“ผมทราบดีว่าผมเคยประกาศการสร้างการสร้าง One Piece ฉบับคนแสดงไปในปี ค.ศ.2017 แต่งานพวกนี้ต้องใช้เวลา
“การเตรียมการค่อยๆ ดำเนินการไปในฉากหลัง และเหมือนว่าในที่สุดผมก็สามารถประกาศข่าวใหญ่ได้แล้วว่า Netflix ที่เป็นผู้ให้บริการรับชมรายการออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในโลก จะให้ยืมกำลังมหาศาลในการสร้างซีรีส์ของเราครับ ฟังดูเป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก เนื้อเรื่องจะเดินไปไกลขนาดไหนในช่วง 10 ตอน ของซีซั่นที่ 1 ใครจะมาเป็นนักแสดง
“ขอให้ช่วยอดใจรอกันอีกนิดแล้วคอยติดตามกันนะครับ!”
การประกาศของอาจารย์โอดะ เออิจิโร่ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงปลายเดือนมกราคมของปี ค.ศ.2020 ทำให้หลายคนรู้สึกตื่นเต้นจนอยากจะเห็นภาพแรกของซีรีส์คนแสดงเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวในเสี้ยวหนึ่งของความคิดในฝูงชนที่ดีใจนั้นก็เกิดความกริ่งเกรงว่า ‘ฉบับคนแสดงมันจะเวิร์กแน่เหรอ’
ไม่แปลกนักที่ความหวาดกลัวที่แฝงตัวอยู่ในเงาของหลายๆ ท่านที่ติดตามการดัดแปลงวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อมองไปยังผลงานเก่าๆ ในอดีตที่ทำการดัดแปลงสื่อเหล่านั้น มักจะมีปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตัวอย่างเด่นๆ อาทิ ภาพยนตร์ Dragon Ball Evolution ที่แทบจะไม่เหลืออะไรให้แฟนเก่าสบายใจ หรือภาพยนตร์ Sonic The Hedgehog ที่ตัวอย่างฉบับแรกสุดนั้นทำร้ายจิตใจแฟนเกมจนเกือบแหลกเป็นผง จนทำให้ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ต้องถอยทัพไปใช้ดีไซน์ที่แฟนเกมต้นฉบับโอเคขึ้นแทน
แม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ชวนรวดร้าวอยู่มาก แต่สำหรับในกรณีของ One Piece ฉบับคนแสดง รวมถึงผลงานอื่นๆ ที่จะดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่น อาจไม่ย่ำแย่เหมือนอดีตที่เป็นมาแล้ว?
แต่จะมีเหตุผลจากอะไร ลองมาติดตามกันในบทความนี้กัน
สาเหตุที่ทำให้ภาพยนตร์หรือซีรีส์คนแสดง ที่ดัดแปลงจากมังงะ, อนิเมะ, ไลท์โนเวล ฯลฯ มักจะออกมาเละเทะ
ก่อนจะพูดถึง One Piece ฉบับคนแสดง ที่เราคิดว่ามันจะไม่ออกมาแย่ขนาดนั้น เราจำเป็นต้องย้อนไปพูดคุยกันก่อนว่า ทำมั้ย..ทำไม ภาพยนตร์หรือซีรีส์คนแสดงสมัยก่อนนั้นถึงออกมาดูไม่ดีนัก ต่อให้เป็นภาพยนตร์ที่ชาวญี่ปุ่นผลิตเองก็เถอะ
ประการแรก เป็นปัญหาจากการดัดแปลงสื่อให้ข้ามจากประเภทหนึ่งมาอีกประเภทหนึ่ง ส่วนนี้เคยมีทรรศนะจาก Justin Sevakis อดีตผู้เขียนคอลัมน์ Answerman บนเว็บไซต์ข่าว AnimeNewsNetwork และเป็นบุคลากรที่ทำงานด้านอนิเมะและสื่อบันเทิงอื่นๆ ในฟากฮอลลีวูด ที่ให้ความเห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วที่การดัดแปลงให้มังงะ, อนิเมะ, ไลท์โนเวล ไปเป็นสื่อคนแสดง (Live Action) เกิดจากการ ‘ความเหนือจริง’ ที่อยู่ในสื่อต้นฉบับนั่นเอง
