หลายๆ คนอาจมีภาพจำของ a day เป็นนิตยสารหนึ่งเล่ม ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์เท่ๆ เต็มไปด้วยไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์เจ๋งๆ แต่ในยุคที่หลายคนบอกสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย และสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป แล้ว a day ในวันนี้เป็นยังไงบ้าง?
The MATTER เดินทางจากรัชดาซอยสามไปพบกับ a day ที่ออฟฟิศของพวกเขาย่านซอยศูนย์วิจัยฯ และพูดคุยกับ บรรณาธิการบริหาร เบลล์ – จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ จากในวันแรกที่รับตำแหน่งมาพร้อมความหนักใจในการมุ่งมั่นอยากพาตัวเล่มให้รอด จนกระทั่งถึงวันที่เปลี่ยนแนวคิดว่าการสื่อสารมีเครื่องมือหลากหลาย และพร้อมสนุกไปกับเครื่องมือหลากชนิดนี้
นอกจากนั้นเขายังพา a day เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่กลายเป็นธีม ‘a brand new day’ ที่สนุกขึ้น มีสีสันขึ้น จริงจังขึ้น และเติบโตขึ้น พร้อมเดินหน้าสร้างพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ในวันที่สถานการณ์บ้านเมืองพาเราถึงทางตัน เพื่อให้ไอเดียใหม่ๆ ได้พาเราหาทางออกไปด้วยกัน
a day เปลี่ยนไปแค่ไหน คุณค่าที่ a day ยึดถือในทุกวันนี้คืออะไร และการเติบโตของ a day ในวันนี้ พวกเขาได้เจออะไรกันบ้าง เราชวนไปรู้จัก a day แบบใหม่แต่หน้าคุ้นคนนี้กัน
สองปีกับการขึ้นมาเป็น บรรณาธิการบริหาร ของ a day มีความรู้สึกอะไรบ้าง
รู้สึกเหมือนยาวนานมาก (ขำ) สำหรับเราแล้วมันเป็นคำถามที่ตอบยากเหมือนกัน เพราะมันก็รู้สึกหลายอย่างมาก สุขมันก็อาจจะบางช่วง เศร้าก็อาจบางช่วง แต่ว่าถ้าจะมีสักคำหนึ่งที่พอจะขมวดรวมทั้งหมด ที่รู้สึกอยู่ตลอดไม่ว่าจะช่วงไหนก็ตาม ก็คือ รู้สึกยาก อันนี้น่าจะเป็นคำที่มีมาตลอดตั้งแต่วันแรก คือเข้ามาก็พอเดาได้อยู่แล้วว่าจะเจออะไร
เราเข้ามาในยุคที่วงการสื่อมันเปลี่ยนผ่าน คนทำงานมันเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ก่อนเรากลับมาแล้วด้วยซ้ำ a day มันมีความยากตรงที่มันถูกจดจำหรือเกิดขึ้นมาในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์ และเราก็รู้ว่าในยุคสมัยที่มันโดน disrupt อะ สิ่งพิมพ์มันโดนหนักกว่าเพื่อน พฤติกรรมคนมันเปลี่ยน แน่นอนว่า ในวันที่เข้ามา ก็รู้สึกยากอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ เราไม่ได้กลับมาทำ a day รอบนี้ด้วยความรู้สึก โห มันง่าย เลยเข้ามา แต่เราก็รู้สึกว่ามันมีสิ่งที่ท้าทาย เหมือนเรารู้ว่ามันมีอะไรรอเราอยู่ ซึ่งพอมาถึง ก็ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย ความยากที่รู้ว่าจะต้องเจอ มันเกิดขึ้นตลอดเวลา
ถ้าสมมติมันเป็นงานอื่นๆ เราอาจใช้เวลาปรับตัวในช่วงขวบปีแรกใช่ไหม แล้วหลังจากนั้นก็จะง่ายขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าความรู้สึก ณ ตอนนี้ รู้สึกว่ามันไม่ง่ายขึ้นเลย
ถ้าเจาะลงไป ความจริงมันยากในการคิดหาหนทางให้ a day ไปต่ออย่างมีคุณค่าในยุคสมัยนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมาย นี่น่าจะเป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบไปเรื่อยๆ มันไม่มีคำตอบเดียวแล้วก็จบเลย ไม่งั้นทุกสื่อก็ไม่ต้องตั้งคำถามกันหรอก ว่าสื่อยุคนี้จะปรับตัวอย่างไร
คุณค่าที่ a day ยึดถือคืออะไร
ถ้าย้อนกลับไปดูวิดีโอของการ rebrand จะมี tagline หนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา a day ไม่เคยมี tagline เลย ไม่เคยป่าวประกาศว่าจริงๆ แล้ว a day สนใจหรือเชื่ออะไร ที่ผ่านมาจะเป็นการบอกผ่านสิ่งที่เรานำเสนอ เราสนใจเรื่องวงการสร้างสรรค์ เราสนใจเรื่องไหนเราก็ทำ ไม่เคยมีการขมวดปมเป็น tagline แต่ว่าถ้าเกิดดูในการ rebrand ครั้งนี้ มันจะมี tagline เกิดขึ้น คือ ‘for all things creative’ คือบอกว่า a day นำเสนอหรือสนใจเรื่องอะไร ก็คือทุกเรื่องที่จะถูกมองผ่านแว่นของความคิดสร้างสรรค์ นี่ก็เชื่อมโยงกับภารกิจของเราที่ต้องกลับมาทบทวนกันว่า จริงๆ a day มีความเชื่อในอะไร เราต้องการผลักดันเรื่องอะไร เราต้องการส่งเสริมหรือตอกย้ำคุณค่าอะไรในสังคม ซึ่งหลายๆ สื่อก็อาจมีคีย์เวิร์ดที่ตัวเองเชื่อแตกต่างกันไป แต่จะมีจุดร่วมกัน
