เรามักเผลอคิดไปว่า คนที่เรารักจะอยู่กับเราตลอดไป…
“ตอนนี้ม้าอายุ 55 ถ้าสมมติม้าอยู่ถึง 70 ก็จะเหลือเวลาอีก 15 ปี…ลูกกลับบ้านปีละ 2 ครั้ง เท่ากับว่าเราเหลือเวลาเจอกันอีกแค่ 30 ครั้งเองนะ น้อยเหมือนกันเนอะ”
คำพูดของแม่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคำนึงถึงมาก่อน ช่วงเวลา 15 ปีที่คล้ายจะยาวนาน หดสั้นเหลือเพียงชั่วขณะอันเล็กจ้อยเมื่อถูกนับเป็นจำนวนครั้ง มันน้อยกระทั่งช่วยเตือนสติว่า เราไม่ได้มีเวลาเหลือเฟือที่จะได้อยู่กับคนที่เรารัก และวันหนึ่งในอนาคตไม่ว่าใกล้หรือไกล พวกเขาก็จะบอกลาเราไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว คำถามสำคัญคือทำไมหลายคนจึงเลือกที่จะอยู่อาศัยไกลบ้าน ใช้ชีวิตในย่านที่ไม่เอื้อให้เรากลับไปหาคนที่รักได้เป็นประจำทุกสัปดาห์ แน่นอนว่าเรารู้สาเหตุกันดีอยู่แล้ว นั่นคือหลายคนไม่ได้เลือก แต่ต้องจำใจอยู่ห่างจากคนรัก เพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถเรียน หรือทำงานในจังหวัดที่ครอบครัวอาศัยอยู่ได้
ขณะดำเนินชีวิตคนละท้องที่ พบเจอกันได้แค่ปีละไม่กี่ครั้ง การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านรูปลักษณ์ และอุปนิสัยตามช่วงวัยที่เพิ่มขึ้นทุกวินาที ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ลึกๆ เรารู้ดีว่าพวกเขาจะแก่ลง ทว่าเมื่อเดินตรงเข้าบ้านหลังจากไม่ได้กลับมานานนับปี เราก็ตกใจไม่น้อยเมื่อเห็นใบหน้าของพ่อกับแม่มีรอยตีนกาเพิ่มขึ้น พวกเขาเคลื่อนไหวร่างกายช้าลง กิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เคยทำได้มาตลอด วันนี้พวกเขาทำมันไม่ได้อีกแล้ว และเราไม่เคยรับรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เลยจนกระทั่งวันนี้ที่ได้เจอกัน…
ท่ามกลางสารพันความรู้สึกใจหายจุกอก The MATTER อยากชวนทุกคนไปพูดคุยกับอีกเพื่อนเรา 6 คนที่กำลังประสบพบเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน เผื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ในการปรับใช้กับคนที่เรารัก หรืออย่างน้อยที่สุดมันคงช่วยให้รู้สึกว่า เราไม่ได้กำลังเผชิญกับปัญหานี้โดยลำพัง
ริว อายุ 25 ปี, ครูสอนการแสดง
แม้บ้านที่จังหวัดจันทบุรีจะห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 5 ชั่วโมง ทว่าภาระงานที่หนักอึ้งก็ทำให้ครูสอนการแสดงในช่วงตั้งต้นอาชีพอย่างริว ไม่สามารถเดินทางกลับไปหาพ่อกับแม่ได้บ่อยนัก ตลอดทั้งปี เขามีเวลากลับบ้านเพียง 2-3 ครั้ง และแต่ละครั้งก็ไม่ได้ยาวนานเพียงพอที่จะสลายความคิดถึง
“เมื่อก่อนเคยกลับบ่อยกว่านี้ แต่กลับทีก็อยู่บ้านได้แค่ 2 วัน แม่ก็บอกว่ามันสั้นจัง อยากให้อยู่นานๆ หลังจากนั้นก็เลยกลับน้อยลง แต่พยายามกลับให้นานขึ้น”
ปัจจุบันริวมักจะกลับบ้านช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ในมุมหนึ่งมันช่วยให้เขาได้อยู่กับพ่อแม่นานกว่าเดิม แต่อีกมุมก็ทำให้กว่าจะได้เจอหน้ากันครั้งหนึ่งต้องรอคอยนานหลายเดือน