ความ ‘เหนือจริง’ ที่ว่านั้น เวลาอยู่ในสื่อต้นทางของตัวเองมักจะใช้เวลาหลายตอนในการปูพื้นและทำให้ผู้เสพสื่อปลายทางค่อยๆ เข้าใจ กฎ กติกา ที่แตกต่างจากโลกปกติ ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ต้องจบลงภายในเวลาสองชั่วโมง การเล่าพื้นฐานของโลกนั้นอาจจะทำได้แค่ไม่กี่ส่วน ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับภูมิหลังของต้นฉบับเกาหัวงงๆ ว่า เรื่องราวเกิดอะไรขึ้น และหนังมักจะจบลงก่อนที่ผู้รับชมภาพยนตร์ทั่วไปจะทำความเข้าใจเรื่องได้
ประการที่สอง มาจากความพยายาม ‘ซื่อตรงต่อต้นฉบับ’ ที่มากจนเกินไป ส่วนนี้เป็นปัญหาที่ชวนปวดเศียรเวียนเกล้า ด้วยเหตุที่ว่า สิ่งที่จะดึงดูดคนให้สนมาดู คือการได้เห็น ‘ฉากที่น่าจดจำ’ จากต้นฉบับได้ถูกสร้างขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันหลายอย่างที่อยู่ใน ตัวมังงะ, อนิเมะ, ไลท์โนเวลต้นฉบับ ก็ไม่ได้เหมาะกับการมาใช้กับการแสดงด้วยมนุษย์เสมอไป แต่การจะตัดฉากสำคัญออกไปก็จะทำให้กลุ่มเป้าหมายหลักไม่มาดูหนังอีก แม้ว่าจะมีบางเรื่องที่รักษาสมดุลในการสร้างฉากที่น่าจดจำให้สอดคล้องกับการสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ใช้คนแสดง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการดัดแปลงวัฒนธรรมป๊อปแบบข้ามประเภทสื่อ ก็มักจะจบลงด้วยความผิดหวัง
ประการที่สาม ที่ทำให้การดัดแปลงมังงะ, อนิเมะ, ไลท์โนเวล ไปเป็นสื่อคนแสดงแล้วมีปัญหา ก็คือแนวคิดที่แตกต่างกันของระบบการสร้างสื่อบันเทิงที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุที่ว่าประเทศญี่ปุ่นมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Gensakusha’ หรือระบบที่เจ้าของผลงานรวมไปถึงต้นสังกัดของผลงาน สามารถเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนการทำงานได้ตั้งแต่เริ่มจนจบ และอาจจะตัดสินใจไม่อนุญาตให้งานที่พวกเขาคิดว่าคุณภาพไม่ถึงปล่อยออกสู่ตลาดได้
ระบบดังกล่าวนี้ ฟังดูแล้วอาจจะใกล้เคียงกับ ผู้อำนวยการบริหาร (Executive Producer) ของการสร้างภาพยนตร์ตามปกติ ที่ฝ่ายบริหารมีสิทธิ์จุ้นจ้านกับการถ่ายภาพยนตร์ได้บ้าง ขอให้ใช้นักแสดงที่ต้องการบ้าง ขอให้ปรับฉากจบบ้าง แต่ Gensakusha นั้นมีพลังมากเกินกว่านั้น เพราะหลายๆ ครั้งการทำหนังผ่านระบบนี้ต้องผ่านการปรู๊ฟซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าโชคดีมากก็อาจจะมีการตรวจสอบแค่บทแล้วการสร้างก็ลื่นไหลตามใจทีมสร้างภาพยนตร์ แต่ถ้าโชคร้ายเจ้าของผลงานก็อาจจะไม่ยอมให้สร้างหนังไปเลย
อย่างไรก็ตาม ความมึนทั้ง 3 ประการนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาน้อยลงแล้ว
..เพราะภาพยนตร์ Dragon Ball: Evolution นั่นเอง ?!?
คุณูปการจากความพังพินาศของ Dragon Ball: Evolution ?
