อาเซียนร่วมใจ อาเซียนร่วมใจ
ครบรอบก่อตั้ง 53 ปี การก่อตั้งประชาคมอาเซียน กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ที่มีภาษา วัฒนธรรม และวิธีชีวิตหลายๆ ที่ใกล้เคียง คล้ายคลึงกัน รวมไปถึงประวัติศาสตร์ การเมือง และการปกครอง ที่หลายครั้งที่เมื่อเห็นข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ต่างก็ทำเอาเรานึกถึงเหตุการณ์ในบ้านเรา ที่ดูแล้วมีจุดร่วมเหมือนกัน
The MATTER ขอพาไปเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองของชาติอาเซียน ผ่าน 9 สารคดี ที่มีทั้งเรื่องราวของสงคราม การประท้วง เผด็จการ ไปถึงกระบวนการตรวจสอบผู้มีอำนาจว่า แต่ละประเทศมีประวัติศาสตร์ หรือประเด็นทางการเมืองอะไรกันมาบ้าง จนหล่อหลอมให้เป็นชาติอาเซียนอย่างทุกวันนี้
ไทย – ประชาธิป’ไทย (Paradoxocracy) (2003)
หลายคนมักมองประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าเป็นเรื่องของการแบ่งฝังแบ่งฝ่าย ของการทะเลาะกันระหว่างสีเสื้อ ซึ่งประวัติศาสตร์ของความเห็นแตกต่างกันนี้ ได้ถูกนำมาเล่า และสะท้อนในสารคดีการเมืองไทยเรื่อง ‘ประชาธิป’ไทย’ หรอชื่อภาษาอังกฤษว่า Paradoxocracy (การรวมระหว่างคำว่า Paradox และ Democracy) โดย 2 ผู้กำกับ ต้อม – เป็นเอก รัตนเรือง และเอก – ภาสกร ประมูลวงศ์เข้าฉายในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556
สารคดีเรื่องนี้ได้เล่าไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านมุมมองนักวิชาการร่วมสมัย 14 คน ที่มีแนวคิด และมองแตกต่างกัน ซึ่งต่างก็ตอบคำถาม และชวนคนดูตั้งคำถามกับเรื่องราวการเมืองไทยตาม โดยให้จะเห็นมุมมองทางการเมืองตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยในช่วงปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา จนถึงช่วงปี พ.ศ.2540 ในยุคของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งล้วนแต่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตย แบบไทยๆ ให้เราได้เห็น
มาเลเซีย – Kleptocrats (2018)
เป็นข่าวใหญ่ไปเมื่อไม่นานมานี้ กับการตัดสินคดีอื้อฉาวของอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย ในการทุจริตกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย (1MDB) ที่โด่งดังไปทั่วโลก โดยสารคดี Kleptocrats หรือในชื่อไทยว่า โจราธิปไตย ก็พาเราไปย้อนดูตั้งแต่การสืบหาเงินต่างๆ ที่คาดว่าอดีตนายกฯ มาเลเซียรายนี้แอบนำไปใช้ ช่องทางการทุจริต เส้นทางที่เงินของชาวมาเลเซียรั่วไหลออกไปอยู่ทั่วโลก รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตนี้ (ซึ่งก่อนหน้านี้ อดีต ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ก็ได้อ้างว่ามีหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า รัฐบาลไทยในยุค คสช.เกี่ยวข้องด้วย)
นอกจากเรื่องการทุจริตของอดีตนายกฯ ราจิบ แล้ว สารคดีเรื่องนี้ ยังพาเราไปดูกระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชน ที่พยายามออกมาส่งเสียงเรียกร้องต่อความไม่ยุติธรรม รวมถึงอำนาจของรัฐบาลที่พยายามกีดกันการตรวจสอบของประชาชน ใช้อำนาจเผด็จการ ปิดปากนักกิจกรรม และสื่อที่ออกมาเป็นพูดถึงปัญหาคอร์รัปชัน ทำให้เราได้เห็นทั้งพลังของประชาชน กระบวนการยุติธรรม และการเลือกใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ย้อนมองแล้ว เห็นจุดร่วมหลายอย่างกับการเมืองในประเทศอาเซียนนี้
ฟิลิปปินส์ – The Kingmaker (2019)