ล่าสุดริวต้องกลับบ้าน เพราะทราบข่าวอาการป่วยของพ่อ แม้ไม่ใช่การป่วยที่รุนแรง แต่เมื่อกลับไปเยี่ยมไข้ เขาก็พบว่าพ่อของตัวเองดูแก่ลงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งที่ไม่ได้เจอกันแค่ไม่กี่เดือน แต่ภาพที่ปรากฏให้ความรู้สึกหลักปี จนริวได้แต่สงสัยว่า วันเวลาและอาการป่วยสามารถพรากสุขภาพของคนที่เขารักไปได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ
ในขณะที่ฝั่งแม่กลับเป็นทางตรงกันข้าม แทนที่จะพูดว่าแก่ลง ริวกลับใช้คำว่าเธอดูโตขึ้น
“เราอายุห่างกันไม่เยอะ เลยคุยกันเหมือนเขาเป็นพี่สาวมาตลอด พอไม่ได้เจอนานๆ กลับไปเจอเขารอบล่าสุด รู้สึกว่าเขาดูเอาจริงเอาจัง มีเป้าหมาย ดูโตขึ้นมากกว่าแก่ขึ้น”
“แล้วเขาแสดงความรักกับริวยังไงใน 2-3 ครั้งต่อปีที่ได้เจอกัน” เราถาม
“เขาแสดงออกด้านความคิดถึงมากขึ้น เพราะไม่ค่อยได้เจอ ตอนเจอเขาเลยกล้าพูดออกมาว่าคิดถึง กอดกัน ใช้เวลาร่วมกัน ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ทำแบบนี้เท่าไหร่” น้ำเสียงที่ปลายสายโทรศัพท์บอกให้รู้ว่าผู้พูดกำลังอมยิ้ม
ครูสอนการแสดงหน้าใหม่คนนี้รู้ดีว่า ช่วงเวลาที่จะได้กลับไปหาคนที่บ้านไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ไม่นานมานี้เขาจึงตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะกลับบ้านให้บ่อยขึ้น
“จริงๆ เวลา 4-5 ชั่วโมงก็ไม่ได้นานขนาดนั้น ก็อยากจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นจะได้กลับไปหาเขาบ่อยขึ้น” ริวทิ้งท้าย
จาจา อายุ 22 ปี, นักศึกษา
นับเป็นปีที่ 4 ที่จาจาย้ายจากสงขลาเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เธอเติบโตมาในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้จะมีตากับยายช่วยดูแลอีกแรง แต่แม่ก็เป็นเพียงคนเดียวที่อบรมเลี้ยงดูและอยู่กับจาจามาโดยตลอด
ช่วงชีวิตนักศึกษาบีบให้จาจาต้องห่างบ้าน กลับสงขลาได้แค่เพียงช่วงปิดเทอม ซึ่งการได้เจอแม่หลังจากไม่ได้เจอกันนาน ก็ทำให้ภาพความเปลี่ยนแปลงของผู้เป็นแม่วัย 54 ปียิ่งเด่นชัดในความทรงจำ
“ถ้าเป็นเรื่องดีๆ เรารู้สึกว่าแม่พยายามทำให้ช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันมีแต่ความสุข นานๆ ครั้งถึงจะได้กลับบ้าน แม่ก็จะชวนคุย คอยเอาใจ แต่ถ้าเป็นอีกด้านก็ต้องยอมรับว่าแม่แก่ลง หลายอย่างที่แม่เคยทำได้พวกการยกของหนัก เราก็ต้องทำแทน อย่างอาหารหมาที่เป็นกระสอบ แพ็กน้ำดื่ม ครั้งล่าสุดที่กลับบ้านแม่ยกไม่ได้เลย ยกแล้วแม่ก็จะปวดข้อมือข้อนิ้ว”
ถึงจะไม่ได้เจอกันบ่อยและไม่สามารถช่วยแม่ยกของได้ทุกครั้ง แต่จาจาก็ยังพยายามแสดงความห่วงใยผ่านข้อความในโทรศัพท์มือถือ เธอพิมพ์บอกแม่อย่างสม่ำเสมอว่า ต้องพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ และห้ามฝืนตัวเองจนเกินไป
“สำหรับเราสิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือสุขภาพของแม่ ถ้าขอพรได้สักข้อ เราคงขอให้แม่สุขภาพแข็งแรง ถึงตอนนี้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่เราก็อยากดูแลแม่ไปนานๆ”
โป้ง อายุ 33 ปี, แพทย์
อันที่จริงแพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ อย่างโป้ง สามารถกลับบ้านที่นครปฐมได้แทบจะทุกสัปดาห์ แต่เพราะการไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกที่ประเทศอังกฤษ การพบหน้าพ่อกับแม่บ่อยๆ เช่นในอดีตจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้น
หลังจากใช้ชีวิตในลอนดอนราว 1 ปี โป้งมีโอกาสได้กลับไทย และภาพที่เห็นก็คือความเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของบุพการีทั้ง 2 คน
พ่อของเขาไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเก่า ผมขาวมากขึ้น รูปร่างผอมลง อีกทั้งลักษณะการยืนก็เปลี่ยนไปด้วย และสิ่งหนึ่งที่โป้งสังเกตเห็นคือ เสื้อตัวที่พ่อเคยใส่ได้พอดี ทุกวันนี้มันไม่พอดีอีกแล้ว
“ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้ แต่ก็ห่วงและกังวลเหมือนกัน อย่างเวลาเราอาสาขับรถให้ เขาก็ดื้อว่ายังอยากขับเองอยู่” โป้งพูดพลางหัวเราะกับความดื้อรั้นของผู้เป็นพ่อ
ส่วนทางฝั่งแม่ โป้งเล่าให้ฟังว่า ช่วงหลังเธอมีความเครียดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เหตุเพราะพี่สาวของเธอเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจจนต้องเข้ารับการผ่าตัด แม้สุดท้ายจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่มันก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจพอสมควร กลายเป็นความกังวลที่ก่อตัวขึ้นพร้อมกับสุขภาพร่างกายที่ค่อยๆ เสื่อมสภาพลงตามอายุ
นอกจากนี้การที่โป้งต้องอยู่ไกลบ้านไปเกือบครึ่งค่อนโลก ก็ส่งผลให้ตัวเขาเองไม่สบายใจเช่นเดียวกัน เพราะถ้าหากสมาชิกในบ้านป่วยกะทันหัน เขาก็คงไม่สามารถไปหาได้อย่างทันท่วงที หลังเรียนจบอุปสรรคนี้คงลดลง แต่ระหว่างนี้โป้งก็คงต้องประคับประคอง และดูแลคนที่เขารักจากระยะไกลไปพลางๆ
ปุ้ย อายุ 41 ปี, บาทหลวง
“ผมเป็นบาทหลวง ผู้ใหญ่ของคณะจะมอบหมายงานให้ เคยไปประจำอยู่ที่หัวหิน 3 ปี และก็เคยมีช่วงที่ได้อยู่ใกล้บ้าน แต่ตอนนี้ย้ายมาอุดรฯ ได้ 3 ปีแล้ว ได้กลับบ้านที่นครปฐมปีละ 3-4 ครั้ง”
ปุ้ย บาทหลวงวัย 41 ที่ย้ายออกจากบ้านเพื่อการเรียนตั้งแต่อายุ 12 ปี เล่าให้เราฟัง ถึงจะแทบไม่ได้อยู่บ้านเลยตลอด 30 ปี แต่ปุ้ยก็ย้ำกับเราว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อแม่แน่นแฟ้นมาก
ช่วงแรกที่ย้ายออกจากบ้าน เทคโนโลยียังไม่ได้เข้ามามีบทบาทมากนัก การเห็นหน้าหรือฟังเสียงกันจึงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นทุกครั้งที่ได้กลับบ้าน ปุ้ยก็ไม่พบความเปลี่ยนแปลงอื่นใด นอกจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นของพ่อกับแม่
