ช่วงนี้ประเทศไทยของเราเดินหน้าเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ข่าวหนึ่งที่จะปรากฏขึ้นมาในช่วงนี้อย่างมากมายทุกปีก็คือเรื่องของโรคพิษสุนัขบ้า ที่ความจริงแล้วเป็นโรคทื่ไม่ได้แพร่ระบาดในช่วงฤดูร้อน แต่อาจจะมีข่าวออกมาให้เห็นเยอะมากขึ้นเพราะนี่เป็นช่วงเวลาปิดเทอมที่มีเด็กและเยาวชนหยุดพักผ่อนอยู่ในละแวกบ้านแล้วมีโอกาสที่จะติดเชื้อดังกล่าวผ่านน้ำลายของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะจากการโดนเลียบาดแผลหรือเลียปากก็ตามที
แม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่สามารถใช้ป้องกันโรคดังกล่าวได้ทั้งก่อนและหลังสัมผัสโรค แต่โรคดังกล่าวก็ยังอันตรายอยู่ ซึ่งถ้าหากติดเชื้อโรคดังกล่าวจนอาการลุกลามไปถึงจุดที่แสดงอาการทางประสาทแล้วก็แทบจะการันตีว่าผู้ป่วยคนนั้นจะเสียชีวิตทันที
โรคร้ายกับสัตว์ต่างๆ นี้ไม่ได้ปรากฏแค่ในข่าวสารเท่านั้น ในภาพยนตร์ก็มีการพูดถึงโรคจากสัตว์ต่างๆ อยู่บ่อยเช่นกัน ครั้งนี้ The MATTER จึงหยิบยกเอาหนังที่พูดถึงสัตว์กับโรคติดต่อมาพูดถึง แต่จะยกเว้นหนังสายซอมบี้ และโฟกัสอยู่กับเรื่องที่พูดถึงโรคที่พอจะใกล้เคียงเหตุการณ์จริงบนโลกของเรานะ
Cujo – สุนัข
หนังดัดแปลงจากนิยายของ Stephen King ที่เล่าเรื่องของหมาเซนต์เบอร์นาร์ดตัวใหญ่ที่่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จึงเปลี่ยนสภาพจากเพื่อนรักของมนุษย์มาเป็นอสูรร้ายที่ไล่สังหารมนุษย์แทน โดยมีครอบครัวหนึ่งซึ่งมีเด็กเล็กอยู่ในบ้านต้องเอาตัวรอดจากอาการป่วยของเจ้าหมา ตัวภาพยนตร์กระชับเนื้อเรื่องรอบตัวไปค่อนข้างเยอะ แต่ยังคงเหลือแก่นหลักของเรื่อง ที่บอกเล่าสภาพของหมาที่คนเลี้ยงไม่ได้ใส่ใจกับความผิดปกติของมันจนเชื้อฟักตัวตามระยะเวลา แล้วสร้างอันตรายให้คนอื่นๆ รอบตัว
ตัวนิยายต้นฉบับจริงๆ จะพูดถึงความสัมพันธ์ของคนในเรื่องมากกว่าฉบับหนัง ซึ่งจะทำให้เห็นดราม่ามากขึ้นว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ดี-ความไม่ใส่ใจของคนในครอบครัว ก็ส่งผลเสียต่อสัตว์เลี้ยงที่อยู่ใต้การดูแลของคนในบ้านนั้นเช่นกัน อย่างในเรื่องก็สะท้อนผ่านการที่เจ้าของของเจ้าหมา Cujo ไม่เคยพามันไปฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนเลย รวมถึงว่าในนิยายต้นฉบับ ตัว Stephen King ยังบอกว่า จริงๆ เจ้า Cujo เป็นหมาที่ดีและอยากทำให้เจ้าของมีความสุข และในช่วงท้ายก็มีการระบุว่า เด็กที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในเรื่องก็ได้รับหมาตัวใหม่ที่ฉีดวัคซีนมาเรียบร้อย เหมือนเป็นการบอกกลายๆ ว่า เลี้ยงสัตว์ก็ต้องอาศัยความรับผิดชอบเหมือนกับการรักษาสภาพครอบครัวให้มีความสุขนั่นล่ะ
Outbreak – ลิง
หนังเล่าถึงโรค ‘Motoba’ ที่เคยระบาดในพื้นที่ประเทศซาอีร์ ซึ่งผู้ติดเชื้อมีโอกาสตายเกือบจะ 100% และกองทัพสหรัฐฯ ใช้วิธีปิดข่าวโรคนี้ด้วยการระเบิดหมู่บ้านที่ติดเชื้อ ก่อนที่หนังจะข้ามมาในยุคปัจจุบัน ได้มีคนพยายามลักลอบเอาลิงคาปูชินหน้าขาวที่เป็นพาหะนำโรค Motoba ไปสู่อเมริกา กลายเป็นว่าโรคนี้กลับแพร่กระจายไปไกล และเป็นหน้าที่ของตัวเอกที่ต้องค้นหาความจริงจากรัฐบาลและสร้างยารักษาโรคนี้ก่อนที่มันจะฆ่าคนทั้งประเทศ