คำที่เราอยากทำให้มันแข็งแรงก็คือคำว่า ‘creativity’ หรือว่าความคิดสร้างสรรค์ คือที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงคำนี้ ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้หลายๆ ปี เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่อะไรบางอย่าง คือคนจะเข้าถึงความคิดสร้างสรรค์ได้ มันต้องดูแบบเท่ๆ คูลๆ ถึงจะสร้างสรรค์ได้ การจะเข้าถึงสื่อที่มันจะ creative มากๆ ต้องไปซื้อนิตยสาร ต้องไปดูงานต่างประเทศ ดูเป็นคำที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันประมาณหนึ่ง อาจไม่ได้สูงส่งมากมายขนาดนั้น แต่ว่ามันก็มีช่องว่างประมาณหนึ่งกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
สิ่งหนึ่งที่ a day ทำมาเสมอและเราอยากยึดมั่นต่อไปก็คือ การทำให้ความคิดสร้างสรรค์มันธรรมดา คือคนอาจมองว่าความคิดสร้างสรรค์มันพิเศษใช่ไหม แต่สิ่งที่เราทำเสมอๆ ก็คือ เราอยากให้มันเป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมดาที่แบบ เราเจอได้ในชีวิตประจำวัน คุณไปกินข้าว คุณออกไปใช้ชีวิต คุณซื้อของ คุณทำอะไรก็ได้ในชีวิตประจำวัน คุณจะเห็นมันอยู่ในชีวิตประจำวันของคุณ มันไม่ได้ห่างกับคุณขนาดนั้น สมมติคุณไปร่วมชุมนุม คุณก็จะเห็นความคิดสร้างสรรค์บางอย่าง คือในชีวิตประจำวันคุณเจอมันอยู่นั่นแหละ แต่คุณเห็นมันหรือเปล่า
สิ่งที่ a day นำเสนอเรื่อยมา ไม่ใช่เฉพาะในยุคของเรา มันคือการเล่าสิ่งเหล่านี้แหละ ว่ารอบตัวคุณมันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ และสิ่งเหล่านี้มันสำคัญนะ มันช่วยพลิกมุมมองหรือมีความจำเป็นอะไรบางอย่างอยู่ และถ้าถามว่า แล้วคุณค่าที่ a day อยากนำเสนอและอยากผลักดันคืออะไร ก็คือทำให้ creativity ในบ้านเรามันดีขึ้น ในแง่ทำให้มันเป็นปกติ ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าฉันสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ได้ ฉันสามารถใช้มันได้ในชีวิตประจำวัน
อะไรคือนิยามของคำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’
ถ้าแบบพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือสิ่งที่มันสร้างสรรค์กว่าปกติ ความคิดทั่วๆ ไปเนอะ สมมติความคิดทั่วๆ ไปคือสิ่งที่คนคิดทำตามกันมา สิ่งที่คนทำกัน เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ เมื่อเจอโจทย์แบบนี้ ความคิดข้างต้นมันคือสิ่งนี้ ความคิดสร้างสรรค์มันคือความคิดที่ต่างออกไป และมันสร้างสรรค์ อันนี้เป็นกรอบนิยามแบบปกติเนอะ แต่ว่าถ้าคิดให้ลึกไปกว่านั้นอีก ถามว่าแล้วความคิดสร้างสรรค์จำเป็นอย่างไร ทำไมต้องมี ในมุมเรา เรารู้สึกว่าความคิดสร้างสรรค์ในอีกความหมายหนึ่งมันคือคำว่า ไม่ยอมจำนน สมมติแบบเจอโจทย์อะไรบางอย่าง ความจริงหลายๆ โจทย์มันตอบได้ง่ายๆ นะในชีวิตเราอะ ก็ตอบแบบนี้ไป คนอื่นเขาก็ทำตามๆ กันมา ถ้าสิบคนเจอโจทย์นี้ มันก็ตอบแบบนี้แหละ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม การเมือง หรืออะไรก็ตาม ประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเข้มข้นหรือง่ายๆ มันจะมีคำตอบอะไรบางอย่าง หรือสิ่งที่คนยึดปฏิบัติอยู่เป็นปกติอยู่
ซึ่งหลายๆ ครั้ง เวลาเราเจอเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง เราจะคิดว่าทำแบบนี้ก็ได้ ทำตามนี้ก็ได้ แต่สำหรับเรา ความคิดสร้างสรรค์คือความไม่ยอมจำนน คือการเชื่อว่าคำตอบไม่ได้มีแค่วิธีนี้วิธีเดียว แล้วบางทีสถานการณ์ในชีวิตเรามันไม่เจอคำตอบนะครับ เมื่อไปเจอเหตุการณ์บางอย่าง มันคิดไม่ออก หรือนึกทางออกไม่ได้ ความคิดสร้างสรรค์มันเหมือนแสงสว่างในความมืด มันคือการพยายามหาทางออกท่ามกลางความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ
ถ้าลองดูสถานการณ์บ้านเมือง ลองดูปัญหาในเชิงสังคมอื่นๆ มันจะมีปัญหาอยู่ ซึ่งหลายๆ อันคำตอบมันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยวิธีการที่เราทำๆ ตามกันมา มันเรียกร้อง creativity ของเราในการคิดหาทางออก หาทางแก้อะไรบางอย่าง บางอย่างบิดนิดเดียว ก็เจอทางออกเลย เราก็เลยรู้สึกว่า ความคิดสร้างสรรค์ มองเผินๆ มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ใช่ไหม แต่ว่าสถานการณ์ยิ่งอยู่ในอาการที่มันบีบคั้น หรือว่าหาทางออกไม่เจอ เราว่าสิ่งนี้ยิ่งสำคัญมากๆ เลย ลองดูปัญหาสังคมอย่างทุกวันนี้ ฝุ่นควันหรือเรื่องชาติพันธุ์ หรือเรื่องอื่นๆ เราก็เห็นคนพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้เนอะ ที่ไม่ใช่วิธีการปกติที่เขาใช้ๆ กันมา
