หากจะกล่าวถึงนักวาดมังงะชื่อดังในญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นในช่วงปี ค.ศ.2000 ยังสามารถสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องอยู่จนถึงทุกวันนี้ แถมผลงานหลายต่อหลายเรื่องของนักเขียนท่านดังกล่าวยังถูกดัดแปลงเป็น อนิเมะแบบซีรีส์, ภาพยนตร์อนิเมะ รวมไปถึงภาพยนตร์คนแสดง
นั่นเพราะว่า อาจารย์ฮิโรมุ อาราคาวะ (Hiromu Arakawa) หรือที่ชื่อจริงว่า ฮิโรมิ อาราคาวะ (Hiromi Arakawa) เป็นลูกสาวของไร่อาราคาวะ ที่ปลูกทั้งมันฝรั่งและเลี้ยงโคนม ซึ่งตัวของอาจารย์เองก็ใช้ชีวิตในฐานะชาวไร่มาถึง 7 ปี ก่อนที่เธอจะโยกย้ายถิ่นฐานมาตามความฝันกับการเป็นนักเขียนมังงะในเมืองใหญ่ แต่ถึงจะเปลี่ยนสายงานแบบเต็มตัวแล้ว เธอก็ยังเอาประสบการณ์ที่ซึมซับมาแทรกในผลงานของเธอเป็นระยะๆ
แต่การเสวนาเกี่ยวกับงานด้านเกษตรกรรม-กสิกรรม ถูกขยายความให้เพิ่มมากขึ้นในผลงานอีกสองเรื่อง นั่นก็คือ ‘Silver Spoon’ และ ‘รากหญ้าบรรดาศักดิ์’ ซึ่งเรามองว่าผลงานทั้งสองเรื่องมีความน่าสนใจมากกว่า เพราะนี่น่าจะเป็นงานจากสายวัฒนธรรมป๊อปที่มองไปยังโลกเกษตรกรรม-กสิกรรม ได้อย่างน่าสนใจจนเราอยากจะพูดถึงผลงานทั้งสองเพิ่มเติมกันในวันนี้
Silver Spoon – คนยุคใหม่ที่กระโดดเข้าไปเจอเรื่องราวในโลกเกษตรกรรม-กสิกรรม
ผลงานมังงะเรื่อง Silver Spoon ตีพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Sunday ของทางสำนักพิมพ์ Shogakukan ที่โฟกัสเรื่องราวอยู่กับ ‘ฮะจิเคน ยูโงะ’ เด็กนักเรียนจากกรุงโตเกียวที่ตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานไปศึกษาในโรงเรียนเอโสะโนะ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นโรงเรียนที่คะแนนด้านวิชาการนั่นไม่สูงมากนัก ถ้าเขาทำการศึกษาที่นี่ ตัวของเขาจะสามารถเป็นเด็กหัวกะทิของโรงเรียนได้โดยง่าย แต่สิ่งที่เขาไม่คาดคิดก็คือโรงเรียนแห่งนี้เป็น ‘โรงเรียนเกษตรกร’ ที่แม้ว่าจะยังคงเป็นโรงเรียนสายสามัญแต่ก็มีคาบเรียนมากมายที่ต้องไปเรียนกันจริงๆ ในไร่ในฟาร์ม ซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ฮะจิเคน ทั้งมุมมองการเรียนรู้ กับมุมมองการใช้ชีวิต
ผลงานเรื่องนี้เป็นงานที่อาจารย์อาราคาวะ ฮิโรมุ เขียนหลังจากวาดเรื่อง Fullmetal Alchemist แขนกลคนแปรธาตุ จบลงไปสักพักหนึ่ง ณ เวลาที่การ์ตูนเรื่องนี้เริ่มตีพิมพ์ ก็มีแต่คนสงสัยอยู่ในใจว่าทำไมอาจารย์อาราคาวะ ถึงกระโดดออกจากการ์ตูนแนวแอคชั่นแฟนตาซีมาเล่าเรื่องแบบจริงจังแถมยังมีความดราม่าแฝงในเรื่องอยู่มาก ซึ่งตัวอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า การโยกมาเขียน Silver Spoon ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากความต้องการที่จะสร้างงานในรูปแบบอื่น เพื่อให้เกิดความท้าทายต่อตัวเอง รวมไปถึงการโยกมาเขียนในนิตยสารที่มีกลุ่มผู้อ่านที่อายุน้อยลงก็ทำให้อาจารย์อาราคาวะ อยากจะเล่าการเติบโตของนักเรียนในโรงเรียนสายเกษตรที่มีชีวิตแตกต่างจากนักเรียนสายสามัญแบบปกติ ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าทำให้มังงะเรื่อง Silver Spoon มีความแตกต่างจากเรื่องอื่นในนิตยสารที่ตีพิมพ์มากเกินพอ