ต้องย้อนเวลาไปช่วงยุค ค.ศ.1980-1990 กันสักนิด ในช่วงนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองส่งผลให้สื่อบันเทิงในแดนอาทิตย์อุทัยเบิกบานไปด้วยเช่นกัน ผลงานอนิเมะกับมังงะในยุคดังกล่าว มีเรื่องเด่นๆ หลายเรื่องที่น่าสนใจจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ และตลาดภาพยนตร์ประเทศญี่ปุ่น ก็มักจะจับเอาอนิเมะกับมังงะที่มีความใกล้เคียงกับโลกจริงไปสร้างมากกว่า อย่างเช่น ซามูไรพ่อลูกอ่อน ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงและซีรีส์คนแสดง ในช่วงปี ค.ศ.1972-1976
แต่สำหรับตลาดสร้างภาพยนตร์ในประเทศอื่นนั้น กลัวมีความกล้าเสี่ยงที่จะสร้างอะไรหวือหวากว่าในญี่ปุ่นกันเอง อย่างที่เห็นได้จากวงการภาพยนตร์ฮ่องกงที่สร้างภาพยนตร์จากมังงะ Crying Free Man, Riki-Oh และ City Hunter ไปสร้างและเมื่อ กายเวอร์ อมนุษย์เกราะชีวะ ถูกทางอเมริกานำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ทำให้ทั้งฝั่งญี่ปุ่นและฝั่งฮอลลีวูดเห็นศักยภาพของการ์ตูนจากแดนอาทิตย์อุทัยมากขึ้น
ในช่วงปี ค.ศ.1990 จึงมีข่าวว่า ผลงานระดับขึ้นหิ้งอย่าง ภาพยนตร์อนิเมะ Akira ถูกซื้อสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ รวมถึงมังงะ Gunnm ไซเบอร์เพชฌฆาต ก็เตะตาผู้กำกับชั้นนำของฝั่งฮอลลีวูดเช่นกัน
และแน่นอนว่า Dragon Ball ที่เป็นมังงะชื่อดังแถมยังได้รับความรักจากผู้คนหลายประเทศ ก็ได้รับความสนใจจากคนทำงานในฝั่งฮอลลีวูด ซึ่งทางญี่ปุ่นเองก็สนใจจะขายลิขสิทธิ์ให้เช่นกัน เพราะในช่วงที่ Dragon Ball ได้รับความนิยม ทางไต้หวันกับเกาหลีใต้ก็สร้างภาพยนตร์คนแสดงแบบไม่ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ไปเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งก็คงเป็นเหตุผลต่างๆ นานา ที่กล่าวไปนั่นเองที่ทำให้การขายลิขสิทธิ์การสร้างภาพยนตร์ Dragon Ball ฉบับคนแสดงให้ฝั่งฮอลลีวูดเกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่าการซื้อสิทธิ์จะลงเอยด้วยดี แต่นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเสียมากกว่า
อย่างที่ คุณโทริชิมะ คาซุฮิโกะ ประธานบริหารของบริษัทฮาคุเซ็นฉะ ผู้เคยเป็นบรรณาธิการของนิตยสารโชเน็นจัมพ์รายสัปดาห์เคยตอบอธิบายไว้ว่า ณ ตอนที่ขายสิทธิ์ Dragon Ball ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดนั้น ‘เป็นความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง’ เพราะ ณ เวลาที่เจรจาลิขสิทธิ์นั้นคุณโทริชิมะพบว่า จะต้องลงทุนเงินราว 5,000 ล้านเยน เพื่อที่จะร่วมนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการบริหาร ที่มีสิทธิ์ในการออกความเห็นคัดค้านแนวทางการสร้างภาพยนตร์ได้
แต่เงินก้อนใหญ่ขนาดนั้นมีมูลค่าเทียบเคียงได้กับ 60-70% ของกำไรรายปีของทางบริษัทชูเอย์ฉะที่เป็นต้นสังกัดของ Dragon Ball ทำให้ ณ เวลานั้น คุณโทริชิมะตัดสินใจขายสิทธิ์ขาดไป โดยที่ทางชูเอย์ฉะไม่สามารถเข้าไปออกสิทธิ์ออกเสียง เหมือนระบบ Gensakusha ที่บริษัทญี่ปุ่นคุ้นเคย และนั่นทำให้ตัวภาพยนตร์ Dragon Ball: Evolution หลุดจากต้นฉบับไปในแทบทุกทาง จนทำให้รายได้ของหนังย่ำแย่ และหมดโอกาสจะสร้างภาคต่อไปในที่สุด