ตัวหนังเอาโครงเรื่องมาจากเรื่องจริงของการระบาดไวรัสอีโบลา แล้วเสริมเติมแต่งด้วยเนื้อเรื่องด้านการเมือง กระนั้นในชีวิตจริง อีโบลาเป็นโรคที่ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1976 มีอาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่จะพัฒนาอาการจนถึงจุดที่อาเจียน ท้องเสีย อวัยวะภายในอย่างไตกับตับทำงานบกพร่อง และมีอาการเลือดออกคล้ายๆ โรคไข้เลือดออก ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ซึ่งไวรัสอีโบลาสามารถติดต่อได้ผ่านทางการสัมผัสกับเลือด สาดคัดหลั่ง หรือของเหลวจากสิ่งมีชีวิตที่มีเชื้อโดยตรง ซึ่งลิงก็เป็นหนึ่งในพาหะของอีโบลา และตอนนี้ยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง แต่มียาขั้นทดลอง การค้นพบแอนติบอดีที่เป็นแนวทางขั้นต้นในการรักษาโรค ทำให้โรคอีโบลานี้ยังอันตรายอยู่มาก
ถึงหนังจะบอกเล่าถึงปมการเมืองที่ยอมพึ่งพาของเสี่ยงๆ มาเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ประเทศตนเอง แต่อีกสิ่งที่เราได้รับความรู้โดยอ้อมจากหนัง ก็คือการที่ยังมีโรคที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจอยู่ในธรรมชาติ และหลายคราวเรามองลิงว่าเป็นญาติสนิทของมนุษย์ จนลืมไปว่าลิงยังมีที่อยู่อาศัย ใช้ชีวิต รวมถึงมีภูมิคุ้มที่ต่างกับเรา และด้วยความต่างนั้นเองมนุษย์อย่างเราก็อาจได้รับภัยอันตรายที่คาดไม่ถึง
Mimic – แมลงสาบ
หนังเรื่องนี้กำกับและร่วมเขียนบทโดย Guillermo Del Toro ที่เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับของปีนี้ไปหมาดๆ หลายคนอาจจะจำหนังเรื่องนี้ที่ออกฉายมาตั้งแต่ปี 1997 ในฐานะหนังสัตว์ประหลาดกลายร่างที่คอยจับมนุษย์ไปเก็บเป็นอาหารของ อันเป็นฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง (ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นแนวที่ผู้กำกับถนัดด้วย) แต่ก่อนจะถึงจุดที่ตัวละครในเรื่องของเราจะตามล่าหาสัตว์ประหลาดตัวนั้น ในต้นเรื่องได้ระบุว่าเมืองแมนแฮตตันมีโรคระบาดจากแมลงสาบที่ทำให้เด็กเสียชีวิตไปหลายร้อยคน
หลายคนอาจจะแค่รำคาญการไต่ยั้วเยี้ยของแมลงสาบ แต่มันยังเป็นพาหะนำโรคต่างๆ หลายประการ อย่าง กาฬโรค โรคบิด โรคติดเชื้อในระบบขับถ่าย โรคฝีผิวหนังพุพอง โรคในระบบทางเดินอาหาร ไข้ไทฟอยด์ ฯลฯ และตัวแมลงสาบก็มีพยาธิจำนวนมากในตัว ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ การที่ตัวเอกในหนังเดินทางไปเผาทำลายรังแมลงสาบยักษ์ในเรื่องจึงไม่ใช่แค่เรื่องการต่อสู้ของคนกับสัตว์ประหลาดเท่านั้น แต่ยังป็นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์โรคขนาดใหญ่ไปพร้อมๆ กันด้วย พูดแล้วก็รู้สึกคันคะเยอขึ้นมาเลยแฮะ
Kaw – อีกา (และวัว)
หมู่บ้านเกษตรกรรมที่เงียบสงบแห่งหนึ่งกลับต้องมาวุ่นวายเกินคาด เมื่อวัวในหมู่บ้านเกิดเสียชีวิตจากอาการของโรควัวบ้า แต่เจ้าของวัวดันไม่ยอมแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เพราะกลัวจะเจอสั่งให้ฆ่าวัวทั้งฟาร์ม แต่เพราะไม่ได้ซ่อนซากวัวที่ป่วยตายในสถานที่ปิด ทำให้อีกาจำนวนมากในพื้นที่ไปจิกกินซากวัวตัวนั้น ผลก็คืออีกาติดเชื้อจากการกินเนื้อวัวและกลายเป็นนกสีดำที่บ้าคลั่งเข้าทำร้ายผู้คนในหมู่บ้าน ที่ต้องรวมตัวกันเอาตัวรอดจากปากอีกาที่หมายจะฆ่าพวกเขา …ที่ว่าไปคือพล็อตเรื่องคร่าวๆ ของหนังไซไฟสยองขวัญทุนต่ำเรื่องนี้
