ตำรวจ ถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งในระบบสังคมของประเทศ นั่นเพราะบุคลากรสายงานนี้เป็นหน้าด่านสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎหมายโดยตรง อย่างไรก็ตามเราอาจจะเห็นภาพลักษณ์ตำรวจในบ้านเราจนคุ้นเคย และการนำเสนอผ่านสื่อบันเทิงก็ค่อนข้างมีมุมมองจำกัดด้วยเหตุผลหลายประการ
เพราะฉะนั้นเราเลยโยกย้ายปรับมุมมอง ไปยังยังตำรวจในโลกการ์ตูนโดยเฉพาะจากฝากฝั่งมังงะบ้างว่า พวกเขาทำหน้าที่กันอย่างไรและผู้คนสามารถคาดหวังอะไรบ้างจากตำรวจที่ปรากฏตัวในมังงะเหล่านี้บ้าง
เหล่าตำรวจทั้งมวล จาก Detective Conan
พอนึกภาพตำรวจในโลกการ์ตูน ภาพของตำรวจจำนวนมากจากเรื่อง ยอดนักสิบจิ๋วโคนัน ก็น่าจะลอยขึ้นมาในความทรงจำของผู้อ่านการ์ตูนหลายต่อหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น สารวัตรเมงูเระ, ผู้หมวดทาคางิ, ผู้หมวดซาโต้ หรือสารวัตรชิราโทริ จากฝั่งกรมตำรวจนครบาลโตเกียว ผู้บังคับการฮัตโตริ เฮย์โซ, สารวัตรโอทากิ จาก กรมตำรวจโอซาก้า เป็นอาทิ และถ้านับพนักงานสายตำรวจกลุ่มอื่นๆ ก็ยังมี ฟุรุยะ เรย์ จากสำนักงานตำรวจสันติบาล, อากาอิ ชูอิจิ, โจดี้ สตาร์ลิ่ง, เจมส์ แบล็ค จาก FBI ฯลฯ
ถ้ามองในด้านศักยภาพแล้ว กลุ่มตำรวจใน ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ถือว่าทำงานได้อย่างเด็ดขาด ไล่จับอาชญากรที่ก่อคดีฆาตกรรมได้ทุกวัน อย่างในมังงะ ‘ฮันซาวะ ตัวร้ายสุดโหด’ สปินออฟอย่างเป็นทางการของ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ได้ระบุไว้ว่า อัตราการจับคนร้ายคดีฆาตกรรมอยู่ที่ 100% เลยทีเดียว
ในมังงะภาคนั้นยังได้ชี้จุดด้อยของเหล่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในเรื่องนี้เอาไว้อย่างชวนคิดว่า การที่ตำรวจทุ่มกำลังพลไปจับคนร้ายคดีฆาตกรรม เลยทำให้มีบุคลากรในการทำงานด้านอื่นไม่เพียงพอ หากประชาชนต้องการติดต่อการทำเอกสารอื่นอาจจะต้องรอข้ามคืนเพื่อได้รับการบริการเลยทีเดียว
แล้วพอคิดเพิ่มเติมว่า กลุ่มตำรวจที่ปรากฏตัวมาในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่ก็ยังต้องรับฟังคำปรึกษาจากเด็กชายวัยประถมในการไขคดีอยู่เรื่อยๆ ก็พาลนึกต่อไปว่า เด็กชายนั้นเก่งเกินไป หรือตำรวจในเรื่องมีฝีมือไม่มากพอกันแน่นะ
ป.ล. ตำรวจจากจักรวาล ‘คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา’ ก็อาจจะประสบปัญหาคล้ายๆ กัน แต่ในเนื้อเรื่อง คินดะอิจิ 37 กับคดีฆาตกรรมปริศนา ก็ทำให้เห็นว่า ในช่วง 20 ปี ที่คินดะอิจิไม่ได้สืบคดี ตำรวจก็ยังปิดจ็อบคดีฆาตกรรมได้อยู่ แสดงว่าหน่วยงานมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าพอตัวเลยทีเดียวเชียว
