‘คบกับใคร’ ‘คุยกับใคร’ ‘ทำไมเลิกคนนั้น’ ‘ข่าวลือนั้นจริงมั้ย’ ฯลฯ
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราเห็นวิดีโอสั้นๆ ของเหล่าดาราทั้งชายหญิงบอกปัดนักข่าวที่รายล้อมเมื่อโดนนักข่าวถามเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวจำพวกนี้ ผลตอบรับจากวิดีโอเหล่านี้จะมีแพทเทิร์นคล้ายกัน หากไม่ ‘จดบท’ จากคำตอบแซ่บๆ ก็อาจมีคนตั้งคำถามต่อผู้ถือไมค์ถามว่าเรื่องนี้ควรต้องรู้หรือเปล่า และบางครั้งก็ฉุกคิดถึงสภาพจิตใจองคนที่ต้องโดนถามแบบนี้ทุกครั้งที่เจอกับนักข่าว
‘ต้องรู้หรือเปล่า’ เป็นคำถามผู้ทำงานด้านการสื่อสารต้องถามและตอบให้ได้ทุกครั้งที่ผลิตงานสักชิ้นออกมา และดูเหมือนว่าในสมัยนี้นอกจากตัวคนทำงานแล้วผู้ชมและผู้อ่านเองก็ตั้งคำถามนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะต่อสื่อบันเทิง
สื่อคือด่านแรกของการคัดกรองข้อมูล
หนึ่งในหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนคือการวัดและคัดเลือกว่าคนในสังคมควรรู้เรื่องอะไรก่อนเรื่องอะไร นี่คือทฤษฎีการเฝ้าประตู (Gatekeeping) หากผู้ผลิตสื่อไม่ทำหน้าที่นี้แล้วเสนอข่าวอะไรก็ตามเพียงเพื่อยอดการเข้าถึง ข่าวที่สำคัญที่ต้องรู้จะโดนข่าวรองๆ อื่นกลบไปเสียหมด
เคสตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อกลางปี 2563 – 2564 มีข่าวเกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีการเสียชีวิตน้องชมพู่ แต่เราไม่ได้พูดถึงตัวคดีโดยตรง แต่เป็นข่าวและคอนเทนต์อื่นๆ เกี่ยวกับนายไชย์พล วิภา หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าลุงพลที่กลืนกินพื้นที่สื่อเกือบทุกสื่อและทุกช่องทางโซเชียลมีเดียเกือบทุกวัน ไม่ใช่เพราะความคืบหน้าของคดี แต่สื่อแปลงกายผู้ต้องสงสัยลำดับต้นๆ กลายไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งไปเลย
ระหว่างที่สื่อประโคมข่าวการออกเพลง การถ่ายโฆษณา การเดินแบบ ลุงพลกินข้าวอะไร (ในขณะที่เขียนมียอดรับชมทั้งหมด 2.4 ล้าน) ฯลฯ ข่าวที่ควรต้องรู้จำนวนมากถูกกลบจากกระแสเหล่านี้ไปเสียหมด ตัวอย่างเช่นข่าวพิจารณาร่างงบประมาณปี 65 ที่มีควาสำคัญต่อประชาชนในประเทศไทยทั้งหมด ข่าวการยึดยาเสพติดช่วงเดือน มิ.ย.ถึง ก.ค. 64 ไม่ได้รับความสนใจเท่าเลยแม้แต่น้อย ไปจนข่าวความคืบหน้าการสืบสวนคดีการเสียชีวิตน้องชมพู่เองก็ถูกกลบไปด้วย
ดาราก็เป็นมนุษย์
นอกจากนักข่าวแล้ว อีกฝากของการทำข่าวก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากไรแหล่งข่าวแล้วนักข่าวจะไปเอาข่าวและข้อมูลในการเขียนข่าวมาจากที่ไหน? นักข่าวมักถูกสอนให้ถามข้อมูลจากแหล่งข่าวให้ได้มากที่สุดและตรงเป้าที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะสัมภาษณ์นักการเมือง ชาวบ้าน อาจารย์ หรือที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้คือการสัมภาษณ์ดารา