สังคมแบบไหนที่คิดว่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้ดีสุดๆ
มันคิดได้สองแบบ เราไม่แน่ใจว่าคำตอบของเรามันถูกหรือผิด แต่มันเป็นความคิดเห็นเนอะ ในมุมเรา มันทั้งสองแบบเลย ทั้งแบบที่จนตรอกมากๆ แล้วก็แบบที่เปิดกว้างมากๆ เราว่าทั้งสองอันนี้จะเอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์
ลองไล่จากทีละแบบก่อน แบบที่เปิดกว้างมากๆ ก่อนก็ได้ อาจจะนึกออก ในสังคมแบบตะวันตกหรือว่าชาติที่เขาพัฒนาแล้ว พอมันเปิดกว้างมากๆ ไม่มีความกลัว ปราศจากความกลัว มันคิดอะไรก็ได้ หรือว่ามองดูบรรยากาศในออฟฟิศแต่ละออฟฟิศก็ได้ อันไหนที่เปิดกว้างมากๆ ความคิดสร้างสรรค์มันจะผุดพรายเนอะ มันจะไม่กลัว คิดอะไรก็ไม่กลัวผิด อะไรก็เป็นไปได้ หรือต่อให้มันเป็นไม่ได้ในวันนี้ มันก็ยังอาจเป็นไปได้ สังคมที่มันเปิดกว้างมากๆ เราว่าความคิดสร้างสรรค์มันเกิดได้ดี เพราะมันปราศจากความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวจากอะไรก็ตาม
ส่วนอันที่จนตรอกมากๆ ลองนึกภาพแบบในวันที่ชีวิตเราแย่มากๆ แล้วเราต้องการออกจากสถานการณ์นี้อะ มันจำเป็น มันบีบบังคับเราให้ดิ้นรนหรือหาทางออกอะไรบางอย่าง เช่นช่วงโควิดที่ผ่านมา อันนี้มันอยู่ในช่วงที่จนตรอกมากๆ แม้กระทั่งพวกเราที่เป็นสื่อเอง มันก็จนตรอกประมาณหนึ่งนะ เพราะมันไม่มีคนใช้เงินกับการซื้อสื่อ พวกสปอนเซอร์ต่างๆ ร้านอาหารไม่มีคนมากิน จนตรอกมากๆ ในสถานการณ์แบบนี้มันอยู่เฉยไม่ได้ มันเรียกร้องให้เราลุกขึ้นมาใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันบีบเราในอีกทางหนึ่งอะ มันเป็นการกระตุ้นให้ความคิดสร้างสรรค์มันเกิดขึ้น
เราจะเห็นหลายๆ คนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ในชีวิตแม่งไม่เคยทำมาก่อน แล้วเราเชื่อว่าในสถานการณ์ปกติอะก็อาจจะนึกแบบนี้ไม่ได้ แต่มานึกได้เพราะมันจนตรอก เพราะถูกบีบให้มันต้องคิด ไม่งั้นมันไปต่อไม่ได้
a day เข้ามาปีที่ 21 แล้ว จากจุดเริ่มต้นจนวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ในแง่สิ่งที่นำเสนอ เราว่าเปลี่ยนไม่มาก หมายถึง a day ก็ยังพูดถึงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ คนทำงานในวงการสร้างสรรค์ พวก creativity ต่างๆ เราว่าในแง่ DNA ไม่เปลี่ยนไปมาก แต่เราอยากเปรียบเทียบ a day กับคน เราว่ามันเหมือนคนคนหนึ่ง
วันที่ก่อตั้งขึ้นมันก็อยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบหนึ่ง เมื่อโตมาอีกหน่อย ก็อยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองอีกแบบหนึ่ง คนทำงานก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่โตมาในสถานการณ์แบบนั้น a day ยุคนี้ก็โตมา หรือว่าผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามากพอจนมีชุดความคิดบางอย่าง เห็นบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป ได้เติบโตขึ้นเหมือนคนคนหนึ่ง ก็มีบางอย่างที่อาจเคยชอบ หรือหลายๆ เรื่องที่ผ่านมาไม่เคยสนใจ ก็หันมาสนใจ ถามว่ามันเกิดจากอะไร a day เปลี่ยนไปหรือเปล่า เราว่ามันก็เหมือนคนคนหนึ่ง เราว่าถ้าไม่เปลี่ยนน่ะแปลก
ตั้งแต่วันแรก ถ้าไม่นับในเรื่องของ DNA หรือกระดูกสันหลังนะครับ เราว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติมาก เมื่อมันมีชุดข้อมูลที่มากขึ้น เมื่อมันอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่เหมือนเดิม หรืออะไรก็ตาม มันก็เปลี่ยนไปตามวันเวลา a day ก็เปลี่ยนมาคุยเรื่องที่มันเข้มข้นกว่าเดิม ประเด็นทางสังคมหลายๆ เรื่อง ไม่เฉพาะการเมืองนะ เรามองว่าประเด็นทางสังคมหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ หรือเรื่องอื่นๆ เรื่อง gender เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องปัญหาทางสังคม เราว่า a day เล่าออกมามากขึ้นกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา ถ้าไม่นับเรื่องเครื่องมือในการสื่อสารเนอะ