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์อาราคาวะต้องการนำเสนอผ่าน Silver Spoon ก็คือเรื่องราวความเป็นจริงของการทำงานด้านเกษตรกรรม-กสิกรรม โดยเฉพาะในมุมมองว่าที่ว่า การทุ่มเทให้กับงานประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนที่งอกเงยกลับมาถ้าหากได้ทุ่มเทลงไปในตัวงานอย่างจริงจัง (ซึ่งอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่าเป็นรากเหง้าของแนวคิด การแลกเปลี่ยนเท่าเทียม ของ Fullmetal Alchemist แขนกลคนแปรธาตุ อีกทีหนึ่ง)
และอาจารย์ค่อยๆ เปิดโลกของผู้อ่านได้อย่างดี ด้วยเหตุที่ว่าผู้อ่านมังงะที่ส่วนใหญ่จะมีความรู้ด้าน เกษตรกรรม-กสิกรรม เป็นศูนย์ ไม่ต่างจากตัวเอกของเรื่อง ดังนั้นการค่อยๆ ไล่เรียงจุดชวนแปลกใจ ตั้งแต่การศึกษาภาคสามัญของโรงเรียนเกษตรกรเอโสะโน อาจจะไม่ได้เข้มแข็งมาก แต่วิชาเฉพาะทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน เกษตรกรรม-กสิกรรม นั้น มีความเข้มข้นจริงจังอย่างยิ่ง และตัวสถาบันการศึกษาก็มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้ขั้นต้นไว้รองรับในการทดลองทำจริง
พอเสวนาเรื่องพื้นฐานจบแล้ว อาจารย์อาราคาวะก็ลากเข้าเรื่องราวความเป็นจริงแบบไม่รอช้า ตัวเนื้อเรื่องนำพาตัวเอกไปเจอวิธีการทำธุรกิจ เกษตรกรรม-กสิกรรม หลายๆ แบบ อาทิ การทำธุรกิจแบบครอบครัว ทั้งบ้านที่ประสบความสำเร็จดีพอจะทำงานต่อได้หลายชั่วคน บ้านที่ไปต่อไม่ไหวจนต้องเลิกกิจกรรมและต้องออกจากการเรียน การทำธุรกิจในเชิงสหกรณ์ที่อาจจะไม่ได้ต่อยอดขายตลาดใหญ่ได้เงินอู้ฟู่มากนัก แต่ยังสามารถหมุนเวียนวัตถุดิบเพื่อทำให้สมาชิกอยู่รอดร่วมกัน ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารให้กับประเทศ
นอกจากเรื่องภาพรวมแล้ว ยังมีการแทรกประเด็นเฉพาะทางลงไปในเรื่อง อย่างปัญหาของของระบบการค้านมวัวในญี่ปุ่น ทั้งปัญหาแบบคลาสสิกและปัญหาแบบเฉพาะ ซึ่งอ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.2014 ปัญหาด้านกฎหมายของญี่ปุ่นที่บีบให้งานเกษตรกรรม-กสิกรรมโดนบีบราคาสินค้าได้ง่ายมากเกินไป หรือปัญหาเกี่ยวการปลูกข้าวในพื้นที่ฮอกไกโด
นอกจากประเด็นเกษตรกรรม-กสิกรรมแล้ว Silver Spoon ยังแทรกคำถามต่อวงการศึกษาและแนวคิดในการทำงานของคนญี่ปุ่นลงไปด้วย อย่างตัว ฮะจิเคน เองที่ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเกษตรกรเอะโสะโนะ เพราะเขาโดนระบบการศึกษาที่แข่งขันกันสอบให้ได้อันดับบนๆ บดขยี้จิตใจมา หรืออีกประเด็นหนึ่งที่คนอ่านหลายคนชื่นชอบก็คือ การใช้ชีวิตแบบไม่มีความฝันนั้นเป็นเรื่องที่ผิดจริงหรือ
อย่างไรก็ตาม Silver Spoon นั้นเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ในนิตยสารมังงะแนวโชเน็น เรื่องราวหลายอย่างจึงเป็นการส่งพลังอย่างมีความหวัง …แต่ไม่ต้องห่วงเพราะอาจารย์อาราคาวะได้เขียนผลงานอีกเรื่องหนึ่งที่เอาเรื่องจริงที่ยิ่งกว่าละครเอาไว้แล้ว
รากหญ้าบรรดาศักดิ์ – เรื่องเล่าชีวิตจริงที่ชวนขัน ทั้งอดีตและปัจจุบัน ของฟาร์มอาราคาวะ
