ผังบ้านหลังนี้มีอะไรแปลกๆ
บ้านที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน อาจมีความลับอันดำมืดปิดบังซ่อนอยู่ ยิ่งเราพยายามหาคำตอบจากความผิดแผกแปลกประหลาด ก็ยิ่งพาเราถลําลึกไปสู่เรื่องราวพิศวง ที่ผูกโยงความเชื่อและความเป็นจริงเข้าไว้ด้วยกัน จนอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ยากจะเข้าใจ
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของหนังสือบ้านวิกลคนประหลาดเล่ม 2*
‘บ้านวิกลคนประหลาด 2’ หนังสือภาคต่อจาก ‘บ้านวิกลคนประหลาด’ ของ อุเก็ตสึ (Uketsu) กับการเล่าเรื่องราวความแปลกประหลาดของผังบ้าน โดยครั้งนี้ผู้เขียนได้กลับมาอีกครั้งพร้อมแปลนบ้านทั้ง 11 หลังในภูมิภาคชูบุ ประเทศญี่ปุ่น ที่ดูเผินๆ ไร้ซึ่งความเกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง ทว่าหากพินิจพิจารณาให้ดี ผังบ้านเหล่านี้กลับพบความเชื่อมโยงบางอย่างอยู่
บทสนทนา เอกสาร และบันทึกเก่า คือคำตอบของความวิกลของสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘บ้าน’
เล่มแรกสู่เล่มสอง ความซับซ้อนและมิติการเล่าเรื่องที่เพิ่มขึ้น
อย่างที่ทราบกันดีว่า บ้านวิกลคนประหลาด คือเรื่องราวความพิลึกพิลั่นของผังบ้าน ที่เบื้องหน้าเราจะเห็นเพียงแค่ความธรรมดาสามัญทั่วไป แต่กลับมีองค์ประกอบบางอย่างภายในบ้านที่ทำให้เราต้องตะหงิดใจ จนนำไปสู่การไขความลับที่ถูกซ่อนเอาไว้
สิ่งแรกที่ทำให้เรารู้ว่า บ้านวิกลคนประหลาดเล่ม 2 เป็นการต่อยอดเรื่องราวขึ้นไปอีกขั้นจากเล่มแรกคือ จำนวนผังบ้านที่มากขึ้นเป็น 11 หลัง ซึ่งหมายถึงเรื่องราว ความซับซ้อน และข้อมูลที่เพิ่มขึ้น จนเราอาจต้องหยิบดินสอและกระดาษขึ้นมาจดข้อมูลของแต่ละบทเอาไว้เพื่อกันลืม ไม่ต่างอะไรกับที่ผู้เขียนทำในระหว่างรวบรวมข้อมูลในแต่ละบทของหนังสือ
สิ่งสำคัญที่มาพร้อมกับจำนวนข้อมูลอันมากล้นและซับซ้อนคือ การเล่าเรื่องที่ต้องดึงดูดผู้อ่าน ให้จดจ่อกับเนื้อหา ด้วยความที่เป็นหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนและปริศนา สิ่งที่อยู่เหนือการเฉลยเรื่องราวตอนจบสุดพีค คือการเล่าเรื่องอย่างไรให้คนอ่านอย่างเราๆ ติดตามเนื้อหาไปจนจบเรื่อง เพราะหัวใจสำคัญของหนังสือแนวนี้หนีไม่พ้น คำใบ้และข้อมูลที่ซ่อนอยู่ระหว่างเนื้อหาแต่ละบรรทัด ถ้าผู้อ่านพลาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ความรู้สึกต่อเฉลยในตอนจบอาจเปลี่ยนไปก็ได้
วิธีการเล่าเรื่องของบ้านวิกลคนประหลาด เล่ม 2 ถือเป็นตัวชูโรง ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยความน่าสนใจและดึงดูดให้ติดตามจนจบเรื่อง โดยไม่ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายและวางหนังสือเล่มนี้ลงก่อนเวลาที่เหมาะสม ผ่านการตัดสลับระหว่างวิธีการเล่าเนื้อหาสองรูปแบบ ได้แก่ บทสนทนาและบทบรรยาย ที่มอบความรู้สึกในการอ่านที่แตกต่างกัน
การดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาในรูปแบบของบันทึกการสัมภาษณ์ นอกจากจะเป็นการผ่อนปรนความหนักและซับซ้อนของข้อมูลแล้ว ยังทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่างของการนำเสนอเรื่องราวความประหลาดของผังบ้านแต่ละหลัง ผ่านผู้เล่าที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการใช้มุมมองและทัศนคติของตัวละครที่มีต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งช่วยพาเราไปสู่คำใบ้ที่ซุกซ่อนเอาไว้ในผังบ้านหลังต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น
การเพิ่มเนื้อหาส่วนของบทบรรยายภายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหาจากหนังสือเก่า บทความจากนิตยสาร และไดอารี่ เป็นความเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งอย่างของบ้านวิกลคนประหลาดเล่ม 2 จากเล่มก่อนหน้า ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องดังกล่าวช่วยเพิ่มมิติของเนื้อหาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น และยังมอบประสบการณ์ให้ผู้อ่านได้รู้สึกเหมือนกำลังสืบค้นข้อมูลผ่านการรวบรวมเอกสารไปพร้อมกับผู้เขียนจริงๆ
ลัทธิ ความเชื่อ และผังบ้าน
‘โถงทางเดินไร้ปลายทาง บ้านที่หล่อหลอมความมืด บ้านกับดักหนู อะพาร์ตเมนต์ไร้ทางหนี และห้องที่เคยโผล่มาแค่ครั้งเดียว’ เหล่านี้คือตัวอย่างของชื่อบทภายในหนังสือบ้านวิกลคนประหลาด เล่ม 2
บ้าน ในมุมมองของอุเก็ตสึ ไม่ใช่เพียงที่อยู่อาศัยหรือสถานที่เกิดเหตุเหมือนกับหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนทั่วไป แต่บ้านในหนังสือเล่มนี้คือตัวกลางที่ถ่ายทอดเรื่องราว ‘ความเชื่อและความศรัทธา’ ที่ครอบงำมนุษย์ ซึ่งถูกนำเสนอออกมาผ่านความประหลาดพิลึกของผังบ้านที่ปรากฏในหนังสือ
ไม่ใช่เรื่องแปลก หากความเชื่อในลัทธิอะไรบางอย่างจะถูกนำมาเล่าในหนังสือเล่มนี้ ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับมนุษย์มาอย่างช้านานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ลัทธิเหล่านี้เป็นเหมือนศาสนาที่มนุษย์เชื่อและนับถือ ทว่ามันกลับมีพิธีกรรมหรือหลักความเชื่อบางอย่างที่ฟังดูผิดแผกไปจากความคิดโดยทั่วไปของมนุษย์ ประกอบกับการมีผู้นับถืออยู่จำนวนไม่มาก ทำให้ความเชื่อดังกล่าวถูกปัดให้กลายเป็นเพียงลัทธินอกกระแส ไม่ใช่ศาสนากระแสหลักอย่างที่เรารู้จักกัน
‘ชุมนุมแห่งการเกิดใหม่’ คือลัทธิประหลาด ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความผิดเพี้ยนของผังบ้านและมนุษย์ภายในหนังสือเล่มนี้ ลัทธิดังกล่าวเป็นลัทธิที่ปลูกฝังความรู้สึกผิดบาปและการเกิดใหม่เพื่อชำระบาป ตลอดจนการส่งต่อความผิดบาปไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อให้ผู้ศรัทธาบำเพ็ญตบะ และดำเนินตามวิถีทางของลัทธิเหล่านี้ นั่นคือการปรับผังบ้านให้ล้อไปกับรูปร่างของ ‘พระแม่’ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำและศูนย์รวมจิตใจของลัทธิ
ความพิลึกที่ปรากฏในผังบ้านหลายหลังในเรื่อง เป็นวิธีการถ่ายทอดความเชื่อและความศรัทธาในรูปแบบหนึ่ง บ้านจึงไม่ใช่เพียงสถานที่ธรรมดาสามัญ แต่มันคือสื่อกลางในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและมนุษย์
เราเปลี่ยนผังบ้าน เพราะความเชื่อได้จริงหรือเปล่า?