กองสืบสวนญี่ปุ่น จาก Death Note
การ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่ตำรวจมีบทบาทโดดเด่นที่เราคิดถึงก็คือเรื่อง Death Note นั่นเอง เพราะนอกจากที่พวกเขาจะต้องรับมือกับคดีทั่วๆ ไปแล้ว จู่ๆ พวกเขาก็ต้องมารับมือกับ ‘คิระ’ ฆาตกรลึกลับที่สังหารคนได้แม้จะไม่แต่ต้องตัวเหยื่อเลยก็ตามที
และนั่นทำให้มีตำรวจเพียงแค่จำนวนน้อยที่ตัดสินใจเข้าร่วม ‘กองสืบสวนญี่ปุ่น’ ที่รับหน้าที่ตามล่าหา คิระ และพวกเขาก็ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเอาไว้ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คิระก็ยังลอยนวลและประกอบคดีฆาตกรรมลึกลับต่อไป
ไม่ใช่เพราะว่าตำรวจญี่ปุ่นในเรื่องไม่มีฝีมือ หรือไม่มีความยุติธรรมในใจ… แค่บังเอิ๊ญ บังเอิญ ตำรวจญี่ปุ่นดันไม่เคยรู้ว่า ‘ยางามิ ไลท์’ ที่คอยช่วยพวกเขาอยู่เนี่ย จริงๆ แล้วก็คือ คิระที่พวกเขาตามล่าตัวมาตลอดนั่นล่ะครับ
คราวนี้ก็เลยน่าคิดดีว่า บางครั้งบางคราวตำรวจอาจจะไม่ใช่คนที่มีพื้นฐานจิตใจที่แย่ แค่มีคนชี้นำที่แย่ และในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ตั้งใจทำงานก็อาจจะมองข้ามการกระทำของพวกเดียวกันมากจนเกินไปเช่นกัน
แต่ในช่วงท้ายของเรื่องนายตำรวจญี่ปุ่น (รวมถึง Near ผู้สืบทอดของ L) ก็ได้กู้ศักดิ์ศรีให้กลุ่มตัวเองด้วยการวางกับดักให้ ยางามิ ไลท์ หรือ คิระ พลาดท่าโดยสมบูรณ์ แถมตัวละครอย่าง มัตสึดะที่ดูซื่อบื้อมาทั้งเรื่องก็เป็นคนลั่นไกปืนสกัดการหลบหนีของ คิระ ได้อีกต่างหาก ก็ขอให้ตำรวจในเรื่องหลักจากนี้ จะสามารถใช้หลักการแหลมคมในการไขปัญหาต่างๆ ต่อไปนะ!
หน่วยนิติเวชที่ 9 จาก THE TOP SECRET
พอได้โอกาสเสวนาเกี่ยวกับตำรวจในโลกมังงะแล้ว ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พูดถึงผลงานของอาจารย์เรย์โกะ ชิมิสึ (Reiko Shimizu) นักเขียนมังงะแนวโชโจ ที่ถนัดนำเอาแนวคิดไซไฟ มาผสมรวมกับแนวคิดที่ทำให้ผู้อ่านได้คิดตามอยู่บ่อยครั้ง
อย่างในผลงานเรื่อง THE TOP SECRET ผ่าแผนลวง ล่าปริศนา อาจารย์ชิมิซึได้เล่าเรื่องของโลกในปี ค.ศ.2060 ที่มีเทคโนโลยีการสืบสวนคดีด้วยการสแกนความทรงจำจากสมองของผู้ที่เสียชีวิต และในประเทศญี่ปุ่นก็มีหน่วยนิติเวชที่ 9 รับผิดชอบงานในส่วนดังกล่าว
ถึงจะเป็นเทคโนโลยีล้ำยุค ทั้งยังช่วยไขปริศนาคดีลึกลับจำนวนมาก แต่คนในกรมตำรวจกลับมองว่า คนในหน่วยดังกล่าวเป็นตัวประหลาด อาจเพราะหัวหน้าหน่วยเป็นชายหนุ่มรูปงามเหมือนหญิงสาว, ไม่ก็มาจากข่าวที่ว่าคนใกล้ชิดของบุคลากรในแผนกนี้มักจะต้องเกี่ยวพันกับคดีร้ายแรง หรืออาจเพราะการงานของพวกเขาที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับความลับอันแสนเป็นส่วนตัวของผู้คนมากเกินไป
