เสรีภาพของสื่อ ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงหลายครั้งในช่วงนี้ ไม่ว่าจะจากฝั่งไหนของสังคม สื่อควรเป็นกลางหรือไม่? เลือกข้างได้หรือเปล่า? รวมทั้งเรื่องของจรรยาบรรณ หากโดนแทรกแซงจากรัฐ ควรทำอย่างไร?
ในโลกความจริง เราเห็นเรื่องแบบนี้อยู่ไม่เว้นวัน แม้แต่ในโลกภาพยนตร์ก็ยังมีเรื่องเหล่านี้คอยตอกย้ำ ว่าเสรีภาพของสื่อและการแทรกแซงจากรัฐ ยังคงมีอยู่เสมอมา ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน มารับชมเรื่องราวของสื่อและรัฐ คู่ปรับและคู่รักตลอดกาล มีทั้งสื่อที่ถูกแทรกแซงและสื่อที่รับใช้รัฐ กับภาพยนตร์ 5 เรื่องที่เราเลือกมาให้ ดูซิว่ามีเรื่องไหนมันคุ้นๆ ว่าใกล้เคียงกับเรื่องในบ้านเราบ้างไหมนะ
The Post (ค.ศ.2017)
กำกับโดย Steven Spielberg
สหรัฐอเมริกา ในยุคของประธานาธิบดีคนที่ 37 อย่าง Richard Nixon ต้องสั่นสะเทือนด้วย ‘Pentagon Papers’ เอกสารลับเกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่ไม่ลับอีกต่อไป เมื่อมาอยู่ในมือสื่ออย่าง ‘Washington Post’ เอกสารฉบับนี้เปิดเผยถึงการเข้าไปแทรกแซงเวียดนาม ก่อนจะเกิดสงครามเวียดนามของสหรัฐ
แต่ในภาพยนตร์ ความเข้มข้นของเรื่องนี้ ไม่ได้โฟกัสแค่ที่การปกปิดความจริงของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องเสรีภาพของสื่อ เมื่อ Kay Graham รับช่วงต่อ Washington Post จากสามีที่ล่วงลับไปแล้วของเธอ ร่วมกับบรรณาธิการ อย่าง Ben Bradle เมื่อเอกสารลับมาถึงมือพวกเขา การเปิดโปงรัฐบาลจึงเป็นเหมือนหมุดหมายที่รอคอยอยู่ข้างหน้า แต่นั่นหมายความว่า หากเขาเลือกตีพิมพ์เอกสารลับฉบับนี้ Washington Post จะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเสี่ยงจะโดนนักลงทุนลอยแพอีกต่างหาก
เอกสารลับในมือจึงเป็นเหมือนทางแยกให้เลือกระหว่างจรรยาบรรณของสื่อ ที่ควรเสนอความจริงให้กับประชาชน หรือจะเลือกโอกาสอยู่รอดต่อไปของ Washington Post มรดกจากสามีที่ล่วงลับไป
The Insider (ค.ศ.1999)
กำกับโดย Michael Mann
คู่ปรับของสื่อไม่ใช่แค่รัฐ แต่ยังมีนายทุนด้วยเช่นกัน
‘Dr. Wigand’ หนึ่งในทีมค้นคว้าด้านชีววิทยาของบริษัท Brown & Williamson ผู้ผลิตยาสูบยักษ์ใหญ่ในอเมริกา ต้องบอกลาตำแหน่งของเขาอย่างเงียบๆ ด้วยเหตุผลที่มีลับลมคมในบางอย่าง โดยเฉพาะความลับของทีมวิจัย ที่เขามีส่วนรู้เห็นเรื่องราวนี้มาโดยตลอด ลับขนาดไหน ขนาดที่บริษัทต้องให้ด็อกเตอร์เซ็นสัญญารักษาความลับของบริษัท ก่อนจะแยกทางกัน
เรื่องนี้จะเงียบไป ถ้า Lowell Bergman โปรดิวเซอร์รายการทีวีไม่เชิญด็อกเตอร์ไปออกรายการ 60 Minutes เพื่อคลายข้อสงสัยให้กับเขาเองและผู้ชมทางบ้าน แต่นั่นหมายความว่าด็อกเตอร์ต้องผิดสัญญาที่ตกลงไว้กับบริษัท
หากจะมีใครต้องร้อนรนที่สุดในเรื่องนี้ คงไม่พ้นบริษัทยาสูบที่ว่า พวกเขาไม่ต้องการให้เทปนี้ได้ออกอาศ รายการเองก็ต้องเลือกระหว่างการเสนอความจริง หรือความอยู่รอดของพวกเขา เพราะรายการเองก็อาจถูกบริษัทยาสูบเส้นใหญ่ฟ้องร้องได้เช่นกัน
แต่เดิมพันนั้น ไม่ได้เกี่ยวแค่รายการ แต่ยังหมายถึงสุขภาพของสิงห์อมควันที่บริษัทเก็บงำความลับเอาไว้ และเรื่องนี้มีเนื้อหาจากเรื่องจริงอีกด้วย
All the President’s Men (ค.ศ.1976)
กำกับโดย Alan J. Pakula
จากคดีบุกรุกสำนักงานใหญ่พรรคเดโมแครต ไปสู่การสาวไส้ประธานาธิบดี ในชื่อคดี Watergate