ความล้มเหลวของ Dragon Ball ที่ควรจะเป็นดาวรุ่งให้กับการสร้างภาพยนตร์คนแสดงซึ่งดัดแปลงมาจากมังงะกับอนิเมะ ทำให้ทั้งฝั่งญี่ปุ่นและฝั่งฮอลลีวูดต้องเปลี่ยนเกมในการสร้างใหม่
อย่างภาพยนตร์ Ghost In The Shell กับ Alita: Battle Angel ที่มีการซื้อลิขสิทธิ์และวนเวียนอยู่ในฮอลลีวูดระยะใหญ่ ก็เริ่มสร้างด้วยการพยายามจับประเด็นสำคัญที่ควรเล่าจากตัวต้นฉบับ มาผสมกับการเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายแบบฮอลลีวูด และเริ่มมีการปรึกษากับเจ้าของผลงานต้นฉบับมากขึ้น ทำให้ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง แม้ว่าจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในเชิงรายได้แบบอู้ฟู่มากนัก แต่ก็เริ่มมีคำชื่นชมและพอจะได้รางวัลในสายเทคนิคพิเศษติดไม้ติดมือมาบ้าง
ด้าน Akira ที่อยู่ในขั้นตอนการสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงก็มีการปรับทิศทางให้สอดคล้องกับมุมมองของผู้กำกับมากขึ้น โดยจะโฟกัสการสร้างภาพยนตร์ให้ใกล้เคียงกับฉบับมังงะแทนการดัดแปลงจากฉบับภาพยนตร์อนิเมะ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์อาจจะไม่โอเคเท่าใดนักในการทำงานลักษณะนี้
ส่วนการ์ตูนจากญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ ที่มีการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นซีรีส์และภาพยนตร์คนแสดงในฝั่งโลกตะวันตก ก็เริ่มมีการคิดถี่ถ้วนมากขึ้น ตั้งแต่การตัดสินใจปรับแผนการสร้างไปเป็นซีรีส์มากขึ้่น เพื่อให้มีเวลาในการปูฟื้น ‘ความเหนือจริง’ ให้คนดูเข้าใจมากขึ้น และในทางกลับกันถ้าหากเรื่องไม่ได้รับความนิยมก็สามารถปิดเรื่องให้รวบรัดได้เช่นกัน
เจ้าของผลงานต้นฉบับหลายๆ เรื่อง ก็เห็นภาพแล้วว่า ในการดัดแปลงสื่อให้เปลี่ยนประเภท มีความจำเป็นที่จะต้องปรับบางอย่างทิ้งไปบ้าง อย่างเช่น ภาพยนตร์ซามูไรพเนจร ที่ตัดการเรียกชื่อท่าไม้ตายแบบในมังงะต้นฉบับ แต่ปรับมาเป็นฉากแอคชั่นที่นักแสดงใช้ท่าไม้ตายโชว์กันชัดๆ แทน ทำให้หนังมีความตื่นตา จนได้รับความนิยมทั้งในบ้านเกิดและประเทศอื่นๆ ที่ออกไปฉาย
ด้านการบริหารก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าการดัดแปลงวัฒนธรรมป๊อปจากญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างที่คุณโทริชิมะ คาซุฮิโกะ ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเป็นตอนนี้ หากต้องร่วมลุงทุน 5,000 ล้านเยน ในการร่วมมีสิทธิ์มีเสียงในขั้นตอนสร้างภาพยนตร์ เขาจะขอดีลเพิ่มเติมให้เป็นผู้ถือสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในทวีปเอเซียด้วย เพื่อคว้ารายได้ส่วนหนึ่งไว้บ้าง
และในตอนนี้ทีมสร้างซีรีส์หลายๆ เรื่อง ก็ตัดสินใจให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานต้นฉบับ เขามาเป็นผู้อำนวยการสร้างบ้าง อาทิ One Piece ฉบับซีรีส์คนแสดงให้อาจารย์โอดะ เออิจิโร่ มาร่วมเป็นผู้อำนวยการบริหาร เพื่อให้มีการดูแลทิศทางการสร้างไม่ให้หลุดกรอบจนไม่เหลืออะไรที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมเลยนั่นเอง
ซึ่งถ้า Dragon Ball: Evolution ขายดี การคิดแบบรอบคอบแบบนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้
ยังมีวัฒนธรรมป๊อปจากญี่ปุ่นเรื่องอะไรบ้างที่รอคิวสร้างเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ฉบับคนแสดง
