“จงฝึกฝนให้ชำนาญ ฝึกให้ถึงขั้นสุดยอด จะร้องไห้ก็ได้ จะวิ่งหนีก็ได้ แต่ห้ามยอมแพ้เด็ดขาด จงเชื่อมั่นว่าวันคืนที่ต้องฝึกฝนราวกับตกนรกจะส่งผลดีต่อเจ้าอย่างแน่นอน เจ้าจงกลายเป็นดาบที่แข็งแกร่งกว่าใคร”
คำกล่าวจาก คุวาจิมะ จิโกโร่ อดีตผู้ใช้ปราณอัสนี ที่กลายมาเป็นอาจารย์ผู้อบรบสั่งสอนนักดาบรุ่นใหม่ ในเรื่อง ‘Kimetsu no Yaiba’ หรือชื่อภาษาไทยคือ ดาบพิฆาตอสูร อนิเมะสุดฮิตที่กระแสแรงจนทุบสถิติต่างๆ ไปมากมาย ทั้งยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนอีกด้วย
เช่นเดียวกับ นภัสสร ลีระสันทัดกุล คุณครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่นำเอา Kimetsu no Yaiba มาประกอบกับโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณหาจำนวนข้าวปั้นของทันจิโร่ หรือการหาจำนวนดาบที่ต้องมอบให้กับเหล่าเสาหลักในเรื่อง นอกจากนี้ เธอยังนำเกมดังอย่าง Among us มาเป็นแบบจำลองสถานการณ์เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตัวเลข ฝึกฝนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์อย่างมีความสุข และทำให้วิชาคณิตศาสตร์ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
เล่าเรื่องตัวเองให้ฟังหน่อย
เราเรียนจบเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มา ตอนเรียนก็สนใจเกี่ยวกับการศึกษามาตั้งแต่แรก เรามองการศึกษาแล้วเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น เหมือนเราโดนอะไรบางอย่างกดอยู่ตลอด เลยสนใจ แต่ตอนแรกไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงกับมัน พอเรียนเศรษฐศาสตร์จบมาก็เริ่มมองเห็นมากขึ้นว่า ปัญหาทางการศึกษามันมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำ มีความไม่เท่าเทียม แต่ก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้วปัญหามันอาจจะไม่ได้มีแค่ภาพใหญ่ มันมีภาพเล็กๆ ซ่อนอยู่ด้วย ไปถึงระดับห้องเรียนว่า มันเกิดอะไรขึ้นในแต่ละห้องเรียน
แล้วมาเป็นครูได้อย่างไร
เราไปสมัครโครงการ Teach for Thailand เป็นโครงการที่จะให้คนที่ไม่ได้จบครูมาเป็นครูได้ ในโรงเรียนที่ขาดแคลนคุณครู เราก็สนใจเลยสมัคร และได้มาเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ พอเป็นครูก็เข้าใจมากขึ้นว่า จริงๆ แล้วการศึกษามันมีภาพใหญ่อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำก็จริง แต่พอมาเป็นครูจริงๆ เราก็มองเห็นภาพเล็กๆ ว่า เด็กจะมีความสุขแค่ไหนในช่วงเวลาที่เขาอยู่โรงเรียน โรงเรียนสามารถสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเด็กแต่ละคนได้มากน้อยแค่ไหน
เราสัมผัสได้ว่า เออ จริงๆ เด็กแต่ละคนเขาเจอเรื่องที่หนักมานะ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาเลย เราไม่อยากให้การเรียนหรือการศึกษายิ่งกดเขาลงไปมากกว่าเดิม เพราะสิ่งที่เขาแบกรับจากครอบครัว จากปัญหาชีวิตเขา มันก็เยอะมากพออยู่แล้ว ถ้าเราช่วยให้เขารู้สึกว่า การเรียนการสอนมันช่วยให้เขามีความสุข หรือค้นพบ หรือไม่สร้างปัญหาให้เขาเพิ่ม คงจะดีกว่านี้ เราเลยคิดว่า ปัญหาไม่ได้มีแค่ภาพใหญ่ๆ แต่มันมีภาพเล็กๆ อย่างประเด็นว่า เด็กเขารู้สึกอย่างไรเวลาอยู่ในห้องเรียนด้วย