แต่สิ่งที่คนภายนอกหน่วยไม่ค่อยทราบก็คือ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ช่วยแสดงภาพในสมอง แต่ผู้ที่รับทราบข้อมูลเหล่านั้น ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ กันทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ในหน่วยที่ดูเหมือนจะยุ่มย่ามกับภาพด้านมืดของมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นว่าแทบจะทุกคนที่ยังคงทำงานในหน่วยนิติเวชที่ 9 กลับมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์เพิ่มมากขึ้น
หลายครั้งที่ในเรื่องจะนำเสนอให้เห็นว่า ตัวละครในหน่วยเหมือนทำตัวตายด้าน ไม่สนใจต่อคดีประหลาดและการตายแบบพิสดาร แต่ความจริงแล้ว คนในหน่วยกลับมีความเห็นอกเห็นใจผู้คนทั่วไปมากกว่าปกติ และความเข้าถึงจิตใจผู้เสียหายนั่นเอง ที่ทำให้หลายคนในหน่วยนิติเวชที่ 9 โหมทำงานจนเกือบจะเกินเลย
ซึ่งเราก็คิดว่า ไม่ต้องรอให้ถึงปี ค.ศ.2060 ตามมังงะ ก็สามารถมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้คนทั่วไปได้เช่นกัน
วัธทรัพย์ จาก Black Lagoon
เราขอขยับมาเล่าเรื่องตำรวจเป็นรายบุคคลกันบ้าง หลังจากพูดถึงหน่วยงานหลัก หรือหน่วยงานรองของตำรวจที่มีบทบาทโดดเด่นมาหลายหน่วยแล้ว คราวนี้เราขอพูดถึงตำรวจแบบรายบุคคลกันบ้าง กับมังงะเรื่อง Black Lagoon ทื่เล่าเรื่องเหล่าอาชญากรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีฐานที่มั่นอยู่ใน อำเภอรอนาปลา ประเทศไทย
ถ้าไม่คุ้นชื่ออำเภอดังกล่าว ก็ไม่ต้องแปลกใจไปครับ เพราะมันเป็นเมืองสมมติที่ผู้เขียนมังงะสร้างขึ้นมา โดยตัวเมืองดังกล่าวนั้นมีตำแหน่งอยู่ใกล้กับชายแดนกัมพูชาแถมยังติดทะเล เลยทำให้ตัวเมืองเป็นแดนโลกีย์ในช่วงสงครามเวียดนาม ก่อนจะผันตัวมาเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยคนนอกกฎหมาย ไม่ว่าจะ บ่นการพนัน, การค้าอาวุธ, การค้ายา หรือแม้แต่ทหารรับจ้าง
ถึงจะเป็นแดนเถื่อนนอกกฎหมายแต่ก็ยังมีตำรวจปฏิบัติการณ์อยู่ในนั้นบ้างเหมือนกัน สารวัตรวัธทรัพย์ คือตัวแทนของตำรวจในเมืองสมมตินี้ หน้าที่ของเขาก็คือคอยปรามให้เหล่าคนนอกกฎหมายไม่ให้ทำตัวเกินเลยไปบ้าง
แต่ตัวละครตัวอื่นในเรื่องก็กล่าวถึงตำรวจในเมืองนี้ว่า เป็นกลุ่มคนที่รอรับเงินใต้โต๊ะ แถมเจ้าตัวยังบอกว่า ที่ตัวละครหลายตัวมาก่อเรื่องในเมืองนั้น ออกจะเป็นการรบกวนเวลาตีกอล์ฟของตัวเขา แถมพอดูจากพฤติกรรมว่า ตัวละครที่โดนสารวัตรวัธทรัพย์จับตัวไป ก็ไปที่ ส.น. เพื่อทำเอกสารเท่านั้นไม่ได้มีการคุมตัวหรือจับเข้าคุกเป็นพิเศษ
นี่ก็ไม่แน่ใจว่าผู้แต่งสร้างเรื่องจากจินตนาการล้วนๆ หรือเคยไปได้ยินได้เห็นอะไรจนทำให้ตำรวจในเรื่อง ที่แม้จะมีบทเล็กๆ แต่กลับมีบรรยากาศที่คุ้นเคยอย่างบอกไม่ถูก