ส่วนเรื่องเครื่องมือในการนำเสนอเนี่ย มันเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ก่อน a day เกิดขึ้นในวันที่มีเครื่องมือเพียงเครื่องมือเดียว คือ นิตยสาร อาจมีจัดกิจกรรมบ้าง แต่เครื่องมือหลักๆ ก็มีเพียงแค่นิตยสาร เพียงแต่ว่า a day ในวันนี้ มันผ่านการเปลี่ยนแปลงมาเยอะมาก เปลี่ยนเครื่องมือเยอะมาก อย่างวันที่ a day เกิดเว็บไซต์ในยุคก่อนหน้านี้ พี่บ.ก. คนก่อน ก็มีเครื่องมือเกิดขึ้น เว็บไซต์เกิดขึ้น เพจเฟซบุ๊ก ไอจี มันก็มีเครื่องมือในการเล่าเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตามเทคโนโลยี หรือว่าการเข้ามาของพวกโซเชียลมีเดีย ในยุคนี้ก็เลยเป็น a day ที่มีเครื่องมือเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ก่อนเราอาจมองว่า a day คือนิตยสารใช่ไหมครับ แต่ยุคนี้เราไม่ได้มองว่าเป็นนิตยสารแล้ว นิตยสารเป็นเพียงแค่เครื่องมือเดียวเท่านั้น ที่จะมารับใช้การเล่าเรื่องของเรา ศักดิ์ศรีมันเทียบเท่าบทความในเว็บไซต์ เทียบเท่าวิดีโอตัวหนึ่งในยูทูบ เท่าพ็อดแคสต์รายการหนึ่ง มันไม่ใช่ โอ้โห เรายึดว่านิตยสารมันสุดยอด เครื่องมือนี้ ใครมาบอกว่ามันจะตาย กูรับไม่ได้ คือไม่ใช่แล้ว คือถ้ามันยังมีประโยชน์หรือมีพลังอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันจำเป็นในการเล่าเรื่อง เราก็ยังทำอยู่ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้มีเพียงสิ่งเดียว แล้วถ้าไม่มีมันโลกจะแตก
เพราะงั้นในแง่วิธีคิด การใช้เครื่องมือมันก็เปลี่ยนไปด้วยครับ ความจริงมันก็ support กับประเด็นที่เปลี่ยนไป ถ้ามาดู a day ในยุคนี้เครื่องมือก็หลากหลายมาก ไม่ใช่ทำเป็นเล่มอย่างเดียว อย่างเรื่อง sex is more มันมีช่องรายการพ็อดแคสต์นะ มันมีทั้งตัวเล่ม มีทั้งตัว Clubhouse ที่เราไปจัด มันมีทั้งซีรีส์ที่เราใช้ตัววรรณกรรมแบบแชตในการเล่าเรื่องด้วย เนี่ย หัวข้อเดียว ถ้าเป็นสมัยก่อน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราอาจจะทำแค่นิตยสาร แต่ทุกวันนี้เครื่องมือมันเยอะมาก มันก็มีเครื่องมือในการเล่าที่เปลี่ยนไปด้วยตามยุคสมัยและเทคโนโลยี
ถ้าอย่างนั้นยังคิดว่าตัวนิตยสารของ a day ยังจำเป็นไหม
ความจริงมันทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น เวลาเราจะใช้สื่ออะไรในการเล่าเรื่อง เราก็จะดูจุดแข็งจุดอ่อนนะ แล้วเราก็จะดูวัตถุประสงค์ของเราว่า ถ้าวัตถุประสงค์ในการเล่าเรื่องคือสิ่งนี้ เลือกใช้เครื่องมือไหนที่จะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีที่สุด
คนจะชอบเปรียบเทียบสื่อว่าเป็นภาชนะใช่ไหม ว่าเป็นภาชนะต่างกัน แต่เราอาจเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่ง เปรียบเทียบกับยานพาหนะ เราคิดว่าสื่อเหมือนยานพาหนะที่พาไปยังวัตถุประสงค์ของเรา ถามว่าเรือยังจำเป็นไหม มันก็อยู่ที่ว่าคุณจะเดินทางไปไหนอะ แล้วคุณต้องการใช้เวลาในการเดินทางเท่าไร แล้ววัตถุประสงค์ในการเดินทางของคุณคืออะไร ถ้าคุณต้องเดินทางทางน้ำ รถไปได้ไหมล่ะ ถ้าเกิดคุณตั้งใจดื่มด่ำ อยากถูกโอบล้อมด้วยแม่น้ำหรือทะเล รถก็ไปไม่ได้ เรือก็อาจจำเป็นอยู่ แต่ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่บนถนนอะ อย่างเราก็อาจตอบว่าเรือไม่จำเป็นกับเรา
เพราะงั้น ถ้าตอบคำถามว่านิตยสารยังจำเป็นไหม การมีไว้ก็ยังดีกว่าไม่มี ในแง่ว่า วัตถุประสงค์บางอย่างมันจำเป็นต้องใช้พาหนะชนิดนี้อยู่ อย่างเช่นเรื่องลึกๆ หลายๆ อย่าง มีใครมารูดอ่านแบบ 20 สกู๊ป ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวในหนังสือหรือว่าหลายๆ คอนเซ็ปต์ที่เราทำ เช่น สถาน ณ กาล ไม่ปกติ ที่เราเล่ามันด้วยการชวนนักเขียนมาเขียนเรื่องสั้น แล้วทำด้วยขนาดพ็อกเกตบุ๊ก เรารู้สึกว่านิตยสารก็ยังจำเป็นอยู่ในการรับใช้วัตถุประสงค์ของเราในการเล่าเรื่องอยู่ หรืออย่างเล่มมะม่วง ที่ตั้งใจทำเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ archive บางอย่างที่หนักแน่นไว้ในเล่มเดียวกัน หรือเล่มแฮร์รี่พอตเตอร์ ในแง่นี้มือถือหรือออนไลน์ยังทดแทนไม่ได้ ในแง่ของความเป็นวัตถุหรือของสะสมที่รวมเรื่องราวไว้ด้วยกัน นิตยสารจึงยังทำหน้าที่ของมันได้ดีมากอยู่