ประเด็นนี้ เราได้มาจากการเป็นครูมาช่วง 2 ปีแรก ซึ่งทำให้เห็นว่า ความรู้สึกของเขาก็สำคัญ พอเราจบจากโรงเรียนใน Teach for Thailand มา 2 ปี เลยมาลองดูโรงเรียนทางเลือก เพื่อดูว่าแนวทางเขาเป็นยังไง ก็พบว่า ชอบที่เขาเน้นบรรยากาศการเรียนรู้ให้เด็กมีความสุข แล้วได้สอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับเด็กชั้น ป.1 ป.2 แต่เราไม่เคยสอน ป.1 ป.2 มาก่อน ไม่เข้าใจฟีลของเด็กเล็กเลย
แล้วเขาบอกว่า ที่นี่เป็นการสอนแบบ open approach ซึ่งเราไม่เคยได้ยินเลยว่ามันคืออะไร เพราะที่เราเคยสอนคณิตศาสตร์ช่วง ม.ต้น เราก็สอนตามปกติ เพราะว่าเด็กเขารู้เรื่องอยู่แล้ว มันคือการบอก การป้อนข้อมูล แต่พอย้ายมาที่นี่แล้วได้สอนเด็กเล็ก เราก็ต้องสร้างความคิดและไม่ปิดกั้น เลยต้องปรับเยอะมาก ต้องสอนด้วยการ open approach ซึ่งก็คือการที่เด็กได้เรียนรู้จากสถานการณ์ปัญหานั้น เพื่อให้เขาดึงแนวคิดออกมาว่าเขาคิดยังไง เอาไปแลกเปลี่ยนกัน เลยต้องค่อยๆ มาเรียนรู้ว่าขั้นตอนเป็นยังไง
ไอเดียการสอนโดยนำการ์ตูนมาใช้ เริ่มมาจากไหน
ช่วงแรกที่สอนเราทำ open approach คือทำตามคู่มือเป๊ะเลย หมายถึงว่า ช่วงแรกเรายังจับทางไม่ถูก เลยตามหนังสือคู่มือที่ช่วยไกด์ไลน์เรา เช่น มีไข่ไก่กี่ฟอง กิจกรรมแบบคุกกี้แสนอร่อย หรือนับเรือเป็ด สมมติเด็ก ป.2 ก็จะเป็นประมาณว่า มีเรือเป็ด 1 ลำ มีเด็ก 2 คน ถ้ามีเรือเป็ด 2 ลำ มีเด็กเท่าไหร่ พอเป็นอะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่า การที่เราหยิบเนื้อหามาให้เขาดู บางทีมันอยู่ไกลตัวเขาไป ถึงวิธีการจะโอเค แต่บางครั้งเราเปิดขึ้นมาก็รู้สึกแล้วว่า เด็กคิดว่า ‘อะไรอ่ะ เรือเป็ดเหรอ?’ บางทีก็ยากที่จะดึงให้เขาสนใจและอินไปกับมัน แล้วเราสังเกตว่า เด็กเขาชอบการ์ตูนเรื่องนี้กันมากเลย ถ้าเราเอาคณิตศาสตร์มาโยงได้ มันก็น่าสนุกดี คงน่าสนุกกว่าการที่เรามาพูดถึงเรือเป็ด แล้วเราก็เอาจากการ์ตูนมาพูดก็ได้ เลยได้ไอเดียนี้ แล้วลองเริ่มเลย ประกอบกับเราเองก็เคยดูมาก่อน เลยเอามาจับให้ไปกับเนื้อหาคณิตศาสตร์ได้
ปกติอ่านหรือดูการ์ตูนอยู่แล้วไหม
จริงๆ ไม่ได้ดูเรื่องที่เด็กเขาฮิตกันขนาดนั้น แต่มีเรื่องนี้ที่ตรงกันพอดี ส่วนเรื่องอื่นไม่ได้ดูเหมือนกัน ไม่ได้เป็นนักดู หรืออ่านการ์ตูนขนาดนั้น
ทำไมถึงเลือก Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร) มาใช้สอน
เห็นว่าเด็กเขาชอบ แล้วเราก็ชอบเหมือนกัน เรามองว่า เราเอาสิ่งที่ชอบมาปรับใช้กับเรื่องต่างๆ ได้ เพราะเรารู้แล้วว่าทั้งหมดเรื่องมันเกี่ยวกับอะไร มันเกิดอะไรขึ้น มีตัวละครเขาทำอะไร แล้วเราก็ชอบการ์ตูนเรื่องนี้เพราะมีแง่คิดเอย หรืออะไรเอยที่โอเค เลยลองเอามาปรับใช้ดู แล้วเด็กก็คาดไม่ถึงว่าเราจะเอาการ์ตูนเรื่องนี้มาปรับสอนกับเขาได้ด้วย
มองว่าการ์ตูนเรื่องนี้ แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ อย่างไร
เรื่องนี้อาจจะพูดยาก เพราะดูไม่ค่อยเยอะ แต่ถามว่าชอบอะไร เราชอบตัวเอกที่ชื่อ ‘คามาโดะ ทันจิโร่’ เป็นตัวละครที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ดีมาก ชอบตรงจุดนี้ แล้วพอดูเรื่องทั้งหมด เราว่าเรื่องนี้มันสอนเรื่องเกี่ยวกับ growth mindset ให้กับเด็กๆ ได้เยอะมาก ทั้งเรื่องมันสอนเรื่องความพยายาม การต่อสู้ การเรียนรู้
