กฎหมายเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราตลอดตั้งแต่เดินออกจากบ้าน การมีกฎข้อบังคับทำให้เราได้รู้ถึงขอบเขตที่ควรกระทำ ซึ่งตัวกฎหมายเองก็ควรมีการกำหนดลงบทโทษผู้ที่ละเมิดกรอบนั้นอย่างสมควร ไม่เกินเลยจนถึงระดับที่เกิดการล้างแค้นเอาคืนอย่างที่ไม่มีสิ้นสุด
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องของกฎหมายนั้นมีความน่าเบื่อเจือปนอยู่ไม่น้อย ด้วยความที่ข้อกฎหมายต่างๆ มักจะยืดยาว แถมยังมีการออกข้อบังคับเพิ่มเติมยิบย่อยเต็มไปหมด ครั้นจะไปเปิดรายการที่มีนักกฎหมายมาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ฟัง หลายรายการก็อาจจะมีอรรถรสราบเรียบไปสักหน่อย หลายครั้งก็ถึงกับเอาคนที่ประสบปัญหามาเล่าเรื่องของตัวเองประกอบ ซึ่งบางทีก็ดราม่าน้ำท่วมทุ่งจนเกินไป—ใช่ว่าทุกคนจะสะดวกไล่อ่านรัฐธรรมนูญทั้งเล่มเพื่อไขข้องใจ
ดังนั้นซีรีส์แนวกฎหมาย หรือ Legal Drama จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากรู้เรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะในฟากฝั่งการสอบสวนคดีในขั้นศาลที่เราคงไม่ได้มีโอกาสหรือมีเวลาไปร่วมนั่งรับฟังคำตัดสินที่ศาลด้วยตนเอง และด้วยเหตุที่ว่าซีรีส์ในบ้านเรายังไม่ค่อยมีเรื่องราวเหล่านี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเชิงเรตติ้งหรือติดข้อสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายก็ตาม The MATTER จึงขอนำเสนอซีรีส์ต่างชาติที่เล่าเรื่องได้อย่างสนุก ควรจะไปเสียเวลา binge-watch กันยาวๆ
จริงอยู่สถานการณ์ในหลายเรื่องมักถูกเซ็ตให้จบลงแบบสวยๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราต้องย้อนนึกว่า กฎหมายในประเทศต่างๆ นั้น ได้ถูกใช้งานอย่างสมกับที่ควรแล้วหรือยัง
The Practice
ซีรีส์ที่หลายๆ คน หลายๆ ชาติบอกว่า เป็นซีรีส์ที่ฉายให้เห็นการว่าความในศาลได้จริงจังมากที่สุดซีรีส์หนึ่ง The Practice เล่าเรื่องราวของสำนักงานกฎหมายขนาดเล็ก เป็นสถานที่รวมตัวกันของนักกฎหมายที่มีความฝันจะต่อสู้เพื่อลูกความที่บริสุทธิ์แต่ไร้อำนาจ กระนั้นความจริงก็เข้ามากกระตุกให้พวกเขารู้ว่า ลูกค้าที่ทำเงินให้กับสำนักงานของพวกเขาคือกลุ่มคนที่ทำงานสุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายเสียมากกว่า ทำให้ทนายที่เคยมีความฝันต้องก้มหน้ารับความจริงและรับจ็อบจากลูกค้าที่ดูยังไงก็ผิด แถมยังต้องใช้หัวงัดแผนการในชั้นศาลเพื่อพลิกคดีให้พวกเขาชนะไม่งั้นจะไม่มีเงินเลี้ยงปากท้อง แต่ในซีรีส์ก็แสดงให้เห็นหลายครั้งว่ากลุ่มทนายตัวเอกก็ยังอยากทำตัวให้สมกับที่เคยฝันไว้ด้วยการทำคดีช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์จริงๆ บ้าง แต่ในหลายๆ ทีการตัดสินคดีก็ไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งนั่นทำให้ซีรีส์ดูมีความลุ่มลึกไปอีก และถึงเรื่องราวจะดูเครียดแต่ก็มีโมเมนท์ติดตลกกับช่วงลุ้นรักให้ติดตามด้วย
นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าสนใจแล้ว การแสดงของนักแสดงในเรื่องก็ดูน่าเชื่อถือ และสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้เป็นชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่ง การพูดออกเสียงของนักแสดงก็ชัดแจ้งจนใช้ฝึกฝนการฟังภาษาอังกฤษได้อย่างดี น่าเสียดายที่ช่วงท้ายๆ ของซีรีส์ถูกทางสถานีโทรทัศน์แทรกแซงมากเกินไปจนเนื้อหาในช่วงส่งท้ายดูขัดอกขัดใจคนดูไปพอสมควร แต่ความดีงามในช่วงต้นก็ทำให้คนดูหลายคนเข้าใจโลกของคนทำงานสำนักงานกฎหมายมากขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายท่านได้มาทำงานในสายงานนี้อีกด้วย
Boston Legal
จริงๆ แล้วซีรีส์นี้ถือว่าเป็นกึ่งๆ ภาคต่อของ The Practice เพราะตัวเอกของฝั่ง Boston Legal เคยปรากฎตัวในซีซั่นสุดท้ายของ The Practice แต่ไม่จำเป็นต้องดูเรื่องแรกก็สามารถสนุกกับเรื่องนี้ได้ เพราะซีรีส์นี้โยกย้ายมาเล่าเรื่องความวุ่นวายของการทำงานในสำนักงานทนายระดับนานาชาติที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาหลากความคิดมาทำงานด้วยกัน คดีที่เข้ามาก็ชวนปวดกบาล แถมยังมีความสัมพันธ์แปลกๆ ของพนักงานในออฟฟิศที่อาจจะปวดประสาทมากกว่าคดีความเสียอีก
ถึงจะเล่าเรื่องแบบติดตลกแบบมีสีสันมากกว่า The Practice แต่เรื่องเสวนากฎหมายทั้งนอกและในศาลก็ยังจริงจังอยู่ แค่ข้ามผ่านจากคดีอาชญากรรมมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนมากขึ้น รวมถึงว่านโยบายของสำนักงานกฎหมายในท้องเรื่องก็เปิดโอกาสให้ตัวเอกอย่าง อลัน ชอร์ ใช้ลูกล่อลูกชนทั้งแบบภายในกรอบหรือการเล่นตุกติกออกนอกกรอบมากกว่าที่เขาเคยทำในสำนักงานเก่าเสียอีก (และพูดเร็วกว่าเดิมด้วย)
การที่ The Practice และ Bostan Legal ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ออกมาต่อเนื่องกันได้รับการจดจำจากผู้ชมทั้งสองซีรีส์ ก็ต้องยกเครดิตให้กับผู้สร้างอย่าง เดวิด อี. เคลลี ที่เคยเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย ทั้งยังเป็นคนเขียนบทของ L.A. Law ซีรีส์แนวกฎหมายที่ออกฉายเมื่อช่วงปี 1986-1994 แถมยังเป็นผู้สร้าง Ally McBeal ซึ่งเกี่ยวกับทนายความเช่นกันแต่เน้นอรรถรรสเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และซีรีส์อื่นๆ อีกหลายต่อหลายเรื่อง แถมเขายังทำให้ซีรีส์ทนายที่เขาสร้างนั้นเกี่ยวข้องกันแบบหลวมๆ จนเกือบจะนับได้ว่าอยู่ในจักรวาลเดียวกันด้วย ซึ่งถ้าเขาสร้างซีรีส์เหล่านี้ในยุคนี้ เราอาจจะได้เห็นมหาทีมทนายถล่มศาลก็ได้นะ
Law & Order
