การนิรโทษกรรม อาจเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบของการ ‘ยกเลิก หรือชำระล้างความผิด’ ขั้นสูงสุดในทางกฎหมาย เพราะมันคือการใช้อำนาจกฎหมายสั่งให้ “ถือว่าการกระทำอันนับเป็นความผิดนั้นถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”[1] (ตามชื่อของมันเลย คือ การ ‘นิร-’ กรรมอันเป็นโทษ) ถ้าพูดอีกแบบก็คือ มันคือกฎหมายที่ทำการ ‘ลบอดีต’ นั่นเอง ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งว่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นเสมือนม้วนฟิล์มของหนังหรือละคร ที่สามารถ ‘ตัดต่อออกไปได้’
ฉะนั้นกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นขั้นสุดของการยกเลิกความผิด อย่างการอภัยโทษอะไรนั้นก็ไม่อาจจะนับว่าสู้ได้ เพราะการที่จะอภัยโทษได้ ต้องมีการกระทำอันเป็นโทษหรือการกระทำที่ผิดเกิดขึ้นเสียก่อน จึงจะอภัยได้ แต่นิรโทษกรรมนั้นคือ การกระทำอันเป็นโทษไม่เคยเกิดขึ้นเลย ไม่ต้องมาอภัยอะไรกัน
พลังอำนาจทางกฎหมายที่สูงขนาด ‘ลบอดีต’ ได้นี้ แม้ในความเป็นจริงแล้วยากที่จะ ‘ลบสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้’ แต่หลายคนก็คงจะรู้สึกว่า ‘ช่างมันปะไร’ เพราะอย่างไรเสียความสามารถในการลืม ก็เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนอยู่แล้ว ความจริงที่เกิดขึ้นเดี๋ยวมันก็ถูกลืมไปด้วยตามกาลเวลา โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่หลายครั้งความทรงจำและการหลงลืมดูจะเหมือนเล่นตลก คนที่เราก่นด่า วิจารณ์ หรือนินทาลับหลังอยู่บ่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปความทรงจำก็อาจจะอนุญาตให้เราเชิดชู บูชา หรือเชียร์อย่างสุดใจได้ ฉะนั้นอย่างน้อยได้เริ่มจากการที่ความผิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในทางกฎหมาย ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องการของผู้ต้องคำกล่าวหาหรือต้องความผิดแทบจะโดยตลอด
อย่างไรก็ดี แม้การนิรโทษกรรมจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในระดับลบการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ชุดหนึ่งๆ ในอดีตได้ในทางกฎหมาย การนิรโทษกรรม หรือ Amnesty โดยตัวมันเองนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอะไร มันมีการใช้งานกฎหมายนิรโทษกรรมในทางสากลแทบจะทั่วโลก ผมเลยคิดว่า เราน่าจะลองมาดูการใช้งานกฎหมายนิรโทษกรรมในทางสากล เทียบกับการใช้งานในประเทศไทยดูกันบ้าง
ก่อนอื่น ว่ากันตามรากศัพท์แล้ว คำว่า ‘นิรโทษกรรม’ หรือ Amnesty นั้น มาจากคำกรีกโบราณคือ amnestia ซึ่งแปลว่า ‘การลืม (โดยมีเซนส์ของความตั้งใจจะลืมอยู่ด้วย) หรือ การก้าวผ่านเรื่องนั้นๆ ไป’ (ที่ภาษาอังกฤษมีการนำมาใช้เป็นคำว่า Amnesia ที่แปลว่า ความจำเสื่อม หรืออาการสูญเสียความทรงจำ นั่นเอง) ฉะนั้นโดยตัวคอนเซ็ปต์มันตั้งแต่แรกเริ่มเอง เราอาจจะพอพูดได้ว่า มันต้องการเข้าไปทำงานกับ ‘ความสามารถในการระลึกถึงหรือจำได้’ (remembrance) ของคนในสังคมนั่นเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเข้าใจที่ว่า ‘อดีตสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนความทรงจำหรือวิธีการจำ’ นั้น ไม่ใช่อะไรที่ใหม่ในทางการเมือง แต่รู้กันมาตั้งแต่กรีกโบราณโน่นแล้ว