รากหญ้าบรรดาศักดิ์ หรือที่มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Hyakushou Kizoku ซึ่งแปลตรงๆ ได้ว่า ขุนนางชาวไร่, ขุนนางชาวนา ตัวผลงงานเรื่องนี้เป็นงานแนว Manga Essay ที่ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Unpoco ที่เป็นนิตยสารการ์ตูนแนวโชโจรายไตรมาสของทางสำนักพิมพ์ Shinshokan ซึ่งเริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 จนถึงปี ค.ศ.2009 ก่อนจะย้ายไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Wings นิตยสารการ์ตูนแนวโชโจรายเดือนตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 จนถึงปัจจุบัน
ผลงานเรื่องนี้โดยหลักจะเป็นการเสวนากันระหว่าง คุณอิชิอิ กองบรรณาธิการของทางสำนักพิมพ์ Shinshokan ผู้ไม่ประสาเรื่องราวกสิกรรม-เกษตรกรรม กับ คุณอาราคาวะ ฮิโรมุ หนึ่งในทายาทของไร่อาราคาวะ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของผลงานเรื่องนี้ คุณอาราคาวะก็จะเอาเรื่องราวสมัยที่ยังต้องทำงานในบ้านที่มีกฎเหล็กว่า ‘ผู้ที่ไม่ทำงานก็ไม่สมควรได้กิน’ มาบอกเล่า (หรือบางกรณีเจ้าตัวก็บอกว่าตั้งใจเอาเรื่องในบ้านมา ‘เมาท์มอย’)
ซึ่งเรื่องราวหลายๆ เรื่องที่ครอบครัวของอาจารย์อาราคาวะทำเป็นปกติ มักจะสร้างความตื่นตะลึงให้กับคุณอิชิอิอยู่เป็นประจำ ตัวอยางเช่น ความคล่องแคล่วในกิจกรรมต่างๆ ที่ชาวไร่ได้มาจากการทำงาน, อาหารต่างๆ ที่เจอได้จากชาวไร่ ทั้งผลิตผลจากงานเกษตรกรรม-กสิกรรม รวมไปถึงของผิดกฏหมาย และไฮไลท์เด็ดก็คือ เจ้าคุณพ่อสุดเฮ้วที่คุณอาราคาวะอยากจะให้ฮอลลีวูดดึงตัวไปถ่ายหนัง จนต้องมีเรื่องเล่าเหนือความคาดหมายให้ติดตามอยู่แทบทุกเล่มไป
และเนื่องจากนี่เป็นประสบการณ์จริงของตัวคุณอาราคาวะเอง จึงมีเรื่องราวที่ชวนคิดตาม อย่างเช่น การทำงานที่เกือบจะไม่มีวันหยุดของบุคลากรสายกสิกรรม-เกษตรกรรม, ความยากลำบากใจในการจัดการกับสัตว์ต่างๆ ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวไร่ได้, การขาดแคลมบุคลากรที่ไม่เกี่ยวโดยตรง หรือแม้แต่การที่ไร่อาราคาวะต้องยุติกิจการบางส่วนไปเนื่องจากคนในครอบครัวมีอายุมากขึ้น
ถ้าสังเกตุจากเวลาที่อาจารย์อาราคาวะเริ่มเขียนมังงะเรื่องนี้ จะเกิดขึ้นก่อนที่อาจารย์จะทำการเขียนเรื่อง Silver Spoon ทำให้เนื้อหาบางส่วนของผลงานทั้งสองเรื่องคาบเกี่ยวกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ รากหญ้าบรรดาศักดิ์ จะมีภาวะ ‘ขายฝัน’ น้อยกว่า และในช่วงที่เสวนาเรื่องเศร้าของวงการก็จะมีความหน่วงในใจเมื่ออ่านอย่างชัดเจนกว่าเช่นกัน
อีกประเด็นที่ถูกแทรกมาเรื่อยๆ ในเรื่องก็คือ การที่อาจารย์อาราคาวะผันตัวมาเป็นนักเขียนมังงะแบบเต็มตัวได้อย่างไร รวมถึงเรื่องราวของครอบครัวเกษตรกร-กสิกร ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงว่า ทายาทที่เดิมทีพวกเขาคาดหวังวาจะรับสืบทอดกิจการ แต่ที่น่าสนใจก็คือ แทบจะทุกครอบครัวที่โดนยกมากล่าวถึง ต่างเข้าใจความเป็นไปของเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป และน้อมรับว่าคนที่จะมาสืบทอดกิจการอาจจะไม่ใช่คนที่พวกเขาวางแผนไว้แต่เริ่ม อีกประการหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่าชีวิตของทายาทจะแยกย้ายไปคนละทาง แต่เมื่อถึงเวลามารวมตัวกันแล้วพวกเขาก็ยังวนเวียนมาช่วยงานในไร่เหมือนที่ผ่านมา