ดัน ฮิโรกิ จาก Brutal
ขอเท้าความก่อนสักเล็กน้อยว่า ตัวละครตำรวจคนนี้ เดิมทีมีบทบาทในมังงะเรื่อง Trace สุดยอดแฟ้มลับไขคดีของเจ้าหน้าที่นิติเวช แต่ด้วยบุคลิกที่เหมือนจะเป็นตัวร้าย จึงทำให้ตัวละครดังกล่าวถูกพัฒนาให้มีภาคแยกของตัวเอง
เนื้อหาโดยคร่าวของ Brutal ก็จะเล่าเรื่องของ ‘ดัน ฮิโรกิ’ ตำรวจสืบสวน ที่ดูดีทั้งประวัติ ทั้งรูปลักษณ์ แถมเขายังเป็นคนที่ช่างสังเกต จึงทำให้เขามองทะลุถึงใจจริงของหลายคนที่เห็นช่องว่างของกฎหมาย แล้วกระทำการเพื่อสนองความต้องการของตนเอง อย่างไรก็ตาม ดัน ฮิโรกิไม่ได้คิดจะทำการจับกุมเป้าหมายของเขาแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เขาสนใจก็คือการได้เห็น ‘ใบหน้าของคนที่หมดสิ้นซึ่งความหวัง’ ต่างหาก
และแนวทางที่ ดัน ฮิโรกิใช้เพื่อได้เห็นสิ่งที่ต้องการ ก็คือการจับเอาเป้าหมายมาทำการทรมาน ด้วยสิ่งที่เป้าหมายนั้นเคยกระทำการไว้ อย่างเช่น หากเคยทำการฆาตกรรมแล้วตัดแยกส่วนของผู้เคราะห์ร้าย ดัน ก็จะกระทำการแบบนั้นกับเป้าหมาย ประหนึ่งใช้กฎหมาย ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ และสุดท้าย ดัน ก็มีโอกาสได้ทำการถ่ายรูป ‘ใบหน้าของคนที่หมดสิ้นซึ่งความหวัง’ สมความปรารถนา
จริงอยู่ว่าการได้เห็นคนที่หลุดรอดเงื้อมมือกฎหมายโดนผลตอบรับอะไรสักอย่าง ก็ดูสาแก่ใจอยู่ไม่น้อย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ชวนให้คิดว่า หากนี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง แล้วมีตำรวจจริงๆ ใช้อำนาจเช่นนี้ มันจะเป็นการดีแน่หรือ?
ชิบาตะ ทาเคโทระ จาก Shibatora
ณ วูบแรกที่เรานึกถึงตัวละครตำรวจจากการ์ตูนมังงะ คนแรกที่เรานึกถึงตัวละครจากผลงานเรื่อง ลางสังหาร หรือ Shibatora ผลงานการวาดภาพของอาจารย์มาซาชิ อาซากิ (Masashi Asaki) และแต่งเรื่องโดยอาจารย์อันโด ยูมะ (ซึ่งเป็นนามปากกาหนึ่งของอาจารย์คิบายาชิ ชิน (Kibayashi Shin)) ซึ่งเวลาที่สองท่านนี้มาร่วมงงานกัน พวกเขามักจะพานักอ่านไปดูสภาพอารมณ์และจิตใจของตัวละครในเรื่องได้อย่างดี
มังงะเรื่อง ลางสังหาร มีศูนย์กลางเรื่องอยู่ที่ ‘ชิบาตะ ทาเคโทระ’ ชายหนุ่มหน้าตาอ่อนกว่าวัยแถมยังตัวเล็ก จนทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กมัธยมต้น ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นตำรวจที่มีเป้าหมายที่ต้องการจะทำงานในแผนกเด็กและเยาวชน ด้วยเป้าหมายส่วนตัวที่เขาอยากจะช่วยเหลือเหล่าผู้เยาว์ที่อาจจะเกิดการเดินผิดทิศทางได้