ถ้าพูดถึงซีรีส์ที่ถกกันเรื่องกฎหมาย Law & Order น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องหนึ่ง เพราะตัวคอนเซ็ปต์ของซีรีส์หลักคือการแสดงให้เห็นการทำงานของระบบยุติธรรมในอเมริกา ด้วยการเซ็ตเรื่องให้ตำรวจกับอัยการนิวยอร์กมาแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานในการไขคดีร้ายแรงตั้งแต่การสืบสวน ขั้นตอนสอบพยาน ไปจนถึงตอนตัดสินคดีในชั้นศาล แถมตัวเรื่องราวในซีรีส์หลักนั้นก็เอาข่าวดังที่เกิดขึ้นในสังคมมาเล่าให้เป็นแบบละครจนทำให้หลายคนอินและเข้าใจเรื่องราวได้โดยง่าย
Law & Order ออกฉายครั้งแรกในปี 1990 ก่อนที่จะอวสานไปในช่วงปี 2010 ถือว่าเป็นทีวีซีรีส์คนแสดงแนวอาชญากรรมที่ออกฉายยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่ง ในช่วงเวลาการฉายตลอด 20 ปี นั้น ซีรีส์ได้ถูกสร้างภาคแยกย่อยไปอีกหลายภาคตามรูปแบคดีที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อาทิ Law & Order: Special Victims Unit ที่โฟกัสคดีทำร้ายทางเพศกับคดีเกี่ยวกับเด็ก คนชรา และผู้หญิง โดยเล่าเรื่องในชั้นศาลน้อยกว่าภาคหลักเล็กน้อย Law & Order: Criminal Intent โฟกัสไปที่การไขคดีใหญ่ที่สื่อให้ความสนใจอย่างคดีปล้นทรัพย์สินมูลค่าสูง คดีลักพาตัว หรือคดีไฮแจ็คต่างๆ Law & Order: Trial by Jury ที่จะโฟกัสเรื่องราวในศาลลึกลงไปจากซีรีส์หลัก Law & Order: LA ที่โยกย้ายไปพูดถึงกลุ่มตำรวจกับอัยการในเมืองลอสแอนเจลิส Law & Order True Crime ที่ปรับเอาคดีจริงๆ มาเล่าในไสตล์ซีรีส์หลัก และ Law & Order: Hate Crimes ที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงเดือนกันยายนปี 2018 ซึ่งตั้งใจจะเจาะลึกเข้าไปในคดีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime)
แม้ว่า Law & Order จะโดนแซะอยู่บ้างว่าเป็นซีรีส์ที่ตัวละครค่อนข้างจะไร้มิติ ตัวละครทุกตัวโฟกัสกับการทำงาน ไม่ค่อยนำเสนอมุมอื่นของชีวิตให้เราเห็น และมีความขาวจัดดำจัดแรงอยู่ไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกันก็ยากที่จะปฏิเสธว่าถ้าไม่มีซีรีส์ชุดนี้เตะนำประเด็นการบังคับใช้กฎหมายหรือเทรนด์บางอย่าง อาทิประเด็นเรื่องอาชญากรรมทางเพศ หัวข้อเหล่านี้ก็คงไม่กลายเป็นเรื่องที่เอามาเล่าให้ชัดเจนในสื่อต่างๆ และข้อเสียหลายประการที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้า อย่างการที่โดนติงว่าเป็นซีรีส์ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชายผิวขาวมากเกินไปก็นำให้ซีรีส์เดินทางไปยังทิศทางใหม่หรือเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่ต้องการนำเสนอมุมมองอื่นของกฎหมายที่เรื่องนี้อาจจะยังไม่ได้เล่า
ในปัจจุบันซีรีส์ Law & Order ที่ยังออกอากาศอยู่ก็คือ Law & Order: Special Victims Unit ที่กำลังจะฉายฤดูกาลที่ 20 ในช่วงปลายเดือนกันยายน ปี 2018 ส่วนภาคใหม่สุดอย่าง Law & Order: Hate Crimes ก็มีกำหนดให้ตัวเอกของภาคแยกภาคนี้มาร่วมแสดงในฤดูกาลที่ 20 ของ Special Victims Units ด้วย
Legal High