ผลพวงจากมังงะที่เล่าเรื่องโลกกสิกรรม-เกษตรกรรมแบบป๊อปๆ
ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับกสิกรรม-เกษตรกรรมจะไม่ใช่เรื่องราวที่ถูกเล่าได้โดยง่าย แต่ทั้ง Silver Spoon และ รากหญ้าบรรดาศักดิ์ ก็ได้รับความนิยมในหลายแง่มุม อย่างในด้านยอดขาย ฝั่ง Silver Spoon มีการเปิดเผยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2020 ว่าทำยอดขายไปมากกว่า 17 ล้านเล่ม ส่วนฝั่ง รากหญ้าบรรดาศักดิ์ มีการแจ้งข่าวในช่วงปลายปี ค.ศ.2019 ว่าทำยอดขายได้มากกว่า 2 ล้าน 6 แสน เล่ม ส่วนด้านรางวัล มังงะเรื่อง Silver Spoon ได้รับรางวัลใหญ่ทั้งจากเวทีสายประกวดมังงะ อย่างรางวัล Manga Taisho ในปี ค.ศ.2012 และรางวัลใหญ่จากเวที Japan Food Culture Contents Award ในปี ค.ศ.2013
ในเชิงส่งอิทธิพลต่อสังคม นับตั้งแต่การ์ตูนเรื่อง Silver Spoon ออกตีพิมพ์ และถูกดัดแปลงเป็นสื่อประเภทอื่นๆ ทั้งอนิเมะและภาพยนตร์ ก็ทำให้ยอดการสมัครเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วน รากหญ้าบรรดาศักดิ์ ที่อาจจะเล่าเรื่องด้วยความตลกเป็นหลัก แถมยังตีพิมพ์เป็นรายไตรมาส จึงไม่ได้เห็นผลกระทบในเชิงสังคมอย่างชัดแจ้งนัก แต่ตัวอาจารย์อาราคาวะยังคำนึงถึงสังคมนักอ่านอย่างชัดแจ้ง เห็นได้จากการที่อาจารย์เดินทางไปเก็บข้อมูลยุคปัจจุบันมาเขียน ควบรวมกับเรื่องเล่าจากความทรงจำด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลในการแข่งขันระดับประเทศของชมรมการเกษตรโรงเรียนญี่ปุ่น ในช่วงปี ค.ศ.2016 หรือการเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เกี่ยวกับการค้าด้านกสิกรรม-เกษตรกรรมในระดับนานาชาติที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน (และกลายเป็นมุกในเรื่องว่า อาจารย์เอาข้อมูลฝั่ง รากหญ้าฯ ไปทำงานฝั่ง Silver Spoon) ก่อนจะเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าเพิ่มเติมในช่วงเวลาหลังกจากที่ Silver Spoon ทำให้คนคุ้นเคยกับโรงเรียนเกษตรแล้ว
การไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมแบบนี้ เป็นการกระทำที่เห็นได้ชัดเจนว่า ตัวของอาจารย์อาราคาวะมีความรับผิดชอบในการนำเสนอเรื่องราวในโลกกสิกรรม-เกษตรกรรม ให้ถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะผู้เสพข้อมูลปลายทางโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนที่มีพื้นเพของการเป็นชาวไร่เหมือนอย่างอาจารย์อาราคาวะ
ทั้งยังทำให้เห็นว่า ต่อให้เป็นงานสายวัฒนธรรมป๊อป ก็สามารถช่วยส่งเสริม หรือสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมแบบใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเคลือบเรื่องราวเมโลดราม่าไว้ทั้งเรื่อง จุดสำคัญอยู่ที่การกลั่นกรองเรื่องราวให้ออกมาเข้าใจง่าย และถ่ายทอดเรื่องนั้นออกไปสู่ผู้รับสารปลายทางอย่างจริงใจนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Understanding Japanese Agriculture through Anime – William Clarence Coney