นอกจาก One Piece ที่อาจารย์โอดะ เออิจิโร่ ออกมาบอกกล่าวด้วยตัวเองเกี่ยวกับการสร้างซีรีส์คนแสดงที่จะออกฉายทาง Netflix แล้ว ยังมีมังงะ, อนิเมะ รวมถึงเกม อีกหลายเกมที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์คนแสดงเช่นกัน และเราขออนุญาตนำเอารายละเอียดส่วนหนึ่งมาบอกเล่าให้ฟังกันครับ
Akira ถูกขยับถ่ายทำไปอีกเล็กน้อย แม้ว่า ผู้กำกับอย่างคุณไทก้า ไวทีทิ จะได้รับอนุมัติในการสร้างหนังโดยอ้างอิงจากมังงะแทน และมีการประกาศว่าตัวละครเอกจะเป็นนักแสดงเอเชียหรือเชื้อสายเอเชีย รวมถึงจะมีการให้อาจารย์โอโทโมะ คัทสึระ ผู้เขียนมังงะและผู้กำกับภาพยนร์อนิเมชั่นดั้งเดิมมาเป็นที่ปรึกษาในการสร้าง แต่คิวการถ่ายทำถูกเลื่อนออกไปเพราะตัวผู้กำกับต้องไปถ่ายทำ Thor: Love And Thunder ก่อน
Cowboy Bebop อนิเมะแนวคาวบอยอวกาศเคล้าเพลงแจ๊ส เป็นผลงานที่มีความคืบหน้าในการสร้างมากที่่สุดในรายชื่อที่เรายกมาคุยกันในเวลานี้ เพราะมีการประกาศทีมนักแสดงนำที่ค่อนข้างสอดคล้องกับอนิเมะต้นฉบับ และเริ่มถ่ายทำกันไปแล้ว แต่ ณ ช่วงที่เขียนบทความชิ้นนี้ ได้มีการพักกองถ่าย เนื่องจากนักแสดงนำอย่าง จอห์น โช ได้รับบาดเจ็บที่เข่า ดังนั้นคงต้องรอกันอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะได้เห็นซีรีส์ตัวเต็มๆ ออกฉาย
Mobile Suit Gundam จริงๆ แล้วกันดั้มเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงสำหรับออกฉายทางโทรทัศน์าแล้วครั้งหนึ่ง แต่กระแสตอบรับย่ำแย่ระดับที่ Sunrise ที่เป้นผู้สร้างกันดั้มยังนำออกจากรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งในปี ค.ศ.2019 ได้มีการแถลงข่าวว่า ทาง Sunrise กับ Legendary Pictures จะร่วมมือกันสร้างภาพยนตร์กันดั้ม หลังจากที่ปล่อยให้ตัวกันดั้มไปเป็นแขกรับเชิญภาพยนตร์ Pacific Rim: Uprising กับ Ready Player One มาแล้ว ณ ตอนนี้ ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดใดๆ ของตัวหนังมากนัก นอกจากการให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่เอาเนื้อเรื่องช่วงสงคราม 1 ปี (One Year War) มาสร้าง เพราะมีความซับซ้อนเกินกว่าจะดูแล้วเข้าใจในหนังเรื่องเดียว และในทีมผู้ดูแลการสร้างภาพยนตร์ก็มีคนของทาง Sunrise ที่เคยทำงานในฝั่งฮอลลีวูดมาก่อนด้วย
Sword Art Online เป็นไลท์โนเวลที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับคนที่ติดอยู่ในเกมออนไลน์แบบเวอร์ชวลเรียลลิตี้ที่ต้องเอาชีวิตให้รอดจาก ซึ่งถ้าตายในเกมก็จะตายในชีวิตจริงด้วยเช่นกัน SAO เป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะและด้วยพลอทที่เข้าถึงได้ง่ายจึงได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วโลกจนทาง Skydance Television รีบติดต่อซื้อสิทธิ์สร้างซีรีส์ ก่อนจะมีข่าวว่า Netflix ซื้อสิทธิ์ในการฉายไป พร้อมกับการระบุว่า คิริโตะ กับ อาสึนะ ที่เป็นตัวเอกจะต้องแสดงโดยนักแสดงเอเซีย และได้ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ Alite: Battle Angel มาเขียนบท