จริงๆ ตอนเราเอามาโยง เราโยงตั้งแต่ตอนแรกเลย ตั้งแต่การตีระฆังก่อนเริ่มเรียนให้เด็กๆ กลับมาอยู่กับตัวเอง แล้วก็แทรกมาในเรื่องการฝึกปราณ ฝึกลมหายใจของเรา ให้เหมือนผิวน้ำที่สงบ การอยู่กับลมหายใจ เหมือนกับการฝึกปราณเลยนะ เราก็เอาตรงนี้มาโยงกับเด็กๆ ได้ตั้งแต่การให้เขานิ่ง ให้เขาหายใจเป็น ให้เขาพร้อมเรียน พร้อมเรียนรู้ผ่านการนิ่ง ก็สอนตรงนี้เขาได้ แล้วก็ก่อนหน้านี้ เวลาทำใบงานฝึกฝนก็เล่าเรื่องราวให้เขาฟังว่า รู้ไหมว่าก่อนที่ทันจิโร่จะเป็นนักดาบได้ รู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น กว่าเขาจะฝึกฝนได้ เขาใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วเขาทำยังไง เขาใช้เวลากี่ปี ฝึกฝนทุกวัน แล้วตอนแรกทำได้เลยไหม สิ่งเหล่านี้เอาไปสอนเด็กเกี่ยวกับเรื่องความพยายาม และการทำแบบฝึกหัดได้หมด เราชอบตรงที่มันเอามาโยง เอามาจับอะไรได้
ชอบตัวละครไหนในเรื่อง Kimetsu no Yaiba
ทันจิโร่ ชอบมาก เพราะดูการ์ตูนแล้วรู้สึกว่า คำพูดของทันจิโร่มันอบอุ่นหัวใจ ถ้าเราเจอสถานการณ์แบบเขา จะพูดได้แบบนั้นไหม สิ่งนึงที่เราชอบทันจิโร่มาก คือเวลาที่เขาเจออสูร เขาจะไม่ได้มองว่ามันคืออสูรที่น่ากลัว ร้ายกาจ หรือกินคนอย่างเดียว เขามองลึกเข้าไปว่า อสูรข้างใน เขามีจิตใจของคนที่กำลังสับสน ต่อสู้กับตัวเอง หลงทาง เขามองเห็นว่า อสูรก็คือมนุษย์ที่หลงทางไป จิตใจเขาหายไป แล้วสิ่งที่ทันจิโร่ทำคือ เขาเห็นสิ่งเหล่านี้แล้วพูดว่า “โห คงทุกข์มากเลยสินะ” แค่คำพูดนี้ เราก็มองว่า คิดได้ยังไงว่าจะพูดคำนี้กับคนนี้ คำพูดเขาสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจมากๆ
แล้วก็เป็นตัวละครที่เท่ มีความพยายาม เป็นผู้ชายที่จิตใจเหมือนผิวน้ำนิ่งสงบ อ่อนโยน ชอบบุคลิกนี้มาก ชอบวิธีคิดตัวละครด้วย อีกอย่างคือ เขาไม่ได้ดูเก่ง ไม่ได้ดูเท่อย่างเดียว มีคนเก่งกว่าเขา บางทีเราจะเห็นตัวเอกเรื่องอื่นๆ ที่ ต้องดูเท่ ต้องดูยิ่งใหญ่ ดูท็อปฟอร์มมาก แต่ทันจิโร่ไม่ใช่แบบนั้น เขายังไม่ใช่แบบนั้น เขาอยู่ระหว่างทาง แต่ระหว่างที่ยังไม่ไปถึงตรงนั้น เราก็เห็นสิ่งนี้แล้วประทับใจมาก ประทับใจกับมุมมองที่เขามองคนอื่น แม้กระทั่ง มองอสูรได้อย่างอ่อนโยน แค่นี้แหละ ไม่ต้องเก่ง ไม่ต้องเท่ แค่มีความอ่อนโยนภายในคุณก็ดูเท่แล้ว
มีอะไรจากเรื่อง Kimetsu no Yaiba อีกไหม ที่เอามาใช้ในการสอน
จริงๆ ตอนนี้เพิ่งเริ่มทำไปได้ไม่กี่ครั้ง ครั้งแรกเป็นกิจกรรมข้าวปั้นของทันจิโร่ เป็นการคูณแม่ 6 แล้วในหนังสือเรียนเขียนประมาณว่า มีพิซซ่าอยู่ 6 ชิ้น มีเนยแข็ง 6 ก้อน มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า อะไรเนี่ย เนยแข็ง 6 ก้อนจะนับทำไม เลยคิดว่า ในการ์ตูนมีอะไรที่พอจะเอามาหยิบจับเล่นได้บ้าง เลยไปนึกถึงเรื่องราวตอนที่ทันจิโร่แบ่งขนมเซนอิทสึ แต่ข้าวปั้นเขาใช้แค่ 1 ชิ้น เราก็เลยเปลี่ยนหน่อยให้กลายเป็น 6 ชิ้น แล้วก็เป็นสถานการณ์ปัญหา ด้วยความที่มันเป็น open approach ที่ให้เด็กเรียนจากสถานการณ์ปัญหานั้น เพื่อดึงแนวคิดเขาออกมา แล้วเอาไปแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นก็สรุปเป็นคอนเซปต์ด้วยกัน
ก็เลยง่ายละ เริ่มจากสถานการณ์ว่า ทันจิโร่แบ่งข้าวปั้นให้เพื่อน 1 ห่อ มี 6 ชิ้น ถ้า 2 ห่อ จะเป็นยังไง แต่ว่าเราแค่ต้องเล่าเรื่องให้เขาฟังว่า ทันจิโร่ก็ได้เจอกับคนนี้นะ แค่เราหยิบตัวการ์ตูนหรือบางอย่างในเรื่องไป เด็กๆ เขาก็ดีใจแล้ว ทำให้รู้สึกว่า มันมีอะไรมากกว่าเนยแข็ง 6 ก้อนนิดนึง เลยเอามาโยงได้แบบนั้น เป็นเรื่องของการคูณ 6 ไป วันนี้สอนเรื่องการคูณ 7 ตามตำรายกตัวอย่างเรื่องสีกับกล่องสีมา เราก็เลยเปลี่ยนจากสีเป็นกล่องดาบ แล้วก็ยกสถานการณ์ว่า หมู่บ้านตีดาบ เขาตีดาบเตรียมไว้ให้กับนักล่าอสูรหรือเสาหลัก (กลุ่มกำลังหลักที่ต่อสู้กับอสูรในเรื่อง Kimetsu no Yaiba) แล้วก็ไปเตรียมหารูป เพื่อให้เขาได้ดูรูปประกอบไป แล้วก็บอกว่า หนึ่งกล่อง มีดาบ 7 เล่ม ถ้ามี 5 กล่องจะเป็นกี่เล่ม
