอามีน มองเผินๆ อาจคิดว่าเป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างพ่อลูกทั่วไป
แต่มากไปกว่านั้นหนังเหมือนกำลังสื่อสารถึงค่านิยมในสังคม ที่ยังคงให้คุณค่ากับงาน ‘ราชการ’ จนทำให้ความฝันของเด็กคนหนึ่งต้องได้รับการพิสูจน์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นบริบทเฉพาะของเด็กในแถบภาคใต้รึเปล่า?
แวรุงเมกา (ทีมกะโปกโปรดักชั่น) ก็เป็นหนังสั้นอีกเรื่องที่สะท้อนภาพความเห็นต่างในครอบครัว โดยยกวิถีเด็กแว้นของบักรี ที่เล่าการทำภารกิจสำคัญเพื่อคนในหมู่บ้าน แต่กลับยังไม่ได้การยอมรับอย่างที่หวัง
เมื่อเลือกที่จะเล่าด้วยประเด็นรถมอเตอร์ไซค์ซิ่ง ที่ยังถกเถียงกันไม่จบในสังคม หนังจึงอาจต้องเผชิญกับการพิสูจน์การยอมรับ ไม่ต่างกับบักรีเด็กหนุ่มตัวละครหลักของเรื่อง
วิพากษ์นโยบายเชิงโครงสร้าง
คงจะง่ายกว่า ถ้าความฝันของใครสักคนได้รับการยอมรับและสนับสนุน กระดานความฝัน (ทีมโรเบอะแซ) เป็นหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของ ‘พื้นที่สาธารณะ’ สำหรับกลุ่มคนที่ชื่นชอบสเก็ตบอร์ด
เหลียวซ้ายแลขวา หนังสั้นเรื่องนี้อาจไม่ได้หยิบปัญหาเฉพาะพื้นที่อย่างเรื่องอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างความโดดเด่น แต่การบอกเล่าแบบ’คนวงใน’ ก็พาให้เราดูได้จนจบ และเข้าใจโดยไม่ต้องใช้เวลานาน
ขณะที่ ส่วนต่าง (ทีมยันหว่าง) เลือกพูดถึงปัญหายอดนิยมในช่วงโรคระบาด COVID-19 ชูปัญหาการใช้ช่องว่างของคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อเอาเปรียบแรงงานที่ควรจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐเต็มจำนวน
เมื่อเล่าด้วยตัวละครอาลีฟ ชายที่หาเลี้ยงครอบครัวจากการเป็นแรงงานต้มยำกุ้งในมาเลเซีย แต่ต้องหันหลังกลับบ้านเพราะตกงาน จึงช่วยสะท้อนวิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเรื่องราวที่คนภายนอกอาจนึกไม่ถึง
บอกเล่าเพื่อความเข้าใจ
สำหรับหนังสั้นในกลุ่มนี้ทั้งชื่อและเนื้อเรื่อง มองจากระยะไกลยังพอจะคาดเดาได้ว่ากำลังพูดถึงพื้นที่ไหน แต่ไม่รู้ทำไมถึงหาคำจำกัดความให้กับเรื่องราวหลังจอภาพดับลงยากเต็มที ทั้งที่หนังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
นิกะห์ (ทีมออทิสติก) เล่าเรื่องของดิลดา หญิงสาวที่ตัดสินใจแต่งงานกับนาวินครูหนุ่มที่เข้านับถือศาสนาอิสลาม ด้วยการเห็นชอบของพ่อฝ่ายหญิง โดยหนังดำเนินไปด้วยจังหวะชวนยิ้มตามแบบฉบับหนังรักวัยรุ่น แต่พิเศษด้วยการเดินเรื่องผ่านวิถีปฏิบัติของคู่สามีภรรยาตามแบบฉบับมุสลิม
อย่างไรก็ดี ภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาของหนัง การแฝงรายละเอียดที่มีความหมายเชิงวัฒนธรรม จึงอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ดังนั้นแต่ละคนจึงอาจรับรู้ไม่เหมือนกัน แต่ที่ไม่น่าผิดคาด คือเมื่อหนังถูกเผยแพร่ และยกอำนาจการตัดสินไปอยู่ในมือผู้ชมแล้ว คงทำให้ชาวทวิตเตอร์คึกคักได้พอสมควร
เช่นเดียวกับ หนึ่งย่างก้าว (ทีมเดอะ ฮีสตอรี) ที่เปิดโลกให้ผู้คนรู้จัก ‘สีลัต’ หนึ่งในวิชาป้องกันตัวที่ไม่ใช่ศิลปะการต่อสู้ ด้วยการเล่าผ่านเพื่อนรักสามคน ที่ต้องเดินทางไปฝึกตนเป็นนักสีลัตกับปรมาจารย์ และเรียนรู้ว่าการฝึกจิตใจคือหัวใจสำคัญยิ่งไปกว่าการฝึกร่างกายเสียอีก
ว่าแต่รู้กันไหมว่า สีลัต กับปันจักสีลัตแตกต่างกัน หากใครมีโอกาสเข้าไปดูหนังสั้นเรื่องนี้ คงต้องห้ามพลาดช่วง Q&A
รวมถึงฮีญาบ (ทีมบูเด๊าะ สลาตัน) หนังสั้นที่ได้รับเสียงปรบมือรัวๆ โดยเฉพาะจากบรรดาสาวมุสลิม เพราะรายละเอียดภาพที่ช่วยไขข้อสงสัยว่า พวกเธอสวมฮีญาบขณะนอนหลับหรือไม่ ผ่านการถ่ายทอดการชีวิตของครอบครัวผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานเลี้ยงดูครอบครัว ภายใต้การจำกัดสิทธิในการแต่งกาย ที่ต้องสูญเสียไป เพื่อความอยู่รอดของครองครัว