ความเชื่อและความศรัทธาของมนุษย์มีพลังมากกว่าที่เราคิด หลายเหตุการณ์ความรุนแรงทั่วโลก ล้วนมีความเชื่อผลักดันอยู่เบื้องหลัง ในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีการเกิดขึ้นของลัทธิในลักษณะคล้ายกับชุมนุมแห่งการเกิดใหม่เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ต้องเปลี่ยนผังบ้านตามพระแม่ แต่วิธีการแสดงออกถึงความเชื่อในลัทธินั้น ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากในหนังสือมากเท่าไหร่นัก
ลัทธินั้นก็คือ ‘โอมชินริเกียว’ ลัทธิความเชื่อที่ก่อตั้งโดย โชโก อาซาฮาระ (Shōkō Asahara) เจ้าลัทธิที่ต้องการปลดปล่อยญี่ปุ่น จากวันสิ้นโลก โดยลัทธิดังกล่าวสามารถดึงดูดหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่มีการศึกษาและหน้าที่การงานดีมาเป็นสาวกได้หลายหมื่นคน ด้วยการอาศัยช่วงที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความเหนื่อยหน่ายทางกายจากการทำงานและการพัฒนาประเทศในช่วงทศวรรษ 1980 พวกเขาจึงต้องการที่พึ่งทางใจมากกว่าที่พึ่งทางกาย โอมชินริเกียวจึงเข้ามาทำหน้าที่นั้นได้อย่างเหมาะสมกับช่วงเวลา
ลัทธิดังกล่าวสามารถรวบรวมเงินบริจาคและเงินจากทำธุรกิจได้จำนวนมหาศาล จนสามารถพัฒนาและผลิตอาวุธเคมีต่างๆ จนนำไปสู่การใช้อาวุธเคมีในการทำร้ายผู้อยู่นอกลัทธิ อย่างการใช้แก๊สพิษซารินสังหารผู้คนในเมืองโตเกียว ผ่านการถูกปลูกฝังว่า
การฆาตกรรมเป็นหนทางหนึ่ง
เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติ
จากกรณีของลัทธิโอมชินริเกียวจะเห็นได้ว่า ความเชื่อและความศรัทธานั้นมีพลังอย่างมาก ยิ่งการที่ผู้คนไร้ที่พึ่งทางจิตใจด้วยแล้ว ลัทธิเหล่านี้จึงมีบทบาทและแทรกแซงความคิดของผู้คนได้อย่างไม่ยาก
ดังที่เห็นได้จากเรื่องราวของผู้คนจากชุมนุมแห่งการเกิดใหม่ ที่หลังจากเสร็จจากการบำเพ็ญตบะ พวกเขาจะออกมานอกเคหาสถ์แห่งการเกิดใหม่ เพื่อที่จะเจรจาเรื่องการปรับเปลี่ยนผังบ้านกับตัวแทนจากลัทธิ ตามแนวคิดเรื่องการเกิดใหม่ของชุมนุมฯ ที่ว่า บาปของพวกเขาจะถูกส่งต่อสู่ลูกด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผู้คนที่ศรัทธาต่อแนวคิดดังกล่าวและต้องการชำระล้างบาปให้แก่ลูก พวกเขาจึงดำเนินรอยตามแนวคิดของลัทธิและพร้อมจ่ายเงินเพื่อสนองต่อความศรัทธา แม้จะเสียเงินมากมายแค่ไหนก็ตาม
ดังนั้นแล้ว การเปลี่ยนผังบ้านตามแนวคิดของชุมนุมแห่งการเกิดใหม่ จึงไม่เพียงแต่สะท้อนให้แค่ความเชื่อที่มากล้นของสาวกในลัทธิเท่านั้น ทว่ายังทำให้เราได้เห็นถึงอีกส่วนหนึ่งของจิตใจมนุษย์ ที่การไร้ที่พึ่งทางใจ อาจทำให้พวกเขาเปราะบางพอที่จะยอมรับและทำตามความเชื่อที่ฟังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ในความเป็นจริง
ไม่แน่ว่า ผังบ้านที่ดูประหลาด อาจมีเรื่องราวซ่อนเอาไว้มากกว่าที่เราคิด!
อ้างอิงจาก