โอเค การที่อีกาไปกินซากวัวที่เป็นโรควัวบ้าในโลกแห่งความจริงนั้นไม่ถึงขนาดทำให้มันคลั่งแบบในหนัง แต่อาการของโรควัวบ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงสัตว์ที่ติดเชื้อไปอย่างกะทันหัน แต่ใช้เวลาอยู่ 2-8 ปีกว่าจะแสดงอาการ จนทำให้สัตว์อย่าง วัว แกะ แพะ หมู หนู มิงค์ ลิงบางชนิดที่สามารถติดเชื้อได้มีอาการตัวสั่น เดินกะโผลกกะเผลก ตัวส่ายไปมา พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น ตื่นเต้น ดุร้าย และคลั่งขึ้นมา สอดคล้องกับชื่อเรียกสามัญของโรคที่ว่าเป็น ‘วัวบ้า’
แต่สำหรับมนุษย์ที่กินเนื้อวัวปนเปื้อนเชื้อโรควัวบ้านั้น ไม่ได้เป็นโรควัวบ้าโดยตรงแต่จะเป็นโรค variant Creutzfeldt-Jakob (vCDJ) เป็นอาการทางประสาทที่เปลี่ยนแปลงและทำให้การรับความรู้สึกผิดปกติ และเมื่อโรคพัฒนามากขึ้นจะทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ ความจำมีปัญหา ตามด้วยการหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในหนึ่งปีหลังจากแสดงอาการ และด้วยระยะเวลานานหลายปีกว่าโรคจะออกอาการชัด เลยเป็นเหตุที่โรคนี้กลายเป็นภัยซ่อนเร้น แม้ว่าการระบาดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2007 ผู้เสียชีวิตอาจจะมีจำนวนไม่เกิน 500 คน แต่ก็เป็นการเตือนภัยที่ดีว่า จะเพาะพันธุ์สัตว์ใดก็ต้องดูแลให้ดีที่สุดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ที่ผู้บริโภคเองก็ต้องระมัดระวังกินแต่อาหารที่สุกจะปลอดภัยจากโรคต่างๆ
Contagion – ค้างคาวกับสุกร
ค้างคาวหนึ่งตัวไม่น่าจะทำให้โลกสั่นไหวได้ จนกระทั่งมีเจ้าค้างคาวพาหะตัวหนึ่งไปกินกล้วยแล้วทำเศษกล้วยชิ้นใหญ่ตกลงไปในฟาร์มหมู แล้วมีหมูมากินกล้วยนั้นเข้าไป ก่อนที่หมูตัวนั้นจะถูกขายต่อให้ร้านอาหารในฮ่องกง เชื้อโรคที่ผสมกันของค้างคาวกับหมูก็เข้าสู่พ่อครัวในฮ่องกงที่เตรียมอาหารด้วยมือเปล่าจนได้แผลมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของไวรัสพันธุ์ใหม่ที่ปลิดชีพคนได้ในช่วงเวลาไม่กี่วันและมันยังเป็นโรคติดต่อที่ระบาดได้ด้วยการสัมผัสตัวเท่านั้น
ที่เล่าไปเมื่อกี้คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังเรื่อง Contagion ที่เหมือนนำเอาพล็อตของหนังหลายๆ เรื่องที่พูดถึงก่อนหน้ามาเล่ารวมกัน คือยังมีโรคที่มนุษย์เข้าไม่ถึงอีกมากในธรรมชาติ อย่างในกรณีนี้ก็เป็นการฟีเจอริงกันของเชื้อโรคในพาหะอย่างค้างคาวที่คนทั่วไปอาจจะมองข้าม กับหมูที่เราเข้าใจว่ามันน่าจะปลอดภัยแล้ว แต่ก็ยังสามารถก่อโรคแปลกใหม่ได้