ถึงความตั้งใจจะมุ่งมั่น และมีทักษะที่ดีเกินพอ แต่เมื่อเข้ามาทำงานในแผนกจริงๆ ชิบาตะ ทาเคโทระก็พบกับความจริงอย่างหนึ่งก็คือ ในระบบการทำงานของตำรวจนั้น ถึงแม้จะต้องรักษาความสงบสุขในสังคม แต่ตำรวจรุ่นพี่ในแผนกก็พูดจาอย่างชัดเจนว่า ‘หน้าที่ของตำรวจคือการทำงานเพื่อให้เบื้องบนเห็นว่าเราทำงาน’
และหลายครั้งในเรื่องก็มีประเด็นนี้แทรกมาเป็นระยะ แม้ว่าภาพรวมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนอาจจะออกมาดูดี แต่ถ้าผลลัพธ์ไม่เข้าตานายเหนือหัว งานที่ทำไปก็โดนมองข้ามไปได้โดยดื้อๆ จุดที่โลกแห่งการ์ตูนปรานีผลงานเรื่องนี้ไว้ก็คือ ชิบาตะ ทาเคโทระนั้นยังไม่โดนคำสั่งลงโทษ หรือปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่ และทำงานตามความตั้งใจของตัวเองมาได้โดยตลอด
คาดหวังว่าเราจะได้มีโอกาสเห็นตำรวจที่มุ่งมั่นในการปกป้องประชาชนในโลกแห่งความจริงเพิ่มมากขึ้น เหมือนที่เราชื่นชมตำรวจตัวเล็กในการ์ตูนเรื่องนี้
สึเนะโมริ อากาเนะ จาก TSUNEMORI AKANE
แฟนการ์ตูนอาจจะเห็นชื่อแล้วคุ้นตากัน เพราะนี่คือฉบับมังงะของอนิเมะ Psycho-Pass และตัวฉบับมังงะจะเป็นการบอกเล่าเรื่องของ ‘สึเนโมริ อากาเนะ’ หญิงสาวที่มีผลการเรียนเป็นเลิศแต่เลือกที่จะเข้าทำงาน หน่วยสืบสวนอาชญากรรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่หลายคนมองว่าเป็นงานเสี่ยง ไม่คุ้มค่า และยังมีโอกาสทำให้สภาพจิตถดถอยลงได้
เพราะในโลกของการ์ตูนเรื่องนี้นั้น มีระบบซิบิล (Sibyl System) ที่ช่วยจัดระเบียบสังคมโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหางานที่เหมาะสม หรือการตรวจจับอาชญากร ด้วยการสแกนสภาพสมอง ให้เป็นตัวเลข Psycho-Pass จนสามารถระงับเหตุก่อนที่จะมีการอาชญากรรมได้
ด้วยความเด็ดขาดของระบบนี้เอง จึงทำให้ผู้คนในท้องเรื่องเริ่มละทิ้งการตัดสินใจบางอย่างตามเจตจำนงค์เสรีของตน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการละทิ้งมุมมองความเป็นมนุษย์บางอย่างทิ้งไป อย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งในเรื่องที่มีคนร้ายคุมตัวประกันเอาไว้ จนทำให้ตัวประกันมีค่าไซโคพาสสูงเกินไป ทำให้ตัวละครกลุ่มหนึ่งมองว่า เมื่อระบบชี้ชัดและ ‘สั่งมา’ แล้วว่าให้ทำการกำจัดตัวประกันคนนั้นเสีย พวกเขาก็พร้อมจะลั่นไกใส่อย่างไม่ลังเล
ตรงกันข้ามกับแนวทางของสึเนโมริ อากาเนะ แม้ว่าในตอนแรกหลายคนจะเชื่อว่าการที่เธอตัดสินใจจะใช้มนุษยธรรมในการตัดสินใจกระทำการใดสักอย่าง มากกว่าการยึดเอาคำสั่งจากระบบ มาจากการที่เธอเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการ
และเมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป หญิงสาวก็ยังคงเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเอง แต่ก็ใช่ว่าเธอจะบอกปัดการกระทำตามกฏระเบียบ แต่เพราะเธอทราบแล้วว่าระบบมีปัญหา และถึงตอนนี้เธอจะยังไม่สามารถทำลายปัญหาด้วยตัวเองได้ แต่การกระทำตัวตามมนุษยธรรม ก็จะทำให้คนรอบข้างค่อยๆ รับรู้ถึงความบิดเบี้ยวของกรอบ และสุดท้ายก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ
ในมังงะภาคต่อๆ มายังเล่าขยายความว่า ถ้ามีคนที่ทำตามคำสั่งของระบบซีบิลประหนึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงว่าการตัดสินใจของอากาเนะนั้นก็โดนระบบเบื้องบนพยายามกดดันเช่นกัน แต่สุดท้ายการเคลื่อนไหวของเธอก็ทำให้ตัวระบบเองก็ยอมรับในข้อผิดพลาด และเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองแล้ว
อย่างน้อยในจักรวาล Psycho-Pass ก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก่อนที่โครงสร้างพื้นฐานจะถูกกัดกร่อนแล้วทุกอย่างจะพังทลายไปพร้อมกันหมด แต่สำหรับสถานที่อื่นนั้นเราอาจจะต้องลุ้นกันต่อไป
สารวัตรลุงค์เก้ จาก Monster
มังงะเรื่อง Monster คนปีศาจ ของอาจารย์นาโอกิ อุราซาวา (Naoki Urasawa) อาจจะมีชื่อเรื่องชวนให้คิดว่า มีสิ่งมีชีวิตเหนือความเข้าใจมนุษย์ปรากฏตัวอยู่ในเรื่อง แต่เนื้อแท้ของตัวมังงะเรื่องนี้ คือการบอกเล่าถึงสภาพจิตใจของมนุษย์หลายคนที่แปรเปลี่ยนไปเป็นสัตว์ประหลาด ด้วยเหตุผลประการใดประการหนึ่ง
เช่นเดียวกับ ‘สารวัตรลุงค์เก้’ นักสืบสังกัดสำนักงานตำรวจทางอาญาของเยอรมัน (Bundeskriminalamt หรือ BKA) ที่ภายนอกแล้วก็ดูเป็นตำรวจที่หน้านิ่วคิ้วขมวดตลอดเวลา แต่ในใจของเขาเป็นเหมือนสัตว์ประหลาดที่ชำนาญการไล่ล่าหาจุดผิดพลาดของคนก่อคดีอาชญากรรม ด้วยการไล่ย้อนความคิดของฝ่ายตรงข้าม
แต่การกระทำแบบนั้นของสารวัตรลุงค์เก้ ก็บีบคั้นให้ผู้ต้องสงสัยต้องปลิดชีพชีวิตตนเองมาแล้ว กระนั้นตำรวจเยอรมันท่านนี้ก็ยังเชื่อว่าแนวทางของตัวเองที่ถูกต้องและถือว่าเป็นที่สุด แม้ว่าจะถูกพักงานแล้วเขาก็ยังยึดมั่นถือมั่นแนวคิดอันเป็นที่สุด ไล่ตามผู้ต้องสงสัยอย่าง ‘เท็นมะ เคนโซ’ ไปทั่วเยอรมัน เพราะเชื่อว่าชายคนดังกล่าวเป็นคนร้ายคดีฆาตกรรม
โชคดีที่การเดินทางตามความเชื่อมั่นของสารวัตรลุงค์เก้ ทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเพื่อนมนุษย์มากขึ้น และสุดท้ายก็ค่อยๆ รับรู้ว่า การเป็นตำรวจ ไม่จำเป็นจะต้องทำตัวสุดขั้ว ทำตามคำสั่งสุดขีด หรือทำให้ตัวเองพึงพอใจเท่านั้น เพราะบางครั้ง การสยบสัตว์ประหลาดที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์คน ก็คือการนำความเป็นมนุษย์ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดเหล่านั้น และทำให้เข้าใจว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคนเท่าเทียมกัน