ค.ศ.2021 แม้ว่าจะเป็นปีที่วิกฤติ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้น และกระทบเศรษฐกิจหลายภาคส่วน แต่ก็เป็นปีโอกาสของหลายสตาร์ทอัพในอาเซียน รายงาน Asean start-ups โดย Credit Suisse ระบุว่ามีราว 19 สตาร์ทอัพ ก้าวขึ้นสู่ระดับ ‘ยูนิคอร์น’ ในปีนี้
ทำให้ทั้งอาเซียนปัจจุบัน มียูนิคอร์นทั้งหมด 35 สตาร์ทอัพ ซึ่งหลักๆ เป็นสตาร์ทอัพสิงคโปร์ 15 เจ้า และอินโดนีเซียอีก 11 เจ้า
สาเหตุสำคัญของการที่มียูนิคอร์นหรือสตาร์ตอัพที่มูลค่าทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจำนวนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการหลั่งไหลของเงินทุนจากนักลงทุนที่แข็งแกร่ง, จำนวนประชากรเยาว์วัยเมื่อเทียบกับอายุเฉลี่ยประชากรโลก ทำให้อัตราการใช้สตาร์ทโฟนและดาต้าเพิ่มสูงไปด้วย เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวดเร็ว, จำนวนของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของภูมิภาคนี้, รวมไปถึงทุนเอกชนที่เพิ่มจำนวนขึ้นและให้ความสนใจกับสตาร์ทอัพอาเซียน โดยเฉพาะในเวียดนามและมาเลเซีย
Credit Suisse บอกว่า เงินทุนต่างๆ กำลังให้ความสนใจศักยภาพสตาร์ทอัพในอาเซียนมากขึ้น และเป็นเทรนด์ที่จะได้เห็นในอนาคตเร็วๆ นี้ เพราะเทคโนโลยีในอาเซียนกำลังเป็นที่จับตาด้านโอกาส จากหลายปัจจัยที่กล่าวมา
ปัจจุบันยูนิคอร์นอาเซียน มีใครบ้าง? เรามาส่องดู แบ่งแยกย่อยตามรายประเทศกัน
ประเทศไทย
Ascend Money
Flash Express
Lineman Wongnai
เวียดนาม
VNG
VNPay
Malaysia
AirAsia Digital
Carsome
Edotco
สิงคโปร์
Acronis
Advance intelligence Group
Carousell
Carro
HyalRoute
JustCo
Lazada
Matrixport
Moglix
Ninja Van
Nium
PatSnap
PropertyGuru
Secretly
Trax
อินโดนีเซีย
Akulaku
Blibli
GoTo
JD.ID
J&T Express
OVO
Ruangguru
Sicepat
Traveloka
Xendit
** การรวบรวมข้างต้น ไม่ได้รวม Grab สตาร์ทอัพซึ่งกำลังเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เข้าไปด้วย ซึ่งล่าสุด ของประเทศไทยก็มี Bitkub ที่ก้าวมาเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ในสัปดาห์นี้ด้วย หลังจาก SCBX เข้าถือหุ้นใหญ่ Bitkub 51% มูลค่า 17,850 ล้านบาท เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
รายงานระบุต่อว่า ส่วนใหญ่ยูนิคอร์นในอาเซียน มีรูปแบบโมเดลธุรกิจที่เป็นธุรกิจที่นำโดยผู้บริโภค (consumer-led business) มีจำนวนน้อยมากที่จะเป็นธุรกิจแบบ B-to-B
ความน่าสนใจจากรายชื่อสตาร์ทอัพข้างต้น คือ 1 ใน 4 ของรายชื่อ (25%) คือสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเงิน หรือ fintech และอีก 20% ของรายชื่อ เป็นอีคอมเมิร์ซ 11% เป็นโลจิสติกส์ และอีก 8% คือด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่หลากหลาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดของ COVID-19 มีอานิสงส์ต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการเงินและอี-คอมเมิร์ซ เพราะทำให้ประชากรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาจ่ายเงินและซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่กลายเป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวันผู้คนแล้ว เพราะชัดเจนว่าเทคโนโลยีการเงินและอีคอมเมิร์ซ ช่วยทำให้ชีวิตผู้บริโภคสะดวกมากขึ้น และทำให้ต้นทุนการใช้จ่ายประหยัดมากขึ้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลในอาเซียนหลายประเทศ ก็มีความพยายามผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนให้คนในประเทศใช้งานการชำระเงินดิจิทัลมากขึ้น เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสด
Photo credit: The Straits Times
อ้างอิงข้อมูลจาก