“เขาดูอายุมากขึ้นก็จริง แต่ก็เปลี่ยนไปแค่ในทางกายภาพ ที่เหลือเขาเหมือนเดิมมาก และเราก็รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้กลับบ้าน”
ครอบครัวของปุ้ยคล้ายคลึงกับจาจา นั่นคือการพยายามเนรมิตช่วงเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันให้พิเศษที่สุด แม่ของปุ้ยใส่ใจทุกครั้งที่เขากลับบ้าน ไม่ว่าอยากกินอะไรก็จะทำให้กิน อยากคุยอะไรก็จะนั่งคุยด้วย
ในวันนี้ที่เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้แค่เพียงขยับปลายนิ้ว บาทหลวงแห่งอุดรธานีจึงโทรศัพท์คุยกับที่บ้านสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง บ้างเป็นการคุยสั้นๆ บ้างเป็นการโทรแบบเห็นหน้า ปุ้ยบอกกับเราตามตรงว่า มีช่วงที่เป็นห่วงสุขภาพของพ่อกับแม่บ้าง แต่พอเห็นว่าพวกเขายังเลี้ยงหลาน ทำอาหาร ไปจนถึงซ่อมท่อได้เอง ปุ้ยก็เบาใจ และเฝ้ารอครั้งต่อไปที่จะพบกัน
ต๋อง อายุ 27 ปี, ครู
พ่อกับแม่ของต๋องแยกทางกัน เขาจึงอาศัยอยู่กับแม่และยายมาตั้งแต่เด็ก และเนื่องจากแม่ต้องทำงาน หน้าที่ในการเลี้ยงดูปูเสื่อส่วนใหญ่จึงตกเป็นของยายโดยปริยาย
วันเวลาผ่านไป ต๋องเติบโตจนได้เป็นครูมัธยมฯ ในโรงเรียนเอกชนใจกลางกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง ซึ่งไกลห่างจากยายและแม่ที่ยังอาศัยอยู่ ณ เกาะภูเก็ตดังเดิม ต๋องเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงสนุกสนานว่า เขาโทรหาแม่และยายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเล่าเรื่องที่พบเจอในโรงเรียน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ตลอดจนปรึกษาปัญหาชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างต๋องกับคนทางบ้านจึงแนบแน่นไม่เสื่อมคลาย
“อาม่าโทรมาหาแทบทุกวัน เราก็ถามม่าว่าเป็นไงบ้าง สบายดีมั้ย หลังๆ อาม่ามีพูดลอยๆ เหมือนกันว่า เมื่อไหร่เขาจะไป เขาแก่แล้ว แต่เราก็แซวว่าถ้าอาม่าจะเป็นอะไรไป พี่สาวอาม่าต้องเป็นก่อน อย่ารีบเนอะ” ต๋องหัวเราะ
ทุกครั้งที่ได้กลับบ้าน คุณครูโรงเรียนเอกชนจะพบว่า แม่ยังคงแข็งแรงดี ยังออกกำลังกาย และดูแลตัวเองไม่เคยขาด ในขณะที่ยายเองก็คงอยู่ในจุดอิ่มตัวของวัยชรา ซึ่งต๋องให้คำจำกัดความแบบติดตลกว่า “หน้าตาของยายคงไม่แก่ไปกว่านี้แล้ว 70 แล้ว”
“สนิทกับยายขนาดนี้ ถ้าจู่ๆ ยายเป็นอะไรขึ้นมาตอนที่สอนอยู่ที่กรุงเทพฯ ต๋องจะรู้สึกยังไง” เราถาม
ต๋องนิ่งไป ก่อนตอบว่า “คงร้องไห้ตายเลย อยู่ไม่ได้แน่ๆ”
ต๋องยอมรับกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า ตอนที่อยู่กับยายที่ภูเก็ต เขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามใจ 100 เปอร์เซ็นต์ หากกลับบ้านดึกก็จะถูกยายตำหนิ แต่ถึงอย่างนั้นถ้าเลือกได้ ต๋องก็ยินดีให้ยายย้ายมาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เพราะถ้าอยู่ใกล้ก็คงอุ่นใจกว่า