Bob Woodward และ Carl Bernstein สองนักข่าวที่ต้องตามติดคดีบุกรุกสำนักงานใหญ่พรรคเดโมแครตโดยชายห้าคน เหมือนจะเป็นคดีลักทรัพย์ธรรมดา แต่พวกเขาเกิดความเคลือบแคลงใจในบางจุด พวกเขาจึงใช้หน้าที่ของสื่อในการค้นหาเบาะแสและเกาะติดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคดีสั่นสะเทือนเก้าอี้ประธานาธิบดีของ Richard Nixon (อีกแล้ว) อย่างคดี Watergate
ทั้งคู่ขับเคี่ยวเพื่ออยากจะมีผลงานในคดีนี้ เพราะถ้าหากคดีนี้ยิ่งอื้อฉาวเท่าไหร่ เท่ากับพวกเขาประสบความสำเร็จมากเท่านั้น แต่ท่ามกลางการแข่งขันของทั้งคู่ มันคือการทำหน้าที่ของสื่อ ที่เป็นมากกว่าคนหยิบข่าวมานำเสนอ ด้วยการทุ่มเทแรงกาย วิเคราะห์เรื่องราว จับต้นชนปลาย และกล้าเสนอความจริงนั้นออกมา
Wag the Dog (ค.ศ.1997)
กำกับโดย Barry Levinson
เมื่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์คือสิ่งที่ต้องรักษา Propoganda จึงต้องออกมาทำงาน
ประธานาธิบดีที่กำลังทะยานเข้าสู้เก้าอี้สมัยที่สอง ต้องตกเครื่องด้วยเรื่องฉาวอย่างการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (ที่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก) เมื่อเก้าอี้สมัยที่สองรออยู่ข้างหน้าอย่างนี้แล้ว จะปล่อยไปง่ายๆ เพราะข่าวอื้อฉาวแบบนี้คงเป็นการลาเก้าอี้ไปแบบงามหน้าเกินจะรับไหว Conrad Brean หนึ่งในทีมของประธานาธิบดี จึงต้องหาทางช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของเขากลับมา และอาวุธชิ้นสำคัญของงานนี้คือ Propoganda
เริ่มด้วยการจ้าง Stanley Motss โปรดิวเซอร์วงการภาพยนตร์ มาสร้างเรื่องราวอย่างจริงจัง เล่นใหญ่ถึงขนาดสร้างสงครามที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา เมื่อมีสงคราม ย่อมมีวีรบุรุษ และจะเป็นใครไปได้นอกจากประธานาธิบดี ที่เป็นหวยล็อกในตำแหน่งนี้ เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของเขาขึ้นมาอีกครั้ง
เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างของการสร้างข่าว (ลวง) ขึ้นมา เพื่อเบี่ยงประเด็นไปจากความเน่าเฟะอีกด้าน ราวกับว่าเรื่องนั้นไม่มีอยู่จริง แล้วหันไปหยิบยื่นแต่ภาพลวงที่สร้างขึ้นมา จนกว่าผู้คนจะเชื่อว่ามันเป็นจริงในสักวัน
Good Night, and Good Luck. (ค.ศ.2005)
กำกับโดย George Clooney
ช่วงปี 50’s อเมริกากำลังหวาดผวากับคอมมิวนิสต์ ถึงขนาดที่ต้องจับตาดูแม้แต่ประชาชนของตนเอง ว่าใครมีความข้องเกี่ยวอะไรกับคอมมิวนิสต์หรือไม่ แม้เพียงความบังเอิญอันน้อยนิด ก็อาจทำให้ถูกนำตัวไปสอบสวนได้ จนเกิดการยัดข้อหา ถือว่ามีความผิดโดยที่ยังไม่สอบสวน จนหลายคนอนาคตดับวูบไป เพียงเพราะต้องสงสัยว่าจะมีเอี่ยวกับคอมมิวนิสต์ (คุ้นๆ ไหมนะ)
Joseph McCarthy ผู้ที่มีอำนาจในการสอบสวนเรื่องนี้โดยตรง เริ่มใช้อำนาจที่มีในมือเกินขอบเขต ไม่ใช่แค่การจับตาดูเจ้าหน้าที่รัฐอย่างที่ควรจะทำ แต่มันเลยเถิดไปที่การไล่ล่าฝั่งตรงข้ามให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นว่า ใครที่คิดเห็นต่างจากนี้ คือคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น และแน่นอนว่า แรงใจอันขันแข็งและเบื้องหลังความลุแก่อำนาจนี้ มาจากคติที่ทำเพื่อชาติและส่วนรวม
นักข่าวผู้ที่ไม่ยอมเห็นความไม่เป็นธรรมอย่าง Edward Murrow จึงหยิบข่าวนี้มาเผยแพร่ โดยโจมตีไปที่การกระทำอันไม่ชอบธรรมของ Joseph McCarthy โดยตรง จึงเกิดการคุกคามสื่อขึ้นมาแบบไม่ปิดหน้าอีกต่อไป
ความดุเด็ดเผ็ดมันของเรื่องนี้คือเรื่องของจรรยาบรรณสื่อโดยตรง สื่อสามารถเลือกข้างได้ไหม หรือสื่อควรจะวางตัวเป็นกลาง และเสนอเพียงความจริงเท่านั้น แล้วทำแบบนั้นได้จริงๆ หรือ?