พูดถึงการสอนแบบ open approach อยากให้ขยายความอีกนิดว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง
การสอนแบบ open approach พูดถึงวิธีการที่ทำให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดกันเป็นหลัก อย่างแรกเป็นเรื่องของการนำเสนอสถานการณ์ปัญหา เรามีสถานการณ์ให้ว่า เล่าเรื่องราวว่า เรื่องนี้มีปัญหาอะไร อยากให้เด็กๆ ช่วยอะไร ต่อมาคือ การเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักเรียน ให้เขาคิดออกมาว่าจะจัดการกับปัญหานี้ยังไงดี เหมือนเป็นการดันแนวคิดของเด็กแต่ละคนให้ออกมา จริงๆ อาจจะทำเป็นคู่ก็ได้ ให้แต่ละคนคิดและพูดคุยกันว่าจะทำใบงานนี้ยังไงดี แล้วคุณครูก็จะต้องเดินไปแต่ละกลุ่ม เพื่อคอยถามว่า ทำไมถึงสื่อออกมาเป็นแบบนี้ อันนี้สื่อถึงอะไร พยายามให้เด็กอธิบายว่า ทำไมเขาถึงมีแนวคิดนี้
ขั้นต่อมา เป็นเรื่องของการนำเสนอปัญหา อภิปรายแลกเปลี่ยนกันว่าที่เขาทำแบบนี้ สื่อออกมาแบบนี้เพราะอะไร แต่ด้วยความเป็นเด็กเล็ก เราก็ต้องไกด์หน่อย ต้องคอยชี้นำด้วยคำถามว่า ทำไมทำแบบนี้ เพราะอะไร ให้เขาพูดออกมาว่า ที่เขาคิดแบบนี้ เพราะอะไร
แล้วขั้นสุดท้ายก็จะเป็นการสรุปเชื่อมโยงแนวคิด คือสรุปแนวคิดที่เด็กเสนอมา โดยเราจะคอยเขียนว่า มันเป็นแบบนี้ แล้วเราก็เสริมไปว่า จากแนวคิดทั้งหมด เราเห็นอะไร ก็จะกลายเป็นเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ มันเป็นกระบวนการที่ครูต้องทำให้เด็กเห็นทั้งหมดนี้บนกระดาน
เป็นการให้พื้นที่เด็กๆ ได้เริ่มคิดกันเองก่อน?
ใช่ เราต้องเป็นคนฟังเยอะๆ แล้วก็ช่วยให้เขาเห็นว่า สิ่งที่เขาคิดมันไม่ผิดหรือถูกหรอก ลองทำดู แล้วก็ต้องระวังคำพูดตัวเองว่า เราจะไม่เผลอไปตัดสินเขา เช่น ใช่เหรอ อย่างนี้ไม่ใช่นะ ไม่ใช่แบบนี้หรือเปล่า คำแบบนี้อาจจะเผลอออกมา แต่เราควรเปลี่ยนเป็นคำถามอื่นแทนดีกว่า
ทำไมการเห็นแนวคิดของเด็ก ถึงเป็นเรื่องสำคัญ?
เพราะบางที ถ้าเราไม่ฟัง เราจะไม่รู้ว่า เด็กอาจจะคิดได้แตกต่างและสร้างสรรค์กว่าเราก็ได้ บางทีสิ่งที่เรารับรู้มาตั้งแต่ที่เราเป็นเด็ก เราเรียนแบบนี้ เราเชื่อแบบนี้ เรามองอะไรที่เป็นแบบนั้น ด้านนั้น พอเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราอาจจะไม่ทันมองเห็นสิ่งที่เด็กมองอย่างแตกต่างออกไปได้
อย่างการคูณ เรารู้ว่า 2×4 แต่บางทีมันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น เช่น ทำไมถึงเป็น 2×4 มันคืออะไร มาจากไหน หรือในสถานการณ์นึง เรามองว่า เขามองแบบนี้ เขาสื่อออกมาผ่านรูปภาพแบบนี้ มันก็ช่วยให้เราเห็นมากขึ้นว่า เขามองอะไรที่มันเป็นคนละมุมกับเราเหมือนกัน เป็นมุมที่บางทีคนเป็นผู้ใหญ่ก็คาดไม่ถึง การฟังมันก็เป็นการเคารพเด็กอย่างนึง และเราอยากช่วยให้เขามั่นใจว่า ความคิดของเขามันคืออย่างนี้ ถ้าเด็กไม่สามารถพูด แสดงออก หรือบอกในสิ่งที่เขาคิดได้ เราว่ามันน่าอึดอัดเกินไป
นอกจากการ์ตูนเรื่อง Kimetsu no Yaiba แล้ว เห็นยังเอาเกมฮิตอย่าง Among us มาใช้สอนด้วย