การนิรโทษกรรมครั้งแรกที่มีบันทึกไว้ในโลกตะวันตก เกิดขึ้นเมื่อราวๆ 403 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากเกิดสงคราม Peloponnesian ระหว่างเอเธนส์กับสปาตาร์ และสปาร์ตาเป็นฝ่ายได้ชัยไปในที่สุด ในระหว่างนั้นสปาตาร์ได้แต่งตั้งกลุ่มผู้นำเผด็จการทั้งสิ้น 30 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Thirty Tyrannies ให้ปกครองเอเธนส์ตามวิถีแบบจารีตดั้งเดิมจนกว่ากฎหมายใหม่จะถูกตราขึ้น การปกครองภายใต้ผู้นำเผด็จการทั้ง 30 คนนั้น นำมาซึ่งการต่อต้านและสงครามภายในของเอเธนส์ สุดท้าย Thrasybulus แม่ทัพที่เป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย (ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน) ได้รับชัย และเพื่อให้ประเทศสามารถเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยได้อีกครั้ง โดยยุติจากสงครามภายใน จึงได้มีการนิรโทษกรรม หรือ การปฏิญาณว่าจะไม่ล้างแค้นหรือรื้อฟื้นความทรงจำของความผิดในอดีตขึ้นมาอีก (mê mnêsikakein) และการฟื้นคืนประชาธิปไตยในกรีก (โบราณ) ก็ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง[2]
การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมต่อๆ มาในโลกตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปนั้น ก็มักจะถูกใช้กับคดีทางการเมือง และมีการใช้อย่างตรงกับการใช้เริ่มแรกบ้าง หรือลุ่มๆ ดอนๆ บ้าง ตามยุคสมัยแห่งการปกครอง แต่โดยหลักแล้วการนิรโทษกรรมนั้น เน้นไปที่การ ‘นิรโทษประชาชน’ ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะกลไกของอำนาจทางการเมือง ไม่ได้มุ่งให้นิรโทษต่อ ‘ตัวการหลัก’ ของการกระทำความผิดนั้น
อย่างการนิรโทษกรรมในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองแห่งอังกฤษ ที่นิรโทษความผิดให้แทบทุกคน ยกเว้นคนที่ประหารพระบิดาของพระองค์, ในวันที่ 27 เมษายน 1802 นโปเลียนได้ออก Decree on Émigrés ซึ่งนิรโทษกรรม (บางส่วน) ให้กับประชาชนฝรั่งเศสราว เข้าร่วมกับกองทัพอื่นที่ต่อสู้กับกองทัพของฝรั่งเศสเอง (เช่น คนที่ลี้ภัยจากฝรั่งเศสไปอยู่ในรัฐอื่น แล้วเข้าร่วมกองทัพของรัฐนั้นสู้กับฝรั่งเศส เป็นต้น) ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมไป[3] ฯลฯ
การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้ คือ เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะความรุนแรงและสงครามกับประชาชนก็เกิดขึ้นให้เห็นได้โดยปกติ ผมคิดว่าข้อสังเกตสำคัญในการใช้งานของกฎหมายนิรโทษกรรมในตะวันตกนั้นก็คือ มันเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นไปที่การลบเลือนความผิดที่มีต่อประชาชน ในฐานะ ‘กลไกที่ถูกอำนาจทางการเมือง ณ เวลานั้นๆ ครอบงำหรือผลักดันอยู่’ ไม่ได้มีเป้าหมายหลักที่ตัวการหลัก หรือคนที่ใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงในการขับเคลื่อนประชาชน ‘ในฐานะกลไก’ ของตน ว่าง่ายๆ ก็คือ คนที่รับผิดชอบต่อการกระทำผิดก็ยังต้องมีอยู่ แต่ถือเอาเฉพาะตัวการหลักที่เป็นผู้นำสำคัญ และอีกประการก็คือ โดยทั่วๆ ไปแล้วการนิรโทษกรรมมักจะเกิดจากการที่ฝ่ายซึ่งตกเป็นผู้สูญเสีย หรือตัวแทนผู้สูญเสียเป็นฝ่ายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด ผ่านอำนาจสูงสุดทางการเมืองนั้นๆ เช่น กษัตริย์, รัฐสภา หรือประธานาธิบดี (ขอเน้นว่า ใช้คำว่า ‘โดยทั่วไป’ ไม่ใช่ว่าทุกกรณีจะต้องเป็นแบบนี้)