Steins; Gate จากเกมแนววิชชวลโนเวลไซไฟ ที่ได้รับความนิยมจนถูกสร้างมังงะ, อนิเมะ, ไลท์โนเวล ในภายหลัง เรื่องราวเล่าเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่เดินทางข้ามกาลเวลา โดยที่ตัวเอกอย่าง โอคาเบะ รินทาโร่ มีความสามารถที่จะรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในแต่ละไทม์ไลน์ที่เขาเดินทางไป ด้วยพลอทเรื่องที่ผู้รับชมในโลกตะวันตกน่าจะติดหนับได้ไม่ยาก ทำให้ทาง Skydance Production ที่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์คนแสดง อาทิ Altered Carbon ประกาศซื้อสิทธิ์ไปสร้างเป็นซีรีส์คนแสดงในช่วงเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2020 แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าจะฉายผ่านช่องทางใด
Ga-Rei ล้างพันธุ์อสูรกาย มังงะเรื่องนี้เป็นแนวแอคชั่นเหนือธรรมชาติที่ตีความว่า ถ้าในโลกปัจจุบันยังมีวิญญาณร้ายอยู่ และรัฐบาลญี่ปุ่นยังมีหน่วยงานพิเศษเอาไว้รับมือภัยเหล่านี้ แต่ภัยครั้งใหม่กลับเป็นอดีตมือปราบวิญญาณร้ายของหน่วยงานเอง นางเอกของเรื่องจึงต้องใช้สัตว์เทพเข้าต่อสู้กับคนที่เคยเป็นเหมือนพี่สาวของเธอ ถ้าว่ากันตามจริงแล้วพลอทเรื่องนั้นพร้อมให้ทำซีรีส์คนแสดงอยู่ไม่น้อย และอนิเมะ Ga-Rei Zero ก็มีพลอทที่เข้มข้นไม่แพ้กับมังงะต้นฉบับ ที่น่าสนใจเล็กน้อยก็คงเป็นการที่ตั้งเรื่องต้นฉบับนั้นอุดมไปด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการดัดแปลงเป็นซีรีส์อาจจะต้องรื้อโครงสร้างค่อนข้างเยอะ และนั่นคงเป็นเหตุผลว่านับตั้งแต่มีการประกาศซื้อสิทธิ์ในปี ค.ศ.2017 ก็ยังไม่มีการอัพเดทการสร้างมามากเท่าใดนัก
Naruto นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ ความจริงนารูโตะมีข่าวประกาศสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงฮอลลีวูดตั้งแต่ ปี ค.ศ.2015 โดยมีทาง Lionsgate ซื้อลิขสิทธิ์ไป แล้วให้คุณอาวี แอแรด (Avi Arad) ดูแลการสร้าง และมีการกำหนดขั้นต้นให้คุณไมเคิล เกรซี่ (Michael Gracey) เป็นผู้กำกับ ที่เป็นคนยืนยันว่า ถ้าอาจารย์คิชิโมโตะ มาซาชิ เจ้าของมังงะต้นฉบับไม่มีส่วนร่วมหรือเป็นที่ปรึกษา ก็จะไม่ร่วมสร้างหนังเรื่องนี้ และรายงานข่าวระบุว่า ตอนนี้ที่ติดขัดกันอยู่ก็คือเรื่องบทที่ยังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขอยู่
Zero / Fatal Frame เกมแนวสยองขวัญสั่นประสาทที่มักจะผูกเรื่องของผู้คนที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวกับโลกหลังความตาย หรือ ผี นั่นเอง โดยคุณคริสตอฟ กานส์ (Christophe Gans) ผู้กำกับภาพยนตร์ Silent Hill ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวของประเทศฝรั่งเศสว่าเขากำลังสร้างภาพยนตร์จากเกมดังกล่าวอยู่ และต้องการจะให้ตัวหนังต้องมี ‘บ้านผีสิงสไตล์ญี่ปุ่น’ อยู่ในเรื่องด้วย แต่จากการพูดคุยคงจะต้องรอกันอีกระยะที่จะเห็นภาพยนตร์นี้แบบเป็นตัวเป็นตน
ทั้งนี้ ด้วยความที่ไอเดียสดใหม่ในวงการบันเทิงฮอลลีวูดนั้นมีน้อยลง รวมถึงว่ากระแสของมังงะกับอนิเมะก็บูมจนดาราฮอลลีวูดหลายคนก็อินกับการ์ตูนญี่ปุ่นแล้ว เราคงจะได้เห็นการหยิบจับเอาสื่อบันเทิงจากแดนอาทิตย์อุทัยมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์คนแสดงเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเป็นแน่
อ้างอิงข้อมูลจาก
- News.DEXClub.com 1, 2, 3
- Screen Rant
- Hollywood Reporter
- Destructoid