ซีรีส์จากญี่ปุ่นที่ออกฉายในช่วงปี 2012-2013 และมีตอนพิเศษอีกสองตอน เรื่องนี้เล่ามุมของทนายแบบเซอร์เรียลด้วยการดีไซน์ตัวละครเอก โคมิคาโดะ เคนสุเกะ ออกมาให้เป็น คนงกเงินสุดๆ ดูเห็นแก่ตัว กวนบาทา หน้าตายียวน กระนั้นสิ่งที่ชัดเจนก็คือเขามีความชำนาญในเรื่องกฎหมาย ละเอียดละออในการสังเกตเรื่องราวที่ดูผิดปกติ และความฉลาดที่หาจับตัวได้ยาก จนไม่แปลกที่จะมีคนจะหมั่นไส้จากการที่คนแบบนี้สามารถสอบผ่านรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความด้วยการเข้าสอบเพียงครั้งเดียว และก็มีเหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้เขาต้องจ้างทนายสาวผู้ตรงไปตรงมาและอยากช่วยทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามมาร่วมงานเป็นผู้ช่วยของเขา
ถึงตัวซีรีส์จะเล่าเรื่องแบบสุดโต่งเกินจริงทั้งในฝั่งทนายและลูกความ หรือแม้แต่ตัวคดีบางทีก็โม้สะบัดอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อถึงช่วงสอบสวนในชั้นศาล ตัวเรื่องก็จับต้องอยู่บนความจริงอยู่ในระดับหนึ่ง แถมหลายๆ ทีตัวละครสุดโต่งอย่างโคมิคาโดะก็ถกเรื่องที่น่าสนใจออกมา อย่างการที่เขาย้ำเตือนให้คู่หูของเขาระลึกว่าทนายไม่ใช่คนที่รู้ความจริงของโลกใบนี้ทุกสิ่งอัน พวกเขายังเป็นแค่มนุษย์ที่ต้องตัดสินคดีตามข้อมูลและหลักฐานที่มีอยู่เท่านั้น หรือกรณีที่คนดูหลายคนจดจำได้ก็เป็นการพูดถึงกระแสของมวลชนที่มักจะมีรีแอ็กชั่นกับการตัดสินคดีที่จำเลยหรือโจทก์ที่ดูแล้วน่าจะผิดจริง จนเกิดภาวะพิพากษาจากสังคมโดยไม่สนข้อเท็จจริงใดๆ ขึ้นมา
และถึงจะมีการตบหน้าคนดูด้วยคำพูดจากปากคนยียวนกวนบาทา ในทางกลับกันในเรื่องนี้ก็ยังยอมรับวิถีการทำงานของทนายแต่ละคนที่อาจจะมีจุดยืนต่างกันอยู่ด้วย ข้อดีอีกประการของเรื่องนี้ก็คือการที่มีความตลกสูงแฝงอยู่ในเรื่อง ต่อให้คนดูไม่อินกับคดีมากนัก ก็ยังเฮฮาปาจิงโกะได้กับตัวละครในเรื่องที่ยิงรีแอ็กชั่นเหนือจริงอยู่ทั้งเรื่องนี่ล่ะ
How to Get Away with Murder
How to Get Away with Murder เล่าเรื่องของ แอนนาลีส คีตติง ทนายจำเลยฝีมือฉกาจที่รับงานเสริมเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเจ้าหล่อนจะหยิบเอานักเรียนกฎหมายในคลาสที่มือดีที่สุดมาทำงานในฐานะเด็กฝึกงานของเธอ โดยให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นแข่งขันกันสร้างผลงาน ไม่ใช่แค่เพื่อรับคะแนนสอบ แต่เพื่อรับโอกาสทองในการได้ตำแหน่งงานในสำนักงานทนายของอาจารย์ด้วย พวกเขาจึงต้องเกี่ยวข้องกับคดีมากมาย ตั้งแต่การปกป้องคนรวยที่จ่ายเงินให้ทนายมือดีช่วยเพื่อพ้นผิดจากคดีที่ฟ้องร้อง ไปถึงการเกี่ยวข้องกับคดีที่กระทบถึงผลประโยชน์ของสถานบันต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้ก่อคดีฆาตกรรมขึ้นมาและพวกเขาต้องใช้ทุกกลเม็ดในการอำพรางคดีแล้วเอาตัวรอดให้ได้