สิ่งที่น่าประทับใจอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ คือการที่ทีมงานชายต้องเอาชนะข้อจำกัดทางศาสนา ที่ต้องถ่ายทำฉากผู้หญิงถอดฮีญาบ พวกเขาจึงตัดสินใจเลือกนักแสดงที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามมาสวมบทแทน เชื่อว่าหนังสั้นซึ่งมีเนื้อหาจำเพาะเชิงพื้นที่ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเห็นต่างไปได้ อย่างไรก็ดีหากการถกเถียงเป็นไปอย่างเหมาะสม นั่นเท่ากับว่าหนังที่ได้ทำหน้าที่ของมันตามที่ควรจะเป็นแล้ว
ส่งเสียงถึงประเด็นใต้พรม
ลูกรักไม่ยักรู้ (ทีมมาดูทีน) คงต้องได้รับเสียงปรบมือในความกล้า เพราะเป็นหนังสั้นเพียงเรื่องเดียว ที่เลือกสื่อสารด้วยหนังแอนิเมชั่น จึงต้องทำงานอยางหนักหน่วงทีเดียว โดยเป็นการเปิดบทสนทนาของเพศหลากหลาย ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความเปราะบางในพื้นที่ ด้วยการใช้ตัวละครเด็กนักเรียนชั้นมัธยมดำเนินเรื่อง
ด้านข้าวต้มผ้าแดง (ทีมนายู คอนเน็ค) กำลังเล่าชีวิตครอบครัวหนึ่งที่ดูกำลังไปได้สวย แต่ต้องพลิกผันเพราะสิ่งที่มองไม่เห็น โดยพยายามชี้ให้เห็นปัญหาธุรกิจที่หากินกับความเชื่อ และความทุกข์ใจของชาวบ้านในพื้นที่นั่นเอง
และท้ายสุด หมาป่า (ทีม ศุกร์ เศร้า อาทิตย์) ที่เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนที่เคยเข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 1 เพื่อต่อยอดและท้าทายวิธีการสื่อสารผ่านหนังสั้นในรูปแบบที่ต่างออกไป ผ่านเรื่องราวเด็กชายคนหนึ่งที่พบเห็น ‘ความกลัว’ ตามคำบอกเล่าของพ่อ โลกของเขาจึงไม่เหมือนเดิม
ด้วยทักษะการถ่ายทำและฝีมือที่พัฒนาตามลำดับ หนังสั้นเรื่องนี้จึงถูกจริตหลายต่อหลายคน ในขณะที่เนื้อในก็ชวนให้คิดและตีความตามแต่ประสบการณ์
นับแต่ต้นจนจบ หนังสั้นทั้ง 11 เรื่องต่างพาเราไปสำรวจสังคมชายแดนใต้ต่างกันออกไป บ้างพูดถึงอัตลักษณ์เชิงท้องที่ที่คนอาจยังไม่รู้จัก บ้างพูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มีต้นเหตุมาจากการขาดโอกาสทางการศึกษา รวมถึงประเด็นในครอบครัวที่วัยรุ่นหลายคนอาจกำลังเผชิญหน้าอยู่
และสิ่งที่สร้างความเซอร์ไพรส์ คือไม่มีหนังสั้นเรื่องไหนที่เลือกหยิบปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัด ที่เคยถูกฉายแสงด้วยสายตาของคนนอกเลย
“เหมือนฝรั่งมาถ่ายเมืองไทยก็ต้องมีช้าง หรือมาถ่ายปัตตานีก็ต้องมีทหาร ทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่คิดไปก่อน มันอาจมีจริง แต่ศิลปินก็สามารถเลือกเรื่องที่เขาอยากเล่าได้อย่างอิสระ หนังไม่ได้แทนภาพตัวตนทั้งชีวิต มันไม่ได้หมายถึงเขาไม่ได้คิดหรือไม่ได้รู้สึก”
นี่เป็นความคิดเห็นของ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์(องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินรางวัลครั้งนี้
สำหรับโครงการเปิดตัวฉายไปแล้วครั้งแรกในปัตตานีเมื่่อช่วงสุดสัปดาห์ที่่ผ่านมา และจะมีโปรแกรมตระเวนฉายให้กับผู้สนใจทั้งเชียงใหม่ ในวันเสาร์ที่ 10 ก.ย. ต่อด้วย 17 ก.ย. ที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema Central World กรุงเทพฯ ก่อนจะไปปิดท้ายเสาร์ที่ 24 ก.ย. ที่ยะลา
หากใครสนใจสามารถ ติดตามรายละเอียดการสำรองที่นั่งได้ที่เฟซบุ๊กเพจ DS Young Filmmaker หรือสอบถามเพิ่มเติมได้โทร. 02-277-0824 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทสรุปของหนังสั้นชุดนี้ จากเอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปิดท้ายอย่างน่าสนใจว่า “นี่เป็นบทสนทนาของวันพรุ่ง ไม่ใช่บทสนทนาในอดีตอีกแล้ว พวกเขาฝัน หรืออยากจะมีชีวิตแบบไหน เราจะได้เห็นผ่านหนังทั้ง 11 เรื่อง”