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สุดท้ายแล้วเป้าหมายหลักของการนิรโทษกรรม ก็ตามที่ได้ว่าไว้แล้วตั้งแต่การใช้ครั้งแรก คือ มันมุ่งเน้นเพื่อให้การแก้ไขจัดการกับความขัดแย้งผ่านพ้นไปได้ พูดอีกอย่างก็คือ ฐานคิดของการนิรโทษกรรมคือ การเน้นการดึงให้คนกลับมาปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกัน มากกว่าการมุ่งเน้นการลงโทษ แต่ไม่ได้แปลว่าจะปราศจากผู้รับผิดชอบต่อความผิดโดยสิ้นเชิง
ในหลายๆ ครั้ง เราจะพบได้ว่า ‘ผู้นำ’ ก็ยังคงได้รับโทษตามปกติ อย่างกรณีของโฮโลคอสต์ โดยนาซีในเยอรมนี หรือกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดงที่เกิดขึ้นนั้น ‘ประชาชน’ ที่เป็นกลไกของอำนาจทางการเมือง และเคลื่อนไหวตามคำสั่งนั้นก็ไม่ต้องได้รับโทษ แต่ตัวผู้นำที่อยู่ในระดับการสั่งการก็รับผิดชอบต่อไป
สรุปแล้ว การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมโดยทั่วไปในโลกตะวันตกนั้นเกิดในคดีทางการเมือง หรือความรุนแรงในสเกลค่อนข้างใหญ่เป็นหลัก โดยการ ‘การใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อเปลี่ยนความเป็นไปของอดีต’ นี้ เน้นไปที่ตัวประชาชน เพื่อให้สังคมโดยรวมสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ในขณะที่ตัวผู้นำระดับสั่งการ มักจะต้องรับโทษตามกระบวนการ เพื่อให้ระบบยุติธรรมภายในรัฐยังคงอยู่ต่อไปได้
แล้วกรณีประเทศไทยเล่า?
ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายนิรโทษกรรม อย่างน้อยที่สุด 24 ครั้ง โดยอาจจะพอแบ่งได้โดยสังเขปดังนี้
- การนิรโทษกรรมตนเอง ของผู้นำเผด็จการ
- การนิรโทษกรรมตนเอง เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
- การนิรโทษกรรมผู้อื่น (ประชาชน หรือฝ่ายต่อต้าน) ของผู้นำเผด็จการ
- การนิรโทษกรรมผู้อื่น (ประชาชน หรือฝ่ายต่อต้าน) ของผู้นำในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อลองจัดหมวดหมู่ดังว่าดูแล้ว ผมคิดว่าเราจะได้เห็นการใช้งานของกฎหมายนิรโทษกรรมของประเทศไทยที่น่าสนใจทีเดียว ลองดูกันครับ
ข้อมูลจาก ilaw[4] และราชกิจจานุเบกษา
จะสังเกตเห็นได้ว่า ผมมีทำตัวเลขปี พ.ศ. ที่เป็น ‘สีแดง’ อยู่ด้วย สีแดงนั้นคือปีที่สามารถจะพูดได้เต็มปากเต็มคำจริงๆ ว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับ ‘ประชาชน’ ในขณะที่การนิรโทษกรรมให้กับผู้อื่น ในกรณีอื่นๆ นั้น โดยหลักแล้วเป็นการนิรโทษกรรมให้กับศัตรูทางการเมืองที่มุ่งจะล้มอำนาจทางการเมืองของตนเป็นสำคัญ