อย่างเล่ม แฮร์รี่พอตเตอร์ ชัดเจนมาก เรามักจะยกตัวอย่างนี้เสมอว่าเครื่องมือนี้มันสำคัญอย่างไร หรืออาจไม่ได้สำคัญครับ อาจใช้คำว่าเครื่องมือนี้มันมีสิ่งอื่นใดที่ทดแทนได้ อย่าง แฮร์รี่พอตเตอร์ เป็นเล่มที่เราขายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายความว่า วันนี้อยากซื้อคือไม่มีแล้ว แล้วก็มีคนบอกว่า พิมพ์เพิ่มเถอะๆ คำถามคือถ้าเราตั้งสมมติฐานไว้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์แทนกันได้ ออนไลน์ก็แทนนิตยสารได้ เราก็แนะนำเขาไปว่า คุณไปซื้อ e-magazine ได้นะ เรามีขายผ่าน Ookbee เขาก็ไม่ซื้อ เขาจะซื้อเล่ม สิ่งนี้มันบอกอะไร สิ่งนี้ก็บอกว่า ยังมีจุดแข็งบางอย่างที่นิตยสารมี สื่ออื่นยังแทนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่คำถามคือกับบางเรื่อง นิตยสารก็ไม่จำเป็นนะ สมมติเราบอกว่า หนังเรื่องใหม่เข้าแล้วจ้า เพลงอัลบั้มใหม่วงนี้เข้าแล้วจ้า นิตยสารไม่จำเป็นนะครับ หมายความว่าถ้าจะตอบคำถามว่านิตยสารจำเป็นหรือไม่จำเป็น ต้องตอบด้วยวัตถุประสงค์ เหมือนที่เราตอบว่ายานพาหนะชนิดนี้จำเป็นกับคุณไหม ต้องดูว่าคุณจะเดินทางไปไหน อย่างไรด้วย เพราะงั้น ถ้าถามเรา เราก็สรุปได้ว่ามันยังจำเป็นอยู่ในการที่จะรับใช้บางเรื่องเล่าหรือบางวัตถุประสงค์ แต่มันไม่ได้จำเป็นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ทุกอย่างจะต้องดั้นด้นไปใช้เครื่องมือนี้
การรีแบรนด์ครั้งนี้เริ่มต้นมาจากไหน
ความจริงใน a brand new day จะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเชิง key visual เปลือกและแก่น แก่นไม่ค่อยเปลี่ยน แก่นเป็นเพียงการขมวดอย่างที่เราบอก เพียงแต่ว่าในแง่สิ่งที่มาห่อหุ้มมันเนี่ยเปลี่ยน ถามว่าตกลงกันเมื่อไหร่ว่าจะโปรโมตสิ่งนี้ มันเกิดจากการในช่วงเวลาต้นปีนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มาคุยกันว่าเราอยากเปลี่ยนมัน เช่น CI a day แม่งไม่ชัดเลยว่ะที่ผ่านมา เวลารูดอ่านออนไลน์มันน่าเบื่อ หรือสีคนก็ไม่รู้ว่าคืออะไร สีองค์กรคืออะไร เลยรู้สึก เฮ้ย อยากเปลี่ยน CI ของ a day ให้มันมีคาแรกเตอร์ชัดขึ้น แสดงถึงความสนุกสนานมากขึ้น อยากเปลี่ยนขนาดเล่มว่ะ a day ขนาดเดิมแม่งพกยากฉิบหาย ไม่ตอบโจทย์ไม่ทันผู้บริโภคในทุกวันนี้แล้ว ขนาดเราเองยังไม่อยากซื้อ a day แบบเดิมตอนเช้าเลย เพราะรู้สึกว่ามันจะเป็นภาระไปทั้งวัน เลยปรับขนาดดีกว่า มีการ redesign เว็บไซต์ เพราะเราอยาก redesign ให้เป็นมิตรกับการอ่านได้มากกว่านั้น มีย่อหน้าไหม หรือนู่นนี่ การแบ่งหมวดในเว็บแต่เดิมมีเป็นกี่หมวดไม่รู้ ยาวเฟื้อยเลย อยากลดทอนเหลือแค่ creative, life, และก็ style เป็นสามเรื่องสั้นๆ อยากให้เว็บเรามันทอนให้เข้าใจง่ายที่สุด
ที่ไล่มาจะเห็นว่าเราอยากเปลี่ยนหลายอย่างมาก พอเห็นสิ่งเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกๆ อย่างก็รู้สึกว่ารวบมันเป็นอันเดียวเลยไหม เพื่อบอกผู้ติดตามทีเดียวไปเลย ว่า a day กำลังมีการเปลี่ยนแปลงนะ ซึ่งก็คือหลายๆ อย่างที่ตอนแรกถูกคิดอย่างกระจัดกระจายนั่นแหละ รวมกันเลยแล้วป่าวประกาศทีเดียว ก็เลยเห็นว่า a day มีการปรับ CI มีการ redesign เว็บไซต์ ปรับขนาด มีการตั้ง a day creative club มีการเปิด supermarket ที่จะเป็นคอนเทนต์วันอาทิตย์
มีคอนเทนต์แบบไหนในโลกออนไลน์ที่อยากเห็นแต่ยังไม่เห็นมั้ย?
ถ้านึกออกเราทำเลยนะ (ขำ) ความจริงเรื่องนี้พอพูดถึง ก็มีคนเคยถามเราเหมือนกันว่า มีอะไรที่อยากเห็นแล้วมันยังไม่เห็นไหม ให้นึกไวๆ อะ เราตอบยากมากเลย เพราะเอาจริงๆ สมมติเราตอบไปคำหนึ่งนะ ไปค้นหาอาจเจอก็ได้ หมายความว่าด้วยความที่ทุกวันนี้ การเกิดขึ้นของ content creator ที่มองโครงสร้างคอนเทนต์มากกว่าคนที่เป็น media หรือสื่อเนี่ย มันมีเหล่า content creator อยู่ แล้วการเกิดขึ้นของ content creator ที่ใช้เครื่องมือในโลกโซเชียลมันเพิ่มความหลากหลายมหาศาลเลยอะ มันแทบจะยากแล้วว่ามีเรื่องไหนที่ยังไม่มีคนทำ เพียงแต่ว่า ให้ตอบไวๆ เรานึกไม่ค่อยออกจริงๆ
สิ่งหนึ่งที่เราอยากเห็นคงเป็นคอนเทนต์ที่มัน global มากกว่านี้ เวลาเราอยากอ่านสัมภาษณ์ดีๆ ของบุคคลระดับโลก มันต้องไปหาสื่อต่างประเทศทั้งนั้นเลย สมมติเราชอบดีไซเนอร์คนหนึ่งมากๆ เลย การที่คนไทยจะสัมภาษณ์เขามาให้เราอ่านแบบคำถามสัมภาษณ์แบบคนไทยเลย นึกออกไหม คือบางเรื่องมันเป็น insight ที่อย่างถ้าเป็นเรา เราจะถามแบบนี้ แต่ว่าถ้าเราหาอ่านตอนนี้มันก็ต้องมีแต่จากสื่อระดับโลกทั้งนั้นเลย เพราะงั้นถ้าถามเราว่าอยากให้มีสื่อไทยแบบไหนเกิดขึ้น เราอยากมีสื่อไทยที่มันเล่าเรื่อง global กว่านี้ ซึ่ง a day พยายามทำอยู่นะครับ หมายความว่าถ้ามีโอกาสได้สัมภาษณ์คนระดับโลก ถ้าเขาโอเคที่จะให้เราสัมภาษณ์ เราก็พยายามที่จะติดต่อ