เราเรียนรู้คอนเซปต์ก่อนว่า ในเกม Among us มี crewmate และ imposter พอรู้ว่ามันมีคาแรคเตอร์ประมาณนี้ เลยเอามาลองดู ด้วยความที่เราสอนเด็กชั้น ป.1 เราก็เริ่มจากปริ้นท์ตัวละครออกมาก่อน เพราะต้องเอามาให้เด็กเห็น แล้วก็คิดว่า พวก crewmate ต้องทำภารกิจ เราเลยเอามาโยงกับการจัดการห้องเรียน โดยการบอกว่า โอเค ภารกิจที่หนึ่ง คือข้อตกลงข้อแรก ตัวสีเขียวชอบความเงียบ ถ้าเด็กๆ เงียบพร้อมเรียน ตัวสีเขียวจะทำภารกิจได้นะ แล้วก็ติดไปบนกระดาน ตัวที่สองชอบให้เด็กนั่งอยู่กับที่ ไม่เดินไปเดินมา พออันไหนที่เด็กทำไม่ได้ ก็จะบอกว่า “อุ้ย crewmate ตัวนี้ ทำภารกิจไม่ได้แล้วนะ เพราะพวกเราเสียงดัง ต้องเอา crewmate ออกจากกระดาน” แล้วเด็กๆ จะไม่อยากให้เขาหายไปจากกระดาน เขาก็เริ่มรู้ตัว หรือช่วยเตือนกันบ้าง อันนี้คือการเอามาใช้กับการจัดการห้องเรียน
อย่างที่สอง คือ เอามาใส่ในเนื้อหา เราใส่เป็นบัตรคำ เหมือนให้ทบทวนเนื้อหา แล้วในเมื่อมันมี imposter ก็แทนความหมายง่ายๆ ว่า ตัวไหนไม่เข้าพวก ก็โอเค เอามาโยงกับเนื้อหานี้ได้พอดี ในเรื่องของการบวกเลขที่เกิน 10 แล้ว อย่างเลข 11 มันมีหลายตัวที่บวกกันได้ 11 เราก็หยิบบัตรคำมาแต่ละอัน แล้วก็มีอันที่บวกได้ไม่เข้าพวก ก็ให้เด็กช่วยกันหาว่า ตัวไหนเป็น imposter ก็ให้คิดกัน ให้เวลา 30 วินาที แล้วก็ช่วยกันโหวตเลขนั้นออกไป เหมือนอย่างที่เกมให้โหวต imposter ออก ในการโหวตเราจะยกว่า ใครคิดว่าตัวสีนี้เป็น imposter แล้วตัวนี้บวกกันได้เท่าไหร่ แล้วก็เฉลยว่า ตัวไหนกันแน่ ทำไมตัวนั้นถึงเป็น imposter เด็กก็จะสามารถฝึกบวกและได้ติดตามไปด้วยว่า ตัวไหนเป็น imposter ตัวไหนไม่เข้าพวก
คิดยังไงกับทัศนคติที่ว่า “เกมกับการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ”
เราไม่ควรไปตัดสินความชอบของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเยียวยาชีวิตเขาในแต่ละวันก็ได้ ดังนั้น แทนที่จะไปตัดสินว่า เด็กคนนี้ติดเกมแล้วแย่ เราสามารถถอยมามองกว้างขึ้นกว่านั้นได้ว่า คนที่เขาติดเกม เขามีความสุขใช่ไหม ถ้ามันไปในทางที่ไม่ดี เขาอาจจะต้องการความช่วยเหลือเลยหันไปพึ่งสิ่งนี้เพื่อเยียวยาตัวเองหรือเปล่า เขาอาจจะมีปัญหาอะไรในใจก็ได้ ซึ่งถ้ามันมากเกินไปเราก็ต้องช่วยหาทาง ให้เขาพึ่งสิ่งนั้นน้อยลงดีกว่าไหม
อย่างที่บอกว่า ความชอบของเขาก็คือสิ่งที่เยียวยาเขา ถ้าเป็นเด็ก มันก็คือสิ่งที่เขาชอบ เขารัก บางที สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำอย่างอื่นต่อไปก็ได้ หรือเขาอาจจะต่อยอดอะไรจากสิ่งนี้ขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้ามันไม่ healthy ก็ค่อยไปว่ากันในอีกกระบวนการหนึ่งดีกว่า
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่หลายคนมองว่ายาก มองว่าปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์คืออะไร ทำไมถึงเป็นวิชาที่หลายคนไม่ค่อยอยากเรียน
ตอนเด็กๆ เข้าใจว่า คณิตศาสตร์เป็นแค่ตัวเลข มันตายตัวว่า ตัวเลขแบบนี้ โจทย์คืออะไร อันนี้บวกกันได้อะไร มันมีแค่ตัวเลข พอเราได้มาสอนจริง ตอนแรกที่จะได้สอนคณิตศาสตร์ เรากลับคิดว่า เราไม่อยากสอนเลย เพราะเราก็คิดเหมือนกันว่า คณิตศาสตร์น่าเบื่อ เราเลยไม่อยากสอนวิชานี้ แต่ก็พยายามหาวิธีการที่ลงตัว ซึ่งก็ยากเหมือนกัน เพราะบางทีถ้าสิ่งแวดล้อมหรืออะไรต่างๆ ไม่อำนวย เราก็จะสอนอะไรแบบเดิมๆ คือเน้นตัวเลข เน้นแค่ว่า โจทย์มาแบบนี้ก็ทำแบบนี้สิ โอเค มันดูเป็นเหตุเป็นผล แต่มันก็ดูไกลตัวเรามากเลย แค่ตัวเลขที่มันทำอะไรด้วยกันได้ แล้วก็ออกมาเป็นผลลัพธ์ ซึ่งก็น่าอึดอัดสำหรับเราเหมือนกันที่บางครั้งเราเห็นเด็กเรียนแล้วเขารู้สึกไม่เอนจอย ไม่เข้าใจสักที