“เราไม่เที่ยว ไม่ไปนอนห้องเพื่อนก็ได้ อาม่าห้ามอะไรก็ยอมได้ อยากดูแลอาม่า ยิ่งถ้าดูแลด้วยตัวเองก็จะมั่นใจได้ว่าได้ทำเต็มที่จริงๆ แต่ ณ วันนี้เราคงจะยังทำไม่ได้ เราอยู่ห้องเล็กๆ คงต้องให้ป้าดูแลอาม่าไปก่อน” ต๋องบอกความในใจ พร้อมกับยอมรับสภาพความเป็นจริง
โฮอิง อายุ 23 ปี, นักศึกษา
“ม้าดูเครียดน้อยลงนะ”
คือประโยคแรกที่โฮอิง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ใช้บรรยายลักษณะของน้า (น้องสาวของแม่) บุคคลที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เด็ก
เนื่องจากน้าและสามีเคยต้องรับบทหนักในการเลี้ยงดูเด็กมากถึง 4 ชีวิตในบ้าน โดยแบ่งเป็นลูกของตัวเอง 2 คน และลูกพี่สาวอีก 2 คน ในช่วงที่เด็กๆ ยังอยู่ในวัยเรียน เธอและสามีจึงมีภาระค่าใช้จ่ายท่วมหัวจนแทบจะขยับตัวไม่ได้ นั่นเองที่แปรเปลี่ยนเป็นความกดดัน ไปจนถึงชนวนเหตุของการกระทบกระทั่งในครัวเรือน ทว่าเมื่อเด็กๆ ทยอยย้ายออก และเริ่มหารายได้ได้ด้วยตัวเอง ความรับผิดชอบของน้าก็น้อยลง หัวใจก็เบาขึ้น
“ป๊ากับม้าใจเย็นขึ้นอาจจะเพราะภาระน้อยลงด้วย ปล่อยวางได้มากขึ้นด้วย กลายเป็นว่าเขายิ้มแย้ม ใจดี เราเองก็สบายใจมากขึ้นที่จะพูดกับเขา”
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ความสัมพันธ์ภายในบ้านเริ่มงอกงาม โฮอิงกลับไม่สามารถพบเจอน้าได้บ่อยเท่าที่ควร เพราะอุปสรรคคือเวลาว่างอันจำกัด และค่าเดินทางกลับบ้านที่สูงลิ่วจากกรุงเทพฯ สู่ภูเก็ต ดังนั้นเธอจึงทำได้ดีที่สุดเพียงโทรศัพท์ไปหานานๆ ครั้ง
เราถามโฮอิงว่าทำไมจึงไม่โทรไปหาบ่อยๆ เธอตอบว่า นั่นเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกผิดมาตลอด เพราะหลายครั้งเธอก็ให้ความสนใจกับสิ่งตรงหน้าจนลืมเวลา ทั้งการเรียน กิจกรรมมหาลัย รวมถึงการสอนพิเศษ
โฮอิงเริ่มหารายได้เลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่จบชั้น ม.6
“อาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่ถูกนะ แต่ตอนนี้เราโฟกัสกับการเก็บเงิน อยากให้เขาสบาย ไม่อยากให้เขาทำงานแล้ว แต่ก็ควรจะคุยกับเขาดูเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร”
ท่ามกลางความห่วงหา การกลับไปพบหน้า ตลอดจนการตระหนักได้ว่าคนที่เรารักกำลังแก่ลงทีละนิด หากเรามองให้ลึกลงไป สิ่งที่บีบบังคับให้เราไม่สามารถกลับบ้านได้บ่อยอาจไม่ใช่ความน้อยของปริมาณเวลาว่าง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึก ทั้งค่าโดยสารราคาแพง จังหวัดบ้านเกิดไม่มีตลาดงานรองรับ มหาวิทยาลัยดีๆ มีเฉพาะในเมืองใหญ่ ฯลฯ
หลายครั้งเราก็เลือกไม่ได้ว่าจะอยู่ที่ไหน เราแค่ต้องเข้าไปอาศัยเพียงเพราะมหาวิทยาลัยอยู่ตรงนั้น เราจำต้องอยู่ในเมืองหลวง เพียงเพราะพื้นที่ใกล้บ้านไม่มีงานให้เราทำ…
หากวันหนึ่งความเหลื่อมล้ำลดช่องว่างลง โอกาสทางการศึกษา และอัตราการจ้างงานขยายวงกว้างมากขึ้น วันนั้นคนที่เรารักอาจไม่ได้เป็นเพียงคนที่กลับบ้านไปเมื่อไรก็เจอ แต่คงเป็นคนที่เราเจอได้แทบทุกวัน เพราะเราอยู่บ้านใกล้หรืออาจจะบ้านเดียวกัน