เมื่อกี้พูดเรื่อง a day ก็เติบโตขึ้น เข้มข้นขึ้น ฟีดแบ็กจากคนที่ตาม a day มาแต่แรก เจอด้านไหนบ้าง
ความจริงมันมีทั้งบวกและลบ ฝั่งที่เห็นด้วย support และให้กำลังใจก็มีมาก บอกว่าดีแล้วที่พูดเรื่องที่มันเข้มข้น อย่างวันก่อนเจอ เบนซ์ ธนชาติ มันก็บอกว่าเล่ม sex is more จะ feel good อะไรวะ ต้องแบบนี้แหละ ก็ให้กำลังใจ support ว่าการพูดเรื่องที่มันเข้มข้นหน่อยมันโอเคแล้ว ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้
กับอีกทางหนึ่งก็อาจไม่ค่อยเก็ต มันอาจไม่ใช่ a day ในแบบที่เขาคุ้นชิน ซึ่งเราก็เคารพนะครับ อย่างคนที่ติดตามกันมา สมมติเราเป็นแฟนเพลงวงหนึ่ง เขาเล่นแนวเพลงแบบนี้มาตลอด แล้ววันหนึ่งเปลี่ยนไปเล่นแนวเพลงที่แบบ เราไม่ได้ติดตามคุณเพราะสิ่งนี้ เราติดตามคุณเพราะสิ่งที่คุณทำมา มันก็อาจจะมีแรงต้านหรือความรับไม่ได้ หรือเสียดาย โหยหาอะไรบางอย่าง ก็เข้าใจมากๆ ครับกับกลุ่มคนที่อาจยังไม่คุ้นชินกับ a day ที่พูดเรื่องที่เข้มข้นขึ้น
เพียงแต่ว่า เวลาเราตอบคำถามว่าเราจะทำอะไร เราไม่ได้เอาสิ่งนี้เป็นตัวตั้งเสียทีเดียว มันมีเรื่องอื่นๆ ที่พวกเราคุยกันเวลาปิดเล่มว่าในการนำเสนอ สิ่งนี้มันจำเป็นหรือสำคัญในสังคมยามนี้ มันไม่ได้ตั้งต้นว่าออกบทความนี้ไปจะโดนใครด่าหรือเปล่าวะ ไม่งั้นก็ไม่ต้องทำอะไรกันเลย
และอีกอย่างคือเราไม่ได้ละทิ้งในสิ่งที่เราทำมาเสียทีเดียวนะ เรื่องวงการสร้างสรรค์ เราก็ทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรื่องที่มันเข้มข้นเนี่ย มันแค่แทรกซึมเข้ามา เริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้เคลมว่า a day ทุกวันนี้เป็นเหมือนสื่อรุ่นพี่ เราไม่ได้บอกว่าเราเข้มข้นกว่าสื่ออื่นๆ เราแค่เติมเข้ามา ให้มีแง่มุมที่มันหลากหลายมากขึ้น ถ้าจะเอาสื่อเข้มข้น The MATTER, 101, WAY ก็เข้มข้นกว่าเรา เราจะไม่ได้บอกว่า a day แม่งมาสายแข็งเลย ไม่ขนาดนั้น แค่มีการเติมเข้ามา
อะไรทำให้ a day เลือกเติมประเด็นทางสังคมเข้ามาด้วย
อย่างที่บอกว่าสื่อยึดโยงกับสถานการณ์บ้านเมืองประมาณหนึ่ง ในยามที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี มันอาจอยู่ได้ในแบบหนึ่ง เราอาจเสนอแบบไปเที่ยวที่ไหนกันดี 5 สถานที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวได้ คือพวกเราในบทบาทหนึ่งคือคนทำสื่อใช่ไหมครับ แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง พวกเราก็คือประชาชนธรรมดาคนหนึ่งด้วยนะ ที่อยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ หรือว่าเจอปัญหาเหมือนคนอื่นๆ แหละ ออกจากตึกไปอะ กูก็เจอทางเท้า เจอฝุ่นเหมือนทุกคนแหละ เจอเรื่องที่ไม่ปกติเหมือนทุกๆ คนเลย
คำถามคือแล้วเราก็รู้สึกถึงความไม่ปกตินั้นอยู่อะ แล้วถ้า a day มันก็คือคนคนหนึ่งเหมือนกัน เรายังรู้สึกไม่โอเค แล้วถ้า a day เป็นคนคนหนึ่งแล้วออกไปใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่มันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน มันก็คงไม่โอเคมั้ง มันก็คงจะเล่าอะไรบางอย่างเหมือนกันที่มันน่าจะดีกว่าการอยู่เฉยๆ
แต่ว่าน้ำเสียงในการเล่า หรือแว่นของที่เลือกที่จะมอง อาจจะไม่เหมือนสื่อที่พูดเรื่องเข้มข้นอย่างตรงไปตรงมา แล้ว a day ก็ยังมี branding บางอย่างในแว่นที่เราสวมอยู่ คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สมมติเรามองเห็นเรื่องฝุ่นควัน เห็นเรื่องชาติพันธุ์ เห็นเรื่อง gender เห็นประเด็นทางสังคมการเมืองหรือเรื่องที่มันไม่ปกติ ไม่โอเค ถ้าเราจะเล่า เราก็ไม่ได้เล่าโต้งๆ แต่เราก็จะมองดูว่า ถ้าเรามองผ่านแว่น creativity ที่เป็นแบรนด์ของเราเนี่ย มันมีมุมไหนบ้าง มีใครลุกขึ้นมาต่อสู้มันด้วยความคิดสร้างสรรค์ไหม อย่างเราก็เห็นหลายคนที่ใช้ศิลปะ หรือใช้สิ่งที่ตัวเองถนัดมาขับเคลื่อนหรือต่อสู้ในหลายๆ ประเด็นทางสังคม สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ถึงกับไม่เป็นเราเสียทีเดียวนะ
เสรีภาพของสื่อจำเป็นแค่ไหน