เราอาจจะทำให้มันดูเหมือนเรื่องไกลตัวอยู่ก็ได้ เราเลยมองว่า คณิตศาสตร์อาจจะเป็นภาษาหนึ่งในการใช้สื่อสาร เราสามารถสื่อสารด้วยคณิตศาสตร์ผ่านสถานการณ์ที่เรามองเห็น หรือรับรู้อยู่ใกล้ตัวเราก็ได้ แม้แต่การ์ตูน เราก็เอามาสื่อสารก็ได้เหมือนกัน มันก็คือภาษาหนึ่งนั่นเอง มาค้นพบว่าจริงๆ ทำแบบนี้ก็น่าจะดี แต่ก็ท้าทายแหละว่า จะทำเรื่องราวออกมาเป็นแบบไหนให้เขามองเป็นคณิตศาสตร์ได้
เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบวิชานี้กันเยอะ ตอนที่เราสอนเด็ก ม.ต้น เราก็เห็นรูรั่วในความเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่ประถมเลย เขาไม่ชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว ทำไมต้องท่องสูตรคูณ ท่องไม่ได้ แล้วก็ไม่คล่องบวกลบคูณหาร ไม่เก็ทเลยว่าเป็นยังไง เราเห็นแล้วมองว่า นี่เป็นปัญหาตั้งแต่กระดุมเม็ดแรกเลยหรือเปล่า จากการมองคณิตศาสตร์แบบนี้ ถ้าเราช่วยให้เขามองคณิตศาสตร์เป็นภาษาที่น่าสนุกขึ้น เราว่าเด็กน่าจะชอบคณิตศาสตร์ได้มากขึ้นกว่านี้
บางทีเด็กเขาอาจจะไม่ได้มองคณิตศาสตร์เป็นแค่ตัวเลขแบบเราก็ได้ เด็กบางคนอาจจะมองอย่างที่เราอยากให้เป็น คือมองเป็นสถานการณ์ก็ได้
การทำให้เด็กชอบหรือให้เข้าใจคณิตศาสตร์สำคัญอย่างไร
เราว่า บางทีความรู้สึก ‘ยาก’ มันเกิดขึ้นกับทุกสิ่งได้ตลอด มันมีหลายอย่างประกอบกันมา ในการจะทำให้เขาชอบวิชานี้ อย่างแรกคือ เราอาจจะต้องทำให้เขาเข้าใจว่า เลขมันใกล้ตัวเขา และก็ไม่ใช่แค่ตัวเลขด้วย มันคือภาษาที่สื่อถึงสถานการณ์หรืออธิบายถึงสถานการณ์บางอย่างก็ได้ มันออกมาเป็นตัวเลขแบบนี้ เป็นเครื่องหมายแบบนี้ เป็นประโยคสัญลักษณ์แบบนี้นี่เอง
อย่างที่สอง คือการที่เราย่อยให้มันง่ายกับเด็ก แล้วก็ค่อยๆ ให้เด็กเรียนรู้ เหมือนการฝึกวิชา ฝึกดาบ ฝึกปราณ ให้เด็กเขารู้สึกอิน รู้สึกอยากทำ ชอบ สนใจ กระบวนการต่อมาคือ ถ้าเขาชอบและสนใจ แล้วจะไปฝึกฝนยังไงในระหว่างทาง เพราะว่าคณิตศาสตร์นอกจากมันเป็นภาษาแล้ว ก็ใช่ว่าทุกคนจะพูดภาษานี้ได้ทันที มันต้องมีการฝึกฝนและใช้เวลาให้เขาสามารถฝึกฝน คุณครูก็สามารถให้กำลังใจเขาไปด้วยได้ และสามารถออกแบบการเรียนให้เขาอยากพัฒนาตัวเอง เราว่า แบบนี้ก็จะช่วยในการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กได้
กว่าจะออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ให้ได้อย่างนี้ ยากไหม แล้วการออกแบบรูปแบบการสอนควรเป็นอย่างไร
สิ่งสำคัญในการออกแบบคือเราต้องรู้จักนักเรียนของเรา ว่าเขาเป็นแบบไหน เหมาะกับการสอนแบบไหน แล้วเราโอเคกับแบบไหน แล้วมันก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของครูแต่ละคนมากๆ ครูแต่ละคนมีเทคนิคในการจัดการห้องเรียนที่หลากหลาย
อย่างการออกแบบสอนของเรา เราก็ไม่ได้มองว่ายากนะ เราคิดแบบด้นสดนิดนึงด้วยซ้ำ แค่รู้ว่าจะเตรียมอันนั้น อันนี้ แล้วเดี๋ยวมันก็ไปของมันเองในช่วงที่สอนเด็ก เราแค่ลองปรับ ลองทำดูก่อน แล้วถ้ามันไม่เวิร์คเราก็แค่ปรับ และลองใหม่ไหม เลยไม่ได้คิดหรือวางแผนนานมาก มันมาจากการที่เรารู้คอนเซ็ปต์ของเรื่อง และการที่เรารู้ว่าควรจะต้องจัดการยังไง เราก็เลยเอาปรับใช้กันได้
แล้วจะรู้จักนักเรียนของตัวเองได้ยังไงบ้าง?