เมื่อเรานำข้อมูลมาจัดเรียงแล้ว มีอะไรให้พูดถึงได้หลายประการทีเดียว แต่ที่ผมอยากชี้ให้เห็นในจุดแรกก็คือ เราจะเห็นว่าการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนนั้นโดยมากเกิดในข้อที่ 3 หรือ ‘การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนโดยผู้นำเผด็จการ’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะเยินยออะไรนะครับ เราต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ประชาชนที่ได้รับการนิรโทษกรรม’ เหล่านั้น คือ ประชาชนที่ ‘ต้านรัฐบาลเผด็จการ’ อย่างผู้ชุมนุมทางการเมืองในครั้ง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้น นั่นแปลว่าสิ่งที่พวกเขากระทำผิดนั้นคือ ‘ผิดกฎหมายของรัฐบาลเผด็จการ’ และโดนจับไปลงโทษทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมแต่ต้น ฉะนั้นพวกเขาจึงได้รับการนิรโทษกรรม จากความผิดฐาน ‘ขัดขืนเผด็จการ’ ซึ่งไม่ควรนับเป็นความผิดใดๆ ได้เลยในทางสากล หากจะเป็นอะไรสักอย่าง มันควรเป็น ‘คำชม’ ส่วนในครั้งปี พ.ศ. 2489 นั้น คือ ครั้งที่ อ.ปรีดี นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ร่วมกันต้านกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (เพราะก่อนหน้านั้นการต่อต้านญี่ปุ่นที่บุกไทยถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย)
สรุปว่าในประเทศไทยนั้น การนิรโทษกรรมที่นิรโทษกรรมให้กับ ‘ประชาชน’ จริงๆ นั้น (อันถือเป็นกรณี ‘โดยทั่วไป’ ของโลก) เกิดขึ้นเพียง 5 ครั้ง จาก 24 ครั้ง หรือประมาณ 20.83% ในขณะที่การนิรโทษกรรมให้กับตัวเองนั้น ล่อไปถึง 13 ครั้ง (เผด็จการ 11 ครั้ง ฝ่าย ปชต. 2 ครั้ง) หรือประมาณ 54.16% ฉะนั้น ผมคิดว่ามันไม่ผิดแน่นอนที่จะพูดว่าการนิรโทษกรรม ‘โดยทั่วไป’ ของไทยนั้น คือ การนิรโทษกรรมให้คนกันเอง และ 11 ครั้งใน 13 ครั้งคือ เผด็จการนิรโทษกรรมให้ตัวเอง (นั่นนับเป็น 84.615% เลยทีเดียว) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมการนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 ถึงขั้น ‘ป้องกันความผิดในอนาคต’ ด้วยนั้น กลายเป็น “ความไม่ปกติ ความไม่สากลของการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมของไทย ที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ” ไป
ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าแปลกประหลาดที่คนในสังคมจำนวนมาก ทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง กปปส. และเสื้อแดงจำนวนมากคัดค้านความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2556 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่ง/นิรโทษกรรมสุดซอย’[5] ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูว่า ‘เราควรจะคัดค้าน’ แต่กลับมีปฏิกิริยาน้อยเหลือเกินจากคนกลุ่มเดียวกันนี้ โดยเฉพาะประชาชนชาว กปปส. ที่อย่าว่าแต่คัดค้านเลย แยแสยังไม่แยแสกับ ‘การนิรโทษกรรมตัวเอง’ ที่เกิดขึ้นแบบไม่เปิดโอกาสให้พวกเขากรีดร้องโหยหวนใดๆ ได้ ทั้งๆ ที่หากเรานับ ‘ความสุดซอย’ แล้ว การนิรโทษกรรมตัวเอง ของ คสช. ที่นิรโทษไปยันอนาคตนั้น ต้องบอกว่า ‘สุดซอย’ กว่ากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับปี 2556 เยอะมากทีเดียว เพราะการนิรโทษกรรมไปยันอนาคตนั้น มันสุดซอยขนาดที่แหกวิธีคิดพื้นฐาน หรือ metaphysics ของ ‘การนิรโทษกรรม’ (ที่เราพูดถึงแต่แรก) เป็นรูเหวอแหวะกันไปเลย