ความจริงมันก็ตรงตามความเชื่อที่เราแถลงไปนะ สื่อควรมีเสรีภาพในการนำเสนอ ตราบใดที่มันไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือว่าเป็น fake news สื่อควรมีเสรีภาพ เราจะเห็นว่ายิ่งในสถานการณ์ที่มันไม่มีเสรีภาพ สื่อยิ่งจำเป็นต้องมีสิ่งนี้ครับ ไม่งั้นใครจะพูดถึงความผิดปกตินี้ออกไป อย่างเราเห็นการชุมนุม หรือไม่ต้องเรื่องนี้ก็ได้เนอะ บางคนได้ยินเรื่องนี้ก็ bias แล้ว แต่ก็มีประเด็นอื่นๆ ที่มันผิดปกติมากๆ ที่ไม่ถูกบอกเล่าด้วยสถานการณ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นสื่อช่องใหญ่ หรือสื่อกระแสหลัก ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีสื่อมวลชนที่มองเห็น และมีโอกาสนำเสนออย่างเสรี ไม่โดนปิดปากหรืออะไร แล้วใครจะเห็นความผิดปกตินั้น
คือในเบื้องต้นพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดเลยคือ สื่อควรมีเสรีภาพในการนำเสนอเรื่องราวที่แค่ไม่ผิดจรรยาบรรณ แค่ไม่ละเมิดก็มีสิทธิในการนำเสนอแล้ว ยิ่งถ้า scope มาที่การชุมนุมอะ มันมีหลายๆ ภาพเนอะที่เราจะไม่มีโอกาสเห็นเลย ถ้าเกิดสื่อไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอขนาดนี้ นี่ขนาดโดนคุกคามหรืออะไรที่เราเห็น MATTER ใช่ไหมครับ ปัดกล้องอะไรอย่างนี้ ในมุมมองของเรา เราว่าสื่อควรมีเสรีภาพในการนำเสนอ มันจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ผิดปกติ
สังคมจะรับรู้ความจริงผ่านอะไรบ้าง สื่อก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นำเสนอความจริงให้รับรู้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าการลิดรอนเสรีภาพสื่อ ในมุมนึงมันคือการลิดรอนเสรีภาพของสังคมด้วย มันลิดรอนการเข้าถึงความจริงในสังคมด้วย มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แค่การห้ามถ่ายรูป การห้ามรายงาน แต่มันคือการลิดรอนการเข้าถึงความจริง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และไม่ใช่แค่สื่อต้องออกมาเรียกร้อง แต่สังคมก็ต้องช่วยกัน
ในฐานะ บ.ก.บห. มีคอนเทนต์อะไรที่ต้องระวัง หรือเรื่องอะไรที่ต้อง concern เป็นพิเศษไหม
ในมุมเราพอพูดถึงประเด็นนี้ ความจริงมันต้องคิดถึงหลายเรื่องมาก เรานึกถึงคำประมาณ 2-3 คำ คุณค่า คุณภาพ ความถูกต้อง ความรับผิดชอบ หรืออะไรแบบนี้ เราว่ามันมีคีย์เวิร์ดอยู่ ถ้าจะตอบ ในกระบวนการบรรณาธิการมันจะมีหลายอย่างเนอะ จะเลือกใคร จะทำเขาในประเด็นไหน หรือจะนำเสนออย่างไร คำถูกผิดเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะเอาในแง่จุดร่วมหรืออะไรบางอย่าง ก็ คุณค่า คุณภาพ ความถูกต้อง
พูดถึง ‘คุณค่า’ ก่อน แน่นอนว่าทุกคอนเทนต์ที่เราทำ เราก็ต้องตอบกันเองให้ได้ก่อน ว่าทำออกไปมันมีประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งคุณค่าในที่นี้มันอาจไม่ต้องยิ่งใหญ่อะไรเลยก็ได้ครับ ไม่ต้องถึงขั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร สมมติหนังสือ ขายหัวเราะ คุณค่าของมันคืออะไร คือ entertainment ใช่ไหม ทำให้คนหัวเราะใช่ไหม มันได้ตอบคุณค่านั้นหรือยัง ก็อาจจะได้แล้ว เพราะงั้นเหมือนกัน ของ a day แต่ละชิ้นคุณค่ามันคนละแบบ บางอันอาจพูดประเด็นสังคมที่หนักแน่นหน่อย บางอันอาจจะแค่แนะนำที่กินที่เที่ยว แต่เราก็ไม่ได้ดูถูกมันนะ ว่าคอนเทนต์แนะนำที่กินที่เที่ยวแม่งไม่มีคุณค่า มันก็มีคุณค่ากับบางคนเหมือนกัน หนึ่งคือตอบให้ได้ก่อนว่าฟังก์ชั่นของมัน คุณค่าของงานนี้มีแล้วหรือยัง
คำว่าคุณค่าที่ว่านี้ก็คือการนำเสนอเรื่องที่คิดว่าสำคัญและมีความหมายในสังคม ซึ่งเรื่องสำคัญในแต่ละยุคมันก็เปลี่ยนไป อย่างยุคนี้เป็นประเด็นทางสังคมต่างๆ หรือเรื่องการเมืองมันสำคัญ เราก็พยายามหามุมเล่าในแบบของเรา แล้ววันหน้าหากมันมีประเด็นอะไรที่สำคัญเราก็เคลื่อนไปตามสังคมแต่ยังคงหามุมและวิธีเล่าในแบบของเรา
สองคือคุณภาพ อันนี้เรามองว่ามันแทบจะเป็น DNA ของพวกเรา พวกคนทำงาน a day คือจะใช้คำว่าอะไรดีที่มันไม่ยกตัวจนเกินไป แต่มันมีการ recheck สิ่งนี้ค่อนข้างเยอะ คุณเล่ามันอย่างมีวรรณศิลป์หรือยัง คุณห่อหุ้มมันอย่างสวยงามหรือยัง คุณภาพในที่นี้คือ ก็เกี่ยวทับกับคำต่อไปอย่างความถูกต้อง คือ แน่นอนว่าถ้าเกิดเนื้อหาผิด ไม่น่าเชื่อถือ คุณลงอะไรผิดๆ ถูกๆ คุณภาพมันก็อาจถูกตัดตก แต่ในแง่คุณภาพของบทความนั้น สมมติเราทำบทสัมภาษณ์คนคนหนึ่ง มันขึ้นชื่อว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่ดีหรือยังนะ เราเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ มันเป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ดีแล้วหรือยังนะ หรือเจาะลงไปอีก