สารคดีที่ได้รับคำแนนชื่นชม เข้าชิง และกวาดมาหลายรางวัล กับ The Kingmaker สารคดีของผู้กำกับสาวชาวอเมริกัน ที่เข้าไปคลุกคลี และถ่ายทอดชีวิตของ ‘อีเมลดา มาร์กอส’ อดีตสตรีหมายเลข 1 ในยุคการปกครองเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานในฟิลิปปินส์ถึงกว่า 20 ปี ซึ่งในยุคนั้น เธอเองก็ได้อยู่เบื้องหลังการจัดการทางการเมืองหลายอย่าง รวมถึงยังเป็นหน้าตาของประเทศในการพบปะผู้นำเกือบทั่วโลก และยังเป็นไอคอนของการใช้เงินอย่างหรูหราฟุ้งเฟ้อด้วย
แต่แม้ปัจจุบัน สามีของเธอจะเสียชีวิตลงแล้ว สารคดีเรื่องนี้ก็ยังทำให้เราเห็นภาพความพยายามรักษาอำนาจของตระกูลมาร์กอส ด้วยการผลักดันลูกชายให้เข้าสู่อำนาจทางการเมือง รวมไปถึงความพยายามของตระกูลที่จะลบประวัติศาสตร์ ความเลวร้ายในสมัยของมาร์กอสคนพ่อ ทั้งเรายังเห็นการต่อสู้เพื่อตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในฟิลิปปินส์ ที่แขวนอยู่กับการเลือกฝั่งฝ่าย และผู้มีอำนาจ
โดยในตอนนี้ สารคดีเรื่องนี้ยังมีอยู่ในโรงภาพยนตร์บางสาขา ให้เรารับชมได้
อินโดนีเซีย – The Act of Killing (2012) / The Look of Silence (2014)
อีกหนึ่งสารคดีเกี่ยวกับชาติอาเซียน ที่ย้อนไปเล่าถึงเรื่องราวในยุคเผด็จการ กับ – The Act of Killing และ The Look of Silence 2 สารคดีที่มากันเป็นแพ็กคู่ โดย The Act of Killing เล่าเรื่องราวผ่าน อันวาร์ คองโก และกลุ่มแก๊งสเตอร์ที่มีส่วนในการฆ่าคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กับนโยบายกวาดล้างคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ในปี 1965-1965 ซึ่งพวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และพูดคุยถึงวีรกรรม ที่ถูกยกชูเหมือนเป็นฮีโร่ และกลับมาแสดงวิธีการฆ่า ทรมานต่างๆ ที่พวกเขาเคยใช้ โดยเชื่อว่าการฆ่าของเขาคือสิ่งที่ถูกต้อง
ขณะที่สารคดีเรื่องแรกเล่าผ่านตัวนักฆ่า The Look of Silence ได้พาเราไปเห็นประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซียผ่านตัวผู้ถูกกระทำ โดยอาดี น้องชายของเหยื่อจากการสังหาร ในนโยบายไล่ล่าคอมมิวนิสต์ ได้ไปไปเผชิญหน้า และสนทนากับเหล่ามือสังหารตัวจริง ซึ่งทำให้เราเห็นถึงการสร้างวาทกรรมป้ายสีคอมมิวนิสต์ ความพยายามปกปิดประวัติศาสตร์ ไปถึงการบิดเบือนมันเพื่อสร้างความชอบธรรมด้วย
พม่า – Burma VJ: Reporting from a Closed Country (2008)
การพยายามปิดหู ปิดตา ประชาชน ปิดภาพความรุนแรงในประเทศ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในอาเซียน โดยสารดคีเรื่อง Burma VJ: Reporting from a Closed Country ที่ออกฉายในปี 2008 ก็เป็นสารคดีที่ทั้งวิธีถ่ายทำ วิธีสร้าง และวิธีเล่าเรื่องได้สะท้อนเรื่องนี้ออกมาอย่างชัดเจน
สารคดีเรื่องนี้เล่าถึงเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติชายจีวร’ หรือ ‘Saffron Rebellion’ ในปลายเดือนกันยายน ปี 2007 ที่เหล่าพระสงฆ์ และประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลเผด็จการ และถูกเจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่แน่นอนว่าด้วยความเป็นรัฐเผด็จการ การถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระ แต่เกิดขึ้นโดยเหล่า VJ (video journalist) หรือผู้สื่อข่าวด้วยกล้องวีดิโอที่เก็บภาพเหตุการณ์ที่ถ่ายโดยกล้องมือถือ และฟุตเทจอีกจำนวนหนึ่งถูกลักลอบนำออกมาจากประเทศ ด้วยการส่งผ่านอินเทอร์เน็ต และแผ่นเก็บข้อมูล รวมถึงมีการเซ็ทถ่ายบางฉากเสริมเข้าไป จนออกมาเป็นสารคดีตัวนี้
กัมพูชา – Enemies of The People (2009)