แต่นั่นก็ไม่ใช่อย่างเดียว อีกเรื่องที่อยากจะพูดถึงนั้นไม่ใช่แค่เชื้อโรคที่ถูกสมมติขึ้นในเรื่องนี้ แต่คือการกระทำหนึ่งของตัวละครในเรื่องที่เป็นบล็อกเกอร์คนดัง ที่โพสต์ว่าโรคร้ายโรคใหม่นั้นสามารถรักษาได้ด้วยยาทางธรรมชาติที่ต้องใช้ดอกคานารี หรือดอก Forsythia ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่ทำให้ประชาชนหลายคนทั้งคนที่ป่วยตัวจริงและคนที่ไม่ได้ป่วยพยายามตามหายาดอกไม้ดังกล่าว จนทำให้เชื้อโรคร้ายแพร่กระจายจากการสัมผัสไปมากกว่าเดิม มิหนำซ้ำเมื่อพิสูจน์ได้ว่าบล็อกเกอร์คนนั้นไม่ได้ป่วยจริง แทนที่ผู้คนจะสบายใจขึ้นจากการจับกุมเขา กลับมีคนรวมทุนมาประกันตัวจนเจ้าตัวพ้นผิดไปเสียอีก
กลายเป็นว่าโรคที่ร้ายกาจกว่าไวรัสพันธุ์ใหม่ ยังสู้คำโป้ปดของคนลวงกับความศรัทธาในที่พึ่งสุดท้ายของผู้คนไปเสียนี่… และเราก็ไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์อย่างในหนังเกิดขึ้นจริงไปมากขนาดไหน
Parasyte – ปรสิต
เรื่องสุดท้ายถึงแม้จะไม่ใช่สัตว์อย่างที่เราพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ แต่เท่าที่ได้เรียนวิชาสุขศึกษามา เราพอจะทราบจากบทเรียนว่า ปรสิต คือสิ่งมีชีวิตที่ไปอาศัยอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชิวิตอื่นหรือ โฮสต์ (Host) เพื่อใช้ผลประโยชน์จากร่างกายของโฮสต์ในการแพร่พันธุ์และมีชีวิตรอดต่อไป โดยส่วนใหญ่คนเมืองอาจจะลืมเลือนความน่ากลัวของปรสิตไปจนเกือบหมดจากความรู้ที่เคยได้รับว่าให้ระมัดระวังอยู่เสมอ จนถึงการแพทย์ที่ทันสมัยจนแทบจะไม่เจอปรสิตเท่าไหร่ การมาถึงของภาพยนตร์ Parasyte ซึ่งดัดแปลงมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังในยุค 90s นี้ ก็ทำให้ระลึกได้ถึงความน่ากลัวของปรสิตอีกครั้ง เพราะปรสิตในเรื่องที่มาจากนอกโลกสามารถยึดครองร่างโฮสต์ แล้วพลิกตัวเองจากสภาพผู้เกาะอาศัยมาเป็นสัตว์นักล่าที่อยู่จุดบนสุดของห่วงโซ่อาหาร คอยไล่กินมนุษย์แทน ซึ่งนั่นเป็นส่วนที่เติมความเกินจริงให้พล็อตของหนัง (และการ์ตูนต้นฉบับ) ให้สนุกน่าติดตาม
แม้ในชีวิตจริงปรสิตอาจจะยังไม่สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตได้กลายพันธุ์จนมีปากกว้างและเขี้ยวที่แหลมคมถึงขนาดงับคอมนุษย์ให้ขาดออกจากกันได้ และปรสิตอย่างพยาธิพันธุ์ต่างๆ ก็ดูจะไม่เป็นภัยร้ายแรงกับผู้คนมากนัก แต่เราก็ยังมีปรสิตหลายๆ ชนิดที่ก่อโรคให้กับมนุษย์ได้อย่างไข้มาลาเรียก็เกิดจากปรสิตในตระกูลพลาสโมเดียมที่อาศัยอยู่ในยุงก้นปล่อง หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบาก็มาจากปรสิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่ค่อนข้างนิ่ง การที่เราได้เห็นภาพปรสิตไล่ฆ่าคนอย่างขัดเจนในหนังก็ทำให้เราได้ตระหนักแล้วกลับมาย้อนสำรวจว่ายังมีปรสิตอีกมากที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเราใช้ชีวิตปลอดภัยจากปรสิตเหล่านั้นแล้วหรือยัง
โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะในหนังหรือในชีวิตจริง กุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณรอดพ้นจากโรคร้ายที่อยู่รอบตัวก็คือการมีสติในการเสพข่าวสาร และดูแลตัวเองกับคนใกล้ชิดอยู่ตลอด
อ้างอิงข้อมูลจาก
E-Magazine ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาปรสิตวิทยา
ข่าวสาร – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรมสุขภาพ ฮ่องกง (เนื้อหาเป็นภาษาไทย)