เรื่องเครื่องมือ คุณทำวิดีโอตัวหนึ่ง มันเป็นวิดีโอที่ดีแล้วหรือยังนะ คุณถ่ายภาพภาพหนึ่ง มันเป็นภาพถ่ายที่ดีแล้วหรือยังนะ เพราะงั้นในแง่คุณภาพ มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เรา recheck กันเอง เข้มงวดกันเองอยู่เสมอ และเชื่อมโยงไปยังเรื่องความถูกต้องด้วย ซึ่งอันนี้เรามองว่าเป็นจรรยาบรรณ เป็นหลักวิชาชีพ ความถูกต้องในที่นี้มันพูดถึงเรื่องข้อมูล เรื่องคำผิดคำถูก เรื่องการบรรณาธิการ เรื่องอะไรอื่นๆ ด้วย ซึ่งในความถูกต้องของข้อมูลมันก็เชื่อมโยงกับความน่าเชื่อถือ ซึ่งแทบจะเป็นแก่นหลักของสื่อแล้วอะ คุณปราศจากสิ่งนี้คุณจะทำหน้าที่ได้อย่างไร
เป้าหมายต่อไปของ a day คืออะไร
ในยุคสมัยนี้ เราว่าการถามถึงอนาคตตอบยากมากเลย หรือต่อให้ตอบได้ก็มีโอกาสผิดค่อนข้างสูงมาก ถ้าถามว่า MATTER อีกสองปีจะเป็นอย่างไร (ขำ) มันตอบยากจริงๆ ครับ สมมติย้อนกลับไปเดือนเดียวมาถามเรา เรายังตอบยากเลยว่าอีกเดือนหนึ่งจะเป็นอย่างไร
ก็อาจจะพอพูดได้อยู่ แต่จะทำได้หรือเปล่า แต่ก็จะพยายามทำให้ได้ และพยายามทำอยู่ คือเราจะมีเป้าหมายของเรา ทั้งในเชิง offline กับ online ครับ ในเชิงออนไลน์เราคาดหวังให้วันหนึ่ง a day เป็น platform ที่คนนึกถึงเมื่อพูดถึงพวกคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ มีเซนส์ของความเป็น hub ประมาณหนึ่ง เมื่อนึกถึงสิ่งนี้แล้วต้องเข้ามาที่นี่เลย ซึ่งรูปแบบมันจะเป็นอย่างไรก็ได้นะ เป็นแอปพลิเคชั่น เป็น platform หรืออะไรอย่างนี้ ในแง่ออนไลน์เราอยากให้มันไปถึงจุดนั้นให้ได้ เมื่อนึกถึงความคิดสร้างสรรค์ ก็จะนึกถึง a day
ซึ่งมันเชื่อมโยงกับในแง่ออฟไลน์ประมาณหนึ่ง ในแง่ offline อาจเป้าหมายใหญ่กว่านั้นอีก คือเราอยากให้ a day ไปอยู่ในชีวิตคนจริงๆ คือเราไม่ได้มอง a day ในแง่ของตัวอักษรในหน้าจอมือถือ หรือเป็นบทความเดียว หรือเป็นอะไรแบบนั้น เราอยากให้ในเชิงเป้าหมาย อยากให้ a day ไปอยู่ในชีวิตคนจริงๆ ซึ่งถ้าเราสังเกตจะเห็นสิ่งนี้ที่ a day พยายามสอดแทรกมาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัด a day creative club ที่ชีวิตประจำวันคนสามารถมาได้จริงๆ หรือ a day เคย collab กับแบรนด์แฟชั่นอย่าง Rompboy มีการทำกระเป๋าบางอย่างออกมาในตอนครบรอบ 20 ปีของเรา มันอาจกลายเป็นสิ่งของ หรือเวลาเราเล่าเรื่องอะไร มันอาจไม่ต้องผ่าน platform ปกติ มันอาจเป็นสิ่งของ เป็นอะไรก็ได้เลย
เพราะงั้นถ้าถามว่า เป้าหมายในแง่ออฟไลน์เราอยากให้ a day ไปอยู่ในชีวิตคนจริงๆ เดินไปไหนก็เจอ ล่าสุดมีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ a day เพิ่งเปิดตัวไป อย่าง ‘โชว์เหนือ’ โปรเจ็กต์นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งแม้มันจะเป็นโปรเจ็กต์ลูกค้า แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ตอบโจทย์เรื่องวิธีการเล่าเรื่อง และการอยากเข้าไปอยู่ในชีวิตคน อย่างเราจะบอกเสมอว่า a day เราจะไม่ยึดติดกับการเล่าเรื่องนะ มันไม่จำเป็นต้องเป็นนิตยสารก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวิดีโอก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ เพราะงั้น โชว์เหนือเนี่ยมันเล่าเรื่องผ่านอะไรได้บ้าง สมมติเราอยากบอกว่าของดีภาคเหนือมีอะไร ถ้าเป็นวิธีคิดแรก ก็อาจจะเป็นบทความหนึ่ง บอกไปเลยว่าที่จังหวัดนี้มีอะไร แต่ว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เราก็ชวน Rompboy มา collab ทำกระเป๋ารุ่นหนึ่งที่เอาวัตถุดิบจริงๆ มาทำกลายเป็นกระเป๋าที่ใช้ผ้าย้อมฮ่อมมาทำเป็นกระเป๋า sacoche ที่ Rompboy ก็ทำขาย เล่าเรื่องความเจ๋งของฮ่อมผ่านกระเป๋าใบนี้ และ media อื่นๆ ที่เราทำเสริม
เราชวน PDM มาทำเสื่อที่ตีความจากภูเขาเมืองน่าน แล้วก็เล่าเรื่องที่เที่ยวในจังหวัดน่านผ่านเสื่อผืนนี้ เราชวน Roots เอาเมล็ดกาแฟจากภาคเหนือมาเล่าผ่านตัวฟิลเตอร์ที่ให้คน drip bag อะครับ เป็นแบบ collection พิเศษที่ทำเพื่อโปรเจ็กต์นี้โดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้คือการบอกว่าการเล่าเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ตัวอักษร หรือแค่หนังสือที่เราเห็น แต่สามารถเล่าผ่านกระเป๋าได้ เสื่อได้ ผ่านกาแฟจริงๆ ได้ กับอีกอันหนึ่งคือ มันตอบโจทย์ที่เราบอกว่าอยากให้ a day เข้าไปอยู่ในชีวิตคนจริงๆ