ผมก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมพี่ๆ ที่เค้าเคยไปชุมนุมกัน หายไปไหนหนอ? ผมเลยกลับมาดูซิว่าอะไรคือความแตกต่างสำคัญ ผมคิดว่าหากไม่นับเรื่องพื้นฐานสุดว่า ‘ฝ่ายหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง’ และอีกฝ่าย ‘มาจากการยึดอำนาจ’ แล้ว ผมคิดว่าจุดร่วมสำคัญของผู้นำเผด็จการ ที่ชอบๆ ใช้การนิรโทษกรรมกับตัวเองนั้น ก็คือ “การอ้างความเป็นคนดีของตน ที่จะเข้ามาพาประเทศออกจากวิกฤติ รวมไปถึงการอ้างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหลือล้น” ครับ ไล่มาได้เลยตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ การอ้างความเป็นคนดี เป็นวีรบุรุษและเป็นลูกที่ดีของพ่อนั้น เป็นข้ออ้างหลักที่ถูกใช้และยึดติดกับตัวเสมอมา
ว่าง่ายๆ ก็คือ คำอ้างว่า ‘ตนคือคนดี’ โดยไม่ต้องมีความสามารถอื่นใดอีกมารองรับ นอกเสียจากอาวุธในมือ กลายมาเป็นเงื่อนไขเดียวในการเปลี่ยน “ความไม่ปกติของการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมในทางสากล ให้กลายเป็นความปกติที่ยอมรับกันได้” ไปเสีย ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกดีว่า “คนดีแทบทุกคนนิรโทษกรรมให้ตัวเองหมดเลย ในขณะที่คนเลวผู้มาจากการเลือกตั้งนั้น แทบจะไม่เคยต้องนิรโทษกรรมอะไรเลย” ทั้งนี้ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเพราะความดีความเลว ความชอบธรรมทางอำนาจหรือไม่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น มันมีกลไกการตรวจสอบ และคานอำนาจที่ทำงานอยู่ ฉะนั้นการนิรโทษกรรมตนเอง จึงเป็นเรื่องที่ ‘ไม่ถูกต้องในทางระบอบอย่างสิ้นเชิง’
ตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการ ที่ไม่มีกลไกการตรวจสอบอะไรใดๆ เลย แต่อิงอยู่กับคุณค่าส่วนตัวของปัจเจกที่ถือครองอำนาจทางการเมืองแต่เพียงผู้เดียว ฉะนั้นการสร้างเงื่อนไขหรือคุณสมบัติให้ตนเอง ‘ทำผิดไม่ได้ หรือเป็นคนดีเสมอ’ จึงจำเป็น
พวกเขาเหล่านั้นจึงต้อง ‘นิรโทษกรรมตนเอง’ เพื่อให้ความดีของพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของระบอบและอำนาจการปกครอง เป็นความดี ความไม่ผิดที่แท้ที่กฎหมายรับรอง
เพราะพวกเขาเป็นคนดี พวกเขาจึงนิรโทษกรรมตนเอง นั่นเองครับ…
แหมมมมม คนเลวๆ อย่างผมก็งงมาตั้งนานๆ ว่าทำไมคนดีๆ เค้าชอบนิรโทษกรรมให้ตัวเองกันจัง ที่แท้ก็เป็นอย่างงี้นี่เอง เพื่อจะให้สามารถอยู่ในอำนาจการปกครองโดยไม่มีคุณสมบัติอื่นใดเลยนอกจาก ‘การอ้างตัวว่าเป็นคนดี’ การนิรโทษกรรม เพื่อให้ความดีของตนกลายเป็นกฎหมายจึงจำเป็นนี่เอง
พี่ๆ เค้าคงมองเห็นดังว่า เลยไม่ออกมาประท้วงใดๆ กระมัง พวกพี่ๆ เขาคงเชื่อจริงๆ กระมังว่าผู้นำเผด็จการนั้นเป็นคนดี กฎหมายนิรโทษกรรมที่พวกท่านผู้นำเขาใช้กันก็เป็นเครื่องประกันความดีของพวกท่านผู้นำเขา
คิดได้แล้วก็สบายใจ เออ เพิ่งรู้วันนี้แหละว่าคนดีเค้าชอบใช้ปืนขู่…จะจำไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] อ้างตาม ราชบัณฑิตยสถาน, พ.ศ. 2542 และ Huge Chrisholm, ed., 1911. “Amnesty” in Encyclopedia Britannica 1 (11th ed.). Cambridge, UK: Cambridge University Press, p. 875.
[2] โปรดดู Christopher J. Joyce, 2008. “The Athenian Amnesty and Scrutiny of 403” in The Classical Quarterly (New Series). 58: 2, pp. 507 – 518.
[3] โปรดดู www.napoleon-series.org
[4] โปรดดู ilaw.or.th
[5] โปรดดู wiki.kpi.ac.th