มันใช้เวลามากเลย การรู้จักนักเรียน ก็ถือว่ายังเป็นโจทย์ที่ยากอยู่นะ แต่เราเคยได้ยินเขาบอกกันมาว่า ตัวเราเองก็เป็นตัวเรากับนักเรียนเช่นกัน ความหมายคือ ถ้าเราเปิดรับกับเขา เขาก็จะเปิดรับกับเราด้วยเหมือนกัน แล้วก็ควรจะรู้จักเขาทั้งในและนอกห้องเรียนด้วย เด็กเขามีเซนส์ว่าครูแต่ละคนเป็นยังไงมากเลย เราเองก็ พอสอนไปก็รับรู้ว่า เด็กเขาเป็นประมาณนี้นะ
ผลตอบรับจากการเอาการ์ตูนมาเสริมในการเรียน เป็นยังไงบ้าง?
เด็กเขาสนใจนะ แล้วก็ดูสนุกดีกับการตามหาตัวละครอย่าง Among us เขาเห็นว่า มีสิ่งที่เขาชอบอยู่บนกระดานก็ดึงดูดเขา หรือว่าเขาจะทำภารกิจตรงนี้เพื่อสิ่งนั้น คือบางทีเด็กเล็ก เป้าหมายของเขาอาจจะยังไม่ได้ใหญ่ถึงขนาดว่า เรียนไปเพื่อให้ผู้ปกครองภูมิใจ เป้าหมายเขายังไม่ใช้เกรดสี่ เพราะฉะนั้น อาจจะต้องเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้เขารู้สึกภูมิใจหรือรู้สึกว่าทำได้ ตรงนี้ก็เป็นเครื่องมือที่มาช่วยให้เขาได้เห็นสิ่งนั้นนะ
หรือกับเรื่อง Kimetsu no Yaiba เราว่ามันเป็นบรรยากาศที่ค่อนข้างสนุกนะ ในการเรียนการสอน ในแง่ที่ว่า เด็กก็รู้เรื่องนะ เราก็เข้าใจเรื่องราวเหมือนกัน ก็เลยไปด้วยกันได้ดี บรรยากาศในการเรียนก็สนุกสนานมากขึ้น
เด็กๆ มีความสุขในการเรียนมากขึ้น?
ใช่ ช่วงที่เรามาสอนใหม่ๆ เราท้อมาก เพราะวิธีการสอนแบบเดิมมันตึง สมมติ ถ้าเรายังใช้ก้อนเนยแข็งมาในโจทย์ว่า ‘มีเนยแข็ง 6 ก้อน..’ มันก็ยากกับเราเหมือนกัน เราก็มองว่า อะไรวะ เด็กก็คงไม่ต่างกัน เพราะช่วงแรกๆ อาการเด็กคือรู้สึกเบื่อ เขาพูดออกมาเลยว่า “เบื่อ” “โอ้ย อีกแล้วเหรอ” หรือเราสอนอยู่ เขาก็ไม่สนแล้วว่าสิ่งที่อยู่บนกระดานคืออะไร เขาหลุดลอยไปแล้ว เขาไม่ได้ต้องมาโฟกัสกับกระดานตรงหน้าเลย
คำพูดพวกนี้มันผลักดันให้เรารู้สึกว่า เราก็ไม่อยากให้มันเกิดอะไรแบบนี้ต่อไปแล้ว ไม่อยากได้ฟีดแบก หรือบรรยากาศอย่างนี้ในการสอนเหมือนกัน เราก็เลย เออ เปลี่ยนใหม่เป็นเกมกับการ์ตูนแทน แล้วกลายเป็นว่า เขาจะพูดตามประสาเด็กของเขาว่า “อุ้ย ได้เรียนกับครูภัสแล้ว” เมื่อก่อนเบื่อมากเลย เดี๋ยวนี้อยากเรียนเลขมาก ชอบมาก เขาจะมีคำพูดให้เรารู้สึกดีใจขึ้น ทำให้เรารู้สึกมีแรง อยากจะคิดต่อ ทำต่อมากขึ้น จากตอนแรกที่คิดว่า “ฉันทำอะไรอยู่” “มาทำแบบนี้ทำไม” “น่าเบื่อ” แต่แบบนี้ ครูเองก็สนุกกับการสอนไปด้วย ทำให้คิดว่า คราวหน้าเราจะเอาอะไรมาสอนเด็ก เอาเรื่องราวแบบไหนมาดี
คิดว่า ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวข้องกับการออกแบบการสอนไหม
เกี่ยวนะ ความเหลื่อมล้ำมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดอยู่แล้ว แทบทุกที่ เวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำมันดูเป็นตัวเงิน ดูเป็นการเข้าถึงการบริหารจัดการเงิน เอาเข้าจริง เราว่ามันก็ส่งผลถึงการออกแบบการสอนนะ ความเหลื่อมล้ำมันเกี่ยวโยงถึงทุกด้านได้เลย แต่ก็ไม่ได้บอกว่า มันจะมาด้วยปัจจัยนี้อย่างเดียว
พอมีความเหลื่อมล้ำ เราก็คาดหวังผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่เหมือนกัน เพราะต้นทุนมันต่างกันตั้งแต่แรกแล้ว แต่เราก็มองว่า การออกแบบการเรียนการสอนอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว เราต้องย้อนกลับไปมองตั้งแต่ความเชื่อและวิสัยทัศน์ของการศึกษาและการทำโรงเรียนว่าเราเชื่ออะไรกันอยู่ เราทำเพราะอะไร เราไม่รู้เหมือนกันว่าระบบข้างบนมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมครูถึงต้องเจอภาระงานหนักหนา ทำไมอยู่ในห้องเรียนแล้วดูมีปัญหา