ในปัจจุบันอาชีพของดารามีสองฝั่ง ฝั่งแรกคืองานดาราทั่วไปที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นแขกรับเชิญในอีเวนต์ ไปเล่นหนัง เล่นละคร ไปเป็นพรีเซนเตอร์ให้สินค้าหรือบริการ ฯลฯ แต่อีกด้านที่ดูเหมือนจะกลายเป็นงานหลักของพวกเขาขึ้นไปเรื่อยๆ คือการขายไลฟ์สไตล์ของพวกเขาไม่ว่าจะผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดียส่วนตัว
ทำไมเราถึงบอกว่ามันเหมือนกลายเป็นงานหลักของดาราไปแล้ว? เพราะเมื่อเราสังเกตเห็นการสัมภาษณ์เกือบทุกครั้งไม่ว่าดาราคนหนึ่งไปที่ไหน คำถามมักเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานและสถานที่เลย
ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาได้คือเคสการสัมภาษณ์ แมท ภีรนีย์ คงไทย ในช่วงที่เธอมีความสัมพันธ์กับสงกรานต์ เตชะณรงค์ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งในการสัมภาษณ์เราสัมผัสได้ถึงความไม่พอใจและความรำคาญใจในการถูกถามเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านเสียง คำพูด และภาษากายของเธอ แต่ดูจากพาดหัวข่าวและเนื้อข่าว เรื่องที่สื่อส่วนมากรอบๆ เหตุการณ์นี้กำลังเล่าคือผู้หญิงคนนี้ไม่พูดความจริง ขี้หงุดหงิด เหวี่ยง และไม่มีมารยาท แต่หากลองสมมติว่าตัวเองยืนอยู่ในจุดที่พวกเขายืน เราจะตอบโต้ยังไง กับการโดนถามถึงเรื่องส่วนตัวที่ละเอียดอ่อนขนาดนี้ทุกวัน พร้อมกับรู้แก่ใจว่าหากภาพนี้ไปถึงตาโซเชียลมีเดียแล้วจะมีผลตอบรับยังไง
“คนที่เป็นดารา อยู่ในจุดที่ทุกคนสนใจ บางครั้งเลยทำใจลำบาก แต่ดาราก็มีชีวิตจิตใจเหมือนคนอื่นๆ เราอยู่ในที่แสงสว่างก็จริง แต่เลิกยุ่งกับชีวิตเขาเถอะ สนใจในเรื่องผลงานพอแล้ว” นักแสดงและนักร้อง แคทรียา อิงลิช พูดกับไทยรัฐออนไลน์ในหัวข้อสาเหตุที่ดาราไทยเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ เธอพูดอีกว่าการเป็นคนที่สังคมสนใจนั้นทำให้อาชีพนี้ต้องแบกความคาดหวังของผู้คน หากไม่พอใจก็มักถูกพาดพิงจากคนที่ไม่รู้จัก แถมยังต้องโดนสื่อพาดหัวแรงๆ ใส่ตลอดเวลาอีกด้วย ฉะนั้นโจทย์ที่สื่อต้องแก้ไขในประเด็นนี้อาจเป็นการต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการได้มาซึ่งข่าวที่เป็นที่สนใจของผู้คน กับความเป็นมนุษย์และสุขภาพจิตของดาราที่ถูกสัมภาษณ์
สื่อบันเทิงสามารถเป็นไปในทิศทางไหนได้บ้าง
ในช่วงปลายปี 2562 มีการเปิดเผยว่า Red Granite Pictures บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์อเมริกันมีส่วนรู้เห็นในขบวนการการฟอกเงินขนาดยักชื่อ 1MDB ที่เริ่มจากมาเลเซีย แต่ขยายวงกว้างออกไปสู่อีกสิบประเทศทั่วโลก โดยภาพยนตร์ที่ถูกสันนิษฐานว่ามีทุนสร้างส่วนหนึ่งจากการฟอกเงินครั้งนี้คือ The Wolf of Wallstreet นำไปสู่การฟ้องร้องและการสืบสวนมากมาย ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากสำนักข่าวเศรษฐกิจที่ไหน แต่มาจากการรายงานข่าวเชิงสืบสวนของ The Hollywood Reporter สื่อบันเทิงสหรัฐอเมริกาที่ตีความวงการบันเทิงออกไปกว้างขวางกว่าแค่ดาราคนไหนกำลังคบใคร แต่ทุกเรื่องของวงการบันเทิง