บางคราวคนเราก็เหมารวมไปเองว่า เมื่อคนเราสวมบทบาทอาชีพที่มีความสำคัญในระบบสังคม คนเหล่านั้นจะมีเพียงมุมขาวสะอาด ใช้ชีวิตอย่างมั่นคง มีจิตใจแข็งแกร่ง ผู้คนเชื่อมั่นนับหน้าถือตา ซีรีส์จากฝั่งอเมริกาเรื่องนี้ได้กรองเอาเอาสิ่งเหล่านั้นออกไป อีกทั้งยังไม่ค่อยพูดถึงข้อกฎหมายหรือหลักนิติธรรมใดๆ เพราะตัวซีรีส์ประกาศกฎเกณฑ์ของตนตั้งแต่ตอนแรกว่าจะมุ่งเน้นถึงภาคปฏิบัติในการเอาชนะคดีเป็นหลัก ต่อให้ต้องใช้ลูกเล่นตุกติกในการสอบพยานบนศาล หรือต่อให้ต้องสละความสุขของตัวเองออกไปก็ตาม ด้วยความที่ตัวซีรีส์ผสมสไตล์การเล่าเรื่องที่มีการแย้มเนื้อหาในอนาคตสลับกับเรื่องราวในเวลาปัจจุบันจึงทำให้คนดูรู้สึกนั่งหลังไม่ติดเบาะ และลูกเล่นการใช้กฎหมายในเรื่องก็ทำให้เราได้เห็นทั้งความตรงไปตรงมาของตัวบทกฎหมายและจุดโหว่ที่พร้อมจะให้คนที่มีไหวพริบมากพอหยิบมาใช้ประโยชน์จากจุดนั้นได้
แม้ว่าในซีรีส์ชุดหลังๆ เนื้อเรื่องจะบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของกลุ่มตัวละครหลักมากขึ้นจนห่างเหินจากฟากฝั่งศาลไปบ้าง แต่พอลองเทียบกับข่าวสารที่เราเห็นเกี่ยวกับทนายในโลกจริง เผลอๆ ซีรีส์นี้อาจจะเล่าความยากลำบากของอาชีพทนายที่บางคนเคยบอกว่าเป็นอาชีพที่จริงๆ แล้วเอาเท้าข้างหนึ่งก้าวเข้าไปในคุกตลอดเวลาได้ตรงกว่าที่เราเคยคิด
Whisper
ซีรีส์เกาหลีที่ออกฉายในปี 2017 เรื่องนี้นอกจากจะได้คู่พระนางที่หลายคนชื่นชอบมารับบทนำแล้ว ความสนุกอีกอย่างก็คือการเล่นเกมหักเหลี่ยมเฉือนคม ทั้งในส่วนของเกมกฎหมายและเกมชีวิตที่สามารถพรากเวลานอนของคนดูหลายคนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
เนื้อเรื่องเริ่มต้นที่พ่อของชินยองจูถูกใส่ร้ายในคดีฆาตกรรมนักข่าวรายหนึ่ง เธอที่เป็นตำรวจสืบสวนพยายามตามหาความจริงจนทราบว่าการฆาตกรรมนั้นเกิดขึ้นโดยมีความเกี่ยวข้องกับสำนักงานกฎหมายเทแบ็ก และเธอก็สามารถหาหลักฐานที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพ่อเธอได้ ทว่าผู้ตัดสินในคดีของเธอนั้นกลับต้องบิดเบือนการตัดสินเนื่องจากถูกกดดันจากผู้มีอำนาจ และเหตุนี้เองก็ทำให้เส้นทางการทำลายการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้น
หากเทียบกับซีรีส์เรื่องอื่นที่เอามาแนะนำกัน เรื่องราวในชั้นศาลอาจจะมีปริมาตรน้อยกว่าเพราะมีการบอกเล่าเรื่องอื่นระหว่างทางอยู่มาก แต่ทุกครั้งที่มีการเล่าเรื่องราวในชั้นศาล เนื้อเรื่องก็พยายามพูดคุยเรื่องกฎหมายทั้งในฝั่งที่ดีและไม่ดีอย่างชัดเจน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในองก์สุดท้ายของเรื่องนั้นก็เป็นการบ่งบอกได้ดีว่า ไม่มีใครควรทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรที่หากินอยู่กับกฎหมายอย่างใกล้ชิดอย่างกลุ่มตำรวจ ทนาย อัยการ และผู้พิพากษาที่ควรจะใช้กฎข้อบังคับเหล่านี้ให้ถูกต้องมากกว่าใคร
อ้างอิงข้อมูลจาก