เราอยากให้คนที่อยู่ในวงการกลับมาตั้งคำถามกับความเชื่อในระบบการศึกษาของเราว่า นี่เรากำลังเชื่ออะไรกันอยู่ ทำไปเพื่ออะไร สิ่งที่มันเกิดขึ้นในระบบนี้ เราเชื่อกับสิ่งไหน เราอยากสร้างอะไร แล้วเราจะทำยังไง แค่กลับมาย้อนคิดว่าทำไมเด็กต้องเจอแบบนี้ แล้วเป็นเพราะว่าเราเชื่ออะไรกันอยู่
มองว่า วิธีการสอนในระบบการศึกษา ควรปรับแก้กันอย่างไร
คำถามนี้ทำให้เราคิดถึงตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่สุดเลย เหมือนเป็นโดมิโน่จากบนลงล่าง บางทีก็ไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าต้องเริ่มจากตรงไหน เช่น เริ่มจากห้องเรียน โอเค ดีจัง ครูปรับการสอน แต่สุดท้ายแล้วครูยังโดนภาระต่างๆ เนื้อหาที่เข้มข้น เด็กต้องเรียนหนัก แต่ครูมีเวลาสอนได้แค่ 1ชั่วโมง แล้วจะเอาเวลาไหนไปทำ open approach ได้ แล้วฉันจะทำยังไงให้มันเกิดขึ้น ในเมื่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ได้เอื้อให้ครูทำอย่างนั้นกันได้ทุกคน เราอาจจะโชคดีที่ทำได้ เพราะโรงเรียนให้สอนวิชาคณิตศาสตร์ได้ 2 คาบ แล้วเราก็สอนคณิตศาสตร์อย่างเดียว แต่พอเห็นที่คนอื่นแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กของเรา เขาก็จะบอกว่า อุ้ย วิธีนี้มันเจ๋ง มันว้าว หรือบางคนบอกว่า อยากทำจังเลย ซึ่งเราเชื่อว่าเขาทำได้ แต่เราไม่มั่นใจว่า สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่จะเอื้อให้เขาทำหรือเปล่า อันนี้คือสิ่งที่เราไม่อยากไปบอกว่า ครูก็ทำได้นะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาอาจจะปรับให้ลงตัวในกล่องของเขาก็ได้นะ แต่คำถามก็คือ สิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อม หรืออะไรต่างๆ มันเอื้อกับครูที่เขามีใจอยากทำ อยากเปลี่ยนแปลงการสอนให้ดีขึ้นมาแค่ไหน ไม่งั้น ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อครู เขาก็หมดไฟในการสอนได้
นอกจากนี้ มีบางคนแชร์ว่า ถ้าสอนวิชาเดียวแล้วไม่ต้องทำอย่างอื่น ก็น่าจะทำได้นะ พอเราอ่านก็คิดว่า อาจจะจริงนะ เพราะเราเองก็สอนวิชาเดียว แล้วไม่ได้มีงานนอกงานในขนาดนั้น เราเป็นครูรัฐบาลมาก่อน เลยเข้าใจว่า ครูรัฐบาลมีงานนอก งานในจริงๆ แล้วเราก็ไม่เคยสอนแบบนี้ตอนที่เป็นครูรัฐบาลเหมือนกัน
เราเชื่อว่าครูแต่ละคนเขาอยากทำให้ดีแหละ อยากให้การสอนสนุกสนาน อยากเห็นรอยยิ้มเด็กๆ เราเชื่อนะ แต่คำถามคือ ระบบเอย สิ่งแวดล้อมเอย มันเอื้อให้ทั้งเด็กและคุณครูได้ทำสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน กล่องที่ครูอยู่มันอาจจะเล็กเกินกว่าที่เขาจะปรับการสอนให้สนุกได้ หรือเล็กเกินกว่าที่เขาจะเอนจอยกับการเป็นครูอย่างที่เขาอยากเป็นจริงๆ ได้
มันน่าเสียดายนะ แล้วไม่ใช่แค่ว่าเด็กไม่ดี ครูไม่ดี แต่มันคือเรื่องของระบบกับสภาพแวดล้อมด้วยว่า คุณออกแบบยังไงบ้าง เรารู้สึกอึดอัดแทนครูที่เขาอยากทำได้บ้าง แต่กลับเจอกรอบที่ทำให้เขาทำไม่ได้ ซึ่งมันมาจากระบบที่เขาเปลี่ยนเองไม่ได้ ระบบที่ถูกแช่แข็งมา หรือก็คือกล่องที่ไม่พอดีกับครู