ถ้าจะพูดถึงประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศกัมพูชา ก็ต้องพูดถึงเขมรแดง สารคดีกึ่งรายงานข่าวเรื่อง Enemies of The People เป็นหนึ่งเรื่องที่พาเราไปเข้าใจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของกัมพูชาได้มากขึ้น โดยมี ‘เต็ต สัมบัธ’ นักข่าวที่ครอบครัวเสียชีวิต ถูกฆ่า และสูญหายไปในยุคเขมรแดง ซึ่งหลังจากอพยพไปนอกประเทศได้ วันหนึ่งเขากลับมาอีกครั้ง ในฐานะนักข่าวที่ได้สัมภาษณ์ นวน เจีย (Nuon Chea) รองผู้นำของกลุ่มเขมรแดง รวมถึงอดีตสมาชิกเขมรแดงคนอื่นๆ
สารคดีเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำนานกว่าสิบปี ด้วยการพยายามหาคำตอบถึงสาเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนั้น มองการปฏิวัติของเขมรแดง และเจาะลึกในมุมต่างๆ ของเหตุการณ์นี้ ไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องที่เรียกได้ว่าทำให้เห็นประวัติศาสตร์นี้ในหลากหลายมุมมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้กลับถูกคำสั่งห้ามฉายในประเทศกัมพูชา
เวียดนาม – The Vietnam War (2017)
หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีผลต่อประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศต่างๆ ในอาเซียนคือ สงครามเย็น ซึ่งเวียดนาม ประเทศที่กลายเป็นสนามรบของอุดมการณ์ทางความคิดในยุคนั้น ก็เป็นหนึ่งประเทศที่มีสารดคีที่พยายามถ่ายทอด และบอกเล่าเหตุการณ์นี้ในมุมต่างๆ โดยเฉพาะในมุมของฝั่งสหรัฐฯ หรือตะวันตก ขณะที่ The Vietnam War ซีรีส์สารคดี ความยาว 10 ตอน ที่กินเวลาฉายประมาณ 17 ชั่วโมง และใช้เวลาในการผลิตยาวนานถึง 10 ปีเรื่องนี้ ก็พยายามเล่าทั้งในมุมประวัติศาสตร์ของเวียดนามด้วย
ในเรื่องนี้เท้าความไปถึงตั้งแต่สมัยที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ช่วงที่ได้รับอิสรภาพ แต่ต้องแบ่งเป็น 2 ฝ่ายระหว่างเหนือ-ใต้ และกลายเป็นพื้นที่สนามรบกับสหรัฐฯ ทั้งยังเล่าผ่านตัวละครต่างๆ ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ทหารผ่านศึกจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้เห็นประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมเวียดนามมาเป็นทุกวันนี้
ลาว – The Betrayal (2008)
อีกหนึ่งสารคดีที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม ซึ่งส่งผลต่อประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศลาวด้วย โดยหยิบประเด็นของทหาร และกลุ่มคนที่ฝักใฝ่สหรัฐฯ ในช่วงนั้น ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการส่งเข้าร่วมรบต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนาม โดยปฏิบัติการในลาวนั้นถูกเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการลับสุดยอด แต่แล้วอยู่ๆ ทหารอเมริกันก็ถอนกำลัง และความช่วยเหลือออกจากลาว ตามมาด้วยลาวที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสังคมนิยม ส่งผลให้คนที่ฝักใฝ่สหรัฐฯ ถูกคุกคาม ถูกฆ่า และบางส่วนอพยพหนีออกนอกประเทศ
สารคดีเรื่องนี้เล่าผ่านครอบครัวพระสะวัท ครอบครัวที่ต้องอพยพไปในอเมริกา หลังจากพ่อของเขาเข้าร่วมรบกับอเมริกาเพื่อ โดยมีทะวีสุข ลูกชายคนโตเป็นศูนย์กลางของเรื่องที่ดำเนินไปในอเมริกา ซึ่งแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้เล่าถึงประเทศลาวโดยตรง แต่ก็สะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหาของผู้อพยพ ลี้ภัยจากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศลาว ไปพบกับอุปสรรค และการใช้ชีวิตที่ยากลำบากในแผ่นดินที่ไม่ใช่ประเทศแม่ของตนเอง