หรือจะเป็นบทสัมภาษณ์ เชอร์รี่ โคลอี้ นักแสดงซีรีส์ Euphoria โดยนิตยสาร i-D ที่คุยกับเธอเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางของนักแสดงภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ไปสู่นักแสดงในทีวีโชว์ที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในโซเชียลมีเดีย ให้แสงไปสู่ทั้งสุขภาพจิตของตัวดาราเอง และเป็นการตีแผ่ชีวิตของบุคคลที่ยึดอาชีพ Sex worker พร้อมกับพูดถึงสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ อุตสาหกรรมที่เราไม่ค่อยได้เห็นมันในมุมมองที่กว้างขวางนัก
นี่คือตัวอย่างของการผลิตสื่อบันเทิงที่สามารถคงไว้ซึ่งคุณค่าข่าวและความสนใจของผู้คนโดยไม่ละทิ้งความเห็นอกเห็นใจ ความเป็นมนุษย์เบื้องหลังดารา หลักการการผลิตสื่อ และจรรยาบรรณสื่อไว้เบื้องหลัง บาลานซ์ที่คงไว้ได้ยากกว่าที่ตาเห็นเนื่องจากความเปลี่ยนไปที่รวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในกระแสโลกออนไลน์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่ออัลกอริทึมให้รางวัลแก่เนื้อหาที่สร้างความโกรธมากกว่าเนื้อหาแบบอื่น
เมื่ออัลกอริทึมชอบให้คนโกรธ แล้วสื่อต้องเล่นความโกรธด้วยไหม
ดร. แอนดรูว์ เซเลแพ็ก ศาสตราจารย์ด้านโซเชียลมีเดีย มหาวิทยาลัยฟลอริดา กล่าวเกี่ยวกับอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กว่ามันพยายามนำคอนเทนต์ที่ได้รับผลตอบรับในแง่ลบขึ้นมายังหน้าไทม์ไลน์ของผู้ใช้มากกว่ารูปแบบอื่น “เฟซบุ๊กรู้เป็นอย่างมากว่าผู้ใช้ต้องการเรื่องแบบนี้ เหมือนว่าลึกๆ ใจเราต้องการที่จะเจอมันและรู้สึกว่าจะกลับมาหามัน เพื่อจะได้รู้สึกโมโห” เขาพูดอีก “เฟซบุ๊กสนับสนุนมันเพราะพวกเขารู้ว่ามันทำให้คนมีส่วนร่วม มันทำให้คนยังคงอยู่ในแพลตฟอร์มของพวกเขา”
ความท้าทายอันดับต้นๆ ของการเป็นสื่อออนไลน์ เพราะนอกจากการต้องทำตามอุดมการณ์และรับใช้ผู้อ่านกับผู้ชมแล้ว อัลกอริทึมที่จะพาเราไปยังคนเหล่านั้นได้ตั้งแต่ต้นก็เป็นโจทย์ที่เราต้องไขให้ได้ แน่นอนว่าหนทางการทำให้คนชอบนั้นยากกว่าหาทางให้คนโกรธ แต่นั่งคุยกันถึงชีวิตของเขาจนผู้อ่านเข้าใจพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอาจตอบโจทย์กับผู้คนและสังคมมากกว่าการสัมภาษณ์ดาราสักคนให้กลายเป็นดราม่าประจำสัปดาห์
ความหมายของสื่อมวลชน คือการทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและให้มนุษย์ในสังคมเชื่อมต่อและเข้าใจกันและกัน ซึ่งการทำงานกับมนุษย์เป็นงานที่ซับซ้อน แต่หากสื่อเลือกสนใจเฉพาะสิ่งที่อัลกอริทึมต้องการแล้ว ก็อาจทำให้เกิดคำถามต่อไปว่าปลายทางของสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป
แต่ว่าการทำสื่อที่ใช้ความโกรธของสังคมขับเคลื่อนนั้น ก็อาจจะสามารถทำได้ แต่คำถามที่ต้องถามต่อไปนั้นคืออยากให้โกรธเรื่องอะไร เพราะอะไร และโกรธใคร เพราะผลเสียที่มาจากความผิดพลาดเหล่านั้นอาจจะตกไปสู่ใครสักคน และในหลายๆ กรณี ก็ต่อสังคมโดยตรง
อ้างอิงข้อมูลจาก